บารอกแบบยูเครน
บารอกแบบยูเครน (ยูเครน: Украї́нське баро́ко), บารอกแบบคอสแซ็ก (Коза́цьке баро́ко) หรือ บารอกแบบมาแซปา (Баро́ко мазе́пинське) เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏทั่วไปในดินแดนยูเครนในศตวรรษที่ 17–18 มีลักษณะซึ่งผสมผสานธรรมเนียมสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นกับสถาปัตยกรรมบารอกจากยุโรปตะวันตก
ประวัติศาสตร์
[แก้]เนื่องด้วยอิทธิพลจากยุโรปตะวันตกในระหว่างศตวรรษที่ 16 ตอนปลาย พื้นที่ที่เป็นดินแดนของยูเครนในปัจจุบันได้รับอิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบบารอกในรูปแบบการใช้งานนอกศาสนา ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐซาร์แห่งมัสโกวี[1] แซร์ฮีย์ ปลอคีย์ นักประวัติศาสตร์ชาวยูเครน ระบุว่า เปตรู มอวีเลอ สังฆราชมหานครแห่งเคียฟระหว่างปี 1633 ถึง 1647 มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาบารอกแบบยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ยูเครน และปรับเปลี่ยนคริสตจักรให้สอดรับกับขบวนการการปฏิรูปและการปฏิรูปคู่เคียง[2]
ลักษณะ
[แก้]บารอกแบบยูเครนมีความพิเศษจากบารอกแบบยุโรปตะวันตกด้วยลักษณะการประดับประดาที่มีไม่มากเท่าและรูปแบบที่เรียบง่ายกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะตามคตินิยมโครงสร้างมากกว่า สิ่งปลูกสร้างบารอกแบบยูเครนจำนวนมากได้รับการอนุรักษ์ เช่น แปแชร์สกาลาวราและอารามวือดูบือชีในเคียฟ แอนดรูว์ วิลสัน นักประวัติศาสตร์ชาวบริติช ระบุว่าโบสถ์นักบุญทั้งหลาย (Це́рква Всіх Святи́х), อาสนวิหารพระแม่รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (Успе́нський собо́р) และประตูพระตรีเอกภาพ (Тро́їцька бра́ма) ภายในแปแชร์สกาลาวราในเคียฟเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมนี้ เช่นเดียวกับอารามโดมทองในเคียฟ และโบสถ์นักบุญแคเธอรินในแชร์นีฮิว[3]
ส่วนตัวอย่างสำคัญของจิตรกรรมบารอกในยูเครนสามารถพบได้ที่โบสถ์พระตรีเอกานุภาพในแปแชร์สกาลาวรา นอกจากนี้นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อยมายังมีการเติบโตของวรรณกรรมบารอกในยูเครนซึ่งต่อมามีส่วนในการสร้างพื้นฐานต่อวรรณกรรมโลกวิสัยในรัสเซีย[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Wilson, Andrew (2015). The Ukrainians: Unexpected Nation (ภาษาEnglish) (4th ed.). New Haven and London: Yale University Press. p. 119. ISBN 978-0-300-21725-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์) - ↑ Plokhy, Serhii (2015). The Gates of Europe. New York: Basic Books. p. 115. ISBN 978-0-465-07394-8.
- ↑ Wilson, Andrew (2015). The Ukrainians: Unexpected Nation (ภาษาEnglish) (4th ed.). New Haven and London: Yale University Press. p. 142. ISBN 978-0-300-21725-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์) - ↑ Plokhy, Serhii (2015). The Gates of Europe. New York: Basic Books. p. 125. ISBN 978-0-465-07394-8.