ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ทะยันกาเทะคองติน"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
หน้าใหม่: {{Infobox royalty |name = ทะยันกาเทะคองติน |image = Pyinmana Prince and his wife.jpg |alt = |caption = ทะยันกาเทะคองติน (ซ้าย) และปยี่นมะน่ามี่นต้า พระภัสดา (ขวา) เมื่อ ค.ศ. 1923 |succession = เจ้าหญิงแห่งทะยันกาและมโหย่...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:39, 8 พฤษภาคม 2567

ทะยันกาเทะคองติน
ทะยันกาเทะคองติน (ซ้าย) และปยี่นมะน่ามี่นต้า พระภัสดา (ขวา) เมื่อ ค.ศ. 1923
เจ้าหญิงแห่งทะยันกาและมโหย่ลา
ดำรงพระยศราว ค.ศ. 1875–1885
ประสูติค.ศ. 1873
มัณฑะเลย์ จักรวรรดิพม่าที่สาม
สิ้นพระชนม์ค.ศ. 1963 (ราว 90 ปี)
ร่างกุ้ง พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
ฝังพระศพสุสานเจา-มหยิ่นมิบะยา
พระภัสดาปยี่นมะน่ามี่นต้า (ค.ศ. 1902–1963)
ราชวงศ์โก้นบอง
พระบิดามินดง
พระมารดางาซุนมิบะยา

ทะยันกาเทะคองติน (พม่า: ထရံကာထိပ်ခေါင်တင်) หรือเอกสารไทยเรียก พระองค์หญิงดารา เป็นพระราชทินนามของพระราชธิดาในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่งาซุนมิบะยา หรือพระนางสุสิริกัลยา ซึ่งสืบสันดานมาจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอาณาจักรอยุธยา[1] ทะยันกาเทะคองตินเสกสมรสกับปยี่นมะน่ามี่นต้า พระเชษฐาต่างพระชนนี[2] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนพม่า ทั้งสองพระองค์ได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้เป็นกษัตริย์และพระราชินีหุ่นเชิดของญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิเสธ[3][4]

พระประวัติ

ทะยันกาเทะคองติน (ที่สี่จากซ้าย) และปยี่นมะน่ามี่นต้า (ที่แปดจากซ้าย) ฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ค.ศ. 1935

ทะยันกาเทะคองติน ประสูติใน ค.ศ. 1873 ที่กรุงมัณฑะเลย์ เป็นพระราชธิดาในพระเจ้ามินดง ประสูติแต่งาซุนมิบะยา หรือพระนางสุสิริกัลยา พระมเหสีลำดับ 4 ซึ่งสืบสันดานมาจากกษัตริย์อยุธยา[3] พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ทรงกล่าวถึงบุรพชนของทะยันกาเทะคองตินไว้ความว่า "...พระองค์หญิงดาราตรัสบอกว่าเธอเป็นเชื้อไทย ด้วยสกุลจอมมารดาของเธอเป็นไทย ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าต้นสกุลเป็นเจ้าชาย [ถูกกวาด] ไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังเยาว์ ถ้าเช่นนั้นคิดตามเวลา พระองค์เจ้าหญิงดาราก็คงเป็นชั้น ๔ หรือชั้น ๕ ต่อมาจากต้นสกุล..."[1][2] แม้พระองค์จะมีเชื้อสายโยดะยา แต่พระองค์ตรัสได้แต่ภาษาพม่าเท่านั้น[2] เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น พระเจ้ามินดงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นมโหย่ซ่า (မြို့စား) กินส่วยเมืองทะยันกา (ထရံကာ) และเมืองมโหย่ลา (မြို့လှ) มีราชทินนามเป็น ทะยันกาเทะคองติน เป็นพระอิสริยยศสูงเป็นลำดับที่สองสำหรับพระราชธิดากษัตริย์พม่า[3]

ในช่วงที่พระเจ้ามินดงทรงพระประชวรเพียบหนักก่อนเสด็จสวรรคตได้มิช้านาน ช่วงเวลานั้นทะยันกาเทะคองตินที่ยังทรงพระเยาว์ได้ถวายงานนวดพระบรมชนกนาถ และมีปยี่นมะน่ามี่นต้า (เอกสารไทยเรียก พระองค์ปิ่น)[1][2] พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งถวายงานนวดเบื้องขวาเช่นกัน พระเจ้ามินดงทอดพระเนตรดังนั้นก็ตรัสว่าทรงดีพระทัยยิ่ง และมีพระราชดำริให้พระราชโอรสและพระราชธิดาสองพระองค์นี้เสกสมรสกันเมื่อเจริญพระชันษา ก่อนทะยันกาเทะคองตินและปยี่นมะน่ามี่นต้าถวายบังคมลากลับพระตำหนัก พระเจ้ามินดงก็พระราชทานสร้อยพระศอประดับเพชรให้กับทั้งสองพระองค์

เสกสมรส

เมื่อทะยันกาเทะคองตินและปยี่นมะน่ามี่นต้าเจริญพระชันษาขึ้น ก็เสกสมรสกันเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรแล้ว ขณะนั้นทะยันกาเทะคองตินมีพระชันษา 28 ปี และปยี่นมะน่ามี่นต้ามีพระชันษา 30 ปี ทั้งสองพระองค์ครองรักกันมายาวนาน และปยี่นมะน่ามี่นต้ามิทรงรับหญิงอื่นใดมาเป็นนักนางสนมเลย[3] ทั้งสองมีพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์ในช่วงที่พระราชวงศ์พม่าถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรส่งไปประทับที่อินเดีย ปยี่นมะน่ามี่นต้าถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนป่าไม้เดห์ราดูน ในเวลาต่อมาจายมยินมิบะยา พระชนนีของปยี่นมะน่ามี่นต้าพาพระโอรสน้อยนิวัตเมืองพม่า แต่อยู่ได้มิช้านานพระโอรสน้อยก็สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน หลังทะยันกาเทะคองตินและปยี่นมะน่ามีนต้านิวัตเมืองพม่าทั้งสองพระองค์อยู่กันอย่างมัธยัสถ์เพราะทั้งสองมิได้ทรงงานราชการ ทรงยังชีพด้วยเบี้ยเลี้ยงแก่เจ้านายชั้นพระราชบุตรราว 1,200–1,500 รูปี ที่จ่ายโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร[2]

เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จประพาสเมืองพม่า ปยี่นมะน่ามี่นต้าและทะยันกาเทะคองตินได้ออกมาถวายการต้อนรับที่พระตำหนักส่วนพระองค์เป็นอย่างดี ทั้งสองพระองค์สนพระทัยการเมืองของไทยมาก ทรงชื่นชมไทยที่ยังรักษาเอกราชไว้ได้ และกล่าวว่าวัฒนธรรมของโยดะยาเป็นของดีและได้รับความนิยมในพม่ามาก ทั้งเครื่องดนตรี กระบวนท่ารำ หรือแม้แต่ศิลปกรรมก็ล้วนแต่รับมาจากโยดะยาทั้งนั้น[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็ทรงชื่นชมปยี่นมะน่ามี่นต้าและทะยันกาเทะคองตินว่า "...สังเกตดูทั้ง ๒ องค์รูปโฉมและกิริยามารยาทสมควรเป็นเจ้าเป็นนาย ไม่น่ารังเกียจ..." และกล่าวอีกว่า "...คิดดูก็น่าชมเจ้านายสองสามองค์นี้ ถึงตกยากแล้วก็ยังพยายามรักษาเกียรติยศของบรรพบุรุษ..."[2]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนพม่า ทั้งสองพระองค์ได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้เป็นกษัตริย์และพระราชินีหุ่นเชิดของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1942 แต่ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่น[3][4]

สิ้นพระชนม์

พิธีปลงพระศพของปยี่นมะน่ามี่นต้าและทะยันกาเทะคองติน เมื่อ ค.ศ. 1963

ทะยันกาเทะคองตินมีพระอาการประชวรหลังทรงจัดงานบวชลูกแก้วให้แก่พระนัดดา ก่อนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1963 สิริพระชันษา 90 ปี ปยี่นมะน่ามี่นต้าผู้สวามีตรอมพระทัยมากและสิ้นพระชนม์ในวันที่ 7 มิถุนายนปีเดียวกัน หรือหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระชายาเพียงสี่วัน หีบพระศพของทั้งสองพระองค์ถูกตั้งไว้คู่กันบริเวณลานกว้างของสุสานเจา-มหยิ่นมิบะยา[3][5]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517, หน้า 239
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Maung Than Swe (Dawei) (1999). Konbaung Shindan (Konbaung Explanations). pp. 112–117.
  4. 4.0 4.1 "ထိုင်းဘုရင်သွေး မကင်းတဲ့ မြန်မာတွေ". BBC News မြန်မာ (ภาษาพม่า). 26 October 2017.
  5. "မင်းတုန်းမင်းတရားကြီး၏နတ်ပြည်စံသက် (၁၄၃)နှစ်ပြည့် မတကဘတ်ဆွမ်းကပ်ခြင်း အခမ်းအနားကျင်းပမည်". Popular News Journal. 8 October 2021.