วงศ์งูก้นขบ
วงศ์งูก้นขบ | |
---|---|
งูก้นขบ (Cylindrophis ruffus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์ใหญ่: | Henophidia |
วงศ์: | Cylindrophiidae Fitzinger, 1843 |
สกุล: | Cylindrophis Wagler, 1828[1] |
ชนิด[2] | |
| |
ชื่อพ้อง | |
วงศ์งูก้นขบ (อังกฤษ: Pipe snakes) เป็นวงศ์ของงูไม่มีพิษวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Cylindrophiidae ซึ่งในวงศ์นี้มีเพียงสกุลเดียว คือ Cylindrophis
มีรูปร่างโดยรวม คือ กระดูกพรีแมคซิลลาไม่มีฟัน กระดูกแมคซิลลาเรียงตัวตามยาวและมีฟัน ช่องเปิดของตาอยู่ตรงรอยต่อระหว่างกระดูกฟรอนทัลกับกระดูกพาไรทัล ขากรรไกรล่างมีกระดูกโคโรนอยด์และกระดูกเดนทารีมีฟันหรือไม่มีฟัน มีกระดูกของรยางค์ขาคู่หลังที่ยังลดรูปไม่หมดและเป็นแท่งขนาดเล็กที่มองเห็นได้ทางช่องเปิดทวารร่วม มีกระดูกเชิงกรานขนาดเล็กที่ยังลดรูปไม่หมดฝังอยู่ในกล้ามเนื้อลำตัว มีปอดข้างซ้ายแต่มีขนาดเล็ก มีท่อนำไข่ทั้งสองข้างเจริญเท่ากัน
มีรูปร่างกลมและลำตัวใหญ่ มีความยาวตั้งแต่ 30-90 เซนติเมตร หางสั้นและปรับปรุงให้ส่วนหางแลดูคล้ายส่วนหัว รวมทั้งมีพฤติกรรมใช้หางเพื่อป้องกันตัวจากผู้คุกคามตลอดจนมีพฤติกรรมแสร้งตาย เมื่อถูกคุกคาม เกล็ดบริเวณใต้หางขยายเป็นแผ่นแข็งใหญ่เหมือนกับเกล็ดใต้หางของูวงศ์ Uropeltidae แต่พื้นผิวของตัวเกล็ดเรียบ มีลักษณะเป็นมันเงาวาว เกล็ดด้านท้องใหญ่กว่าเกล็ดด้านหลังเล็กน้อย อาศัยอยู่ในโพรงดินในพื้นที่ทั่วไปทั้งในป่าและพื้นที่ทำการเกษตรที่มีดินร่วนซุยและชุ่มชื้น หากินในเวลากลางคืนบนพื้นผิวดิน กินทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ไส้เดือน และสัตว์มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลาไหล และงูด้วยกันชนิดอื่น ออกลูกเป็นตัว
ในปัจจุบันจำแนกเป็น 10 ชนิด (ดูในตาราง) พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ศรีลังกาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะอินดีสตะวันออกและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยมีงูในวงศ์นี้เพียงชนิดเดียว คือ งูก้นขบ (C. ruffus)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 McDiarmid RW, Campbell JA, Touré T. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, vol. 1. Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
- ↑ จาก reptile-database.reptarium.cz (อังกฤษ)
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 403-404 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0