นางพญาเสือโคร่ง
นางพญาเสือโคร่ง | |
---|---|
นก Indian white-eye บนกิ่งนางพญาเสือโคร่ง | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | กุหลาบ Rosales |
วงศ์: | กุหลาบ Rosaceae |
สกุล: | สกุลพรุน Prunus |
สกุลย่อย: | Prunus subg. Cerasus Prunus subg. Cerasus D.Don[1] |
สปีชีส์: | Prunus cerasoides |
ชื่อทวินาม | |
Prunus cerasoides D.Don[1] | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
นางพญาเสือโคร่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Prunus cerasoides)[3] เป็นพืชดอกในสกุล Prunus ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พบทั่วไปบนภูเขาตั้งแต่ความสูง 1,200-2,400เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น ภูลมโล จังหวัดเลย, ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย, ดอยเวียงแหง ดอยอ่างขาง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่, ขุนสถาน ดอยวาว ดอยภูคา ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน, ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์, ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ โดยเป็นดอกไม้ประจำอำเภอเวียงแหง นางพญาเสือโคร่ง เป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศไทย
ในต่างประเทศ พบในประเทศพม่า รัฐชานและรัฐกะชีน, ประเทศอินเดียพบบนเทือกเขาหิมาลัย ในรัฐอรุณาจัลประเทศยาวไปจนถึงรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย หรือที่เรียกว่าHimalayas, ประเทศภูฏาน, ประเทศเนปาล และประเทศจีนพบในมณฑลยูนนาน
นางพญาเสือโคร่งถูกนิยมเรียกว่า "ซากูระเมืองไทย" เพราะมีลักษณะคล้ายซากูระในประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นคนละชนิดกันก็ตาม
ชื่อท้องถิ่น
[แก้]ชื่อท้องถิ่นของนางพญาเสือโคร่ง เช่น ฉวีวรรณ, ชมพูภูพิงค์ (เหนือ) เส่คาแว่, เส่แผ่, แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ซากูระดอย (เชียงใหม่) และได้รับฉายาว่า "ซากูระเมืองไทย" ในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกดอกไม้พันธุ์นี้ว่า ヒマラヤザクラ (หิมาลายาซากูระ) หมายถึงซากูระจากหิมาลัย หรือนิยมเรียกกันโดยทั่วไปในชื่อ เชอร์รี่หิมาลัยป่า (wild Himalayan cherry) หรือ เชอร์รี่เปรี้ยว (sour cherry)[4]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5 -12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย ดอก สีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผล รูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกสีแดง ระยะเวลาออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก
ผลของนางพญาเสือโคร่งสามารถนำมารับประทานได้ มีรสเปรี้ยว ส่วนเนื้อไม้และการใช้ประโยชน์ ด้านอื่นยังไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ นอกจากการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวยงาม
การปลูกเลี้ยง ได้มีการปลูกนางพญาเสือโคร่งบนพื้นที่ต้นน้ำลำธารมาเป็นเวลา 10 ปี แล้วปรากฏว่าได้ผลดี เป็นไม้ที่มีความเหมาะสมในการที่จะขึ้นอยู่ในพื้นที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอย บนพื้นที่สูงแต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย ขยายพันธุ์โดยเมล็ด[5]
นางพญาเสือโคร่งและซากูระ
[แก้]คำว่า ซากูระกล่าวถึงพืชที่อยู่ในสกุล Prunus โดยนางพญาเสือโคร่งเป็นหนึ่งในสกุลนั้น โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides[3] ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นมีซากูระอยู่หลากหลายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่พบมากสุดคือ โซะเมโยะชิโนะ (ญี่ปุ่น: 染井吉野; โรมาจิ: somei-yoshino) ในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus × yedoensis
นางพญาเสือโคร่งแตกต่างจากซะกุระญี่ปุ่นคือมีช่วงเวลาการออกดอกต่างกันคือ นางพญาเสือโคร่งออกดอกในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ส่วนซากูระในญี่ปุ่นออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น และมีการสันนิษฐานว่า นางพญาเสือโคร่งและซากูระมีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และวิวัฒนาการออกไปจนมีสายพันธุ์มากมาย มีสีที่หลากหลาย
การจำแนกสายพันธุ์อย่างกว้าง นางพญาเสือโคร่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Wild Himalayan Cherry หมายถึงPrunusที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ส่วนซากูระถูกจำแนกเป็น Cherry blossom หมายถึง Prunusที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนเหนือ ตั้งแต่ประเทศจีน, เกาหลี ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่นและรัสเซียในเขตไซบีเรีย
รูปภาพ
[แก้]-
นางพญาเสือโคร่ง ดอกสีชมพู (ขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่)
-
นางพญาเสือโคร่ง ดอกสีขาว (ขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Plant Name Details for Prunus cerasoides D.Don". IPNI. สืบค้นเมื่อ September 16, 2009.
- ↑ See Taxonbar
- ↑ 3.0 3.1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นางพญาเสือโคร่ง เก็บถาวร 2009-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นวันที่ 21 ก.ย. 2552
- ↑ "Prunus cerasoides". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ January 24, 2014.
- ↑ "พญาเสือโคร่ง" ซากูระเมืองไทยเบ่งบานที่ขุนช่างเคี่ยน