พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (เจ้าคันธิยะ โลหะ)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (เจ้าหนานคันธิยะ โลหะ) | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2375 |
ถึงแก่กรรม | 30 ตุลาคม พ.ศ. 2445 |
บุตร | 6 คน |
บิดามารดา |
|
พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ[1] นามเดิม เจ้าหนานคันธิยะ โลหะ เป็นเจ้าเมืองลอง คนที่ 18 ในสกุลวงศ์ เจ้าช้างปาน ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และรัชสมัยเจ้านรนันทไชยชวลิต แห่งนครลำปาง และเป็นต้นสกุล โลหะ
ประวัติ
[แก้]พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ มีนามเดิมว่า “เจ้าหนานคันธิยะ” หรือ “เจ้าหนานขัติยะ” เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2375 เป็นบุตรชายคนโตของพญาไชยชนะชุมพู (เจ้าไชยชนะ) เจ้าเมืองลอง คนที่ 17 มีพี่น้องเท่าที่ปรากฏ 3 คน คือ
- แสนไชยชนะชุมพู (เจ้าหนานไชยชุมพู)
- เจ้าแก้วกัญญา สมรสกับแสนราชสมภาร
- เจ้าน้อยการินตา (ปู่ทวดพระครูวิจิตรนวการโกศล (ครูบาสมจิต จิตฺตคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง)
พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ได้อุปสมบทศึกษาศาสตร์แขนงต่างๆ กับครูบาอินทปัญญาวิชาเพียร ครูบาศรีทิ และครูบาญาณรังษี ที่วัดหลวงฮ่องอ้อ (วัดพระธาตุศรีดอนคำ) และเมื่อลาสิกขานอกจากได้ช่วยบิดาในการปกครองบ้านเมือง ยังได้ทำการค้าขายไม้ขอนสักส่งไปขายทั้งที่เมืองสวรรคโลก และบางครั้งก็ส่งไปถึงกรุงเทพฯ ได้รับแต่งตั้งเป็น“แสนหลวงขัติยะ”เมื่อปี พ.ศ. 2433 จากพญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลอง ผู้เป็นบิดา จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2435 เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 11 ทรงโปรดรับรองแต่งตั้งขึ้นเป็น “พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ” เจ้าเมืองลอง ที่ชาวเมืองนิยมเรียกพ้องกับนามเดิมว่า “เจ้าพญาคันธสีมาโลหะกิจ” หรือเรียกสามัญนามว่า “พ่อเฒ่าเจ้า” ได้รับประทานเครื่องเทียมยศ(เครื่องสูง)จากเจ้าผู้ครองนครลำปาง
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]ในพ.ศ. 2442 สยามใช้การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ได้ยึดรวม“ล้านนาประเทศ” ที่เคยเป็นประเทศราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งไม่ให้มีอำนาจอิสระปกครองตนเองอีกต่อไป หัวเมืองทั้งหลายในล้านนาจึงได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน รวมถึงเมืองลองกับเมืองต้าที่ถูกยุบรวมกันเป็นแขวงเมืองลอง จังหวัดลำปาง(โอนย้ายขึ้นกับจังหวัดแพร่ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และพ.ศ. 2501 แยกบางตำบลจัดตั้งเป็นอำเภอวังชิ้น) สยามได้ถอดตำแหน่งหน้าที่พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พ่อเมืองลองทั้ง 4 ขุนเมืองทั้ง 8 และขุนนางในเมืองลองไม่ให้มีหน้าที่ปกครองตนเองได้อีกต่อไปพร้อมกับจัดส่งข้าราชการชาวสยาม “หลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม)” ขึ้นมาเป็นนายแขวง ปกครองแทนมีการสร้างระบบราชการเพื่อดึงอำนาจของเจ้านายขุนนางในเมืองนครประเทศราชทั้ง 5 คือ เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองนครน่าน และเมืองนครแพร่ ตลอดถึงเจ้านายขุนนางในหัวเมืองขึ้นของเมืองนครประเทศราช เช่น เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน เมืองฝาง เมืองพาน เมืองสอง ฯลฯ รวมถึง “เจ้า” ในสกุลวงศ์เจ้าช้างปานของเมืองลองเข้าไว้ที่ส่วนกลาง และกลืนไพร่บ้านพลเมืองทั้งหมดให้กลายเป็นพสกนิกรของ “กษัตริย์สยาม” เมื่อเจ้าเมืองลองและขุนนางสูญเสียอำนาจราชศักดิ์และผลประโยชน์ที่เคยได้รับสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษได้ล่มสลายลง จึงได้เข้าร่วมมือกันกับเจ้าผู้ครองนคร(กษัตริย์นครประเทศราช) เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในประเทศราชล้านนาต่อต้านที่ทางฝ่ายล้านนาเรียกว่า “ฟื้นสยาม” หรือทางฝ่ายสยามเรียกว่า“กบฏเงี้ยว” ในปีพ.ศ. 2445 โดยมีบ้านบ่อแก้ว เมืองลองเป็นจุดเริ่มต้นและแหล่งเตรียมการ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “ล้านนาประเทศ” กับ “สยามประเทศ” อย่างรุนแรงภายหลังเมื่อเจ้านาย ขุนนาง และชาวเมืองในล้านนาทำการไม่สำเร็จจึงถูกสยามปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเจ้านายและขุนนางเมืองนครแพร่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่าหัวเมืองอื่นๆ ในล้านนา ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวงของชาวเมืองลอง เนื่องจากช่วงเช้ามืดวันพฤหัสบดี ที่ 30 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2445(เดือนเกี๋ยงดับ) พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ถูกกลุ่มคนร้ายจำนวน 12 คนลอบเข้าสังหาร พร้อมกับขุนนางเค้าสนามเมืองลองจำนวน 3 คน และชาวบ้านเมืองลองที่มาเสียภาษีค่าตอไม้อีก 1 คน ที่โฮงหลวงเจ้าเมืองลอง บ้านแม่ลานเหนือ หลังจากพญาขัณฑสีมาโลหะกิจพิราลัยได้ฝ๎งศพไว้หน้าทางเข้าป่าช้าบ้านแม่ลานเหนือเป็นเวลา ๓ ปี และส่งสการในปีพ.ศ. 2448 จัดพิธีปลงศพ 3 วัน 3 คืน โดยการอุปถัมภ์ของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ซึ่งเหตุการณ์ลักลอบสังหารพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองพร้อมกับกลุ่มขุนนางเมืองลองในครั้งนี้ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกปิดลึกลับ เนื่องจากไม่มีฝ่ายไหนยกขึ้นมาไต่สวน ทั้งฝ่ายล้านนา และฝ่ายสยาม แต่ในขณะที่บ้านหนานอ่อน ราษฎรเมืองลองถูกเงี้ยวที่ทางสยามติดตามจับเข้ามาปล้นกลับมีรายงานถึงกรุงเทพฯ ส่วนบุตรภรรยาและเครือญาติของเจ้าเมืองลองตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็ปิดตัวเงียบด้วยเช่นกัน [2]
การทำงาน
[แก้]- ในด้านการปกครอง พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เป็นผู้นำประกอบประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ของเมืองลองเช่น เป็นประธานล่องเรือตามแม่น้ำยมไปนมัสการพระธาตุแหลมลี่ หรือร่วมเป็นผู้นำเลี้ยงผีเมืองลอง(บ่อเหล็กลอง) ซึ่งท่านได้ปกครองเมืองลองตามรูปแบบ“เจ้าชีวิต” ดั่งที่สืบจารีตตั้งแต่บรรพบุรุษเสมอมา
- ในด้านศาสนา พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เป็นผู้อุปถัมภ์บวรพุทธศาสนาอยู่สม่ำเสมอ ดังเช่น สร้างวัดคันธารส(วัดแม่ลานเหนือ)สร้างกลองแอวถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือบูรณะปิดทองพระธาตุศรีดอนคำ
สถานที่อันเนื่องนาม
[แก้]- วัดคันธารส หรือชื่อในปัจจุบันคือ วัดแม่ลานเหนือ
บุตร-ธิดา
[แก้]พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ได้สมรสกับแม่เจ้าบุญมา(ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2469) สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนแบ่งเข้ามาไว้ในเมืองลอง พร้อมกับรับสัมปทานป่าไม้ที่ห้วยแม่ลาน มีบุตรธิดา 6 คน คือ
- แม่จันทร์ฟอง โลหะ (สมรสแต่ไม่มีทายาท)
- แม่บัวเขียว สมรสกับพ่ออ๋อ ฟูเปี้ย มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ
- แม่เฮือน พลเสริม
- พ่อหนานเป็ง ฟูเปี้ย
- แม่แก้ว รินจ่อ
- แม่สุข ฟูเปี้ย
- พ่อหนานปัญญาเถิง โลหะ สมรสกับแม่บัวคำ มีบุตร-ธิดา 6 คน คือ
- พ่อน้อยใจ๋ โลหะ
- พ่อหนานทอง โลหะ
- แม่บัวผัน ไชยแก้ว
- พ่อไหว โลหะ
- แม่ฟองแก้ว ไชยแก้ว
- พ่อหวัน โลหะ
- แม่บุญเมือง สมรสกับพ่อหนานพรหมจักร ไชยขันแก้ว มีบุตร-ธิดา 6 คน
- แม่ปิ๋ว ภักดี
- พ่อน้อยคำน้อย ไชยขันแก้ว
- พ่อก๋องแก้ว ไชยขันแก้ว
- แม่คำป้อ ไชยขันแก้ว
- แม่บัวผัด ป๎ญญารักษ์ดำรง
- พ่อน้อยมา ไชยขันแก้ว
- แม่บัวทิพย์(บัวติ๊บ) สมรสกับพ่อหนานอินทร์ หมื่นอาษา มีบุตร-ธิดา 5 คน
- พ่อน้อยทอง หมื่นอาษา
- พ่อน้อยมูล หมื่นอาษา
- แม่ตอง ชุ่มเชื้อ
- พ่อศรี หมื่นอาษา
- แม่แก้วไหลมา นาระกันทา
- แม่บัวคำ สมรสกับพ่อหนานยศ(ยอด) ไชยขันแก้ว มีบุตร-ธิดา 5 คน
- แม่ฟอง ไชยพรม
- พ่อหนานอินจันทร์ ไชยขันแก้ว
- พ่อน้อยอินสม ไชยขันแก้ว
- พระอธิการจันทร์คำ ญาณคุตฺโต
- แม่บัวจิ๋น ปิ่นไชยเขียว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2433 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)