ต้านชเว
ต้านชเว | |
---|---|
ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของพม่า | |
ดำรงตำแหน่ง 23 เมษายน พ.ศ. 2535 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 | |
ก่อนหน้า | ซอมอง |
ถัดไป | เต้นเซน (ประธานาธิบดี) |
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า | |
ดำรงตำแหน่ง 23 เมษายน พ.ศ. 2535 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 | |
รอง | มองเอ้ |
ก่อนหน้า | ซอมอง |
ถัดไป | มี่นอองไลง์ |
นายกรัฐมนตรีพม่า คนที่ 8 | |
ดำรงตำแหน่ง 23 สิงหาคม พ.ศ. 2535 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2547 | |
ผู้นำ | ตนเอง |
ก่อนหน้า | ซอมอง |
ถัดไป | คีนหญุ่น |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476[1] หรือ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2478[2] เจาะแซ พม่าตอนบน บริติชเบอร์มา |
คู่สมรส | ไจง์ไจง์[3] นองตีฮะชเว |
ศิษย์เก่า | Officer Training School สถาบันทหารฟรุนเซ (สหภาพโซเวียต) |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | พม่า |
สังกัด | กองทัพบกพม่า |
ประจำการ | พ.ศ. 2496–2554 |
ยศ | พลเอกอาวุโส |
พลเอกอาวุโส ต้านชเว (พม่า: သန်းရွှေ, ออกเสียง: [θáɰ̃ ʃwè]) ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่า ดำรงตำแหน่งประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ภายหลังการรัฐประหารล้มอำนาจของพลเอกอาวุโส ซอมอง อดีตประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (สลอร์ก) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2535
ประวัติ
พลเอกอาวุโส ต้านชเว เกิดที่เมืองเจาะแซซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบทในพม่าตอนบน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่มีฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 10 ขวบ พ่อตาย แม่มีสามีใหม่เป็นมุสลิม แม่จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ต้านชเวเลยกลายเป็นเด็กกำพร้า ต้องหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เด็ก ประกอบที่มีหน้าตาเหมือนแขก และแม่มีสามีเป็นชาวมุสลิม จึงมักถูกล้อเลียนว่าเป็น "ไอ้ลูกแขก"
เมื่อเป็นเด็ก ต้านชเวเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยยอมเป็นเพื่อนกับใครง่าย ๆ ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปเป็นคนพูดน้อย แต่รักษาคำพูดและสุขุมรอบคอบมาก ต้านชเวเป็นเด็กเรียนหนังสือดี แต่ความไม่พร้อมทำให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ต้านชเวจึงเรียนไม่จบชั้นมัธยม 3 หลังจากออกมาหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวและตัวเองแล้ว จึงกลับไปเรียนใหม่จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลายใน พ.ศ. 2494 เมื่อมีอายุ 18 ปี
เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ต้านชเวได้ไปสมัครเป็นเสมียนไปรษณีย์ ที่อำเภอเมะทีลา ทำงานได้ 1 ปี จึงไปย่างกุ้งเพื่อสมัครเป็นทหาร แต่สอบเข้าได้เพียงเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง ใช้เวลาเรียนเพียง 6 เดือน ก็จบหลักสูตรนายร้อยสำรองรุ่น 9 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้รับยศร้อยตรี
ต้านชเวรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปฏิบัติงานสงครามจิตวิทยาสนามที่ 1 โดยมีภารกิจก็คือ ออกปฏิบัติการจิตวิทยากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ให้ภักดีต่อประเทศพม่า
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยหลัก แต่ด้วยการทำงานอย่างหนักและการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ภายในเวลา 5 ปี ต้านชเวได้พัฒนาตนจนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันการเมืองและวิทยาศาสตร์ของกองทัพ
การทำงานอย่างหนักและอย่างเป็นระบบ ทำให้ต่อมาต้านชเวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน เป็นผู้บังคับการกรมได้ไม่นานก็ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 88 และผู้บัญชาการภาคของทหารบกในภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคอิรวดี
ภายในเวลาเพียง 32 ปี ต้านชเวเขยิบสถานะจากเสมียนไปรษณีย์มาเป็นนายทหารยศพลตรี ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก เมื่อ พ.ศ. 2528
อีก 3 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2531 ต้านชเวก็ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของ ดร.มองมอง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจากพลเอก เนวี่น ต้านชเวตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายของพลเอก ซอมอง ยึดอำนาจจากรัฐบาล ดร.มองมอง เมื่อการรัฐประหารยึดอำนาจประสบผลสำเร็จ ต้านชเวได้รับการสถาปนาเป็นพลเอกในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งรองประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ต้านชเวได้รับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาเมื่อสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่ามาเป็นเมียนมา เปลี่ยนชื่อคณะผู้ปกครองทหารพม่าจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐมาเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังปัจจุบัน ต้านชเวได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่เป็นประธานสภาสันติภาพฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด[4]
ชีวิตส่วนตัว ต้านชเวสมรสกับนางไจง์ไจง์และนางนองตีฮะชเว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 เมื่อตานดาชเว ลูกสาวของต้านชเวที่เกิดกับนางไจง์ไจง์ จัดพิธีสมรสกับนายพันตรีในกองทัพบกพม่า ได้ปรากฏคลิปงานสมรสครั้งนี้กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนชาวพม่า เพราะสะท้อนถึงความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของผู้ปกครองประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร[5]
อ้างอิง
- ↑ "Than Shwe". Alternative Asean Network on Burma. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-19. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02.
- ↑ "၂၀၁၅ အထွေထွေ ရွေးကောက်ပွဲ မဲဆန္ဒရှင်စာရင်း (Voter list)" (Press release). Union Election Commission. 14 September 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-29. สืบค้นเมื่อ 15 September 2015.
- ↑ "ผู้นำพม่าไหว้พระ!! รูปนี้หาดูได้ยาก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
- ↑ ฉลามต้องอยู่น้ำลึกจากนิติภูมิ นวรัตน์
- ↑ "คลิปงานแต่งสุดอลังการลูกสาวตานฉ่วยร่อนทั่ว !!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-22. สืบค้นเมื่อ 2010-08-21.