พระราชพิธีลบศักราช
พระราชพิธีลบศักราช พระราชพิธีตัดศักราช หรือ พระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งหมายถึงพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์แสดงพระองค์ว่าเป็นใหญ่เหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย[1] โดยทรงผนวกพระราชพิธีนี้เข้ากับการลบศักราช ซึ่งเป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนปีศักราชที่ใช้อยู่แต่เดิมแล้วกำหนดให้ใช้ศักราชที่ตั้งขึ้นใหม่[2] เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอันเป็นช่วงเวลาล่วงเข้าถึงจุลศักราช 1000 ตามคำทำนายในอดีตถือว่าจะเกิดกลียุคขึ้น คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ อ้างพุทธพยากรณ์ตามคัมภีร์ตรีบัญจก ว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจะเป็นผู้ประกอบพระราชพิธีลบศักราช เปลี่ยนปีขาลสัมฤทธิศกเป็นปีกุนเอกศก[3] และวันเถลิงศกหรือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันจันทร์ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5
พระราชพิธี
[แก้]จุดประสงค์เพื่อเสริมฐานะจักรพรรดิราช ช่วยบรรเทาความกระวนกระวายด้านจิตใจของประชาชน ผลที่ตามมาคือความจงรักภักดีของประชาชนต่อราชบัลลังก์[4]
ความในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า มีพระบรมราชโองการให้ตั้งมณฑลพระราชพิธีบริเวณสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ แต่ใน คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ว่าให้ตั้งพระราชพิธีที่สนามหน้าพระที่นั่งศรียโศธรมหาพิมานบรรยงก์ และมีการเปลี่ยนนามพระที่นั่งเป็นจักรวรรดิไพชยนต์ ตามที่ทรงอ้างถึงพระสุบินและประกอบการพระราชพิธีอินทราภิเษกพร้อมกับพระราชพิธีลบศักราชพร้อมกันในคราวเดียว เมื่อเปลี่ยนนามพระที่นั่งแล้วจึงประกอบพระราชพิธีลบศักราช
มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธี ทำเป็นเขาพระสุเมรุ ประดิษฐานรูปพระอินทร์เป็นประธาน มีเขาสัตบริภัณฑ์ล้อมรอบ พร้อมด้วยรูปทวยเทพ อสูร ทานพ นักสิทธิ์วิทยาธร ครุฑ นาค ฯลฯ โดยมีพราหมณ์ที่แต่งกายเป็นพระอิศวร พระพิษณุ พระพายุ พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพสพ พระจันทร์ พระอาทิตย์ รูปเทพเจ้าทั้งสิบสองราศี แวดล้อมพระอินทร์ พร้อมกับมีแผ่นทองเขียนศักราชเก่าบรรทัดหนึ่ง ศักราชใหม่บรรทัดหนึ่ง วางใส่พานไว้เบื้องหน้าพระอินทร์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ
เมื่อถึงมงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เสด็จพระราชดำเนินโดยพระมหาราเชนทรยาน มาประทับเกย ณ เชิงเขาสัตตบริภัณฑ์ แล้วทรงพระดำเนินขึ้นไปยังยอดเขาพระสุเมรุ ทรงสักการะพระรัตนตรัย จากนั้นยกพระกรเบื้องขวาลบศักราชเดิมนั้นเสียเสร็จ เหล่าพราหมณ์ก็อวยชัยถวายพรโดยสารโสลกวิธี พรหมทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์แตรดุริยดนตรี พิณพาทฆาตฆ้องชัย เภรีมี่สนั่นศัพท์ก้องโกลาหลทั้งพระนคร จากนั้นเสด็จกลับยังพระราชมนเทียรสถาน[5]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก". คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-17. สืบค้นเมื่อ 2023-03-17.
- ↑ "พระราชพิธีลบศักราช". วัชรญาณ.
- ↑ "ศ.ประเสริฐ ณ นคร แจง กรุงศรีลบศักราชแก้เคล็ด". ไทยรัฐ.
- ↑ รสิตา สินเอกเอี่ยม. "การศึกษาวัฒนธรรมการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 270.
- ↑ "อินทราภิเษก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 93". สารคดี.