วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

HortenHo229เครื่องบินล่องหนแบบแรกของโลก ต้นแบบF-117และB-2

สรศักดิ์ สุบงกช

                   เรารู้จักเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-2,เครื่องบินขับไล่เอฟ-117และเอฟ-22 ในฐานะเครื่องบินล่องหน(stealth)ยุคใหม่ที่เรดาร์แทบจะจับสัญญาณไม่ได้จากลักษณะการออกแบบและสารเคลือบผิวพิเศษที่ดูดกลืนคลื่นสะท้อน เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องใช้ความวิริยะและเงินทุนมหาศาลเพื่อวิจัยและพัฒนากว่าจะสำเร็จออกมาเป็นสุดยอดเครื่องบินรบ แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเทคโนโลยีล่องหนของอเมริกานั้นมีต้นกำเนิดมาจากอากาศยานในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ครั้งนาซีเรืองอำนาจ ในชื่อว่าHorten Ho 2-29 ที่ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมีนาคมปี1944ขณะเยอรมันกำลังล่าถอยในทุกแนวรบ ตามแนวความคิดใหม่ว่าต้องเป็นเครื่องบินเจ็ตขับไล่ทีี่เร็วกว่า ไกลกว่า และหลบตรวจจับของเรดาร์ได้ดีกว่าเครื่องบินแบบไหนๆที่นาซีเยอรมันเคยสร้าง โดยที่เหล่าวิศวกรเยอรมันไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่านี่จะกลายเป็นต้นแบบของเครื่องบินล่องหนของอเมริกาในอีกหกสิบปีต่อมา เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าเยอรมันสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนำหน้าฝ่ายสัมพันธมิตรไปหลายปีแม้จะตกเป็นเบี้ยล่าง


                นับเป็นโชคดีของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เยอรมันสร้างต้นแบบออกมาได้แค่สามเครื่องเท่านั้นก่อนการยกพลข้ึนบกที่ฝรั่งเศส มิฉะนั้น"ฮอร์เทน ฮาโอ229”(Horten Ho229)อาจจะสร้างความเสียหายให้กำลังทางอากาศของฝ่ายอเมริกันและอังกฤษได้มากไม่แพ้เจ็ตขับไล่อย่างเมสเซอร์ชมิตต์ เอ็มเอ262(Messerschmitt Me-262)
เรื่องราวของฮอร์เทนเริ่มขึ้นในปี1943เมื่อกองบัญชาการทหารสูงสุดเริ่มยอมรับความพ่ายแพ้ที่กำลังคืบคลานเข้ามา จึงหวังจะเร่งสร้างสุดยอดอาวุธที่จะพลิกสถานการณ์ได้โดยเฉพาะด้านยุทธเวหา เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันเสียเปรียบทุกประตูเมื่อเผชิญกับความคล่องตัวและความเร็วของเครื่องบินขับไล่สปิตไฟร์และมัสแตง ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์ผิดพลาดที่เน้นการสนับสนุนการรบภาคพื้นดินเป็นหลัก แทนที่จะวิจัยและพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ เช่นบี-17หรือบี-29ของฝ่ายสหรัฐฯ เครื่องบินทิ้งระเบิดหลักของเยอรมันจึงมีพิสัยบินใกล้ บรรทุกระเบิดและอาวุธอื่นได้น้อย มาคิดเปลี่ยนหลักนิยมการสร้างอากาศยานได้ก็ล่วงเข้าปลายปี1942แล้ว ซึ่งกองทัพที่6จากสมรภูมิสตาลินกราดในรัสเซียเริ่มประสบเค้าลางแห่งความหายนะ และฮาโอ229ก็คือผลพวงชิ้นหนึ่งจากแนวความคิดที่เปลี่ยนไปของกองทัพอากาศเยอรมัน

              เพื่อให้ได้เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยบินไกลที่ดีกว่าแบบเดิมทั้งของฝ่ายเยอรมันและของศัตรูแ ฮร์มันน์ เกอริงผู้บัญชาการทหารอากาศและจอมพลแห่งอาณาจักรเยอรมันที่3และอดีตนักบินขับไล่ระดับเสืออากาศจากสงครามโลกครั้งที่1 ได้วางคุณสมบัติของเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ไว้ว่าต้องเป็นไปตามหลัก"1,000 1,000 1,000”คือต้องบรรทุกน้ำหนักได้กว่า1,000.. บินได้ไกลกว่า1,000..และทำความเร็วได้ถึง1,000../.. นักบินพี่น้องในวัยสามสิบกว่าคือไรมาร์และวัลเธอร์ ฮอร์เทนผู้ร่วมออกแบบเสนอรูปแบบที่ล้ำยุคมากในสมัยนั้นคือ"ปีกบิน" เช่นเดียวกับบี-2ของสหรัฐฯในปัจจุบันเข้าที่ประชุม ผ่านการพิจารณาแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาอย่างรีบเร่งในช่วงเพียงปีกว่าๆ เริ่มต้นจาก1943ถึงเริ่มสร้างเครื่องบินต้นแบบที่เมืองโกตติงเกน เยอรมนี ในปี1944 ผู้รับหน้าที่สร้างเครื่องยนต์ในนามเรียกขานว่าBMW003คือไบเออริชเชน โมโตเรน แวร์เค่อะ(Byerischen Motoren Werke:บีเอ็มดับเบิลยู) ผู้สร้างชื่อเสียงเลื่องลือมาแล้วจากเครื่องยนต์ของเครื่องบินขับไล่ใบพัดระดับตำนานเมสเซอร์ชมิตต์ เอ็มเอ-109และเจ็ตขับไล่เอ็มเอ-262 รูปแบบปีกบินที่ว่าล้ำยุคแล้วยังมีที่ไปไกลกว่านั้น คือการเคลือบผิวเครื่องบินทั้งลำด้วยผงถ่านไม้คลุกกาว ส่วนผสมง่ายๆที่สามารถดูดกลืนคลื่นสะท้อนจากเรดาร์ได้ชะงัด ตามความคิดของไรมาร์ ฮอร์เทน
         
         ทฤษฎีของไรมาร์คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่พุ่งมาจะถูกผงถ่านสีดำขรุขระดูดกลืนไว้หมด ไม่สะท้อนกลับไปหาต้นคลื่น ผลคือฮาโอ229จะเหลือเพียงจุดเล็กๆแทบมองไม่เห็นเลยบนจอเรดาร์(ยุคนั้น) ด้วยหลักการเดียวกันกับเครื่องบินขับไล่ล่องหนเอฟ-117เอ"ไนท์ฮอว์ค"ของสหรัฐฯ ที่เคลือบผิวเครื่องบินด้วยกราไฟต์ที่มีส่วนประกอบแทบไม่ต่างจากถ่านไม้ในยุคนาซี ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เครื่องบินสองแบบถึงแม้จะถือกำเนิดห่างกันนับหลายสิบปี แต่ก็มีแผนแบบและวัสดุคล้ายคลึงกัน เพราะหลังสงครามสงบฝ่ายอเมริกันสามารถยึดต้นแบบของฮอร์เทน ฮาโอ229ได้พร้อมพิมพ์เขียวและวิศวกร เมื่อมันถูกสร้างออกมาเพียง3ลำและบินไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบันที่สหรัฐเริ่มพัฒนาเครื่องบินล่องหนขึ้น จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่าถ้าฮาโอ229บินได้จริงจะสามารถล่องหนได้ตามทฤษฎีของไรมาร์ ฮอร์เทนหรือไม่?

          ด้วยต้นแบบที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์กับพิมพ์เขียวฉบับดั้งเดิม บริษัทนอร์ธรอป-กรัมแมนผู้สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนบี-2ของสหรัฐฯจึงสร้างฮาโอ229ขึ้นใหม่ด้วยวัสดุสร้างแอร์เฟรมและวัสดุเคลือบแบบดั้งเดิม เพื่อทดสอบการดูดซับคลื่นเรดาร์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญต่อเครื่องยนต์และความเร็ว นอร์ธรอปฯใช้เวลาสร้าง2,500ชั่วโมงกับงบประมาณอีก250,000ดอลลาร์ เพื่อให้ได้เครื่องบินจำลองมาตรส่วน1/1ที่ใช้ตั้งไว้ทดสอบการดูดกลืนคลื่นเรดาร์เท่านั้นบนเสาสูง50ฟุตให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าฉายกระทบทุกด้านทั้งบนและล่าง

        ผลการทดสอบทฤษฎีของไรมาร์ ฮอร์เทนโดยนอร์ธรอปฯปรากฎว่าฮาโอ229สามารถดูดกลืนคลื่นเรดาร์ได้จริง ถึงแม้จะไม่ส่งผลเลิศเท่าที่วิศวกรนาซีคำนวณไว้แต่ก็ทำให้เครื่องเล็กลงมากในจอเรดาร์ มันอาจไม่ล่องหนได้ดีเท่าบี-2แต่ถ้าเยอรมันผลิตได้สัก300-500ลำก่อนปี1942แล้วส่งไปทิ้งระเบิดกรุงลอนดอนกับเมืองใกล้เคียง แทนเครื่องบินทิ้งระเบิดสนับสนุนการรบภาคพื้นดินอย่างไฮน์เกล ฮาเอ-111(Heinkel He-111) ผลการรบในช่วงนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยความสามารถล่องหนและความเร็วที่ใกล้เคียงเครื่องบินเจ็ตปัจจุบัน กว่ากองทัพอากาศอังกฤษจะส่งสปิตไฟร์ขึ้นสกัดกั้นได้ความเสียหายคงเกิดขึ้นมหาศาล "ยุทธเวหาแห่งบริเทน"คงมีโฉมหน้าที่เปลี่ยนไปในทางเลวร้ายสำหรับอังกฤษ และ"ยุทธการสิงโตทะเล"ของเยอรมันที่จะเปิดฉากยกพลขึ้นบกก็อาจเป็นจริงได้

     ปีเตอร์ เมอร์ตันผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานจากพิพิภัณฑ์สงครามอิมพีเรียลแห่งดักซ์ฟอร์ดในเคมบริดจ์ไชร์ของอังกฤษ ให้ความเห็นเกี่ยวกับฮาโอ229ไว้ว่า"ถ้าเยอรมันมีเวลาพัฒนาเครื่องบินแบบนี้ทัน เชื่อว่ายุทธเวหาเหนืออังกฤษต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปแน่ๆ ตามทฤษฎีแล้วรูปทรงปีกบินนี้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการออกแบบ มันก่อแรงต้านน้อยมากจนทำให้ทำความเร็วสูงได้เร็ว ดำดิ่งแล้วร่อนได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อ"

       ฮอร์เทน ฮาโอ229คือหนึ่งในอีกหลายตัวอย่างที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสงครามของเยอรมัน ที่ฝ่ายชนะคือสหรัฐฯ อังกฤษและรัสเซียนำองค์ความรู้และบุคลากรมาใช้ประโยชน์หลังสงครามสงบ ทั้งด้านการทหารและพลเรือน แม้แต่การบุกเบิกด้านอวกาศของสหรัฐฯก็ได้นักวิทยาศาสตร์เยอรมันคือดอกเตอร์แวร์เนอร์ ฟอน เบราน์เจ้าหัวหน้าโครงการจรวดวี-2เป็นกำลังสำคัญ

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

เสื้อเกราะ Modular



โดยสรศักดิ์ สุบงกช
             การจะนำแผ่นเกราะกันกระสุนมาติดตัวนั้นหากจะว่าง่ายก็ง่าย แต่การจะออกแบบเครื่องห่อหุ้มหรือเกราะซึ่งจะเรียกว่า"เสื้อเกราะ"(tactical vest) หรือ"เปลือก”(plate carrier)ให้ใช้งานได้คล่องตัว ถอด/สวมใส่ได้ง่ายและเบานั้นมีความพยายามจะทำกันอยู่นับได้เป็นสิบปีแล้ว หลังจากรูปแบบการรบเปลี่ยนมาเป็นสงครามในเมืองซึ่งทหารต้องสู้กันในระยะใกล้ ด้วยอาวุธและอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไป เสื้อเกราะแบบแยกส่วน(Modular)จึงต้องพัฒนาตามเนื่องจากมันไม่ได้มีหน้าที่แค่ห่อหุ้มแผ่นเกราะแล้วยึดติดตัวทหารเท่านั้น ยังต้องเป็นที่อยู่ของยุทโธปกรณ์อีกนานาชนิด ทั้งซองกระสุนปืนเล็กยาว ซองกระสุนปืนพก ระเบิดขว้าง สายรัดข้อมือ ถุงน้ำ และอื่นๆเท่าที่ทหารหนึ่งนายจะเห็นว่าจำเป็นจนอยากนำมันติดตัวไปพร้อมเกราะและกระสุน

จากเสื้อเกราะที่มีไว้เพื่อหุ้มห่อแผ่นเกราะ มันจึงกลายเป็นอุปกรณ์กระจายน้ำหนักที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าMOLLE(Modular Lightweight Load-carrying Equipment) เพื่อให้ทหารใช้ประกอบอุปกรณ์ที่จำเป็นรวมถึงเป้สนามในจุดต่างๆของเสื้อ ด้วยการใช้ผ้าแถบไนลอนเนื้อหนาเย็บเว้นช่วง เรียงตัวเป็นแถวจากบนลงล่างให้เป็นช่องสอดอุปกรณ์ได้ ซึ่งตัวอุปกรณ์หรือกระเป๋าที่จะนำมาติดก็ต้องถูกออกแบบให้มีสายสอดเว้นระยะเท่าระยะของช่องที่แถบไนลอน กรรมวิธีนี้ช่วยให้ทหารสามารถเลือกติดอุปกรณ์ได้หลากหลายชนิดและตำแหน่งบนเสื้อเกราะ สับเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่ายๆเมื่อต้องการบนเสื้อเกราะที่เป็นทั้งเครื่องห่อหุ้มแผ่นเกราะและเป็นที่ติดอุปกรณ์แบบกระจายน้ำหนักไปทั่วตัว หากสิ่งของบนตัวทหารน้ำหนักเท่ากันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเสื้อเกราะโมดูลาร์กับสายเก่งและกระติกน้ำรูปแบบเดิมๆที่ใช้กันมาตั้งแต่สงครามนโปเลียน การเปลี่ยนมาใช้ชุดอุปกรณ์แบบโมดูลาร์จะช่วยให้ทหารจะสบายตัวและคล่องตัวกว่า โดยเฉพาะกระติกน้ำแบบเดิมที่ทั้งเกะกะและกดทับบั้นเอวจนเจ็บ ส่งเสียงดัง ไม่สะดวกทั้งเมื่อวิ่งและคลาน เมื่อเปลี่ยนเป็นถุงน้ำประกอบชุดโมดูลาร์แล้วทหารจะเคลื่อนไหวได้สบายกว่า ทั้งยังเงียบ ไร้เสียงดังจนเปิดเผยตำแหน่งของตน
เสื้อเกราะโมดูลาร์ถูกพัฒนาไปทุกปีตามความต้องการของกองทัพ เพื่อตอบสนองภารกิจและเพื่อความคล่องตัวที่สุดของทหารรวมทั้งการระบายได้ดีทั้งความร้อนและความชื้น นอกจากแบบตามปกติของกองทัพแล้วภาคเอกชนก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เสื้อเกราะพัฒนาตัวเองไปได้เร็วและหลากหลาย อีเกิล อินดัสตรีส์คือผู้นำรูปแบบใหม่ของเสื้อเกราะมาสู่วงการทหาร ด้วยเสื้อเกราะปลดเร็ว(Combat Integrated Releasable Armor System)สำหรับหน่วยรบพิเศษที่ต้องการความคล่องตัวสูง ใช้รูปแบบMOLLEแต่ปลดจากตัวทหารได้เร็วเพียงดึงห่วงติดสายเคเบิลที่ร้อยโยงจุดเชื่อมต่อของเสื้อไว้ เพื่อประโยชน์ในการกู้ภัย ให้ทหารถอดเสื้อเกราะได้เร็วหากเกิดอุบัติ เช่นเมื่ออากาศยานตกลงในทะเลหรือเมื่อต้องปฐมพยาบาล
CIRASคือเสื้อเกราะลักษณะคล้ายเสื้อกล้ามในรูปแบบMOLLE ส่วนนอกสุดซึ่งต้องทนกับการครูดไถในปฏิบัติการถูกตัดเย็บด้วยผ้าไนลอนคอร์ดูราหนา1,000ดีเนียร์ ส่วนในซึ่งใช้เป็นที่เสียบแผ่นเกราะเซรามิกSAPI(Small Arms Protective Insert)ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่1ถึง2.5..(ขนาดXS,S,M,LและXLตามขนาดตัวผู้ใช้งาน) หน้าและหลังอย่างละแผ่น รวมทั้งเกราะอ่อนและเกราะย่อยป้องกันลำตัว บุภายในด้วยผ้าตาข่ายเพื่อระบายความร้อนและความชื้น ในบทความเรื่อง"เกราะกันกระสุน"ในฉบับก่อนนั้นCIRASสามารถใช้กับเกราะอ่อนและแผ่นเกราะเซรามิกได้ถึงlevel4 จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของนาวิกโยธินสหรัฐฯตกในทะเลเมื่อปี1999แล้วทหารเสียชีวิตทั้งลำเพราะถอดเกราะไม่ทัน แล้วถูกน้ำหนักของมันพร้อมเครื่องกระสุนถ่วงจนจมน้ำตาย ทำให้เกิดความตื่นตัวในการออกแบบเน้นความปลอดภัยจากการถอดอันรวดเร็ว
เมื่อพัฒนาการไม่มีที่สิ้นสุด เสื้อเกราะจึงถูกพัฒนาต่อมาอย่างไม่หยุดยั้งทั้งในภาครัฐและเอกชน ถ้าทหารไม่มั่นใจในคุณภาพของอุปกรณ์ที่กองทัพแจกให้ก็สามารถซื้อเสื้อเกราะได้จากผู้ผลิตใหญ่ๆอาทิ 5.11,Eagle Industries,BlackHawk,First Spearและแบรนด์อื่นๆที่มีเทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตอันเป็นเอกลักษณ์


คุณประโยชน์ของเสื้อเกราะคือช่วยยึดแผ่นเกราะให้อยู่ในที่ในทางของมัน เป็นเสมือนฐาน(platform)ให้ติดอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็น เป็นเครื่องกระจายน้ำหนักสัมภาระที่ทหารนำติดตัวออกสู้รบ เป็นสิ่งที่ทหารต้องมีเมื่อออกปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆหรือยืดเยื้อโดยเฉพาะการรบในเมืองที่อันตรายมีอยู่ทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ในแนวราบ แม้แต่จากเบื้องบนและใต้พื้นที่เดินอยู่ทหารก็อาจเป็นอันตรายได้
ระบบเคเบิลปลดเร็วแบบCIRASถูกนำไปดัดแปลงใช้ในเสื้อเกราะหลายรูปแบบและแบรนด์ มันดูเหมือนจะเป็นคำตอบแต่ปัญหาคือเมื่อดึงปลดแล้วเสื้อจะแยกเป็นชิ้นๆประกอบกลับมาใช้งานใหม่ได้ยาก เสียเวลามาก น้ำหนักโดยรวมของตัวเสื้อก็มากเพราะใช้ผ้าหนาเท่ากันหมด ไม่เลือกตำแหน่งว่าตรงไหนต้องใช้ผ้าหนาเพราะต้องครูดไปกับภูมิประเทศ หรือตรงไหนควรใช้ผ้าบางลงเพราะไม่ต้องรับภาระหนักเท่า ระบบยึดติดของกระเป๋าเข้ากับMOLLEก็ยังใช้แถบผ้าไนลอนเสริมพลาสติกและแป็บเหล็กมีน้ำหนักรวมมาก จะเป็นไปได้หรือไม่หากเสื้อเกราะนั้นจะแยกตัวและประกอบเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็ว แม่นยำ ใช้ระบบยึดกระเป๋าที่ลดน้ำหนักได้ ใช้งานง่ายกว่า ที่ดีกว่านั้นคือประกอบและถอดแผ่นเกราะได้เร็วตามภารกิจเพื่อให้ทหารไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากๆโดยไม่จำเป็นในภารกิจที่แตกต่าง
First Spearแห่งสหรัฐฯคือผู้ผลิตอุปกรณ์ทางยุทธวิธีที่เน้นเทคโนโลยีและการออกแบบลึกในรายละเอียด เสื้อเกราะและเสื้อกั๊กยุทธวิธีในแบบต่างๆจะใช้ผ้าเนื้อหนาไม่เท่ากันตามลักษณะของการใช้งาน บริเวณห่อหุ้มที่ไม่ต้องรับน้ำหนักจะใช้ผ้าบางแต่เหนียวเพื่อลดน้ำหนักเช่นที่ตัวเสื้อด้านใน แต่จะหนาขึ้นคือตั้งแต่600ถึง1,000ดีเนียร์ในส่วนห่อหุ้มด้านนอก แถบผ้าชิ้นหนาส่วนที่เป็นMOLLEจะหายไป เหลือแต่เปลือกเกราะเรียบๆมีรอยกรีดเป็นช่องด้วยเลเซอร์เพื่อกันลุ่ยเป็นระยะ ให้สอดกระเป๋าซองกระสุนสำรองฯลฯมีแถบติดเวลโครด้านหลัง เข้าไปล็อคไว้ด้านในแทนแถบเสริมพลาสติกติดแป็บเหล็กแบบเดิม ลดน้ำหนักรวมลงได้40เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเสื้อเกราะOTVหรือCIRASที่เคยใช้กันอยู่
ส่วนปัญหาการถอดและประกอบนั้นเฟิร์สต์ สเปียร์แก้ด้วยTube Technologyในรูปแบบที่ง่ายคือใช้ตัวล็อคผลิตจากโพลิเมอร์เป็นปลอกทรงกระบอกและเดือยแท่งที่ดึงออกแล้วประกอบเข้าด้วยกันได้ง่ายๆโดยแทบไม่ต้องมอง ดีกว่าใช้ผ้าแถบเวลโครตรงที่มันไม่พรั่นต่อดิน,ทรายและฝุ่น ที่จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ระหว่างผิวที่เป็นห่วงและตะขอจนเกาะกันไม่ติด สลักเดือยทรงกระบอกนี้นอกจากจะช่วยให้ถอดและประกอบชุดเสื้อเกราะได้รวดเร็วแล้ว ยังไม่ต้องดึงเสื้อออกทางศีรษะซึ่งจะไปปัดหน้ากากแก๊ซ/เคมี/ชีวภาพออกโดยบังเอิญด้วย ในกรณีต้องทำสงครามเคมี/ชีวภาพ ไม่ซับซ้อนตามหลักของอุปกรณ์สนามที่ว่า"ต้องทำให้ง่าย ให้โง่เข้าไว้"(Keep It Simple,Stupid:KISS) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงประสิทธิภาพไว้ได้เต็มร้อย
จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา คาดว่าท่านที่สนใจและเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งต้องคลุกคลีกับเกราะและเสื้อ คงได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของเครื่องป้องกันร่างกายนี้ว่ามันมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด เช่นตัวแผ่นเกราะต้องถูกทดสอบและหน่วยงานที่เชื่อถือได้ต้องรับรอง ส่วนเครื่องห่อหุ้มหรือ"เสื้อ"ก็ต้องมีคุณสมบัติเอื้อต่อการใช้งานสนามด้วย เช่นเบา ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆได้หลายตำแหน่ง ช่วงไหล่เสื้อหลบพานท้ายปืนให้เข้าร่องไหล่ผู้ยิงได้พอดีไม่เลื่อนเลยไปเมื่อปืนถีบฯลฯ
ตราบใดที่การต่อสู้ยังคงมีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เครื่องป้องกันก็ยังต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆไม่หยุดยั้ง ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของกำลังพลและเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดสินค้าทางยุทธวิธี

แล้วกองทัพของเราล่ะ ถึงเวลาเลิกใช้สายเก่งประกอบเข็มขัดสนามและกระติกน้ำแล้วหรือยัง?