ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หม่อมเป็ดสวรรค์"
แอนเดอร์สัน (คุย | ส่วนร่วม) ไม่มีความย่อการแก้ไข |
แอนเดอร์สัน (คุย | ส่วนร่วม) ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัด 240: | บรรทัด 240: | ||
* '''ผ้าละว้า''' คือผ้าฝ้ายทอมือ โบราณนิยมใช้ทำ[[ผ้าห่อศพ]] แต่หม่อมขำหาผ้าดี ๆ ไม่ได้ จึงต้องนำผ้าละว้าของคนลาวมาคลุม[[วอ]]ของตน<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} |
* '''ผ้าละว้า''' คือผ้าฝ้ายทอมือ โบราณนิยมใช้ทำ[[ผ้าห่อศพ]] แต่หม่อมขำหาผ้าดี ๆ ไม่ได้ จึงต้องนำผ้าละว้าของคนลาวมาคลุม[[วอ]]ของตน<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} |
||
* '''ฟันกะลา''' คือฟันปลอมของคนสมัยก่อน ทำจากกะลามะพร้าวมาเจียนให้มีรูปเหมือนฟันแล้วหาวิธีใส่ เช่นผูกฟันปลอมเข้ากับฟันแท้ คนที่มีฐานะดีจะจ้างช่างทองทำฟันทองให้<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} |
* '''ฟันกะลา''' คือฟันปลอมของคนสมัยก่อน ทำจากกะลามะพร้าวมาเจียนให้มีรูปเหมือนฟันแล้วหาวิธีใส่ เช่นผูกฟันปลอมเข้ากับฟันแท้ คนที่มีฐานะดีจะจ้างช่างทองทำฟันทองให้<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} |
||
* '''ตะบัน''' มีลักษณะคล้าย[[ครก]]แต่เป็นแท่งยาวทรงกระบอก มีขนาดเล็ก ใช้ตำหมากก่อนเคี้ยว<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} ประกอบด้วยส่วนประกอบสามอย่าง ได้แก่ "ตะบันหมาก" คือแท่งกลวงทรงกระบอก มีไม้กลมอุดใต้กระบอกเรียกว่า ดาก, "ลูกตะบัน" มีลักษณะเป็นแท่งยาวมีด้ามจับ ปลายแหลมคม ใช้สำหรับตำหมาก และ "สาก" แท่งเหล็กยาวผอม ใช้ตำอัดหมากให้แหลกให้แน่น<ref>{{cite web |url= https://www.finearts.go.th/museumbangkok/view/44242-ตะบันหมาก |title= ตะบันหมาก |author=|date= |work= พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |publisher=|accessdate= 9 พฤษภาคม 2567}}</ref> |
|||
* '''ตะบัน''' มีลักษณะคล้าย[[ครก]] มีขนาดเล็ก ใช้ตำหมากก่อนเคี้ยว<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|123}} |
|||
* '''ผ้าสมปัก''' คือผ้านุ่งที่ขุนนางได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศ นุ่งเมื่อเข้าเฝ้าเจ้านาย<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|124}} เป็นคำยืมจาก[[ภาษาเขมร]]ว่า "ซ็อมปอต" ({{lang|km|សំពត់}}, ''สํปต'') แปลว่าผ้าสำหรับนุ่ง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะอย่างไทยใช้<ref>{{cite book | author = ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) | title = สมปักปูม ภูมิผ้าเขมร ◆ ไทย จากราชสำนักสู่สามัญชน | url = https://archive-api.sacit.or.th/documents/media/book/media-book-YdsvR8PxC5.pdf | publisher = เนติกุลการพิมพ์ | location = กรุงเทพฯ | year = 2558 | page =}}</ref>{{rp|7}} |
* '''ผ้าสมปัก''' คือผ้านุ่งที่ขุนนางได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศ นุ่งเมื่อเข้าเฝ้าเจ้านาย<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|124}} เป็นคำยืมจาก[[ภาษาเขมร]]ว่า "ซ็อมปอต" ({{lang|km|សំពត់}}, ''สํปต'') แปลว่าผ้าสำหรับนุ่ง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะอย่างไทยใช้<ref>{{cite book | author = ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) | title = สมปักปูม ภูมิผ้าเขมร ◆ ไทย จากราชสำนักสู่สามัญชน | url = https://archive-api.sacit.or.th/documents/media/book/media-book-YdsvR8PxC5.pdf | publisher = เนติกุลการพิมพ์ | location = กรุงเทพฯ | year = 2558 | page =}}</ref>{{rp|7}} |
||
* '''แป้งหิน''' หมายถึง[[แป้งร่ำ]] เครื่องประทิ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองชนิด อย่างแรกคือแป้งร่ำที่ทำจากทรายเกลือ ทำจากน้ำทะเลชั้นทรายเกลือมาคั่วให้สุกจะได้แป้งขาวบริสุทธิ์ ส่วนอีกชนิดคือแป้งร่ำที่ทำมาจาก[[ดินสอพอง]] มีสีขุ่นกว่าทรายเกลือ แต่เป็นที่นิยมมากเพราะหาได้ง่ายและราคาถูก<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|124}} |
* '''แป้งหิน''' หมายถึง[[แป้งร่ำ]] เครื่องประทิ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองชนิด อย่างแรกคือแป้งร่ำที่ทำจากทรายเกลือ ทำจากน้ำทะเลชั้นทรายเกลือมาคั่วให้สุกจะได้แป้งขาวบริสุทธิ์ ส่วนอีกชนิดคือแป้งร่ำที่ทำมาจาก[[ดินสอพอง]] มีสีขุ่นกว่าทรายเกลือ แต่เป็นที่นิยมมากเพราะหาได้ง่ายและราคาถูก<ref name="มัชฌิมา"/>{{rp|124}} |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 01:47, 9 พฤษภาคม 2567
ผู้ประพันธ์ | คุณสุวรรณ |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ประเภท | กลอนเพลงยาว |
สำนักพิมพ์ | ศิวพร (พ.ศ. 2507) เสริมวิทย์บรรณาคาร (พ.ศ. 2515) |
หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นกลอนเพลงยาว แต่งโดยคุณสุวรรณ หญิงนางในและเป็นราชินิกุลในตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเธอมีชื่อเสียงเจนจัดด้านการแต่งกลอน จนผู้คนสามารถจดจำและท่องบทกลอนที่เธอแต่งได้[1]: 3 คาดว่าเพลงยาวนี้น่าจะแต่งขึ้นช่วง พ.ศ. 2384–2385[2] หรือ พ.ศ. 2384–2386 โดยแต่งต่อเนื่องกับ เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งแต่งโดยคุณสุวรรณเช่นกัน[3]: 118 บางแห่งให้ข้อมูลว่า ไม่ปรากฏนามผู้แต่งเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์[2] และหากเป็นผลงานของคุณสุวรรณจริง ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในงานไม่กี่ชิ้นที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชน[4]
เรื่องราวของ หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องราวของนางในผู้รับราชการอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นสังคมปิดที่รายล้อมไปด้วยสาวสรรกำนัลใน มีตัวละครหลักอยู่สองตัว คือ หม่อมสุด หรือสมญาว่า "คุณโม่ง" และหม่อมขำ มีสมญาว่า "หม่อมเป็ด" ทั้งสองเป็นอดีตบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หลังเจ้าวังหน้าเสวยทิวงคตไปแล้ว ทั้งสองถูกโอนเข้ามาเป็นข้าอยู่ในตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทั้งสองจึงคบหากัน หรือที่สมัยนั้นเรียกความสัมพันธ์อย่างนี้ว่า "เล่นเพื่อน" เนื้อหาในเพลงยาวมุ่งเฉพาะเรื่องชวนหัวของหม่อมสุดและหม่อมขำ ซึ่งสมญาของทั้งสองก็นำมาจากบุคลิกและพฤติกรรมที่ดูน่าขบขันเป็นสำคัญ[5][6]: 57 เนื้อหาของเรื่องจัดอยู่ในแนวเสียดสีสังคม และสะท้อนภาพสังคม[2]
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ หม่อมเป็ดสวรรค์ ไม่มีท่าทีต่อต้านการรักร่วมเพศของสตรีในพระบรมมหาราชวังแต่อย่างใด[7] อีกทั้งยังได้สอดแทรกลักษณะของสังคมไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ เช่น บรรยายความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของสตรีชาววัง[8]: 23 อีกทั้งยังปรากฏอาหาร วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคนั้นได้อย่างละเอียดชัดเจน[3]: 117
หม่อมเป็ดสวรรค์ มีสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ และสำนักพิมพ์จะต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนนำไปตีพิมพ์ ทั้งนี้เคยมีการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร เมื่อ พ.ศ. 2507 และสำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร เมื่อ พ.ศ. 2515
ที่มาของเรื่อง
หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องราวที่เรียงร้อยมาจากเรื่องจริง และตัวละครในเพลงยาวก็มีตัวตนจริง ผ่านตัวละครที่เป็นหญิงรักหญิง โดยผู้แต่งหยิบยกเรื่องส่วนตัวของหม่อมสุด และหม่อมขำ นางในสองคนที่รับราชการพระราชวังบวรสถานมงคล (หรือ วังหน้า) มาก่อน เดิมเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ภายหลังเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทิวงคตใน พ.ศ. 2375 หม่อมสุดจึงโอนเข้าไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (หรือ วังหลวง) ทำหน้าที่เป็นผู้อ่านบทกลอนก่อนบรรทมในพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเรียกกันว่า "พระตำหนักใหญ่" เจ้าของตำหนักเป็นพระราชธิดาพระองค์โปรดในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมาหม่อมขำจึงย้ายมารับราชการในวังหลวงในพระตำหนักใหญ่เช่นเดียวกับหม่อมสุด ทั้งสองคบหากันอย่างเปิดเผย หรือที่ศัพท์สมัยนั้นเรียกว่า "เล่นเพื่อน" เป็นที่รู้กันทั่วไปในราชสำนัก และทั้งสองก็มักจะมีเรื่องวิวาทกันเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ คุณสุวรรณ ซึ่งเป็นจินตกวีฝีปากดีผู้มีชื่อแห่งพระตำหนักใหญ่ จึงแต่งเพลงยาวเพื่อล้อเลียนนางข้าหลวงทั้งสองคน[7][9][10]: 58 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงคุณสุวรรณเอาไว้ ความว่า[6]: 63
"คุณสุวรรณเป็นจินตกวีผู้รู้รสกวีดีคนหนึ่ง แต่งบทกลอนดี ทั้งในเวลาสำเริงสุขและเวลาที่ทุกข์ร้อน อื่นจากเพลงยาว 2 เรื่องนี้แล้ว [คือ เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และ เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ] ยังได้แต่งบทละคอนอุณรุทร้อยเรื่องและบทละคอนเรื่องพระมะเหลเถไถไว้อีก เป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียงสืบมากระทั่งทุกวันนี้"
จุดประสงค์ในการแต่งเพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ คือแต่งให้ชาววังด้วยกันอ่านเล่นเป็นสนุกสนาน ส่วนหม่อมสุดและหม่อมขำจะสนุกกับเพลงยาวนี้ด้วยหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ทราบ แต่เรื่องราวของทั้งสองยังปรากฏต่อใน เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นผลงานของผู้แต่งคนเดียวกัน คือคุณสุวรรณ[11]: 44 ขณะที่เว็บไซต์ของ นามานุกรมวรรณคดีไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้ข้อมูลว่า เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง[2]
อย่างไรก็ตามการกระทำของหม่อมสุดและหม่อมขำ ถือเป็นการผิดกฎมนเทียรบาล มาตรา 124 วรรคสอง ระบุว่า "อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุจชายเปนชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักฅอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ"[7][10]: 67 แม้จะผิดครรลองของราชสำนัก แต่กรณีของทั้งสองได้รับการผ่อนปรน เพราะถือว่ามิใช่ความผิดร้ายแรง อีกทั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเองก็มิทรงถือโทษกับพฤติกรรม "เล่นเพื่อน" ของทั้งสอง ทรงชุบเลี้ยงอย่างดีเป็นที่โปรดปราน และมีพระเมตตากับทั้งสองมาโดยตลอด[5][7] ครั้งหนึ่งหม่อมสุดและหม่อมขำเคยทะเลาะกันจนลูกกรงไม้สักที่เฉลียงในพระตำหนักใหญ่หัก ทว่าหลังทั้งสองให้การสารภาพผิด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็มิทรงเอาความ แล้วให้ทหารในมาซ่อมแซมเฉลียงใหม่[9]
เนื้อเรื่อง
ช่วงต้น
ตอนต้นของเรื่องเริ่มจากการอธิบายความเป็นมาของหม่อมสุดและหม่อมขำ ซึ่งเป็นตัวละครหลัก โดยให้ข้อมูลเพียงว่าทั้งสองเคยรับราชการเป็นบาทบริจาริกาหรือนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสวยทิวงคต ทั้งสองจึงตกพุ่มหม้าย และเริ่มสานสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง หรือที่เรียกว่า "เล่นเพื่อน" ดังปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 73 [6]: 7
๏ จะกล่าวถึงหม่อมสุดนุชนาฏ | เป็นข้าบาทพระราชวังบวรสถาน | |
เป็นหม่อมห้ามขึ้นระวางนางอยู่งาน | ครั้นเสด็จเข้าพระนิพพานล่วงลับไป |
คิดถึงพระเดชพระคุณให้มุ่นหมก | แสนเศร้าเปล่าอกตกเป็นหม้าย | |
ได้แต่เห็นหน้าหม่อมขำคอยช้ำใจ | รักใคร่แนบข้างไม่ห่างทรวง |
ต่อมาหม่อมสุดได้โอนย้ายไปรับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง หรือที่เรียกว่า "พระวังหลวง" ในพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่เรียกกันว่า "พระตำหนักใหญ่" ภายหลังหม่อมสุดได้ชักชวนให้หม่อมขำมาทำงานอยู่ในพระวังหลวงด้วยกัน ที่สุดหม่อมขำได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้หม่อมขำไปรับราชการอยู่ที่พระตำหนักใหญ่ด้วยกันกับหม่อมสุด[1]: 75 [6]: 8 ชีวิตใหม่ในพระตำหนักใหญ่ของหม่อมสุดและหม่อมขำนั้นไปได้สวย เพราะกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพโปรดปรานทั้งคู่ โดยระบุในกลอนว่า "ในเสด็จใช้นางอย่างผู้ดี" และกล่าวอีกว่าหม่อมขำได้แต่งตัวสวยเหมือนสาวน้อยอยู่ตลอด กระนั้นหม่อมขำนั้นเสียฟันไปแล้วหลายซี่ จึงต้องใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลามะพร้าว ปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 76 [6]: 8
ฝ่าพระบาทจึ่งพระราชทานนาม | ยกจากห้ามขึ้นเป็นจอมเรียกหม่อมเป็ด | |
ริมฝีปากสู้เอากระเหม่าเช็ด | ในเสด็จใช้นางอย่างผู้ดี |
หมั่นผัดพักตร์ผิวผ่องละอองหน้า | แต่ทันตาอันตรายไปหลายซี่ | |
ประจงจัดตัดกะลาที่หนาดี | ใส่เข้าที่แทนฟันทุกอันไป |
ที่ไม่รู้ดูเหมือนกับสาวน้อย | กระชดกระช้อยเจรจาอัฌชาสัย | |
คุณสุดสุดสวาทจะขาดใจ | แต่เวียนไปเวียนมาทุกราตรี |
ข้างหม่อมสุดเองก็เป็นคนรู้หนังสือดี มีฝีปากดี มีไหวพริบในเชิงกาพย์กลอน ผู้แต่งได้กล่าวชมเชยหม่อมสุดว่าเก่งกว่านักเลงกลอนที่เป็นชายบางคน ไว้ว่า "ถึงนายแฟงนายคงครูสู้ไม่ได้"[1]: 77 [6]: 9 กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงให้หม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ก่อนบรรทมเป็นประจำทุกคืน แต่หม่อมสุดนั้นชอบเล่นเพื่อนกับหม่อมขำ มีคืนหนึ่งหม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำคัญว่าเจ้านายบรรทมแล้ว ก็ดับเทียนเอาผ้าคลุมกอดจูบกับหม่อมขำชุลมุนวุ่นวายอยู่ที่ปลายพระบาท ขณะนั้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่บรรทม และทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์ของทั้งคู่ พระองค์จึงประทานชื่อแก่หม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" เพราะนำผ้ามาคลุมโปงเล่นเพื่อน ส่วนหม่อมขำเองก็ชอบเดินส่ายกิริยาเหมือนเป็ด จึงพระราชทานนามว่า "หม่อมเป็ด" ดังปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 78–79 [6]: 9
ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ | หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง | |
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง | ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย |
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท | ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่ | |
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ | ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง |
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท | อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง | |
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง | จึ่งเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา |
ข้างหม่อมเป็ดเสด็จท่านโปรดปราน | ได้ประทานเปลี่ยนนามตามยศถา | |
เพราะเดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา | จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน |
ช่วงกลาง
ครั้งหนึ่งหม่อมขำชวนข้าของเสด็จในกรมลงแพว่ายน้ำที่พระตำหนักแพ (ปัจจุบันคือท่าราชวรดิฐ) แล้วเรียกเรือขายขนมจีนเพื่อซื้ออาหารรับประทานเล่น หม่อมขำซื้อของมากินหลายอย่าง ในท้องกลอนระบุไว้ว่า "ทั้งห่อหมกนกคั่วใบบัวอ่อน ทอดมันจันลอนไว้หนักหนา" สักพักหนึ่งหม่อมขำก็ปวดท้อง แต่มิกล้าบอกใครเพราะกระดากอาย อีกสักพักหนึ่งท้องไส้ก็ปั่นป่วนจนหม่อมขำอดทนไม่ไหว ก็รีบวิ่งไปสรีร์สำราญ แต่ปรากฏว่าไปไม่ทัน หม่อมขำทำอุจจาระเล็ดราดไปตามทาง หลังจากนั้นหม่อมขำจึงซื้อขนมเป็นกำนัลให้ตาเฒ่าที่เฝ้าตำหนักใช้ให้ไปทำความสะอาดแทนให้สิ้นกลิ่น แล้วห้ามตาเฒ่านำเรื่องนี้ไปแพร่งพรายแก่ผู้ใด[1]: 80 [6]: 10 ต่อมาหม่อมขำนั่งเล่นไพ่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และข้าของเสด็จในกรมอีกหลายคน หลังเล่นไปแล้วหลายกระดาน หม่อมขำก็ปวดท้องหนักจนทนไม่ไหว จึงรีบถวายบังคมออกไปสรีร์สำราญ เมื่อปลดทุกข์เรียบร้อยดีแล้ว หม่อมขำเกิดหิวขึ้นมา ก็ลอบนำผลทุเรียนและเม็ดบัวมารับประทาน แต่เคี้ยวไม่เข้าเพราะใช้ฟันปลอม และเหลือฟันแท้ไว้ขบอาหารน้อยซี่ หม่อมขำจึงนำเนื้อทุเรียนและเม็ดบัวไปตำในตะบันให้แหลก ด้วยสำคัญว่าไม่มีใครเห็น แต่ปรากฏว่าลุงทองจีนเห็นพฤติการณ์ทั้งหมด ก็ถามหม่อมขำว่า "อะไรในตะบัน" หม่อมขำตอบว่า "ตะบันหมากกินดอกจ๊ะลุงจ๋า" ลุงทองจีนก็ว่า "อันคนแก่ตะบันหมากมากด้วยกัน แต่ซึ่งตะบันทุเรียนหามีไม่ ผลบัวก็ตะบันขันสุดใจ น่าจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์"[1]: 82–83 [6]: 11
หม่อมขำมีปัญหากับฟันปลอมเป็นประจำ ครั้งหนึ่งหม่อมขำกำลังเจรจากับหลวงนายศักดิ์อย่างออกรส จนทำฟันปลอมของตนกระเด็นตกลงหน้าหลวงนายศักดิ์เพราะไหมที่ผูกไว้กับฟันนั้นเปื่อย หลวงนายศักดิ์ก็ทักถามทันที หม่อมขำก็อ้างว่าหมากกระเด็นออกจากปากเพราะบ่าวตะบันไม่ใคร่แหลก แล้วแก้เกี้ยวด้วยการหันไปเอ็ดบ่าวของตัว แล้วรีบผูกฟันปลอมเข้ากับปากให้เรียบร้อย[1]: 84 [6]: 11–12 วันหนึ่งหม่อมขำเข้าออเซาะหม่อมสุดว่าอยากได้ของเปรี้ยวหวานไว้กิน หม่อมสุดก็ว่ามีของกินในห้องของตน หม่อมขำจึงรีบเข้าไปหาของกินในห้องของหม่อมสุด ก็พบกับก้อนเกลือสินเธาว์ก้อนใหญ่ไว้ทำยา แต่หม่อมขำเข้าใจว่าเป็นขัณฑสกร เมื่อรับประทานเข้าไปมีรสเค็มก็พาลโกรธหม่อมสุด แม้หม่อมสุดจะปลอบเท่าไร หม่อมขำก็ยิ่งโกรธแสร้งสำออย หยิกตีตะกายหม่อมสุด ประกาศตัดขาดจากกัน ด่าทอประชดประชัน และทวงสิ่งของของกันและกันจนเรื่องราววุ่นวายใหญ่โต แต่พอตกดึกทั้งสองก็คืนดีกัน[1]: 85–89 [6]: 12–14
เมื่อคราวจางวางหมอได้เข้ามาถวายการรักษากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยมีหม่อมขำคอยถวายรายงานพระอาการของเสด็จในกรม เมื่อจางวางหมอถวายการรักษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หม่อมขำก็เพ็ดทูลอาการของตัวว่าปวดศีรษะและมึนศีรษะมาช้านาน จางวางหมอตัดสินพระทัยเป่ายานัตถุ์ให้หม่อมขำ แต่ด้วยฤทธิ์ของยานัตถุ์ทำให้หม่อมขำจามออกมาอย่างแรง จนฟันปลอมของตนกระเด็นตกลงต่อหน้าพระพักตร์จางวางหมอ จางวางหมอก็ทรงพระสรวล แล้วชมว่ายานัตถุ์ของพระองค์นี้ดีนัก หม่อมขำรีบแกล้งไถลตัวออกจากที่ด้วยกระดากอายยิ่งนัก[1]: 89–90 [6]: 14
น้ำตาไหลไอจามศีรษะฟัด | จนฟันพลัดตกเปาะจำเพาะพักตร์ | |
กรมหลวงทรงทอดพระเนตรมา | เห็นกะลาทำฟันให้ขันหนัก |
แล้วก็ทรงพระสรวลสำรวลคัก | หม่อมอายนักก้มหน้าไม่พาที | |
เสด็จตรัสว่ายานัตถุ์ดีขยัน | แต่ฟันคนเจียวยังหลุดออกจากที่ |
นี่หรือโรคจะไม่คลายหายดี | บัดเดี๋ยวนี้ก็จะหายไปคล้ายฟัน | |
หม่อมเป็ดอายเสด็จไม่อยู่ได้ | แกล้งไถลเลื่อนหลีกไปจากนั่น |
ต่อมาเป็นเนื้อหาที่ผู้แต่ง คือคุณสุวรรณ อุทธรณ์ว่าตนเองมิใช่คนที่นำเรื่องลับของหม่อมขำไปแพร่งพรายเพียงผู้เดียว โดยได้กล่าวซัดทอดคุณชีเหม ลุงทองจีน หลวงนายศักดิ์ นายผึ้ง ตาแจ้ง ส่วนคุณสุวรรณนั้นอ้างว่าตนได้ยินได้ฟังมาจากคนที่ตำบลถนนอาจารย์เล่าลือเรื่องเก่าเรื่องแก่ของหม่อมขำ และกล่าวอีกว่ามีตาแจ้งกับนายมีเข้าไปขับเสภาล้อเลียนหม่อมขำในพระตำหนักใหญ่ เมื่อหม่อมขำได้ฟังก็รู้สึกละอายใจลุกออกจากที่ แล้วไปนั่งอยู่ที่เก๋งเสวยพลางบ่นว่า เบื่อตาแจ้งนายมีมาเห่าหอนดั่งหมาเดือนสิบสอง พอถึงเวลาอาหารค่ำ อีเปียได้เข้าไปชักชวนหม่อมขำเข้าไปร่วมวงรับประทานอาหารด้วยกัน แต่หม่อมเป็ดกล่าวกับอีเปียว่า "พี่เสียใจ ไม่ไปกินแล้วของคาวหวาน" จนลุงทองจีนตามหม่อมขำไปรับประทานอาหารด้วยกัน หม่อมขำเกรงใจลุงทองจีนแล้วกล่าวว่าจะตามเข้าไป จากนั้นหม่อมขำรู้สึกปวดท้องหนักก็รีบเข้าไปอุจจาระที่สรีร์สำราญ เมื่อขับถ่ายเสร็จก็พบหม่อมสุดเดินมาพอดี หม่อมสุดชวนไปรับประทานข้าวมันด้วยกัน หลังรับประทานอาหารเสร็จ ยายปาน ลูกบุญธรรมของหม่อมขำก็ออกปากชมตาแจ้งว่าขับเสภาได้ดี ทั้งขับได้ไพเราะ และตลกมากเสียด้วย ฝ่ายหม่อมขำได้ยินดังนั้นก็โกรธ พลางกระทืบเท้าแล้วพูดว่า "ออปานลูกมึงจะถูกไม้เรียวรึ คนอะไรไม่มีอัธยา อย่ามานั่งอยู่ที่กูดูไม่ได้"[1]: 97–98 [6]: 14–18 ตกดึกคืนนั้นหม่อมขำเรียกให้แพทย์วาโยมานวดให้ แต่หม่อมสุดบอกว่าจะนวดให้แทน ระหว่างนั้นหม่อมขำก็กล่าวว่าตนเจ็บใจที่คุณชีเหมเอาเรื่องไม่ดีของตนไปไขแก่ผู้อื่นในพระตำหนักจนตนรู้สึกอับอาย หม่อมสุดปลอบประโลมว่าตนเข้าใจหม่อมขำ หม่อมสุดกล่าวอีกว่า หากใครไม่ดีต่อเราให้ตัดออกไป ส่วนใครที่ว่าร้ายก็ไม่ต้องไปโต้ตอบให้นิ่งเสีย จากนั้นทั้งสองก็ผล็อยหลับไป[1]: 98–99 [6]: 18
ช่วงท้าย
หม่อมสุดเข้ามานอนที่ห้องของหม่อมขำหลายคืนแล้ว และตัวหม่อมขำเองก็ยังไม่กล้าออกไปสู้หน้าใครข้างนอก เพราะยังชอกช้ำกับเสภาของตาแจ้งนายมีอยู่ ทั้งยังพาลโกรธข้าคนอื่นในตำหนักอยู่หนักหนา ในเวลาต่อมาก็มีการขับเสภาในพระตำหนักอีกครั้ง ตาแจ้งนายมีก็ขับเกริ่นเรื่องราวของหม่อมขำอีก หม่อมขำกับหม่อมสุดที่หนีไปนั่งอยู่ที่เฉลียงได้ยินดังนั้นก็โกรธอีก หม่อมขำกล่าวว่า "เกลียดตาแจ้งบ้า เฝ้าขับเรื่องเราร่ำไปได้ ไม่รู้แล้วรู้รอดสอดพิไร เฝ้าค่อนขอดแคะไค้เจ็บใจจริง" พอเสภาจบตอนพลบค่ำ คนก็เดินมาที่หน้าเฉลียง หม่อมขำอับอายจึงจะลุกวิ่งออกไปไกล ๆ หม่อมสุดก็รั้งตัวไว้บอกว่าให้นั่งนิ่ง ๆ ไม่เป็นอะไรหรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่หม่อมสุดกลับไปบอกอีกว่า ไม่ให้หม่อมขำไปโกรธตาแจ้งเลย เพราะหม่อมสุดก็ชอบตาแจ้งเหมือนกัน เมื่อหม่อมขำได้ยินดังนั้นก็โกรธหม่อมสุดเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วทะเลาะกันกับหม่อมสุด ลุงทองจีนขึ้นมาห้ามปรามทั้งคู่ แต่ทั้งหม่อมสุดและหม่อมขำก็วิ่งหนีซ่อนตัวด้วยความอับอาย วิ่งวนเวียนไปมาจนไม้เฉลียงหักตกลงไปทั้งคู่ หม่อมสุดล้มทับหม่อมขำจนน้ำตาไหลออกมาด้วยความเจ็บปวด จากนั้นทั้งสองแสร้งทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วคืนนั้นทั้งสองก็นอนกอดกันอย่างเป็นสุข[1]: 100–103 [6]: 19–20 รุ่งขึ้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงตรัสหาหม่อมเป็ดสวรรค์ว่าเหตุใดไม้ตรงเฉลียงจึงหักเช่นนั้น หม่อมขำอ้างว่าเมื่อคืนคนฟังเสภาเยอะมาก เฉลียงเลยรับน้ำหนักไม่ไหวจึงหักลง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสดับคำแก้ตัวของหม่อมเป็ดดังนั้น ก็ทรงตวาดด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า ทรงทราบความจริงทั้งหมดอยู่แล้ว ใยหม่อมเป็ดยังคิดโกหกเช่นนี้อีก หม่อมขำเองเกรงราชทัณฑ์ จึงก้มลงกราบออกรับสารภาพต่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แล้วกล่าวอีกว่าหาตาแจ้งมาขับเสภาต่อว่าตนเองอีก จะไม่โกรธขึ้งดังนี้อีก ดังปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 103–105 [6]: 20
พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง | ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข | |
จะแกล้งมาพูดบิดคิดเลี้ยวลด | เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน |
หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว | ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น | |
ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์ | อภิวันท์สารภาพกราบกราน |
ได้พลั้งพลาดขอพระราชทานโทษ | ขอพระองค์ทรงโปรดกระหม่อมฉาน | |
ไปเบื้องหน้าตาแจ้งถนนอาจารย์ | จะขับเสภาว่าขานไม่เคืองใจ |
หลังหม่อมขำสารภาพไปตามสัตย์ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ทรงยกโทษให้หม่อมขำ แล้วมีรับสั่งให้ทหารในมาซ่อมแซมเฉลียงขึ้นใหม่[1]: 105 [6]: 20
อยู่มาวันหนึ่ง หม่อมขำใคร่จะกินข้าวเหนียวสังขยา จึงใช้ให้ยายปานลงเรือใบไปซื้อสังขยาถึงเมืองละคร โดยเตรียมกาละมังโคมใบใหญ่เป็นภาชนะใส่อาหาร หลวงนายศักดิ์เห็นแล้วก็ตกใจว่าเหตุใดภาชนะใส่อาหารถึงใหญ่เพียงนั้น เมื่อยายปานกลับมาถึงห้อง หม่อมขำก็ลุกไปหยิบกาละมังแล้วขึ้นนั่งกินบนเตียง ปรากฏว่าพอหย่อนก้นลงได้เตียงไม้สักก็หักลง ในเวลาเดียวกันนั้นหม่อมขำก็ผายลมออกมาเสียงดัง ดังปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 105–106 [6]: 21
ฝ่ายหม่อมนิ่งนอนคอยคอยหา | เห็นปานมาผุดลุกขึ้นจากหมอน | |
กำลังอยากสังขยาให้อาวรณ์ | ถึงเตียงหย่อนก้นกักเตียงหักพลัน |
พื้นพังดังสวบเสียงกรวบกราบ | เสียงก้องกาบกาบเหมือนเป็ดขัน | |
กับหม่อมระบายผายลมประสมกัน | เหมือนเป็ดสวรรค์ที่ฉันเลี้ยงไว้วัดระฆัง |
หลังจากนั้นหลวงนายศักดิ์ได้ยินเรื่องราวดังกล่าวมา เมื่อพบตัวหม่อมขำก็หัวเราะเยาะให้ ว่าหม่อมขำกินสังขยาจนเตียงหักไป หม่อมขำก็คิดเกรงว่าเรื่องจะเลยไปถึง ลุงทองจีน นายผึ้ง ตาแจ้ง และหลวงนายอีกนายหนึ่งเป็นแน่ ค่ำคืนวันนั้นที่พระตำหนักใหญ่ทำขนมจีนน้ำยา ลุงทองจีนปรามหม่อมขำเพราะหม่อมขำกินขนมจีนทีไรจะท้องไส้ปั่นป่วนทุกที แต่หม่อมขำอยากกินขนมจีนน้ำยามาก จึงอ้างกับลุงทองจีนว่ามียาแก้อยู่บนห้อง ครั้นในเวลาสี่ทุ่มหม่อมขำก็เอาขนมจีนมาคลุกเคล้ารับประทาน แต่เมื่อกินได้เพียงเจ็ดคำก็อาการกำเริบ ก็เรียกใช้ยายปานไปเอายามาตำแล้วจึงหายดีแล้วหลับไป[1]: 108–110 [6]: 22–24 ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมา หม่อมขำก็ชวนยายปานไปอาบน้ำด้วยกัน แต่เมื่อยายปานกำลังยกขันตักน้ำ ก็ล้มหน้าคะมำจนปากแตกหน้าซีดแล้วกรีดร้องออกมา ฝ่ายหม่อมขำเห็นเช่นนั้นก็ตกใจมาก จนตัวเองหน้ามืดล้มคว่ำลงบนอุจจาระของม้า หม่อมสุดเห็นเช่นนั้นก็ตกใจมาก รีบวิ่งมาพยาบาลทั้งสองคน เมื่อหม่อมขำได้สติสมประดี ก็นึกสงสารยายปาน เพราะไม่มียายปานใครจะขวนขวายหาหยูกยาหรือสังขยาเมืองละครมาให้ ครั้นมื่อตนเองว่างจากงานก็จะรีบขึ้นมาดูอาการยายปานอยู่เสมอ[1]: 111–113 [6]: 23–24
อยู่มาวันหนึ่ง หม่อมสุดคิดทำข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง แต่ไม่พบกับหม่อมขำจึงฝากของกินไว้กับลุงทองจีน ลุงทองจีนก็ทำงานทั้งวันจึงมิได้นำของกินไปให้หม่อมขำ ครั้นตกเย็นเสร็จจากงานก็ให้บ่าวยกไปให้ที่ห้องหม่อมขำ ซึ่งข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้งก็บูดเน่าเหม็นโอ่เสียแล้ว แต่ด้วยความรัก แม้จะบูดอย่างไรหม่อมสุดก็ทำให้ตนด้วยความรัก หม่อมขำจึงรับประทานข้าวเหนียวบูดนั้นเอง ดังปรากฏในกลอน ความว่า[1]: 113–115 [6]: 24–25
ก็ยกชามหยิบชิมยิ้มแผยะ | ถึงบูดแฉะชั่วดีของพี่ให้ | |
เพราะความรักชักให้อร่อยไป | จนหมดชามปากไปล่ใช่พอการ |
ตำราว่ารับประทานด้วยการรัก | น้ำต้มฟักก็ซดเป็นรสหวาน | |
นี่ข้าวเหนียวบูดเหม็นไม่เป็นการ | ยังรับประทานหมดได้ไม่พอพุง |
ทว่าหลังจากรับประทานข้าวเหนียวบูดไปแล้ว หม่อมขำก็มีอาการปวดท้อง จึงจ้างให้ออพูมาช่วยนวดคลึงให้ทั้งคืนจวบจนอุษาสาง ฝ่ายออพูทนไม่ไหวก็หนีออกไปข้างนอกไม่กลับเข้ามาอีก ฝ่ายหม่อมสุดจึงโกรธเคืองต่อว่าออพู และจะหักเงินค่าตัวของออพู แต่หม่อมขำรู้ตัวว่าใช้งานออพูหนักเกินไป จึงปลอบประโลมหม่อมสุดให้ใจเย็นลง[1]: 115–116 [6]: 25
ในตอนจบ หม่อมขำฝันว่าชาวเมืองละครนำผลทุเรียนมาฝากหลายยวง และฝันอีกว่ามียายมาหยิบเอาฟันปลอมสามพวงของจีนยูมาให้หม่อมขำ พวงหนึ่งทำจากไม้มะเกลือ พวงสองทำจากกะลามะพร้าว และพวงที่สามทำจากไม้ทองหลาง เมื่อตื่นจากฝัน หม่อมเป็ดขำก็ว่าตนเองจะได้โชคลาภใหญ่เป็นแม่นมั่น[1]: 116–118 [6]: 25–26
สิ่งที่ปรากฏในเรื่อง
ตัวละคร
ตัวละครหลัก
- หม่อมสุด หรือ คุณโม่ง เดิมเป็นนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสวยทิวงคตแล้ว จึงย้ายมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ที่พระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[6]: 57 หม่อมสุดเป็นผู้รู้หนังสือ รู้จักเขียนกาพย์เขียนกลอน กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงให้หม่อมสุดอ่านบทกลอนถวายเมื่อบรรทมเป็นประจำ หากมีกลอนตอนใดตกหล่นก็ใช้ไหวพริบแต่งแต้มกลอนนั้นจนสมบูรณ์[11]: 47 หม่อมสุดมีบุคลิกเหมือนผู้ชาย สังเกตได้ว่าเป็นผู้มีฝีปากดี พูดเล่นเฮฮาไม่เกรงใจใคร[11]: 47 เธอคบหาทำหน้าที่เป็นเพื่อนชายอยู่กับหม่อมขำ มีคืนหนึ่งหม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำคัญว่าเจ้านายบรรทมแล้ว ก็ดับเทียนเอาผ้าคลุมกอดจูบกับหม่อมขำชุลมุนวุ่นวายอยู่ที่ปลายพระบาท ขณะนั้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่บรรทม และทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์ของทั้งคู่ พระองค์จึงประทานชื่อแก่หม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" เพราะนำผ้ามาคลุมโปงเล่นเพื่อน ตามท้องกลอนก็เรียกหม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" อยู่เสมอ[1]: 60 [6]: 57
- หม่อมขำ หรือ หม่อมเป็ด เดิมเป็นนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เช่นเดียวกับหม่อมสุด ภายหลังได้โอนย้ายมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ที่พระตำหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตามหม่อมสุด[6]: 57 หม่อมขำมีบุคลิกเป็นหญิงกระชดกระช้อยเหมือนสาวน้อย รักสวยรักงาม แต่เสียฟันไปแล้วหลายซี่ ต้องบรรจงตัดกะลามะพร้าวมาทำเป็นฟันปลอมผูกไหมเข้ากับฟันแท้[11]: 47 และมักจะมีปัญหาฟันปลอมหลุดร่วงออกจากปากให้เป็นที่อับอายแก่เจ้าของอยู่เสมอ[11]: 53, 55 ด้วยความที่หม่อมเป็นคนรักสวยรักงาม เวลาเดินจึงไว้กิริยาจะมีจังหวะเยื้องย่างไปมาเหมือนอย่างเป็ด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงประทานชื่อให้ว่า "หม่อมเป็ด" ชาววังคนอื่นจึงพากันเรียก "หม่อมเป็ดสวรรค์" "หม่อมเป็ดขำ" หรือ "หม่อมขำเป็ด" ส่วนใน เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะเรียกว่า "คุณขำ"[1]: 61 [6]: 57–58 ตามท้องกลอน หม่อมขำน่าจะมีลักษณะอวบอ้วน เพราะชื่นชอบการรับประทาน และการนั่งเตียงจนหัก[1]: 105–106 [6]: 21 เอนก นาวิกมูล เสนอว่า ช่วงชีวิตหม่อมขำที่ปรากฏใน หม่อมเป็ดสวรรค์ เธอน่าจะมีอายุราว 40–50 ปี โดยประมาณ[11]: 47 หม่อมขำเลี้ยงเด็กหญิงในพระตำหนักใหญ่คนหนึ่งชื่อ ยายปาน เสมือนลูกของตัว[6]: 60
ตัวละครรอง
- เสด็จในกรม หรือ เสด็จ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าของพระตำหนักใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปินและกวีทั้งหลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินในราชสำนัก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี ไม่ถือพระองค์ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินและกวีไว้หลายคน[9] เข้าใจว่าเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งขึ้นเมื่อยามที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังทรงพระสำราญ แม้จะมีพระโรคมาเบียดเบียนบ้าง และผู้แต่งแต่งเรื่องด้วยอารมณ์สนุก[6]: 62
- ท้าวนก เป็นข้าราชการฝ่ายในของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เข้าใจว่าภายหลังได้ย้ายเข้าไปรับราชการอยู่ที่พระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับหม่อมสุดและหม่อมขำ[1]: 62 [6]: 58
- จางวางหมอ หมายถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับราชการเป็นแพทย์ ถวายพระโอสถแก่เจ้านาย[1]: 62 [6]: 58 และเคยเข้าไปถวายการรักษากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพที่พระตำหนักใหญ่ ในตอนนั้นเองหม่อมขำเข้าไปกราบทูลว่าปวดศีรษะ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเป่ายานัตถุ์ให้ ปรากฏว่าฤทธิ์ของยานัตถุ์ทำให้หม่อมขำจามออกมาอย่างแรง จนฟันปลอมกระเด็นตกลงหน้าพระพักตร์กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระองค์จึงพระสรวลด้วยความขำขัน แล้วตรัสว่า "ยานัตถุ์ฉันดีจริง ๆ ขนาดคนฟันยังหลุด แล้วโรคข้างในจะไม่หายได้ยังไง คอยสักประเดี๋ยวเถอะ โรคปวดหัวของเธอก็จะหายไปเหมือนฟันเลยทีเดียว"[11]: 55
- หลวงนายศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า หมายถึง หลวงนายศักดิ์ (ครุฑ) ต่อมาได้ขึ้นเป็น เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 63 [6]: 58 หม่อมขำเคยทำฟันปลอมร่วงลงต่อหน้าหลวงนายศักดิ์ เมื่อหลวงนายศักดิ์ถามว่าอะไรร่วง หม่อมขำก็บ่ายเบี่ยง อ้างว่าเป็นดอกหมากกระเด็นออกจากปาก พลางหันไปด่าบ่าวว่าตำดอกหมากไม่แหลก[11]: 53
- คุณรับสั่ง เป็นสตรีชั้นสูงและรับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า หมายถึง เจ้าคุณหญิงต่าย หรืออีกชื่อว่า เจ้าคุณปราสาท[1]: 63 [6]: 59 เป็นธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
- ตาแจ้งวัดระฆัง หรือ ตาแจ้งถนนอาจารย์ คือ ครูแจ้ง เป็นจินตกวีผู้มีปฏิภาณคนหนึ่ง มีโวหารโลดโผนหยาบคาย[12] กระนั้นยังได้รับคำชื่นชมว่าเป็นผู้ฉลาดในบทกลอน ทั้งกระบวนกลอนแต่งและกระบวนกลอนสดจนเป็นที่ร่ำลือ ตาแจ้งขับเสภาคู่กันกับนายมีที่พระตำหนักใหญ่ ทั้งสองมักขับเสภายกความในของหม่อมขำมาไขในที่แจ้ง จนหม่อมขำเอือมระอา[1]: 64 [6]: 59 อย่างไรก็ตาม ครูแจ้งได้แต่งเสภาในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เอาไว้หลายตอน ทำให้มีชื่อเสียงมาก[12]
- นายมี ต่อมาคือ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) เป็นอีกหนึ่งจินตกวีผู้มีชื่อเสียง เขาเป็นผู้แต่ง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเดือน และ นิราศสุพรรณ เขาเข้าไปขับเสภาที่ตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยจะขับเสภาคู่กับครูแจ้ง ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่องราวของหม่อมขำมาไขในที่แจ้ง ตอดกันคนละที จนหม่อมขำเอือมระอา[1]: 64 [6]: 59
- แพทย์วาโย มีราชทินนามว่า ขุนวาโย เป็นหมอนวด[1]: 65 [6]: 60
- คุณชีเหม หรือ คุณเหม เป็นหญิงสูงศักดิ์ผู้หนึ่ง ฝักใฝ่อยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[1]: 65 [6]: 60 ท่านชอบนำเรื่องของหม่อมขำไปเล่าแก่ผู้อื่นนอกพระตำหนัก[1]: 93–94 [6]: 15–16
- จีนยู เป็นช่างทำฟันที่มีชื่อเสียงมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมขำชอบใช้ฟันปลอมของจีนยู[1]: 65 [6]: 60
- ลูกปาน หรือ ยายปาน เด็กหญิงในพระตำหนักใหญ่ หม่อมขำเลี้ยงเป็นลูก[6]: 21, 60
- ลุงทองจีน ชายสูงวัย เป็นข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้เห็นว่าหม่อมขำเอาทุเรียนและเม็ดบัวใส่ตะบันหมากให้ละเอียด เพราะหม่อมขำเหลือฟันแท้ไว้ขบอาหารน้อยซี่ จึงแก้เกี้ยวลุงทองจีนว่าตะบันดอกหมากกิน ลุงทองจีนจึงหัวเราะแล้วกล่าวว่า "น่าจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์"[1]: 91 [6]: 11 ลุงทองจีนเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มักนำเรื่องของหม่อมขำไปเล่าแก่คนนอกตำหนัก[1]: 93–94 [6]: 15–16
- ยายมา พระพี่เลี้ยงในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[1]: 118 [6]: 26
- นายผึ้ง ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[1]: 94 [6]: 16 และเป็นเพื่อนบ้านของคุณสุวรรณ[1]: 83 [6]: 15 มีบุคลิกพิเศษคือมีตาโปน ซึ่งหม่อมขำเรียกว่า "นายผึ้งตาพอง"[1]: 108 [6]: 22 เขามักเอาเรื่องหม่อมขำไปเล่าให้คนนอกพระตำหนักฟัง[1]: 93–94 [6]: 15–16
- หนูลิ้นจี่ ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[1]: 89 [6]: 18
- อีเปีย ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ[1]: 96 [6]: 17
- ออพู เป็นบ่าวในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ปรากฎเป็นคนนวดให้หม่อมขำในมุ้ง ซึ่งขณะนั้นกำลังปวดท้องเพราะกินข้าวเหนียวบูด แต่หม่อมขำให้ออพูนวดต่อเนื่องยาวนานจนรุ่งสาง ออพูทนไม่ไหวจึงหนีออกไป หลังจากนั้นหม่อมสุดได้ต่อว่าและริบเงินค่าตัวของออพูไว้ แต่หม่อมขำรู้ตัวว่าใช้งานออพูหนักเกินไป จึงพูดปลอบให้หม่อมสุดใจเย็นลง[1]: 115–116 [6]: 25
สถานที่
- พระราชวังบวรสถาน หรือ วังหน้า คือ พระราชวังบวรสถานมงคล เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ต่อมาได้เสวยทิวงคตใน พ.ศ. 2375[1]: 65 [6]: 60
- พระวังหลวง หรือ พระวังใหญ่ หมายถึง พระบรมมหาราชวัง หรือเรียกว่า วังหลวง เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 65 [6]: 60
- พระตำหนักใหญ่ หมายถึงที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 65 [6]: 60 ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า พระตำหนักแดง (ภายหลังเรียก พระตำหนักตึก) เป็นหมู่พระตำหนักขนาดใหญ่ ทำจากไม้และมีสีแดง ตั้งต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยาที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง พระตำหนักนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ตามลำดับ[13]: 19–20, 23 ในช่วงที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นเจ้าของ พระตำหนักแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปินและกวีทั้งหลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินในราชสำนัก แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินและกวีไว้หลายคน[9] พระตำหนักตึกถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และย้ายไปกัลปนาเป็นศาลาการเปรียญ วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร[13]: 19–20, 23
- ตำหนักแพ คือ ตำหนักแพลอยอยู่ริมท่าราชวรดิฐ[1]: 66 [6]: 60
- สรีร์สำราญ คือ ห้องส้วมของนางใน[1]: 66 [6]: 60 ส้วมลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา มีไว้สำหรับเจ้าพนักงานชาววังโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และอุจจาระถูกขับถ่ายลงน้ำ ตามแม่น้ำลำคลองในอดีตจะมีอุจจาระลอยอยู่เป็นเรื่องปกติ[14]: 81
- พระราชฐาน หมายถึง พระราชวัง[1]: 66 [6]: 60
- เมืองละคร ไม่ทราบว่าคือที่ใด หรีด เรืองฤทธิ์ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองสมมติใช้เรียกตลาดขายของบริเวณฝั่งธนบุรี แถบท่าน้ำวัดกัลยาณ์ (คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร) ท่าวัดแจ้ง (คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) หรือท่าวังระฆัง (คือ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร)[1]: 66 [6]: 60 เอนก นาวิกมูล เสนอว่าอาจหมายถึง สวนขวาภายในพระบรมมหาราชวัง หรือผู้แต่งอาจจะแต่งขึ้นสนุก ๆ เอาเอง[11]: 57 และมัชฌิมา วีรศิลป์ ระบุว่าเมืองละคร คือเมืองนครนายก[3]: 121
- ถนนอาจารย์ เป็นถนนสายหนึ่ง หรีด เรืองฤทธิ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นถนนแถววัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ภายหลังอาจเปลี่ยนชื่อไปแล้ว หรือลบเลือนหายไปแล้วก็ได้[1]: 67 [6]: 61
เครื่องใช้
- ผ้าละว้า คือผ้าฝ้ายทอมือ โบราณนิยมใช้ทำผ้าห่อศพ แต่หม่อมขำหาผ้าดี ๆ ไม่ได้ จึงต้องนำผ้าละว้าของคนลาวมาคลุมวอของตน[3]: 123
- ฟันกะลา คือฟันปลอมของคนสมัยก่อน ทำจากกะลามะพร้าวมาเจียนให้มีรูปเหมือนฟันแล้วหาวิธีใส่ เช่นผูกฟันปลอมเข้ากับฟันแท้ คนที่มีฐานะดีจะจ้างช่างทองทำฟันทองให้[3]: 123
- ตะบัน มีลักษณะคล้ายครกแต่เป็นแท่งยาวทรงกระบอก มีขนาดเล็ก ใช้ตำหมากก่อนเคี้ยว[3]: 123 ประกอบด้วยส่วนประกอบสามอย่าง ได้แก่ "ตะบันหมาก" คือแท่งกลวงทรงกระบอก มีไม้กลมอุดใต้กระบอกเรียกว่า ดาก, "ลูกตะบัน" มีลักษณะเป็นแท่งยาวมีด้ามจับ ปลายแหลมคม ใช้สำหรับตำหมาก และ "สาก" แท่งเหล็กยาวผอม ใช้ตำอัดหมากให้แหลกให้แน่น[15]
- ผ้าสมปัก คือผ้านุ่งที่ขุนนางได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศ นุ่งเมื่อเข้าเฝ้าเจ้านาย[3]: 124 เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า "ซ็อมปอต" (សំពត់, สํปต) แปลว่าผ้าสำหรับนุ่ง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะอย่างไทยใช้[16]: 7
- แป้งหิน หมายถึงแป้งร่ำ เครื่องประทิ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองชนิด อย่างแรกคือแป้งร่ำที่ทำจากทรายเกลือ ทำจากน้ำทะเลชั้นทรายเกลือมาคั่วให้สุกจะได้แป้งขาวบริสุทธิ์ ส่วนอีกชนิดคือแป้งร่ำที่ทำมาจากดินสอพอง มีสีขุ่นกว่าทรายเกลือ แต่เป็นที่นิยมมากเพราะหาได้ง่ายและราคาถูก[3]: 124
- กระเหม่า คือละอองเขม่าสีดำเกิดจากควันไฟผสมน้ำมันตานี หรือน้ำมันเหนียวอื่น ๆ ที่อบร่ำจนหอม ผสมปูนเล็กน้อย ใช้วาดคิ้วให้ได้รูปและแต่งไรผมของหญิงสมัยก่อน[3]: 124–125
- ฝางเสน คือเนื้อไม้จากแก่นฝาง นำไปต้มดื่ม มีสรรพคุณคือแก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน ขับเสมหะ นอกจากนี้ยังใช้น้ำจากแก่นฝางย้อมผิวพร้อมกับทาขมิ้นให้ผิวขาวออกเหลืองตามคตินิยม[3]: 125
- หมึกหอม คือขี้ผึ้งหรือสีผึ้งหอม ใช้ทาริมฝีปากให้ชุ่มชื่นในหน้าหนาว และทำให้น้ำหมากไม่จับปาก[3]: 125
- กระแจะจันทร์ คือ กระแจะจันทน์ เป็นประทิ่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแป้งหอมทาผิว ทำจากเปลือก เนื้อไม้ ราก และน้ำฝนของต้นกระแจะมาใช้เป็นวัตถุดิบ บดรวมกับเครื่องหอมต่าง ๆ ได้แก่ แป้งร่ำ กำยาน ลูกจัน ชะมดเช็ด[3]: 126
- ผ้าร่ำ หมายถึงผ้าที่ผ่านกรรมวิธีอบร่ำให้หอม โดยใช้เครื่องหอมจำพวกยางไม้ กำยานเนื้อไม้ หรือดอกไม้ ใส่ในตะคันเผาไฟ ให้เกิดควันและกลิ่นหอมระเหยออกมา การร่ำผ้านั้นจะต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้กลิ่นหอมติดทนนาน[3]: 126
อาหาร
- ห่อหมก เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน[1]: 80 [6]: 10
- นกคั่ว เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน[1]: 80 [6]: 10
- ใบบัวอ่อน เป็นผักที่ใช้แนมนกคั่ว[3]: 120
- ทอดมัน เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน[1]: 80 [6]: 10
- จันลอน ปัจจุบันเรียกว่า แจงลอน หรือจังลอน คือเนื้อปลาโขลกกับรากผักชี กระเทียม ปั้นเป็นก้อนเสียบไม้ปิ้งไฟ[3]: 120 เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน[1]: 80 [6]: 10
- หมากพลู เป็นเป็นของรับประทานเล่นของคนในยุคนั้น[3]: 120 ทำให้ฟันดำสวยงาม
- ทุเรียน เป็นผลไม้โปรดของหม่อมขำ โดยเฉพาะทุเรียนจากเมืองละคร หม่อมขำใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลาทำให้ขบเคี้ยวได้ยาก จึงนำไปตำในตะบันก่อนนำไปรับประทาน[1]: 91 [6]: 11
- ผลบัว คือ เม็ดบัวฉาบหรือเม็ดบัวผัดเข้ากับน้ำตาลโตนด ตัดด้วยรสเค็มอีกเล็กน้อย เป็นของรับประทานเล่น[3]: 120 หม่อมขำใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลาทำให้ขบเคี้ยวได้ยาก จึงนำไปตำในตะบันก่อนนำไปรับประทาน[1]: 91 [6]: 11
- ปลากริม คือแป้งปั้นไปต้มกับน้ำ ก่อนนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลปึก มีรสออกหวาน สีน้ำตาล นิยมรับประทานคู่กันกับขนมไข่เต่า เมื่อมาประสมรวมกันเรียกว่าขนมแชงม้า[17][18]
- ลังเล็ด คือ นางเล็ด ทำจากข้าวเหนียวตากแห้งก่อนนำไปทอด แล้วราดด้วยน้ำอ้อย[3]: 121
- ขนมจีนน้ำยา เป็นอาหารที่หม่อมขำไม่ถูกโรค แต่ก็อยากกิน[1]: 108–110 [6]: 22–24
- ขนมทอง ในท้องกลอนไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นขนมทองชนิดไหน อาจเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ทองพับ หรือทองฟู (คือขนมตาล)[3]: 121
- ข้าวเหนียวสังขยา เป็นอาหารที่หม่อมขำอยากรับประทานมาก ใช้ให้ยายปานนำกาละมังโคมไปซื้อถึงเมืองละคร หม่อมขำกินจนเตียงไม้สักหักลงมาพลางผายลมเสียงดังลั่น[1]: 105–106 [6]: 21
- ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง คือข้าวเหนียวมูนแต่งสีและกลิ่นด้วยขมิ้น ส่วนหน้ากุ้งทำมาจากกุ้งสับผัดกับมะพร้าวคั่ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล พริกไทย เกลือ ผักชี[3]: 122 เป็นอาหารที่หม่อมสุดตั้งใจทำให้กับหม่อมขำ แต่ทว่าบูดเน่าไปเสียก่อน กระนั้นหม่อมขำก็รับประทานเสียจนเกลี้ยง[1]: 113–115 [6]: 24–25
-
หมากพลู
-
เม็ดบัว
อ้างอิง
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 1.27 1.28 1.29 1.30 1.31 1.32 1.33 1.34 1.35 1.36 1.37 1.38 1.39 1.40 1.41 1.42 1.43 1.44 1.45 1.46 1.47 1.48 1.49 1.50 1.51 1.52 1.53 1.54 1.55 1.56 1.57 1.58 1.59 1.60 1.61 กรมศิลปากร. บทละคร เรื่อง พระมเหลเถไถ บทละคร เรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และ บทละคร เรื่อง ระเด่นลันได. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2516. 240 หน้า.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ยุพร แสงทักษิณ. "เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์". นามานุกรมวรรณคดีไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 มัชฌิมา วีรศิลป์. ภาพสะท้อนทางวัฒนธรรม จากวรรณกรรมเพลงยาว เรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ. [ม.ป.ท.] : วารสารศิลปกรรมบูรพา 20:(2), 2560.
- ↑ ชูดาว (19 เมษายน 2566). ""พระเอ็ดยง" วรรณกรรมคำผวนที่ "ชกต่ำกว่าเข็มขัด" ชนิดอ่านไประแวงไป". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 ""เล่นเพื่อน" หรือ "เลสเบี้ยน" ว่าด้วยเรื่องเล่าสาวชาววัง". ศิลปวัฒนธรรม. 30 มกราคม 2565. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 6.20 6.21 6.22 6.23 6.24 6.25 6.26 6.27 6.28 6.29 6.30 6.31 6.32 6.33 6.34 6.35 6.36 6.37 6.38 6.39 6.40 6.41 6.42 6.43 6.44 6.45 6.46 6.47 6.48 6.49 6.50 6.51 6.52 6.53 6.54 6.55 6.56 6.57 6.58 6.59 6.60 6.61 6.62 6.63 6.64 6.65 6.66 6.67 กรมศิลปากร. กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์และพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, 2507. 69 หน้า.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 พล อิฏฐารมณ์ (20 กุมภาพันธ์ 2567). "บันทึกรัก "หม่อมเป็ดสวรรค์" สัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันในราชสำนัก หญิง-หญิง "เล่นเพื่อน"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ยุพิน ธชาศรี. วิเคราะห์วรรณกรรมของคุณสุวรรณ. [ม.ป.ท.] : วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2517.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (3 ธันวาคม 2567). "กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เทพธิดาแห่งราชสํานัก ทำไมกล้าอุปการะสุนทรภู่ แม้ร.3ไม่โปรด". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 10.0 10.1 เพศแห่งสยาม. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน), 2562. 200 หน้า. ISBN 978-616-8162-05-7
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 11.8 เอนก นาวิกมูล. หญิงชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2547. 264 หน้า. ISBN 974-9590-83-X
- ↑ 12.0 12.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2545). "ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ตีดาบ(ฟ้าฟื้น) ซื้อม้า(สีหมอก) ผ่าท้อง(นางบัวคลี่) หากุมาร(ทอง) ปรับปรุงจากหนังสือขุนช้างขุนแผนแสนสนุก". สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 13.0 13.1 ณัฐปภัสร์ นิยะเวมานนท์. การกัลปนาพระตำหนักจากพระบรมมหาราชวัง ในมิติการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม. [ม.ป.ท.] : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564.
- ↑ มนฤทัย ไชยวิเศษ. ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566. ISBN 9789740218586
- ↑ "ตะบันหมาก". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) (2558). สมปักปูม ภูมิผ้าเขมร ◆ ไทย จากราชสำนักสู่สามัญชน (PDF). กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์.
- ↑ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, ผศ. ดร. (28 สิงหาคม 2566). "ปริศนา "ปลากริมไข่เต่า" ขนมชาววัง ที่คนในวังไม่เคยกิน?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ตำนานขนมไทยโบราณ "ขนมแชงมา" คือ"ขนมหม้อแกง" หรือ"ขนมปลากริมไข่เต่า"กันแน่?". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ และพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ