เครา ฟารีนี
เครา ฟารีนี | |
---|---|
เกิด | ค.ศ. 1876 ลาว อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 16 เมษายน ค.ศ. 1926 บรุกลิน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ | (49–50 ปี)
ชื่ออื่น | "จุดเชื่อมโยงที่หายไป" |
เครา ฟารีนี (อักษรโรมัน: Krao Farini; ค.ศ. 1876 – 16 เมษายน ค.ศ. 1926) เป็นหญิงลาว[ก]จากตอนเหนือของประเทศสยาม[1] ผู้มีภาวะที่มีการเจริญของขนเพิ่มขึ้นทั่วร่างกายหรือที่เรียกว่าโรคมนุษย์หมาป่า จากความผิดปกติดังกล่าวเธอถูกนำตัวไปจัดแสดงในนิทรรศการทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[2][3] เคราได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ (หรือเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี) ซึ่งแสวงหาประโยชน์จากรูปลักษณ์ของเธอในคณะละครสัตว์ ทั้งยังโฆษณาว่าเคราคือมนุษย์ดึกดำบรรพ์หรือเป็นจุดเชื่อมโยงที่หายไประหว่างมนุษย์กับลิงตลอดชีวิตของเธอ[1][4]
ประวัติ
ไม่มีข้อมูลในช่วงชีวิตตอนต้นของเครามากนัก ทราบแต่เพียงว่าเคราเกิดในดินแดนลาว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักรสยาม[5] (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบริเวณภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน)[1] จอร์จ เชลลี (George Shelley) ผู้ที่อ้างว่าเป็นเพื่อนร่วมทางของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) ในการเดินทางไปสยาม ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ดิออวอสโซไทมส์ (The Owosso Times) ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 1884 ให้ข้อมูลว่า เคราถูกจับพร้อมกับพ่อแม่ของเธอเมื่อเดือนมกราคม 1881 จากป่าแห่งหนึ่งในดินแดนลาว และกล่าวอีกว่าเคราเป็นสมาชิกของชนเผ่าที่มีขนปกคลุมทั่วใบหน้าและลำตัว ไม่มีภาษาพูด อาศัยอยู่บนต้นไม้ ยังชีพด้วยการหาของป่า รู้จักเครื่องไม้เครื่องมือไม่มากนัก และก่อไฟไม่เป็น[6] และยังได้ระบุลักษณะกายวิภาคที่แปลกไปจากคนปรกตินอกเหนือไปจากขนที่ปกคลุมทั่วร่างกาย เช่น เธอมีกระดูกสันหลังส่วนอกและกระดูกซี่โครงที่แข็งแรง มีกระพุ้งแก้มและกระดูกข้อต่อที่แข็งแรงว่องไว แต่เธอกลับไม่มีกระดูกอ่อนในหูและจมูก[7]
ขณะที่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1883 ระบุว่า หลังครอบครัวของเคราถูกทางการสยามควบคุมตัวได้ไม่นาน บิดาของเธอก็ถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค ส่วนมารดาก็ถูกกรมการเมืองสยามคุมตัวไปกรุงเทพมหานคร[4][8] เคราถูกแยกออกจากมารดา คาร์ล บ็อค นำตัวเธอลงมายังกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะส่งเธอให้กับวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ (หรือเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี) สำหรับการแสดงในคณะละครสัตว์ ซึ่งขณะนั้นเครามีอายุเพียง 6 ขวบ[1]
บางแหล่งข้อมูล อ้างว่าจอร์จ เชลลี และคาร์ล บ็อค ออกสำรวจเพื่อตามหา "คนขนดก" โดยเริ่มแรกที่อำเภอเริมเบา บริติชมาลายา เพื่อตามหาชนเผ่าจากุน (Jaccoons) ที่มีลักษณะกึ่งคนกึ่งลิงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นทั้งสองได้เดินทางไปย่างกุ้งและกรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมคณะเดินทางอันประกอบด้วยผู้คุ้มกันและช้างสองเชือก พร้อมกับส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ลาว โดยใช้เวลาเดินทางราวสี่เดือนจึงถึงราชธานีของลาวเรียกว่า "กจัง-กจัง" (Kjang-Kjang) กษัตริย์ลาวจึงส่งทหารไปจับครอบครัวของเครา กษัตริย์ลาวไม่ยอมปล่อยตัวแม่ของเคราออกนอกประเทศ และในขณะเดียวกันก็เกิดการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้คณะเดินทางของเขาล้มป่วย และ "จัวมายง" (Schua Mayong) พ่อของเคราถึงแก่ความตายที่เมืองเชียงใหม่[9]
เอกสารอีกแห่ง ระบุว่าวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ ได้ทราบถึงการมีตัวตนของเคราครั้งแรกจากแฟรนซิส เทรเวเลียน บักแลนด์ (Francis Trevelyan Buckland) นักธรรมชาติวิทยา ที่ระบุว่าเคราและครอบครัวถูกกษัตริย์พม่ากักขังหน่วงเหนี่ยวในราชสำนักโดยอ้างว่าเป็นบรรณาการจากกษัตริย์ลาว ฮันต์จึงตั้งให้คาร์ล บ็อค นำคณะสำรวจไปพบกับชนเผ่าที่มีขนตามตัวที่มีอยู่ราว 30–40 คน แต่คณะสำรวจไม่สามารถนำชนเผ่านี้กลับมาได้สักคนเดียว บ็อคกลับไปเข้าเฝ้ากษัตริย์พม่าอีกครั้ง คราวนี้กษัตริย์พม่าทรงยอมให้บ็อคพาครอบครัวของเคราออกนอกราชสำนักพม่าเพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจได้ เมื่อคณะสำรวจอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ก็พากันล้มป่วยด้วยอหิวาตกโรค พ่อของเคราก็ตายลงที่นั่น และหลังจากนั้นอีกหกสัปดาห์ คณะสำรวจก็เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร คราวนี้กษัตริย์สยามทรงกีดกันมิให้พาตัวเคราออกนอกพระราชอาณาจักร แต่จากการช่วยเหลือของ "เจ้าชายโครโนยาร์" (Kronoiar) ซึ่งบ็อคเคยถวายงานให้ก่อนหน้านี้ ทำให้บ็อคสามารถนำตัวเคราไปยุโรปได้ หากแต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ฮันต์รับเลี้ยงเคราอย่างดีด้วย[10]
การทำงาน
เครา วิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ และคาร์ล บ็อค เดินทางถึงลอนดอนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1882 ในปีถัดมาเคราได้ออกแสดงตัวในยุโรป เพื่อเป็นตัวอย่างของ "จุดเชื่อมโยงที่ขาดหาย" ระหว่างมนุษย์กับลิง เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน ณ ที่นั่น เคราได้ศึกษาภาษาเยอรมันและอังกฤษมาบ้าง แต่ถือว่าไวมาก เพราะเคราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้หลายคำทั้งที่มาพำนักอยู่อังกฤษเพียงหนึ่งสัปดาห์[4] ต่อมาเคราได้กลายเป็นดาวเด่นในคณะแสดงตลกของวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี ได้ทำการแสดงที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลวงในเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งดึงดูดผู้ชมได้มหาศาลและสร้างรายได้อย่างงามแก่ฮันต์[1] เมื่อฮันต์รับเธอมาเลี้ยงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1884 เธอจึงรับ "ฟารีนี" ของเขามาใช้เครามาถึงฟิลาเดเฟียเมื่ออายุราว 8–9 ขวบ ซึ่งขณะนั้นเครายังอยู่ภายใต้การดูแลจากจอร์จ เชลลี[11]
ค.ศ. 1899 เคราออกทัวร์การแสดงทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมไปถึงการแสดงต่อสาธารณชนที่คาร์ดิฟฟ์และเอดินบะระด้วย[12]
เครามีความสามารถด้านภาษา พบว่าเธอสามารถพูดได้ถึงห้าภาษา[1][4]
เสียชีวิต
เคราใช้ชีวิตในช่วงสามปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ณ บ้านเลขที่ 309 ถนนอีสต์ไนน์ทีน ในย่านบรุกลิน เธอใช้ชีวิตประจำวันด้วยการสวมผ้าคลุมหน้าเมื่อออกไปที่สาธารณะ กระทั่งเคราเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1926 ก่อนตายเธอได้ขอให้ฌาปนกิจศพของเธอเสียด้วย เพราะเคราไม่ต้องการให้ใครมาจ้องมองศพของเธอ[13]
เชิงอรรถ
หมายเหตุ
ก เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนจากภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน เพราะในช่วงนั้นทางรัฐบาลสยามยังเรียกดินแดนในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาว่าเป็นลาว[1]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 เสมียนอารีย์ (4 มีนาคม 2566). "ตามรอย "เครา" เด็กหญิงจากสยาม มนุษย์ประหลาดในคณะละครสัตว์ที่อเมริกา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Krao Farini". Monstropedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2012. สืบค้นเมื่อ 1 April 2016.
- ↑ "Krao, Missing Link of Circus Sideshow, Dies From 'Flu'". The Harrisburg Evening News. 17 April 1926. p. 18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2016. สืบค้นเมื่อ 1 April 2016 – โดยทาง Newspapers.com.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 เสมียนอารีย์ (11 สิงหาคม 2563). "เครา ฟารินี หญิงลาวที่ถูกอ้างเป็นจุดเชื่อมระหว่างลิงกับคน". The People. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Scudder, John M. (December 1884). "Homo sylvestris". The Eclectic Medical Journal. 44 (12): 611–613. สืบค้นเมื่อ 23 June 2016.
- ↑ "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
- ↑ "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
- ↑ Scudder, John M. (December 1884). "Homo sylvestris". The Eclectic Medical Journal. 44 (12): 611–613. สืบค้นเมื่อ 23 June 2016.
- ↑ "Men Living In Trees". Timaru, New Zealand. 26 December 1884. สืบค้นเมื่อ 27 June 2016.
- ↑ "A Journey to Far Siam". The Utica Sunday Tribune. Utica, New York. 23 April 1893. สืบค้นเมื่อ 27 June 2016.
- ↑ "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
- ↑ "The Missing Link". Evening Express. Cardiff. 23 January 1899. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2016. สืบค้นเมื่อ 29 June 2016.
- ↑ "CIRCUS FOLK MOURN 'BEST-LIKED FREAK': Krao, the 'Missing Link,' Buried With Tribute of Tears From Side-Show Associates". New York Times. New York, New York. 19 April 1926.