ภาษาฮิตไทต์
ภาษาฮิตไทต์ | |
---|---|
Nesili | |
ภูมิภาค | อานาโตเลีย |
สูญแล้ว | ประมาณ 557 ปีก่อนพุทธศักราช |
ตระกูลภาษา | อินโด-ยูโรเปียน
|
รหัสภาษา | |
ISO 639-2 | hit |
ISO 639-3 | hit |
ภาษาฮิตไทต์ (อังกฤษ: Hittite language) จัดเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียนหรืออินเดีย-ยุโรป ในอานาโตเลีย อยู่ในกลุ่มย่อยภาษาอินโด-ฮิตไทต์ จัดเป็นภาษาที่ตายแล้ว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาลูเวีย ภาษาลิเดีย ภาษาไลเซีย และภาษาปาลา เคยใช้พูดโดยชาวฮิตไทต์ กลุ่มชนที่สร้างจักรวรรดิฮิตไทต์มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฮัตตูซาสในอานาโตเลียภาคกลางตอนเหนือ (ตุรกีปัจจุบัน) ภาษานี้ใช้พูดในช่วง 1,057 – 557 ปีก่อนพุทธศักราช มีหลักฐานแสดงว่าภาษาฮิตไทต์และภาษาที่เกี่ยวข้องได้ใช้พูดต่อมาอีก 200 -300 ปีหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิฮิตไทต์ ภาษาฮิตไทต์จัดเป็นภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียนรุ่นแรกๆ นักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่จัดให้เป็นภาษาที่สืบทอดมาจากภาษาอินโด-ยุโรเปียนดั้งเดิมและเป็นพี่น้องกับภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียนในสมัยโบราณ
ประวัติ
[แก้]หลักฐานภาษาฮิตไทต์ที่รู้จักในเบื้องต้น มาจากจารึกอักษรรูปลิ่มประมาณ 25,000 แผ่น หรือเศษจารึก ที่ยังคงเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุเมืองโบอาซเกย (Boğazköy) ในประเทศตุรกี เรียกว่า จารึกฮิตไทต์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงจักรวรรดิฮิตไทต์ (ประมาณ 957-647 ปีก่อนพุทธศักราช) และเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และเรื่องอื่นๆ ส่วนจารึกภาษาฮิตไทต์โบราณ (ประมาณ 1650-1595 ปีก่อนคริสตกาล) นั้น ยังมีการเก็บเป็นสำเนาไว้จากสมัยจักรวรรดิ และถือเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในตระกูลภาษาอินเดียยุโรปที่เคยพบมา
นักภาษาตะวันออกศึกษา ชื่อเบดริช โฮรซนี (Bedrich Hrozny)ได้สรุปไว้เมื่อปี พ.ศ. 2458 ว่า ฮิตไทต์เป็นภาษาในกลุ่มตระกูลอินเดียยุโรป เพราะมีการลงวิภัตติปัจจัย ของทั้งคำนามและกริยา ที่คล้ายกันกับภาษาในตระกูลเดียวกันนี้ในสมัยต้น ๆ ภาษาฮิตไทต์นี้ให้ข้อมูลที่สำคัญมากเกี่ยวกับระบบเสียงของภาษาในตระกูลนี้
ไวยากรณ์
[แก้]ภาษาฮิตไทต์ไม่มีลักษณะทางไวยากรณ์หลายอย่างที่พบในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียนสมัยโบราณอื่น ๆ เช่น ภาษาลิทัวเนีย ภาษาสันสกฤต และภาษากรีก คำนามมี 8 การกคือ ประธาน การเรียกขาน กรรมตรง ความเป็นเจ้าของ กรรมรอง-สถานที่ เครื่องมือ คำนามและ alative จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่พบว่ามีการใช้การกกับนามพหูพจน์น้อยกว่านามเอกพจน์ และในระยะท้าย ๆ พบว่าการใช้การกกับนามพหูพจน์ได้สูญหายไป นามแบ่งเป็นสองเพศคือสามัญกับเป็นกลางและมีสองจำนวนคือเอกพจน์กับพหูพจน์
คำกริยาผันตามระดับของคำกริยาสองแบบคือการเชื่อมต่อกับ mi- และ hi- รูปการกระทำมีสองแบบคือประธานกระทำและประธานถูกกระทำ มีสองมาลาคือ ชี้เฉพาะและคำสั่ง กาลมีสองแบบคือปัจจุบันและอดีต มีรูปนามกริยาสองแบบคือนามกริยาและรูปอนุภาค การเรียงประโยคเป็นแบบเดียวกับภาษากลุ่มอานาโตเลียอื่น ๆ โดยทั่วไป การเริ่มต้นประโยคหรือวลีจะใช้อนุภาคเชื่อมประโยคหรืออื่น ๆ ในรูปนำหน้าหรือรูปหัวข้อซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่ผูกแต่ละประโยคเข้าด้วยกัน