ไทยเชื้อสายเปอร์เซีย
เจ้านายฝ่ายในที่สืบเชื้อสายจากสกุลบุนนาค | |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ไม่มีข้อมูล | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศไทย | |
ภาษา | |
ภาษาไทย | |
ศาสนา | |
ส่วนใหญ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนน้อยศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ |
ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า แขกมะหง่น[1], แขกมะหง่อน, แขกมห่น, แขกมะห่น (ตรงกับคำว่า โมกุล) หรือแขกเจ้าเซ็น (มุสลิมชีอะห์) หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นอย่างน้อย และถือเป็นประชาคมที่มีความสำคัญชุมชนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เบื้องต้นเข้ามาประกอบกิจเป็นพ่อค้า ภายหลังเข้ารับราชการเป็นขุนนางระดับสูง ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้ากรมท่าขวา อัครมหาเสนาบดี เจ้าเมือง สมุหกลาโหม หรือขันที[2] บรรพชนของพวกเขาสมรสกับหญิงพื้นเมืองในอินเดียลงมาจนถึงชาติพันธุ์ลูกผสม จึงถูกชาวตะวันตกในยุคนั้นเรียกว่า มัวร์ ก่อนอพยพเข้าสู่ดินแดนไทย[3][4] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในฝั่งธนบุรีเป็นสำคัญ มีมัสยิดสำคัญประจำชุมชนคือ มัสยิดกุฎีหลวง กุฎีเจริญพาศน์ มัสยิดดิลฟัลลาห์ และมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม[5]
ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม โดยกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามชีอะฮ์ตั้งถิ่นฐานแถบฝั่งธนบุรี, เขตยานนาวา, เขตบึงกุ่ม, เขตสะพานสูง, เขตมีนบุรี และบางส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทราเท่านั้น เช่น สกุลอหะหมัดจุฬา อากาหยี่ และนนทเกษ[6] ส่วนกลุ่มที่หันไปนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท คือ สกุลบุนนาค บุรานนท์ ศุภมิตร หรือศรีเพ็ญ แม้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย แต่พวกเขายังกุมอำนาจและส่งต่อการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ต่อเนื่องยาวนาน[7]
ประวัติ
ชาวเปอร์เซียกลุ่มแรก ๆ ได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16[8] ถือเป็นชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลทางการค้ามากที่สุดในอยุธยาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วนใหญ่สืบสันดานมาแต่ตระกูลขุนนางอิหร่าน อาทิ สถาปนิก, ช่างฝีมือ, นักปราชญ์ และกวี[9] โดยชาวเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเฉกอะหมัด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2086 ที่ตำบลปาอีเนะชาฮาร เมืองกุม[10] ได้เข้ามาในสยามในฐานะพ่อค้าเมื่อครั้งรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจจนมีฐานะมั่นคงและได้เข้ารับราชการในตำแหน่งกรมท่าขวาดูแลกิจการการค้ากับพ่อค้าชาวมุสลิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง และลูกหลานของเขาก็มีบทบาทในตำแหน่งกรมท่าขวาเรื่อยมา[6] จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ตำแหน่งดังกล่าวจึงตกเป็นฝ่ายซุนนีย์ เฉกอะหมัด เป็นบรรพบุรุษของสกุลบุนนาค อหะหมัดจุฬา อากาหยี่ นนทเกษ และ ยวงมณี เป็นต้น[6]
นอกจากผู้สืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัดแล้ว ก็ยังมีคนเชื้อสายเปอร์เซียคนอื่นๆ มีบทบาทในระดับสูงเช่นกัน โดยในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มี อากามูฮัมหมัด อัครเสนาบดี, เจ้าพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และเจ้าพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีเชื้อสายเปอร์เซียเช่นกัน[11]
ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีลูกหลานของเฉกอะหมัดคือ พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ที่เป็นข้าราชการใกล้ชิดในตำแหน่งจางวางกรมล้อมพระราชวัง ทุกครั้งเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปไหนเขาก็จะตามเสด็จด้วย แต่ต่อมาพระยาเพ็ชรพิไชยไม่มีชื่อในหมายตามเสด็จเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาท พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการ "พระยาเพ็ชรพิไชยเปนแขกเปนเหลื่อ ก็ให้สละเพศแขกเสีย มาเข้ารีตรับศีลทางไทยในพระพุทธศาสนา"[12] พระยาเพ็ชรพิไชยจึงสนองพระบรมราชโองการ และปฏิญาณเป็นชาวพุทธ จึงมีการแยกฝ่ายที่นับถือพุทธและอิสลามเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น[12]
การตั้งถิ่นฐาน
เฉกอะหมัดได้เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมด้วยน้องชายชื่อ มะหะหมัดสะอิด โดยเข้ามาตั้งภูมิลำเนาท้ายเกาะอยุธยาเรียกว่าท่ากายี และละแวกที่แขกสองพี่น้องตั้งถิ่นฐานนั้น ชาวบ้านเรียกว่า บ้านแขก[13] เฉกอะหมัดได้สมรสกับสตรีชาวไทยชื่อเชยมีบุตรด้วยกันสามคน ต่อมาเฉกอะหมัดได้สร้างกุฎี และขยายสุสาน ซึ่งปัจจุบันรากฐานของกุฎีดังกล่าวได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา[14]
ชาวเปอร์เซียในอยุธยาสร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่อปูนหลังคามุงกระเบื้อง โดยจะคับคั่งทางฝั่งคลองประตูจีนด้านทิศตะวันตก กำแพงเมืองด้านทิศใต้เกาะเมืองอยุธยาซึ่งอยู่ระหว่างประตูจีนกับประตูชัย เรียกว่าคลองประตูเทพหมี ซึ่งในแผนที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่าประตูเทพสมี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของทั้งชาวอาหรับและเปอร์เซีย ในหนังสือแผนที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่าถนนบ้านแขก และชุมชนบ้านแขกทางฝั่งตะวันตกของคลองประตูจีนมีถนนตัดผ่านกลาง ซึ่งเป็นชุมชนชีอะฮ์เสียส่วนใหญ่น่าที่จะเป็นชาวเปอร์เซีย[15]
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียบางส่วนถูกกวาดต้อนพร้อมกับเชลยชาวไทยเชื้อสายอื่น ๆ ไปยังประเทศพม่า[16] ส่วนชาวเปอร์เซียที่ยังเหลืออยู่ได้เดินทางเข้าสู่กรุงธนบุรี โดยที่ตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ของชาวชีอะฮ์คือ บริเวณคลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย[9] มีศาสนสถานสำคัญเช่น กุฎีเจริญพาศน์ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสถานที่มีสมาชิกหนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ[6] นอกจากนี้ยังมีชุมชนของชาวชีอะฮ์อีก เช่น กุฎีหลวง, กุฎีดิลฟัลลาห์ (กุฎีปลายนา) และสุเหร่าผดุงธรรม[17] ในอดีตมีกุฎีที่บ้านบางหลวง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันชาวชีอะฮ์ที่นั่นได้ย้ายตั้งถิ่นฐานที่บ้านทวาย เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร[18]
ส่วนชาวเปอร์เซียที่อพยพจากประเทศอิหร่านในสมัยหลังมานี้ ส่วนใหญ่อาศัยแถบซอยนานา กรุงเทพมหานคร[19]
ราวปี พ.ศ. 2548 มีการประมาณการว่ามีชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครราว 600-800 คน[20]
วัฒนธรรม
ไทยและเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับไทยมากว่า 400 ปี หากแต่ว่ามิได้พบหลักฐานเอกสารการมาของชาวเปอร์เซียที่ชัดเจนก่อนหน้า แต่ก็ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น กษาปณ์ ดวงตรา ลูกปัด และประติมากรรมต่างๆ ที่ชาวเปอร์เซียได้ทิ้งไว้[1] ตลอดหลายร้อยปีชาวเปอร์เซียได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรม ภาษา สถาปัตยกรรม อาหารที่ตกทอดมาเนิ่นนานจนชาวไทยบางคนคิดว่าเป็นของไทยมาแต่ดั้งเดิม
ภาษา
ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย ได้ทิ้งมรดกทางภาษาไว้ เช่น คำว่า ปสาน ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งในสมัยสุโขทัย ซึ่งนักวิชาการให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า บอซัร ในภาษาเปอร์เซียที่มีความหมายว่า ตลาดห้องแถว ตลาดขายของแห้ง[1] คำว่ากุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ (เปอร์เซีย: گل اب) ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้[21][22] และคำว่าคำว่า โมล์ค ที่แปลว่าไก่ แต่คนไทยมุสลิมกลับใช้เรียกเป็นข้าวหมก[23] คำว่า ภาษี มาจาก บัคซี ที่มีความหมายว่า "ของให้เปล่า ของกำนัล หรือรางวัล" และคำว่า สนม มาจากคำว่า ซะนานะฮ์[24] เป็นต้น
ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียสูญเสียอัตลักษณ์สำคัญทางชาติพันธุ์ เพราะชุมชนต้องปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมพหุวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครโดยถูกกลืนไปกับระบบการศึกษาและการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ และใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน[25] จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2545 พบว่าชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองได้น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชาวไทยมุสลิมกลุ่มอื่นในกรุงเทพมหานคร[26] กระนั้นชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียในฝั่งธนบุรียังคงรักษา "ศัพท์เฉพาะ" สำหรับสื่อสารกับคนในท้องถิ่น เช่น โขบ บุ่นด่า ลั่นดี ซ่าเหรี่ย บ้ะหล่า เป้ระหาน เป็นต้น[27]
เครื่องแต่งกาย
แม้แต่เครื่องแต่งกายอย่างลอมพอก ก็เป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของเปอร์เซีย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าโพกหัวของชาวมุสลิมกับชฎาของไทย โดยลอมพอกถือเป็นหมวกสำหรับขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลเดียวกันก็ได้ส่งราชทูตไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในปี พ.ศ. 2229 ลอมพอกจึงเป็นที่สนใจของชาวฝรั่งเศสอย่างมาก[11]
ขณะเดียวสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็โปรดฉลองพระองค์อย่างชาวเปอร์เซียเช่นกัน[11] ในหนังสือสำเภากษัตริย์สุลัยมานของอิบนิ มูฮัมหมัด อิบราฮิม ได้กล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า "เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทอดพระเนตรภาพพระราชวังคาข่าน รวมทั้งภาพวาดพระเจ้ากรุงอิหร่านก็ทรงสนพระทัย และเมื่อรับสั่งให้คณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ มักเห็นพระนารายณ์ฉลองพระองค์ด้วยเสื้อผ้าอย่างอิหร่าน คือเสื้อคลุมยาว กางเกงขายาว เสื้อชั้นใน ถุงเท้ารองเท้า และเหน็บกริชเปอร์เซีย แต่พระองค์ไม่ได้คลุมผ้าบนพระเศียรดังเช่นแขกทั่วไป ด้วยเหตุที่ทรงหนัก"[11] นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเสวยอาหารเปอร์เซียอีกด้วย[11]
เดิมแขกเจ้าเซ็นมีอัตลักษณ์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายยาวกรอมข้อเท้า สวมกางเกงขายาว และใช้ผ้าพันศีรษะ ปัจจุบันเหลืออัตลักษณ์เพียงอย่างเดียวคือสวมหมวกฉาก หรือหมวกกลีบ ที่ใส่ในช่วงพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น[28]
พิธีกรรม
ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียที่นับถือนิกายชีอะฮ์ มีพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญคือ พิธีเจ้าเซ็น ซึ่งทำพิธีถึง 11 วัน โดยหลังจากครบ 11 วันแล้ว ได้มีการทำบุญครบรอบวันตาย 3 วัน 7 วัน 15 วัน 30 วัน และ 40 วัน ตามลำดับ[29] พิธีกรรมดังกล่าวทำเพื่อระลึกถึงฮุเซน บุตรของอะลี ตลอดจนญาติคนอื่นๆที่ถูกลอบสังหารอย่างเหี้ยมโหดที่เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) ซึ่งเป็นที่มาของพิธีเจ้าเซ็น[30] เหตุที่เรียกว่าเจ้าเซ็นนั้นมาจากทำนองภาษาเปอร์เซีย ที่กล่าวว่า "ยาอิมาม ยาฮุเซ็น ชาอฮะซัน ยาฮุเซ็น ยาเมาลา ยาชะฮีต ชาคะลีย ยาฮุเซน" มีความหมายว่า "โอ้ท่านผู้นำ โอ้ท่านฮะซัน โอ้ท่านฮุเซ็น โอ้นายผู้เสียสละตามแนวทางพระเจ้า" คนในอดีตคงได้ยินคำว่า ยาฮุเซ็น ที่มีคนขานหนักแน่นมากกว่า จึงถูกเรียกว่าแขกเจ้าเซ็น[31]
ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีหมายรับสั่งให้นำพิธีกรรมดังกล่าวไปถวายให้ทอดพระเนตรในพระบรมมหาราชวังหน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ติดต่อกันถึงสองปี (ในปี พ.ศ. 2358 และ พ.ศ. 2359) และมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จชมพิธีดังกล่าวอยู่เสมอ ครั้งหลังสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทอดพระเนตร ณ กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496[32]
ในอดีตทุกคนต้องนุ่งดำ งดงานรื่นเริงและการกินเนื้อสัตว์ ทานอาหารเปเรส (อาหารเจ ที่ทำจากผัก) และผู้ชายต้องโกนหัวไว้ทุกข์ด้วย[33] ในประเทศไทยเองยังมีการควั่นหัว โดยใช้มีดโกนกรีดลงกลางศีรษะ ซึ่งผู้กรีดต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เดิมใช้มีเหล็กแหนบรถไฟ แต่ปัจจุบันได้ใช้มีดเยอรมันตราตุ๊กตาคู่ ซึ่งการควั่นหัวเป็นการบนบาน (เหนียต) ตั้งจิตระลึกถึงฮุเซน และเชื่อกันว่ายิ่งควั่นแล้วเลือดออกมากเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความศรัทธา[34] แต่พิธีควั่นหัวดังกล่าวปรากฏในประเทศเลบานอน และซีเรีย ขณะที่ชาวชีอะฮ์ในประเทศปากีสถาน อินเดีย และพม่า มีเพียงการลุยไฟเท่านั้น[34] ส่วนในอิหร่านเองก็เคยมีการทรมานดังกล่าว แต่ภายหลังการปฏิวัติอิสลาม อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีให้ยกเลิกพิธีกรรมดังกล่าว[35]
สถาปัตยกรรม
เปอร์เซียในยุคราชวงศ์ซาฟาวิยะห์เป็นยุคที่รุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการส่งคณะทูตไปยังราชสำนักเปอร์เซียสมัยชาห์สุลัยมานแห่งราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกันระหว่างสยามกับเปอร์เซีย[36] ในยุคนี้ไทยจึงมีการรับสถาปัตยกรรมของเปอร์เซียเข้ามา
ในเรื่องราวดังกล่าวศาสตราจารย์พิทยา บุนนาค ผู้ศึกษาอิทธิพลศิลปกรรมเปอร์เซียในสถาปัตยกรรมอยุธยา พบว่าโค้งยอดแหลมในอยุธยาเป็นโค้งแบบอิสลามไม่ใช่โค้งแบบกอธิค คือมีการโค้งด้วยการก่ออิฐให้รับน้ำหนักไปข้างๆ และลงสู่ผนัง และมีลักษณะพิเศษคือเป็นโค้งยอดแหลมแบบตวัดนิดหน่อย ซึ่งพบได้ในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ แต่ไม่พบในการก่อสร้างลักษณะนี้ในอิหร่าน จึงมีการสันนิษฐานว่าโค้งลักษณะดังกล่าวคงถูกพัฒนาโดยชาวเปอร์เซียในอินเดียก่อนเข้ามาในสยาม[36]
อาหาร
อาหารของชาวเปอร์เซียได้เป็นมรดกตกมาถึงยุคปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นอาหารแบบเดียวกับมุสลิมกลุ่มอื่นไม่ว่าฮินดูหรือมุสลิม หริอ ชาวจาม อินเดีย ยะวา และมลายู ซึ่งหากินได้ทั่วไปจนเข้าใจว่าเป็นอาหารดั้งเดิมของไทย แต่อาหารเปอร์เซียในไทยนั้นจะมีรสชาติที่แตกต่างจากอิหร่าน ได้แก่ กะบาบ ในประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ทำเฉพาะในงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย (บุญสี่สิบวัน) ถือเป็นอาหารพิเศษที่ทำไม่มากชิ้น รสชาติของกะบาบไทยจะอมหวานนิดๆ อาจเนื่องมาจากความมันของกะทิ[37] แกงกุรหม่าของไทยก็มีความแตกต่างจากแกงกุรหม่าของอิหร่านเช่นกัน เนื่องจากแกงกุรหม่าไทยมีกลิ่นเครื่องเทศมาก ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดียหรืออาจมาจากการผสมผสาน[38] ฮะยีส่า หรือข้าวอาชูรอ ที่ทำกันทั้งนิกายซุนนีย์และชีอะฮ์ในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม (มะหะหร่ำ) ที่กุฎีเจริญพาศน์นั้น ฮะยีส่ามีชื่อเสียงมากที่สุดจนกล่าวกันว่า "ข้าวฮะยีส่า สามกุฎีสี่สุเหร่า สู้ที่นี่ไม่ได้"[39]
นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย เช่น ข้าวหมก, ข้าวเปียกนม, ข้าวแขก, อาลัว, มัศกอด และขนมไส้ไก่ เป็นต้น[40]
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
- อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 สุดารา สุจฉายา. หน้า 135
- ↑ วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 18.
- ↑ วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 20.
- ↑ พิทยะ ศรีวัฒนสาร (10 มกราคม 2554). "แขกเทศ : ชาวโปรตุเกส หรือ แขกมุสลิม?". สยาม-โปรตุเกสศึกษา. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 19.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 153
- ↑ วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 25.
- ↑ สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 113
- ↑ 9.0 9.1 สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 114
- ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 138
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 “มุสลิม” ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ↑ 12.0 12.1 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 84
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 29
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 34
- ↑ น. ณ ปากน้ำ. "ขุนนางแขกสมัยกรุงศรีอยุธยา". วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 17 1 มกราคม-มีนาคม 2534, หน้า 61-66
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 93
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 154
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 110
- ↑ "ตร.เฝ้าระวังโบสถ์ยิว ร้านอาหารอิสราเอล ซ.รามบุตรี". ผู้จัดการออนไลน์. 17 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 120
- ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 144
- ↑ ""กุหลาบ" คำยืมจากภาษาเปอร์เซีย ที่ดั้งเดิมไม่ได้แปลว่า "กุหลาบ" (?)". ศิลปวัฒนธรรม. 14 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 165
- ↑ มุสลิมเชียงใหม่ดอตเน็ต - มุสลิมและชาวเปอร์เซียในสยามประเทศ
- ↑ สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 120
- ↑ วราภรณ์ ติระ - คำเรียกญาติของชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายต่างกันในกรุงเทพมหานคร
- ↑ พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 234
- ↑ พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 81-85
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 102
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 100
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 106
- ↑ ธเนศ ช่วงพิชิต, หน้า 45
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 103
- ↑ 34.0 34.1 "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 116
- ↑ ธเนศ ช่วงพิชิต, หน้า 35
- ↑ 36.0 36.1 สุดารา สุจฉายา. หน้า 167
- ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 163
- ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 164
- ↑ "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 114
- ↑ สุดารา สุจฉายา. หน้า 166-167
- บรรณานุกรม
- ธีรนันท์ ช่วงพิชิต (2551). พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย (PDF). ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- สุดารา สุจฉายา. "ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน". กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550, หน้า 134-169
- สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี. กรุงเทพฯ : กรุงเทพ, 2542, ISBN 974-8211-87-8
- ธเนศ ช่วงพิชิต. "วิถีความเชื่อ". กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550, หน้า 28-47
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่องเฉกอะหมัดต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, หน้า 84
- สุเทพ สุนทรเภสัช. ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : แนวคิดพื้นฐานทางมานุษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชาติ และการจัดองค์กรความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548. ISBN 974-7383-89-6
แหล่งข้อมูลอื่น
- ธีรนันท์ ช่วงพิชิต (เมษายน 2544). "ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง". นิตยสารสารคดี. 194. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)