หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา | |
---|---|
ไฟล์:หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา.jpg | |
เกิด | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 |
มีชื่อเสียงจาก | หม่อมในกรมหลวงพิชิตปรีชากร |
คู่สมรส | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร |
บุตร | 6 พระองค์ |
บิดามารดา | กิม เต่า |
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา (13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492) เป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร
หม่อมสุ่น เกิดเมื่อปีมะแม วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 บิดาชื่อ กิม เป็นพ่อค้าผ้าลายและผ้าแพร มารดาชื่อเต่า หม่อมสุ่นได้รับการศึกษาพอสมควรกับฐานะของกุลสตรีในสมัยนั้น ต่อมาได้ถวายตัวเป็นหม่อมของกรมหลวงพิชิตปรีชากร ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล
หม่อมสุ่นเป็นสตรีที่เลื่องลือว่างามมากในสมัยที่ยังเป็นสาว มีผู้กล่าวกันว่าผิวของท่านเหมือนงาช้าง และหน้าตาเหมือนรูปปั้น หม่อมเจ้าพระธิดาของกรมหลวงพิชิตปรีชากร เคยทรงเล่าประทานหม่อมราชวงศ์หญิงรสลิน คัคณางค์ ว่า เมื่อท่านทรงชมความงามของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพ่อของท่านทรงเห็นด้วย แต่ตรัสว่า "ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่ถึงหญิงอาภาฯ และหญิงอาภาฯ ก็ยังไม่ถึงหม่อมสุ่น"
นอกจากรูปสมบัติแล้ว หม่อมสุ่นยังมีคุณสมบัติซึ่งปรากฏแก่ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยทั่วไป เมื่อถวายตัวกับกรมหลวงพิชิตปรีชากรแล้ว ก็ปฏิบัติหน้าที่ของท่านมาเป็นอย่างดี การเดินทางไปต่างจังหวัดในสมัยที่ยังไม่มีรถไฟและรถยนต์ ต้องลำบากตรากตรำอย่างมาก แต่เมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จไปราชการทางภาคพายัพและอิสาณ ท่านก็ตามเสด็จไปด้วยทุกครา ต้องเหน็ดเหนื่อยและยุ่งยากมากก็เมื่อตอนวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ในเวลาที่ไทยกับฝรั่งเศสเกิดผิดใจกันและเกิดสู้รบกันขึ้นตามริมแม่น้ำโขง ขณะนั้นกรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงมีตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาณต้องทรงบัญชางาน หม่อมสุ่นอยู่แนวหลังทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมสะเบียงและยาสำหรับส่งไปให้ทหาร นอกจากนั้นยังต้องช่วยดูแลทุกข์สุขของภรรยาและครอบครัวข้าราชการผู้ต้องทิ้งบ้านไปราชการฉุกเฉินในครั้งนั้นด้วย
ท่านเล่าว่า ท่านเป็นห่วงพระโอรสธิดามาก เพราะยังเยาว์อยู่ เกรงว่าถ้าเกิดฉุกเฉินจนถึงเสียชีวิตผู้ใหญ่ เด็กก็จะลำบาก แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรตรัสปลอบว่า ถ้าพระองค์ท่านต้องสิ้นพระชนม์ในราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงพระกรุณาเลี้ยงลูกพระราชทานเอง
ในครั้งนั้นเจ้านายฝ่ายใน หม่อมห้าม และภรรยาข้าราชการในพระนครชักชวนกันจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสภากาชาดไทย) เพื่อช่วยในการรักษาพยาบาลทหารป่วยไข้ เมื่อสภาอุณาโลมแดง จัดยาและเครื่องอุปโภคบริโภคเสร็จแล้ว ก็ส่งไปมณฑลอิสานเพื่อแจกจ่ายต่อไป หม่อมสุ่นได้รับมอบหมายจากสภาอุณาโลมแดงให้เป็นผู้จัดการแจกจ่ายด้านนครจำปาศักดิ์ โดยที่ท่านทำงานของสภาอุณาโลมแดงมาแต่ต้นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้ท่านมีใจผูกพันต่องานของสภากาชาดไทย และให้การอุปการะสงเคราะห์แก่องค์การนี้ตามกำลังของท่านตลอดชีวิต
กรมหลวงพิชิตปรีชากรสนพระทัยในการกสิกรรม และโปรดทดลองทำนาทำสวน จนถึงได้ทรงสั่งเครื่องจักรและปศุสัตว์พันธุ์ต่างประเทศซึ่งมีลักษณะดีกว่าพันธุ์พื้นเมืองมาเลี้ยงไว้ เมื่อพระองค์โปรดเช่นนั้น หม่อมสุ่นก็สนองพระประสงค์ ไปควบคุมดูแลการทำนา ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเอง แม้จะอยู่ไกลพระนครก็มิได้หวาดเกรงอันตรายแต้อย่างใด จนตลอดพระชนม์ชีพของกรมหลวงพิชิตปรีชากร
เมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากรสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2452 แล้ว หม่อมสุ่นก็ปลดปล่อยภาระทั้งปวง คงเอาใจฝักใฝ่ อยู่แต่ในการกุศลสาธารณสงเคราะห์ และอุปการะลูกหลาน
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ณ บ้านถนนประมวญ อายุ 90 ปี ได้รับพระราชทานโกศเป็นเกียรติยศในงานพระราชทานเพลิงศพด้วย
พระโอรส-ธิดา
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา มีพระโอรส-พระธิดากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร 6 พระองค์ ได้แก่
- หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี คัคณางค์ (พ.ศ. 2417 - 2481) เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดา 9 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
- หม่อมเจ้าหญิงกลาง คัคณางค์ (พ.ศ. 2418 - 2424)
- หม่อมเจ้าหญิงฉวีวิลัย คัคณางค์ (พ.ศ. 2424 - 2473) เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดา 11 พระองค์
- หม่อมเจ้าน้อย คัคณางค์ (พ.ศ. 2427 - 2428)
- หม่อมเจ้ากลาง คัคณางค์ (พ.ศ. 2431 พระชนม์ 9 เดือน)
- หม่อมเจ้าปรีดียากร คัคณางค์ (พ.ศ. 2434 - 2453) เสกสมรสกับหม่อมวาด คัคณางค์ ณ อยุธยา มีพระธิดาสองคนกับหม่อมวาดคือ 1. หม่อมราชวงศ์หญิงรสลิน คัคณางค์ ท.จ.ว. (9 ธันวาคม พ.ศ. 2449 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547) และ 2. หม่อมราชวงศ์หญิงรสมาลี คัคณางค์ (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 - ถึงแก่กรรมแล้ว) สมรสกับ หม่อมราชวงศ์มานพ เกษมสันต์ มีบุตรด้วยกัน 5 คน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นเบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)[1]
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)
อ้างอิง
- ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
- ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (0ง): 2567. 20 พฤศจิกายน 2470.