ไซโตไคน์
ไซโตไคน์ (อังกฤษ: cytokine) เป็นกลุ่มโปรตีนขนาดเล็ก (หนัก ~5-20 กิโลดัลตัน) ซึ่งสำคัญในการส่งสัญญาณของเซลล์ เป็นเพปไทด์ที่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ที่เป็นชั้นคู่ลิพิด (lipid bilayer) เข้าไปในไซโทพลาซึมของเซลล์ได้ ไซโตไคน์ได้ปรากฏแล้วว่ามีส่วนในการส่งสัญญาณของเซลล์แบบ autocrine, แบบ paracrine และของระบบต่อมไร้ท่อโดยทำหน้าที่เป็นสารควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน (immunomodulating agents) ความต่างที่แน่นอนกับฮอร์โมนยังเป็นเรื่องยังไม่ยุติทางวิชาการ
ไซโตไคน์มีหลายชนิดรวมทั้ง chemokine, อินเตอร์เฟียรอน, อินเตอร์ลิวคิน, lymphokine และ tumour necrosis factor แต่ทั่วไปจะไม่ใช่ฮอร์โมนหรือ growth factor (แม้นักวิชาการอาจใช้คำทั้งสองเหมือนไวพจน์บ้าง) เซลล์หลายชนิดมากผลิตไซไตไคน์ รวมทั้งเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ เช่น แมคโครฟาจ เซลล์บี เซลล์ที และแมสต์เซลล์, เอนโดทีเลียม, เซลล์สร้างเส้นใย และ stromal cell ไซโตไคน์ชนิดหนึ่งอาจจะผลิตโดยเซลล์หลายอย่าง[1][2]
ไซโตไคน์ออกฤทธิ์ผ่านหน่วยรับที่ผิวเซลล์ (cell surface receptor) เป็นโปรตีนที่สำคัญมากในระบบภูมิคุ้มกัน ไซไตไคน์ควบคุมความสมดุลระหว่างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบที่เกิดในน้ำเหลือง (humoral immunity) กับที่อำนวยโดยเซลล์ (cell-mediated immunity) และยังควบคุมการเจริญเติบโตและความไวในการตอบสนองของเซลล์หลายกลุ่ม ไซไตไคน์บางอย่างช่วยเพิ่มหรือลดฤทธิ์ของไซไตโคน์อื่น ๆ โดยกระบวนการที่ซับซ้อน เป็นสิ่งที่ต่างกับฮอร์โมน ซึ่งก็เป็นโมเลกุลสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการส่งสัญญาณของเซลล์ ฮอร์โมนจะเวียนไปในร่างกายโดยมีความเข้มข้นสูงกว่า และมักมีเซลล์โดยเฉพาะ ๆ เป็นผู้ผลิต ไซไตไคน์สำคัญในเรื่องสุขภาพและโรค โดยเฉพาะในเรื่องการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ เรื่องการอักเสบ การบาดเจ็บ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ มะเร็ง และการสืบพันธุ์
คำอักษรโรมันมาจากจากภาษากรีกโบราณ คือ คำว่า cyto มาจาก κύτος (kytos) โดยแปลว่า ช่องหรือเซลล์ และคำว่า kines มาจาก κίνησις (kinēsis) โดยแปลว่า การเคลื่อนไหว
เชิงอรรถและอ้างอิง
- ↑ Lackie, John (2010). "Cytokines". A Dictionary of Biomedicine. Oxford University Press.
- ↑ "Cytokine". Stedman's Medical Dictionary (28th ed.). Wolters Kluwer Health, Lippincott Williams & Wilkins. 2006. ISBN 978-0-7817-6450-6.