ข้ามไปเนื้อหา

ตลาดสามชุก

พิกัด: 14°45′21″N 100°05′42″E / 14.755833°N 100.095009°E / 14.755833; 100.095009
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตลาดสามชุก
ตลาดสามชุก ตลาดร้อยปี
ประเภทตลาดและชุมชน
ที่ตั้งตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ก่อตั้งช่วงปลายรัชกาลที่ 4
ร้านกาแฟโบราณห้องแถวไม้

ตลาดสามชุก เป็นตลาดเก่าแก่และชุมชนเก่าแก่ได้รับการประกาศให้เป็นตลาด 100 ปี ในเชิงอนุรักษ์ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดสามชุกเป็นชุมชนของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและอยู่อาศัยกันในร้านค้าห้องแถวไม้ ซึ่งปัจจุบันมีความเก่าแก่อายุร่วมร้อยปี ในอดีตมีโรงสีและเป็นแหล่งค้าข้าวที่สำคัญ ซึ่งมีการเก็บภาษีได้มาก และนายอากรคนแรกคือ ขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าของตลาดคนแรก บ้านของขุนจำนงฯ ปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชุมชน

ตลาดสามชุก ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด นับได้ว่าอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ด้วยระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร ทางถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี จึงสามารถเดินทางได้สะดวกโดยรถยนต์ ภายในตลาดมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ ห้องแถวไม้ที่โดดเด่นได้เแก่ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์, โรงแรมอุดมโชค และร้านศิลปธรรมชาติ ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเก่าแก่อายุนับ 100 ปี ปัจจุบันยังคงเก็บรักษากล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูปเก่าแก่ร่วมสมัยไว้อยู่ ในส่วนของอาหาร ได้แก่ ขนมไทยที่หารับประทานได้ยากหลายชนิด เช่น ขนมไข่ปลา รวมถึงขนมสาลี่ ของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2552 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ตลาดสามชุกได้รับรางวัลอนุรักษ์ระดับดี ในโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ประวัติ

[แก้]

ตลาดสามชุก เป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตเคยเป็นชุมชนและค่อยๆได้พัฒนาเป็นเป็นย่านการค้าสำคัญ ตลาดสามชุกก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2510 การคมนาคมทางบกได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การค้าขายผ่านทางแม่น้ำลดลง ตลาดสามชุกจึงเริ่มเงียบลง การเดินทางทางน้ำไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิม การค้าขายที่ตลาดสามชุกก็ไม่คึกคักเหมือนเดิม

ในปี พ.ศ. 2543 คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อฟื้นฟูตลาดสามชุกให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมีการพัฒนาต่อเนื่องจนตลาดสามชุกได้กลับมาคึกคักเหมือนเช่นในอดีต นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์สิ่งมากมายที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนในตลาดสามชุก ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างขึ้นจากความพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นในตลาดสามชุก

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°45′21″N 100°05′42″E / 14.755833°N 100.095009°E / 14.755833; 100.095009