ข้ามไปเนื้อหา

เศรษฐศาสตร์จุลภาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมเดลอุปสงค์และอุปทานอธิบายการเปลี่ยนแปลงของราคาซึ่งเป็นผลจากสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าซึ่งถูกเสนอขายที่ราคาแต่ละราคา (อุปสงค์) และความต้องการซื้อที่ราคาแต่ละราคา (อุปทาน)

เศรษฐศาสตร์จุลภาค (อังกฤษ: Microeconomics) เป็นเศรษฐศาสตร์สาขาหนึ่งซึ่งศึกษาพฤติกรรมและการตัดสินใจของบุคคล ครัวเรือน และบริษัท ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด[1] โดยเฉพาะในตลาดซึ่งมีการซื้อขายสินค้าและบริการ เศรษฐศาสตร์จุลภาคศึกษาว่าพฤติกรรมและการตัดสินใจเหล่านี้มีผลกระทบอย่างไรต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นตัวกำหนดราคา และในทางกลับกัน ราคากำหนดอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการอย่างไร[2][3]

จุดประสงค์หนึ่งของเศรษฐศาสตร์จุลภาคคือการวิเคราะห์กลไกตลาดซึ่งเป็นตัวกำหนดราคาเปรียบเทียบระหว่างสินค้าและบริการ และการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพื่อใช้ในทางเลือกต่าง ๆ เศรษฐศาสตร์จุลภาคศึกษาเกี่ยวกับความล้มเหลวของตลาด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กลไกตลาดไม่สามารถทำให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพได้ และยังอธิบายเกี่ยวกับข้อแม้ทางทฤษฎีที่จำเป็นต่อการเกิดการแข่งขันสมบูรณ์ สาขาที่สำคัญในเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่นดุลยภาพทั่วไป ตลาดภายใต้ความไม่สมมาตรของข้อมูล การตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอน และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกมในทางเศรษฐศาสตร์

สมมติฐานและนิยาม

ในทฤษฎีอุปสงค์และอุปทานมักตั้งสมมติฐานไว้ว่าตลาดเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการที่มีผู้ขายและผู้ซื้อในตลาดมากมาย และไม่มีใครสามารถส่งผลให้ราคาของสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงได้ (แต่ในโลกความเป็นจริง สมมติฐานนี้มักไม่เป็นจริงเพราะผู้ซื้อหรือผู้ขายบางคนหรือบางกลุ่มมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงราคาได้) ในการวิเคราห์ที่ซับซ้อนบางครั้งต้องกำหนดสมการอุปสงค์-อุปทานของสินค้า แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ใช้อธิบายได้ดีในสถานการณ์ที่ไม่ยุ่งยากเกินไปนัก

อ้างอิง

  1. Marchant, Mary A. "Macroeconomic and International Policy Terms". University of Kentucky. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  2. "Economics Glossary". Monroe County Women's Disability Network. สืบค้นเมื่อ 2008-02-22.
  3. "Social Studies Standards Glossary". New Mexico Public Education Department. สืบค้นเมื่อ 2008-02-22.