ชาวกูย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
480,000 (est.) | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศไทย, ประเทศกัมพูชา, ประเทศลาว, ประเทศเวียดนาม | |
ไทย | 400,000 (2006)[1] |
กัมพูชา | 37,700 (2009) |
ลาว | 42,800 (2005)[2] |
ภาษา | |
กูย, ลาว, เขมร, ไทย และอื่นๆ | |
ศาสนา | |
วิญญาณนิยม (หรือศาสนาผี), พุทธเถรวาท | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
บรู, ต่าโอย, เขมร, กุย กูย โกย กวย |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนไทยหลายคนเรียกว่า ส่วย นั้น ก็คือ ชนชาติพันธุ์ กูย (Kuy, Kui), กวย (Kuoy) ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรงรัตนโกสินทร์ ชนชาติพันธุ์นี้ถูกเรียกเหมารวมกับชนชาติพันธุ์อื่นๆว่า เขมรป่าดง[3] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณแนวเขาพนมดงรักจนถึงบริเวณลาวตอนกลางและลาวใต้
อนึ่งคำว่า "ส่วย" ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำเรียกของฝ่ายปกครองที่ใช้มาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นอีสานใต้ในอดีต(อย่างน้อยก็ 4 ชนเผ่าขึ้นไป ได้แก่ ชนเผ่าเขมร กวย ข่า ลาว กุลา ฯลฯ)ที่ต้องส่งสวยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการ (กรุงเทพฯ) ในสมัยโบราณ เรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้นี้เหมารวมรวมทั้งทุกชนเผ่าว่า "เขมรป่าดง" หรือเรียกอีกอย่างว่า "พวกส่วย"
ข้อเสนอแนะ เห็นควรใช้ว่า กวย หรือกูย ก็พอจะรับได้ ซึ่งตรงกับชื่อชนเผ่านี้มากกว่าคำว่า "ส่วย" และจากการสืบค้นในเอกสารอื่น ๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy (អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/)
บุคคลที่มีชื่อเสียง
-
สมบัติ บัญชาเมฆ
-
เสถียร สุภากุล
-
ทัชชกร ยีรัมย์
- สมบัติ บัญชาเมฆ (บัวขาว บัญชาเมฆ) นักมวย
- เสถียร สุภากุล (เสถียร ทำมือ) นักร้อง
- ทัชชกร ยีรัมย์ (จา พนม) ดารา นักแสดงฮอลลีวูด
ประวัติ
พ.ศ. 1974 (ปีกุน) ที่จากหลักฐานกฎหมายอยุธยาฉบับพ.ศ. 1974 ได้กล่าวถึงกษัตริย์ของเขมรที่นครธม ได้ทรงขอให้เจ้ากวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญอยู่ตอนใต้ของเมืองนครจำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยพระองค์ปราบขบถ สำเร็จแล้วประมุขของทั้งสองฝ่ายได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และออกกฎหมายให้คนสยามห้ามยกลูกสาวให้ชาวฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา กับปิตัน กุลา มลายู แขก กวย และแกว ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนา(ที่มา:เอกสารของโครงการแผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและพัฒนาเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล)
พ.ศ. 2000 พงศาวดารเมืองละแวก กล่าวถีง กษัตริย์เขมร พระเจ้าธรรมราช ซึ่งครองอยู่พระนครหลวงได้ส่งทูตไปขอกองทัพจากกษัตริย์กวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเมือง จำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยปราบกบฏ เมื่อกองทัพของพระเจ้าธรรมราชและเจ้ากวยแห่งตะบองขะมุมได้ปราบกบฏสำเร็จ ประมุขทั้งสองฝ่ายก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)
พ.ศ. 2103 หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า “ในปี 2103 สมเด็จพระไชยเชษฐิราชต้องทำการปราบปรามพวกข่า และชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่แถวฝั่งแม่น้ำโขงทางใต้นครเวียงจันทน์และใน ที่สุดพระองค์ได้หายสาบสูไปในคราวยกกองทัพไปปราบปรามพวกข่า ในแขวงอัตบือ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)
พ.ศ. 2114 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(จากอาณาจักรลานช้าง) ได้เสด็จออกปราบกบฏ ณ เมืองรามรักองการ แล้วสูญหายไปในศึกนั้น ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญ พระเจ้าหน่อแก้ว พระโอรสของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเพิ่งประสูติให้เสด็จขึ้นครองราชย์ (ที่มา:จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรลานช้าง ประเทศลาว)
พ.ศ. 2200 เป็นต้น มา จนถึงปลายอยุธยาตอนปลายปรากฏว่ามีชุมชนกวยเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือชนชาวกูยที่บ้านเมืองที บ้านโคกยาง(สังขะ) บ้านกุดหวาย (รัตนะบุรี) และบ้านโคกลำดวน(เมืองขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ
พงศาวดาร หัวเมืองมณฑลอีสาน
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า กูย, กวย, ส่วย ซึ่งยังมีอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างปราสาทหิน และจากอิฐดินเผาจำนวนมากมีกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอิสานใต้ ละโว้ (ลพบุรี) ไปจนถึงในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง
เขมร (ขะแมร์) เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในสมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นต้นมา ภายหลังได้ผสมกลมกลืนกับชาวขอม (กูย กวย ส่วย) ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเดิมและได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า พวกเขมรป่าดง (ข่า-เขมร) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพวกลาวนั้นอพยพเข้ามาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ราว พ.ศ. 2257-พ.ศ. 2261
การเดินทางค้าขายและการขยายถิ่นฐาน
ปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 เคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง ชื่อว่าอาณาจักร "ตะบองคะมุน" ถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเมือง กำปงธม ประเทศกัมพูชา
ราชอาณาจักรกูย,กวย มีพื้นที่กว้างขวาง ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักว่า ทิศตะวันตกจรดแดนอยุธยาที่ลำกะยุงพิมาย ทิศตะวันออกจดแดนญวนที่เทือกเขาบรรทัด ทิศใต้คงจะถึงเชียงแตงหรือสตึงเตรง ที่โปรดให้ท้าวสุดไปปกครอง ทิศเหนือถึงสาละวันที่โปรดฯให้ท้าวมั่นไปปกครอง ดินแดนที่อ้างถึงนี้สันนิษฐานว่าเป็นราชอาณาจักรกูย,กวยที่นางแพงปกครองอยู่ก่อน แล้วมอบเวนอำนาจให้กับเจ้าหน่อกษัตริย์ต่อมา ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักตอนเจ้าศรีสร้อยสมุทรพุทธรางกูรตั้งเจ้าเมือง
พุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา เคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบกบฏ ต่อมาเขมรได้ใช้ทางการทหารรบกับชาวกูยและผนวกรวมดินแดนเป็นส่วนหนึ่งกับเขมร (ต้องรอการศึกษาต่อไป) ด้วยความชอบความอิสระและชอบการผจญภัย ได้อพยพขึ้นเหนือ เข้าสู่เมืองแขวงอัตตะปือ แขวงจำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาว ตามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากอยู่แถบอิสานทางด้านแก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม ได้แยกย้ายตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนอยู่แถบนี้
พุทธศตวรรษที่ 21-22 อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อาศัยหนาแน่นในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ แต่มีชาวกูยอยู่ที่อีสานใต้นี้มาก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีชาวกูยบางกลุ่มอพยบมาอีกในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 โดยอพยบมาจากทางลาวใต้ เช่น แขวงอัตตะปือ แขวงจำปาศักดิ์ และสาละวัน
การแต่งกายของชาวกูย
การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวี ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ
ความเชื่อทางศาสนาของชาวกูยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผี (animism) และมีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบ้าง เช่น การบายศรีสู่ขวัญ การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน และอื่นๆ ภายในชุมชนชาวกูยจะมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ชาวกูยบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกว่า “ยะจัวะฮ” บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีธูปเทียนและกรวยที่เย็บจากใบตอง บางบ้านก็จะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านที่ไม่มีหิ้งหรือศาลก็อาจจะไปไหว้ผีบรรพบุรุษที่หิ้งหรือศาลของญาติพี่น้อง บ้านส่วนใหญ่จะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้านและจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นบรรพบุรุษจะกระทำอย่างน้อยปีละครั้ง ชาวบ้านจะเริ่มพิธีโดยเอาข้าวที่สุกแล้ว กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าว แล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ในณะที่กล่าวก็เอาเหล้าค่อย ๆ รินลงขันอีกใบ เหมือนการกรวดน้ำเสร็จแล้วก็หยิบของที่ใช้เซ่นอย่างละนิดไปวางบนหิ้ง ที่เหลือก็เอาไว้รับประทานและใช้เอง
การเซ่นผีบรรพบุรุษนี้อาจจัดขึ้นในวาระอื่นๆ เช่น เมื่อมีเด็กคลอดได้ ๒-๓ วัน ก็จะทำพิธีดับไฟ โดยเชิญหมอตำแยและญาติผู้ใหญ่มาร่วมพิธี จัดขนม กล้วย ข้าวต้มมัด มาเซ่นผีบรรพบุรุษบอกว่ามีลูกมีหลานมาเกิดใหม่ เด็กเมื่อคลอดแล้ว จะมี “ครูกำเนิด” ซึ่งเป็นครูประจำตัว จะต้องจัดเครื่องสักการบูชาครูไว้บนหัวนอนของตนเองเสมอ ครูจะช่วยคุ้มครองให้มีความสุข ความเจริญ หากมีการผิดครูจะเป็นอันตราย นอกจากนี้อาจจัดให้มีการเซ่นผีบรรพบุรุษเมื่อมีแขกมาเยือนและพักอยู่ที่บ้าน เจ้าของบ้านจะต้องจัดเหล้า ขนม มาเซ่นไหว้และบอกกล่าวขออนุญาตผีบรรพบุรุษให้แขกเข้าพัก มีการบอกกล่าวว่าแขกเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เมื่อแขกมาถึง ก็มีการผูกข้อมือด้วยด้ายที่ย้อมสีเหลืองด้วยขมิ้นพร้อมให้ศีลให้พร
นอกจากวิญญาณของบรรพบุรุษแล้ว ชาวกูยยังเคารพนับถือวิญญาณทั่วไป ได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น เมื่อจะประกอบการงานใดที่สำคัญเกี่ยวกับความสุขความเจริญจะต้องทำพิธีขจัดปัดเป่า ด้วยความกลัวว่าผีสางเทวดาจะให้โทษหรือมาขัดขวางการกระทำ เป็นที่น่าสังเกตว่าในพิธีกรรรมต่างๆเกือบทั้งหมดจะมีข้าวเป็นองค์ประกอบในการเซ่นสังเวยอยู่เสมอ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่มีบุญคุณและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการเพาะปลูกข้าวเกือบทุกขั้นตอนจะมีการจัดพิธีกรรม สวดสรรเสริญหรือแสดงความเคารพข้าว (นิคม วงเวียน ๒๕๓๓) ชาวกูยยังมีความเชื่อในเรื่องผีปอบ จะเห็นได้ในกรณีที่เด็กคลอดแล้ว ต้องเอารกไปฝังไว้ใต้ถุนบ้าน เอาหนามไปวางทับไม่เช่นนั้นผีปอบจะเอาไปกิน แม่เด็กและทารกก็จะตาย นอกจากนี้ชาวกูยยังเชื่อเรื่องขวัญ หรือภาษากูยเรียกว่า “ระเวี๋ยย” ซึ่งเป็นคำรวมเรียกทั้งขวัญและวิญญาณ เช่น เด็กทารก จะมีข้อห้ามไม่ให้อุ้มออกไปเดินผ่านเนินดินเผาผี (บลุฮ กระโมจ) ซึ่งเป็นเนินทุ่งนาใช้เผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง บางหมู่บ้านจะมี บลุฮ กระโมจ ๒ แห่ง สำหรับเผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง และอีกแห่งหนึ่งใช้เฉพาะเผาศพคนที่มีความสำคัญที่เป็นที่นับถือกันในหมู่บ้าน ถ้าอุ้มเด็ก ผ่านเนินดินนี้ต้องเรียกขวัญให้กลับมา เรียกว่า “มาเยอขวัญเอย” แล้วบอกชื่อเด็ก เดินไปพูดไป ถ้าไม่เรียกขวัญ ขวัญจะอยู่แถวนั้นไม่ตามเด็กไป เด็กก็จะไม่สบาย การทำพิธีสู่ขวัญมักจะพบในวาระที่สำคัญต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งามศพ เมื่อทารกแรกเกิด การรักษาคนเจ็บเป็นต้น
ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าที่ทำหน้าที่ดูว่าความเจ็บไข้ หรือปัญหาที่มีเกิดจากอะไร โดยให้นำข้าวสาร ๑ ถ้วย และสตางค์ ๑ บาท วางบนข้าวแล้วนำไปวางไว้หน้ามาเฒ่า แม่เฒ่าจะเอาข้าวสารนั้นโปรยไปรอบข้างตัวพร้อมพูดคาถาพึมพำ แล้วเอาข้าวสารเล็กน้อยใส่ในฝ่ามือซ้าย แล้วจับฝากระปุกปูนแกว่งค่อยๆ เหนือข้าวสารนั้น แล้วทำนายสาเหตุของปัญหา ถ้าใช่สาเหตุที่ทำนาย ฝากระปุกปูนจะแกว่งแรงขึ้น ชาวกูย เรียกการทำนายนี้ว่า “โปล” นอกจากนี้ก็มีผู้เก่งทางไสยศาสตร์เรียกว่า “ถัม” บางห่งก็เรียกว่า “อาจารย์” ซึ่งเป็นผู้ชายที่มีคาถาอาคมสามารถดูให้ได้ว่าชาวบ้านไปถูกของอะไรมา และจะแก้ไขได้อย่างไร
การเจ็บไข้อาจทำให้บรรเทาได้โดยการจัดพิธีกรรมรักษาคนป่วย เพราะเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของภูติผี จึงมีการทำพิธีอ้อนวอนให้ภูตผีพอใจ โดยจัดให้มีการรำผีมอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆรำผีฟ้าของกลุ่มที่พูดภาษาลาว การรำผีมอมีการสืบทอดรับช่วงกันมา ผู้ที่จะเป็นผีมอจะต้องผ่านพิธีไหว้ครูครอบครูเพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าประพฤติหรือเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติกันสืบต่อกันมาเพราะกลัว “ผิดครู”
ที่อยู่อาศัย บ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูงด้านหน้าจะสูงเอาไว้เลี้ยงช้างใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้าวาง กระด้ง ไหม และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ชาวกูย บางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้าน สร้างแยกต่างหาก(โสฬสและคณะ ๒๕๓๘, น.๒๑)
วัฒนธรรม
ชนชาติพันธุ์นี้มักเรียกตัวเองว่า กูย หรือ กวย แปลว่า "คน" ใช้ภาษา "กูย" หรือ "กวย" เป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสาร ชาวกูย หรือ กวย นับถือศาสนาพุทธผสมและเชื่อเรืองภูตผีปีศาจ เจ้าที่ ในชุมชุนจะมีศาลผี,เจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านเรียกว่า"ผละโจ๊ะ" จะมีการบวงสรวงเจ้าที่เรียกว่า "แซนผละโจ๊ะ" (เซ่นผีหรือเจ้าที่)
ชาวกูย นิยมเลี้ยงช้างซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างป่าด้วยการคล้องช้าง ด้วยเชือกปะกำ ซึ่งทำจากหนังควาย ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ เมื่อได้ช้างมาก็จะฝึกเอาไว้ใช้งาน พงศาวดารเมืองละแวกก็มีบันทึกไว้ว่าในพุทธศตวรรษที่ 20 กษัตริย์เขมร ได้ขอร้องให้แจ้งกุยแห่ง ตะบองขะมุม (ชุมชนกุยทางด้านใต้ของนครจำปาศักดิ์) ส่งกำลังไปช่วยปราบกบฏที่เมืองพระนคร ชาวกุยได้ร่วมขับไล่ ศัตรูจนบ้านเมืองเขมรเข้าสู่ภาวะปกติสุข หลักฐานนี้แสดงว่า ขณะที่ชนชาติไทยหรือสยามกำลังทำสงครามขับเคี่ยวกับขอมเพื่อสถาปนานครรัฐสุโขทัยขึ้นมานั้นชาวกุยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และแถบอีสานใต้อย่างเป็นปึกแผ่นแล้ว[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
- ↑ 2006 Mahidol University Study, cited in Ethnologue
- ↑ 2005 Lao Census, cited in Ethnologue
- ↑ จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม. 2556, หน้า 259
- "The Kuy People of Laos". Southeast Asian Peoples Research Center. Retrieved October 8, 2013.
- http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/index.php
- พงศาวดาร หัวเมืองมณฑลอีสาน หม่อมอมรวงศ์วิจิตร
- ศิลาจารึก K. ๓๘๒”https://www.facebook.com/TrailNorthmen/posts/425715447849021?comment_id=780144005739495&reply_comment_id=780159975737898¬if_id=1572262569766565¬if_t=feed_comment_reply