ข้ามไปเนื้อหา

สนธิสัญญาเบอร์นี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
สนธิสัญญาเบอร์นี
สำเนาสนธิสัญญาเบอร์นี
ประเภทสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี
สนธิสัญญาทางการค้า
วันลงนาม20 มิถุนายน พ.ศ. 2369
ที่ลงนามกรุงเทพมหานครฯ ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์
ผู้ลงนามไทย เจ้าพระยาอภัยภูธร (สมุหนายก)

ไทย เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สมุหพระกลาโหม)
ไทย เจ้าพระยาพระคลัง (เสนาบดีกรมท่า)
ไทย เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสนาบดีกรมวัง)
ไทย เจ้าพระยาพลเทพ (เสนาบดีกรมนา)
ไทย เจ้าพระยายมราช (เสนาบดีกรมพระนครบาล)[1]

สหราชอาณาจักร เฮนรี เบอร์นี
ภาคีไทย รัตนโกสินทร์
สหราชอาณาจักร จักรวรรดิบริติช
ภาษาไทยและอังกฤษ
ข้อความทั้งหมด
สนธิสัญญาเบอร์นี ที่ วิกิซอร์ซ

สนธิสัญญาเบอร์นี (อังกฤษ: Burney Treaty) คือ สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อมาคือประเทศไทย) ทำกับประเทศตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฮนรี เบอร์นีได้เป็นทูตบริเตนเดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2368 เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้า ในด้านการค้า รัฐบาลสหราชอาณาจักรประสงค์ขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับรัตนโกสินทร์ และขอความสะดวกในการค้าได้โดยเสรี การเจรจาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 และมีการลงนามในสนธิสัญญากัน

สนธิสัญญาเบอร์นีประกอบด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีรวม 14 ข้อ และมีสนธิสัญญาทางพาณิชย์แยกออกมาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า ได้แก่ ข้อ 5 ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ 6 ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย และข้อ 7 ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือนและเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง[2]

สนธิสัญญาเบอร์นีนั้น หนึ่งท่านผู้ลงนามในสัญญาคือ เจ้าพระยาอภัยภูธร(สมุหนายก)นั้นคือเจ้าพระยาอภัยภูธร(น้อย บุณยรัตพันธุ์) ตามประวัติศาสตร์ ในปีที่ลงนาม 2369 ตามเอกสารอ้างอิง https://th.m.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาอภัยภูธร_(น้อย_บุณยรัตพันธุ์)

เบื้องหลัง

[แก้]

หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งอาณานิคมขึ้นบนเกาะปีนัง ใน พ.ศ. 2329 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษก็เริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรก และเป็นที่คาดว่าอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบครองคาบสมุทรมลายูต่อไป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพมาตีเมืองไทรบุรี ซึ่งเจ้าเมืองคนเก่าได้ยกปีนังให้อังกฤษ สุลต่านไทรบุรีก็ทิ้งเมืองหนีไปยังเกาะปีนัง ทหารไทยไล่ติดตามไปก็ถอยกลับ เนื่องจากไม่ต้องการรบกับอังกฤษ[3] ยอน ครอเฟิดเข้ามาเจรจากับไทยทั้งในด้านการค้าและขอให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองอย่างเดิมก็ไม่ประสบผลแต่อย่างใด

สาเหตุที่ไทยกับอังกฤษกลับมาเจรจากันอีกครั้งมีหลายสาเหตุด้วยกัน อธิบายได้ว่า การที่ไทยได้ไทรบุรีอยู่ในปกครองนั้น ทำให้เประและสลังงอของอังกฤษเสี่ยงต่อการถูกยึดครอง อังกฤษต้องการให้ไทยถอนตัวจากไทรบุรี และให้สุลต่านกลับไปปกครองดังเดิม ครั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2367 รอเบิร์ต ฟุลเลอตันได้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนใหม่ ต้องการขับไล่ไทยจากไทรบุรี ก็ขอให้รัฐบาลอินเดียส่งทูตมาบังคับไทยไม่ให้แผ่อิทธิพลในคาบสมุทรมลายู ด้านการสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก การรบไม่คืบหน้าเท่าที่ควร อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบ นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้รับคำฟ้องจากพ่อค้าอังกฤษว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขายกับไทย จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีมาเป็นทูตเจรจากับไทย[4]

จุดประสงค์ของสหราชอาณาจักร

[แก้]

ในทางการเมือง บริเตนต้องการให้ไทยช่วยรบกับพม่า และส่งยานพาหนะให้แก่สหราชอาณาจักร ตลอดจนต้องการให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองดังเดิม และให้ไทยเลิกแผ่อำนาจลงไปใต้เมืองปัตตานี ส่วนในทางการค้า บริเตนต้องการให้ไทยผ่อนปรนการผูกขาดการค้าและเรียกเก็บภาษีอากรในการค้า ให้เหมือนกับที่พ่อค้าไทยมีเสรีภาพทางการค้าเมื่อค้าขายกับอาณานิคมของบริเตน[5]

การเจรจา

[แก้]

สัญญาลำลอง

[แก้]

เฮนรี เบอร์นีได้ลองทำหนังสือสัญญาลำลองกับเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน เพื่อดูว่าไทยต้องการทำสนธิสัญญาหรือไม่ โดยสัญญาลำลองมีใจความว่า

(1) เจ้าพระยานครสัญญาว่าจะไม่ส่งทหารไปยังเประและสลังงอ บริษัทอังกฤษให้สัญญาว่าจะไม่ยึดครองเประ
(2) บริษัทอังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับไทรบุรี แต่ถ้าสุลต่านไทรบุรีได้กลับมาครองเมือง ก็สัญญาจะส่งเครื่องบรรณาการถวายทุกสามปี และเงินปีละ 4,000 เหรียญสเปน เจ้าพระยานครสัญญาว่าถ้าสุลต่านไทรบุรีได้กลับครองเมืองก็จะไม่ขัดขวางและไม่รุกราน
(3) เจ้าพระยานครสัญญาจะช่วยปราบโจรสลัดในทะเลด้านตะวันตกของคาบสมุทรมลายู และยินดีช่วยอังกฤษในการเจรจาที่กรุงเทพต่อไป[5]

เมื่อรัฐบาลบริติชราชพิจารณาสัญญาลำลองดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าไทยยินยอมเจรจาตามแนวทางที่ตนต้องการ จึงให้เบอร์นีเดินทางไปเจรจาที่กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร

[แก้]

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 ทูตอังกฤษได้บันทึกข้อเรียกร้องทั้งหลายในระหว่างการเจรจาว่า

  1. ไทยควรปล่อยให้พ่อค้าอังกฤษมีเสรีภาพทางการค้าเหมือนกับที่พ่อค้าไทยได้รับเสรีภาพดังกล่าวเมื่อไปค้าขายกับดินแดนในบังคับอังกฤษ และขอให้เปิดเผยพิกัดอัตราค่าธรรมเนียม อย่าปิดบัง
  2. ไม่ควรให้การค้ากับชาวต่างชาติขึ้นกับเจ้าพระยาพระคลังคนเดียว เพราะไม่เคยอนุญาตให้พ่อค้าไทยคนใดขายให้หรือซื้อสินค้าจากพ่อค้าอังกฤษ
  3. กรมพระคลังสินค้าโก่งราคาสินค้ามาก
  4. พ่อค้าต่างชาติไม่สามารถขายสินค้าแก่เอกชนได้ ต้องรอข้าราชการกรมท่าเลือกซื้อ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
  5. มีการเก็บภาษีรุนแรงเกินควร ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมโดยไม่แจ้งให้ทราบ
  6. ต้องการให้ไทยลดค่าธรรมเนียมแก่เรือที่สัญจรไปมาบ่อย[6]

ทั้งนี้ได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยพิจารณา ความว่า

  1. ให้เรือต่างชาติยื่นรายชื่อคนบนเรือ และเครื่องสรรพาวุธต่อเสนาบดีกรมท่า หากรายการที่ยื่นไม่ตรงให้ริบได้
  2. ให้เจ้าพนักงานวัดส่วนกว้างของเรือ แล้วเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นอัตราที่ชัดเจน โดยเสนอว่าควรเก็บวาละ 1,500 บาท
  3. ขอให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมแก่เรือที่สัญจรไปมาบ่อย และไม่ควรเรียกเก็บค่าจ้างเรือลำเลียงสินค้าขนาดเล็กในการช่วยขนสินค้า
  4. ขอให้พ่อค้าอังกฤษและสุหรัดมีเสรีภาพในการซื้อขายอย่างเต็มที่
  5. ขอให้ไทยแต่งตั้งเจ้าพนักงานไว้ตรวจการตวงข้าวและเกลือ และกำหนดให้เสียค่าจ้างเป็นพิกัดอัตราแน่นอน
  6. เมื่อเรือมาถึงปากน้ำ ขอให้ขนเฉพาะกระสุนปืนและดินดำขึ้นบก
  7. หากคนในบังคับอังกฤษจะเรียกหนี้สินจากคนไทย ให้ยื่นคดีต่อเจ้าพระยาพระคลังและข้าราชการ และหากไต่สวนพบว่าผิดตามที่กล่าวหา ให้ลูกหนี้มาชำระหนี้แก่คนนั้น
  8. ขอให้เรืออังกฤษและพ่อค้าอังกฤษ มีเสรีภาพจะไปค้าขายตามเมืองท่าของไทยได้ทุกเมือง และคนในบังคับอังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย[7]

ภายหลังการยื่นบันทึกดังกล่าวได้ 11 วัน รัฐบาลไทยทราบว่าพม่ายอมแพ้อังกฤษ ทำให้เป็นการไม่เหมาะที่จะไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวตามที่อังกฤษต้องการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้รับกราบทูลให้ทำสนธิสัญญาไว้ พระองค์จึงทรงเชิญเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำสนธิสัญญายังที่พัก[8]

การลงนาม

[แก้]

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ไทยและอังกฤษได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับ เป็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถอดพระยาชุมพร (ซุย) ออกจากตำแหน่ง "เพราะมีความผิดไปตีครัวมะริดของอังกฤษ อังกฤษเข้ามาตามขอดี ๆ ก็ไม่ให้ ได้สู้รบกันก็แพ้เขา ทำให้เสียพระเกียรติยศ"[2]

ในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย พบว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยได้รักษาเกียรติยศและผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ดีที่สุด โดยไม่ยอมให้อังกฤษตั้งกุงสุลและเอากฎหมายอังกฤษมาใช้ในไทย โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ผู้กำกับกรมท่าและกรมมหาดไทย เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในการเจรจาดังกล่าว ทรงถูกมองว่าเป็นผู้ให้ "ความเห็นของรัฐบาลไทย"[1]

หนังสือสัญญาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ไทยยอมทำกับต่างประเทศ รัฐบาลไม่ค่อยเต็มใจทำเนื่องจากเนื้อหาทำให้รัฐบาลและขุนนางกรมท่าขาดรายได้

สาระสำคัญ

[แก้]
  1. ให้เรือพ่อค้าอังกฤษปฏิบัติตามธรรมเนียมไทย ห้ามมิให้ขายกระสุนดินดำแก่เอกชน ให้ขายเฉพาะในหลวงเท่านั้น แต่สินค้าอื่นสามารถค้าขายได้อย่างเสรี ค่าธรรมเนียมสลุบกำปั่นรวมเบ็ดเสร็จ ถ้ามีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,700 บาท ถ้าไม่มีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,500 บาท โดยไม่เรียกเก็บจังกอบ ภาษี และค่าธรรมเนียมเพิ่ม
  2. เรือพ่อค้าชาวอังกฤษจะต้องมาทอดสมอคอยอยู่นอกสันดอนปากแม่น้ำก่อน นายเรือจะต้องให้คนนำบัญชีรายชื่อสินค้าที่บรรทุกมาตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ แจ้งแก่เจ้าเมืองปากน้ำ เจ้าเมืองปากน้ำจะให้คนนำร่องและล่ามกฎหมายมาส่ง แล้วจึงจะนำเรือนั้นเข้ามายังแผ่นดิน
  3. เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบเรือสินค้าได้ แล้วเอาสินค้ายุทธภัณฑ์ไว้ ณ เมืองปากน้ำ แล้วเจ้าเมืองจึงอนุญาตให้เรือมาถึงกรุงเทพมหานคร
  4. เมื่อเรือสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว เจ้าพนักงานตรวจสอบเรือสินค้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ค้าขายกันอย่างเสรี (ตามข้อ 1) เวลาจะขนสินค้ากลับ จะไม่คิดค่าธรรมเนียมเรือลำเลียง
  5. ถ้าเรือบรรทุกสิ่งของเสร็จ ก็ให้นายเรือขอเบิกล่องต่อเจ้าพระยาพระคลัง แล้วไปหยุดทอดสมอตรงที่เคยทอด (ตามข้อ 2) เจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วรับเอายุทธภัณฑ์กลับไป
  6. พ่อค้าอังกฤษ ตลอดจนผู้บังคับการเรือและลูกเรือทั้งหลายซึ่งเข้ามาค้าขายยังเมืองไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ คนอังกฤษและคนไทยย่อมได้รับโทษเท่ากัน

ผลที่ตามมา

[แก้]

ปฏิกิริยาต่อเบอร์นี

[แก้]

เบอร์นีถูกกรมการเมืองปีนังและชาวอังกฤษในแหลมมลายูตำหนิเป็นอันมาก เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวเสียเปรียบไทยทั้งในด้านการเมืองและการค้า มีคนหนึ่งถึงกับส่งหนังสือจะท้าดวลกับเบอร์นีเลยทีเดียว แต่รัฐบาลอินเดียกล่าวยกย่องเบอร์นี และปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ฝ่ายเบอร์นีเองก็เป็นห่วงว่าไทยอาจจะหลีกเลียงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับรอเบิร์ต ฟุลเลอตัน เจ้าเมืองปีนัง[9]

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

[แก้]

การที่ไทยไม่ยอมส่งออกข้าวแม้จะได้รับการโน้มน้าวจากทูตอังกฤษ ให้โทษแก่เศรษฐกิจไทยมากกว่าให้คุณ[1] เพราะในอดีตที่พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทรงห้ามมิให้ส่งออกข้าวนั้น เป็นเพราะเกิดศึกสงครามและมีการขาดแคลนข้าว นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันว่างศึกมาก็มีการผ่อนผันให้ส่งออกข้าวได้เป็นครั้งคราว[1]

สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยเสียผลประโยชน์ จึงมีการเพิ่มภาษีอากรให้ชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป โดยมีการเรียกเก็บภาษีอากรใหม่ถึงเกือบ 40 อย่าง[10] ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองกลับมีสงครามมากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2[11] อันทำให้รัฐบาลมีรายได้มากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 มาก ถึงกับสามารถให้เงินเดือนแก่เจ้านายได้ และเพิ่มเบี้ยหวัด (โบนัส) ให้แก่เจ้านายและข้าราชการได้อีกด้วย[12]

แต่เดิมการผูกขาดการค้านั้นมีไว้เพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายบำรุงบ้านเมืองและการศาสนา เมื่อรัฐบาลไม่สามารถผูกขาดสินค้าได้อีกแล้วก็ใช้วิธีโอนสิทธิ์ให้แก่เจ้าภาษีแทน ทำให้สินค้าแพงขึ้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อน สวนทางกับข้าวเปลือกที่ราคาตกต่ำมาก ในขณะที่รัฐบาลมีรายได้ปีละหลายล้านบาท[11]

การเข้ามาทำสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกา

[แก้]

ความสำเร็จของอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี ทำให้สหรัฐอเมริกาสนใจต้องการเข้ามาทำสนธิสัญญาด้วยอีกประเทศหนึ่ง โดยใน พ.ศ. 2376 แอนดรูว์ แจ็คสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์มายังประเทศไทย นับเป็นทูตอเมริกันคนแรก[13] สนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกับสนธิสัญญาเบอร์นี แต่มีความพิเศษตรงที่สหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิ์ให้สามารถตั้งกงสุลได้หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาตั้งกงสุลขึ้นก่อนหน้านั้น[10]

การขอแก้ไขสนธิสัญญา

[แก้]

หลังจากที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไปแล้ว พ่อค้าฝรั่งยังรู้สึกไม่พอใจเพราะรู้สึกเสียค่าธรรมเนียมแพงเกินควร ต้องอยู่ใต้บังคับกฎหมายและธรรมเนียมไทย อีกทั้งยังไม่พอใจที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่าง ๆ[12] ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทูตชื่อ โจเซฟ บัสเลสเตีย มาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา โดยจะขอตั้งกงสุลอเมริกัน และขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมเหมา แต่การแก้ไขสนธิสัญญาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบัลเลสเตียปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับฐานะทูต ที่สำคัญคือเป็นเพียงพ่อค้ามิใช่ขุนนาง ทำให้คนไทยที่เห่อยศศักดิ์มีปฏิกิริยาชิงชังฝรั่ง ว่าไม่เคารพพระเจ้าแผ่นดินไทย บัสเลสเตรียก็เดินทางออกจากประเทศเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2393[14]

ในเวลาไล่เลี่ยกันน้น สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็ได้ทรงส่งทูตมายังกรุงเทพ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2393 โดยมีจุดประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่การเจรจาคราวนี้ล้มเหลวอีกเช่นกัน เพราะราชทูต เซอร์เจมส์ บรุค ถือหนังสืออัครมหาเสนาบดีมาให้เสนาบดีกรมท่า จึงทำให้ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ[14] ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรู้สึกไม่ได้รับเกียรติจากทูตอังกฤษ เพราะไม่ได้เชิญพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาถวายด้วย[14]

สำหรับเนื้อหาที่ขอแก้ไขสนธิสัญญานั้น สามารถสรุปได้ว่า

(1) ห้ามมิให้ขายฝิ่นในกรุงเทพ หากฝ่าฝืนให้ใช้เงินหรือจำไว้
(2) สินค้าเจ็ดประการ ได้แก่ น้ำมัน, ปืน ลูกปืน และดินปิน, เหล็ก, กะทะเหล็ก, เหล็กกล้า, สุรา และไม้สัก ให้กรุงเทพคิดอัตราภาษีได้ตามความเห็นชอบ เรือพ่อค้าอังกฤษที่มีสินค้าเหล่านี้จะนำเข้าหรือส่งออกไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากข้าราชการไทย
(3) ขออย่าให้เสียภาษีสินค้าทั้งปวง ยกเว้นที่กำหนดในคำสัญญานี้ (ดูข้อ 5)
(4) ขอให้คนอังกฤษและคนไทยค้าขายอย่างเสรี (ยกเว้นสินค้าในข้อ 2) และอย่าให้มีการเก็บภาษีเพิ่มจากที่ได้จ่ายไปครั้งแรกแล้ว
(5) ขอให้ใช้ภาษีตามนี้แทนภาษีเก่า: ข้าวสาร - หาบละสลึง, น้ำตาลทราย - หาบละ 2 สลึง, ครั่ง - หาบละ 2 สลึง, เขาสัตว์ - หาบละสลึง, น้ำตาลทรายแดง - หาบละสลึง, เกลือ - เกวียนละ 2 บาท, ไม้ฝาง -หาบละเฟื้อง
(6) ขอให้เรืออังกฤษคิดค่าปากเรือวาละ 500 บาท โดย 1 วาคิดเป็น 78 นิ้วอังกฤษ ใช้แทนค่าปากเรือและภาษีเก่าทั้งหมด กรณีไม่ได้นำสินค้ามาขาย ขอให้ไม่เสียค่าปากเรือ[15]

ฝ่ายไทยปฏิเสธไม่ยอมรับการแก้ไขสนธิสัญญาด้วยเหตุผลยืดยาว ราชทูตอังกฤษข่มโทสะไม่ได้ก็ขู่ว่าจะไปบอกรัฐบาล แล้วก็เดินทางกลับประเทศไป มิชชันนารีทั้งหลายก็เกรงว่าจะเกิดสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ หรือไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็เร่งจะหนีออกจากไทย[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 157.
  2. 2.0 2.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 155.
  3. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 149.
  4. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 150.
  5. 5.0 5.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 151.
  6. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 152-153.
  7. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 153-154.
  8. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 154.
  9. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 157-158.
  10. 10.0 10.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 159.
  11. 11.0 11.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 169.
  12. 12.0 12.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 164.
  13. ห้องนิทรรศการ 1 เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐอเมริกาในแง่ประวัติศาสตร์ ก. สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 เก็บถาวร 2015-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 17-12-2553.
  14. 14.0 14.1 14.2 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 166.
  15. 15.0 15.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 168.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.