วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก
วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก | |
---|---|
สถานที่ | มอสโก, ประเทศรัสเซีย |
พิกัด | 55°43′34″N 37°40′24″E / 55.72611°N 37.67333°E |
วันที่ | 23–26 ตุลาคม พ.ศ. 2545 |
เป้าหมาย | โรงละครดูบรอฟกา |
ประเภท | จับตัวประกัน |
ตาย | 130 |
เจ็บ | มากกว่า 700 |
ผู้ก่อเหตุ | SPIR มอฟซาร์ บาราเยฟ (หัวหน้า) † อาบู บาการ์ (รองหัวหน้า) † ชามิล บาซาเยฟ (อ้างว่าเข้าร่วม) |
เหตุจูงใจ | การประกาศเอกราชของสาธารณรัฐเชเชน และการถอนตัวของทหารรัสเซีย |
วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก (อังกฤษ: Moscow theatre hostage crisis) หรือ การล้อมนอร์ด-โอสท์ พ.ศ. 2545 (อังกฤษ: 2002 Nord-Ost siege) เป็นการยึดโรงละครซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยกลุ่มติดอาวุธเชเชนราว 40 ถึง 50 คน ที่อ้างความภักดีต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนอิสลามในเชชเนีย[1] คนร้ายจับตัวประกัน 850 คน และเรียกร้องให้ถอนกำลังรัสเซียออกจากเชชเนีย และยุติสงครามเชชเนียครั้งที่สอง การล้อมนี้อยู่ภายใต้การนำอย่างเป็นทางการของมอฟซาร์ บาราเยฟ หลังการล้อมนานสองวันครึ่ง กองกำลังสเปซนาซของรัสเซียได้สูบสารเคมีไม่ทราบชื่อ (คาดว่าเป็นเฟนตานิล หรือ 3-เมทิลเฟนตานิล) เข้าไปในระบบระบายอากาศของอาคารและโจมตี[1]
คนร้าย 39 คนถูกสังหารโดยกองทัพรัสเซีย เช่นเดียวกับตัวประกันอย่างน้อย 129 คน (ซึ่งรวมชาวต่างชาติเก้าคน) ตัวประกันเกือบทั้งหมดที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เสียชีวิตจากสารพิษที่สูบเข้าไปในโรงละครที่ตั้งใจใช้กับคนร้าย[2][3] การใช้แก๊สดังกล่าวถูกประณามอย่างกว้างขวางว่า "มือหนัก" แต่รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่า ตนมีพื้นที่น้อยมากสำหรับกลวิธี โดยเผชิญหน้ากับกบฏติดอาวุธหนัก 50 คนที่เตรียมฆ่าตัวตายและตัวประกัน[4] แพทย์ในกรุงมอสโกประณามการปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกลักษณ์ของแก๊ส ซึ่งทำให้แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บางรายงานว่า ยานาลอกโซนสามารถใช้ช่วยชีวิตตัวประกันบางคนอย่างได้ผล[5] รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 170 คน
เหตุการณ์การจับตัวประกัน
[แก้]23 ตุลาคม
[แก้]เหตุการณ์เริ่มขึ้นไม่นานหลังเริ่มการแสดงละคร เวลา 21.05 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ได้มีรถบัสบรรทุกทั้งชายและหญิงในชุดดำลายพราง สวมหน้ากาก และติดอาวุธหนัก และจับตัวประกันราว 850-900 คน รวมทั้งผู้ชมและนักแสดง ในจำนวนนี้มีพลเอกจากกระทรวงมหาดไทยด้วย ปฏิกิริยาของผู้ชมในโรงละครต่อข่าวว่าโรงละครถูกผู้ก่อการร้ายยึดไว้คละกันไป บ่างคนยังสงบ บางคนควบคุมตนเองไม่ได้ และบางคนหมดสติไป นักแสดงบางคนที่กำลังพักอยู่หลังเวทีหลบหนีออกไปทางหน้าต่างและเรียกตำรวจ รวมแล้ว มีราว 90 คนสามารถหลบหนีจากอาคารหรือซ่อนตัว
หัวหน้าคนร้ายบอกว่า พวกเขามาจากหน่วยฆ่าตัวตายของ "กองพลที่ 29"[6] และว่า พวกเขาไม่มีความบาดหมางกับชาวต่างชาติ (ราว 75 คน จาก 14 ประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ยูเครน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา) และสัญญาจะปล่อยทุกคนที่แสดงพาสปอร์ตต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นักเจรจารัสเซียปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอนี้ และยืนยันให้ทุกคนถูกปล่อยตัวพร้อมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชาวต่างชาติกับชาวรัสเซีย[7]
การสนทนาด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างตัวประกันที่ถูกจับอยู่ในโรงละครกับครอบครัว เปิดเผยว่า ผู้จับตัวประกันมีระเบิดมือ ทุ่นระเบิดและระเบิดแสวงเครื่องผูกรัดอยู่ตามร่างกาย และวางระเบิดเพิ่มไว้ทั่วโรงละคร ระเบิดส่วนใหญ่นี้ (รวมทั้งทั้งหมดที่นักรบหญิงสวม) ถูกพบภายหลังว่าเป็นของปลอมใช้ในทางทหาร[8][9] ส่วนที่เหลือนั้นไม่มีตัวจุดระเบิดหรือถอดแบตเตอรี่ออกแล้ว[10] นักเจรจาและหน่วยรบพิเศษรัสเซียไม่อาจมั่นใจได้ในเวลานั้น แต่ก่อนหน้าการล้อม ขณะที่มีการเตรียมระเบิด เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลาง (FSB) ผู้แทรกซึมเครือข่ายขนส่งเชเชนจีฮัดได้บ่อนทำลายอุปกรณ์หลายอย่างด้วยแบตเตอรีใช้หมด และตัวเร่งหรือดินเร่งที่ไม่พอสำหรับจุดระเบิด คนร้ายใช้ชื่อภาษาอาหรับในหมู่พวกเขาเอง และผู้ก่อการร้ายหญิงสวมเสื้อผ้าบุรกาแบบอาหรับ ซึ่งผิดปกติอย่างมากในเขตคอเคซัสเหนือ[11]
โฆษกผู้นำแบ่งแยกดินแดนเชเชนกล่าวว่า เขาไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ และประณามการโจมตีต่อพลเรือน ผู้นำเชชเนียนิยมรัสเซียยังประณามเหตุโจมตีดังกล่าวด้วย[12]
ตัวประกันทั้งหมดถูกจัดให้อยู่ในโรงละครและหลุมวงออเครสตราใช้เป็นส้วม[13] สถานการณ์ในห้องโถงนั้นตึงเครียดและเปลี่ยนแปลงหลายครั้งขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้จับตัวประกัน ตามรายงานในสื่อมวลชนภายหลัง การทราบข้อมูลผิด ๆ ทุกประเภทได้ก่อให้เกิดความสิ้นหวังในหมู่ตัวประกันและความก้าวร้าวรอบใหม่ของคนร้าย ผู้จะขู่ยิงตัวประกันและระเบิดอาคารทิ้ง อย่างไรก็ดี ไม่มีหายนะครั้งใหญ่เกิดขึ้นระหว่างช่วงการล้อม มือปืนปล่อยให้ผู้ชมโทรศัพท์ได้[14] ตัวประกันใช้โทรศัพท์ขอร้องทางการไม่ให้โจมตีอาคาร[12] ขณะที่ตำรวจและทหารเต็มคันรถบรรทุก ร่วมด้วยยานเกราะ ล้อมอาคาร[6]
หลังจากนั้น คนร้ายได้ปล่อยตัวประกันราว 150 ถึง 200 คน รวมทั้งเด็ก หญิงมีครรภ์ ชาวมุสลิม ผู้ชมละครชาวต่างประเทศบางคน และคนที่ต้องการการรักษาในไม่กี่ชั่วโมงหลังคนร้ายยึดโรงละคร มีหญิงสามารถหลบหนีได้สองคน และไม่มีคนใดได้รับบาดเจ็บระหว่างการหลบหนีนั้น[15] ผู้ก่อการร้ายว่า พวกเขาพร้อมฆ่าตัวประกัน 10 คน หากสมาชิกของพวกเขาตายไป 1 คน ในกรณีที่กำลังความมั่นคงเข้าแทรกแซง[12]
โอลกา โรมาโนวา วัย 26 ปี ผ่านการล้อมของตำรวจและเข้าโรงละครจากทางด้านหลัง เธอเผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายและกระตุ้นให้ตัวประกันยืดหยัดสู้กับคนร้าย กองโจรตัดสินว่าเธอเป็นเจ้าหน้าที่ FSB และนำเธอไป เธอถูกยิงและเสียชีวิตแทบทันที ร่างของโอลกาภายหลังถูกนำออกจากอาคารโดยทีมแพทย์รัสเซีย และตำรวจรัสเซียรายงานอย่างผิด ๆ ว่าเป็นร่างของตัวประกันคนแรกที่ถูกสังหารระหว่างพยายามหลบหนี[15]
24 ตุลาคม
[แก้]รัฐบาลรัสเซียเสนอผู้จับตัวประกันให้โอกาสในการลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม[15] ตัวประกันที่ถูกยุยงวิงวอน อาจด้วยอยู่ภายใต้คำสั่งหรือถูกข่มขู่ ให้ปูตินเลิกความเป็นปรปักษ์ในเชชเนียและขอให้เขาระงับการโจมตีอาคาร ด้วยวิกฤตการณ์นี้ ปูตินได้ยกเลิกการเดินทางเยือนต่างประเทศซึ่งรวมไปถึงการพบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และผู้นำโลกคนอื่นๆ[16]
บุคคลสาธารณะและนักการเมืองที่มีชื่อเสียง อย่างอัสลัมเบค อัสลาฮานอฟ, อีรีนา ฮาคามาดา, รุสลัน ฮัสบูลาตอฟ, อีโอซิฟ คอบซอน, โบริส เนมซอฟ และกรีโกรี ยัฟลินสกี[17] มีส่วนในการเจรจากับผู้จับตัวประกัน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ยังประกาศความเต็มใจในการเป็นคนกลางระหว่างช่วงการเจรจรา ผู้ก่อการร้ายยังต้องการให้ผู้แทนกาชาดสากล และองค์การแพทย์ไร้พรมแดน มายังโรงละครเพื่อนำการเจรจาด้วย
ตามข้อมูลของ FSB ตัวประกัน 39 คนถูกผู้ก่อการร้ายปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2545 แต่พวกเขาย้ำผ่านหนึ่งในตัวประกันว่า การขู่ก่อนหน้านี้ที่จะเริ่มยิงตัวประกันหากรัสเซียไม่ถือข้อเรียกร้องของพวกเขาเป็นจริงเป็นจัง[15] การเจรจาการปล่อยตัวผู้มิใช่สัญชาติรัสเซียดำเนินโดยสถานทูตหลายแห่ง และชาวเชเชนสัญญาจะปล่อยตัวประกันต่างประเทศทั้งหมด คนร้ายยังอ้างว่า พวกเขาพร้อมปล่อยตัวประกันรัสเซีย 50 คน หากอัคฮ์มัด คาดูรอฟ หัวหน้ารัฐบาลนิยมรัสเซียของเชชเนีย เดินทางมายังโรงละคร แต่คาดูรอฟไม่มีท่าทีตอบสนอง เช่นเดียวกับที่ไม่มีการปล่อยตัว
25 ตุลาคม
[แก้]ตลอดวันที่ 25 ตุลาคม นักหนังสือพิมพ์ อันนา โพลิตคอฟสคายา, เซียร์เกย์ โกโวรูฮิน และมาร์ค ฟรันเชตติ มีส่วนเจรจากับผู้ก่อการ และบุคคลสาธารณะอย่าง เยฟเกนี พรีมาคอฟ, รุสลัน อูเชฟ และอัสลัมเบค อัสลาฮานอฟ (อีกครั้ง) ผู้ก่อการร้ายต้องการเจรจากับผู้แทนอย่างเป็นทางการของวลาดีมีร์ ปูติน ญาติตัวประกันดำเนินการประท้วงต่อต้านสงครามนอกโรงละครและใจกลางกรุงมอสโก
คนร้ายตกลงปล่อยพลเมืองต่างประเทศ 75 คน เมื่อผู้แทนทางการทูตของรัฐนั้นมาถึง มีรายงานว่าทางการรัสเซียยืนกรานให้ตัวประกันไม่ถูกแบ่งแยกเป็นคนต่างประเทศและคนรัสเซีย พลเมืองรัสเซีย 15 คนถูกปล่อยตัว รวมเด็กแปดคน หลังประชุมกับปูติน หัวหน้า FSB นิโคไล พาทรูเชฟ เสนอให้ไว้ชีวิตพวกเชเชนหากพวกเขาปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดโดยไม่ได้รับอันตราย[18]
กลุ่มแพทย์ชาวรัสเซีย รวมถึง ดร. เลโอนิด โรชัล หัวหน้าศูนยฺการแพทย์ภัยพิบัติ เข้าสู่โรงละครเพื่อนำยาไปให้แก่ตัวประกัน และว่า ผู้ก่อการร้ายมิได้ทุบตีหรือข่มขู่ตัวประกันแต่อย่างใด เขากล่าวว่าตัวประกันส่วนใหญ่ยังสงบ และมีเพียงตัวประกัน "สองหรือสามคน" เท่านั้นที่ควบคุมตนเองไม่ได้ อาหารร้อน เครื่องนุ่งห่มอุ่น ๆ และยายังได้ถูกนำเข้าไปโดยกาชาด[13]
เมื่อเวลา 21.55 น. ตัวประกันอีกสี่คน สัญชาติอาเซอร์ไบจาน ถูกปล่อยตัว ทำให้ยอดตัวประกันที่ถูกปล่อยเป็นอิสระในวันนี้เพิ่มเป็น 19 คน
ราวเที่ยงคืน เกิดเหตุยิงกันขึ้นเมื่อเดนิส กริบคอฟ ชายตัวประกันวัย 30 ปี วิ่งบริเวณด้านหลังที่นั่งโรงละครไปยังคนร้ายหญิงที่นั่งติดกับระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่[19] ผู้จับตัวประกันชายยิงเขาแต่พลาด แต่ลูกหลงไปถูกทามารา สทาร์โควา และพาเวล ซาฮารอฟ ได้รับบาดเจ็บสาหัส[20] ภายหลังไม่นานถูกนำตัวออกจากอาคาร กริบคอฟถูกนำตัวออกจากโรงละคร และภายหลังถูกพบเป็นศพโดยมีแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืน
26 ตุลาคม
[แก้]เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ภายในอาคาร ตัวประกันที่เห็นแก๊สหลายคนตอนแรกคิดว่าเป็นควันที่เกิดจากไฟ[21] แต่ไม่นานก็เป็นที่ชัดเจนทั้งมือปืนและตัวประกันว่า แก๊สลึกลับนั้นได้ถูกปั๊มเข้าสู่อาคาร[22] หลายรายงานระบุไว้ต่างกัน บ้างก็ว่ามีรูที่เจาะไว้เป็นพิเศษบนกำแพง บ้างก็ว่าถูกปั๊มผ่านระบบระบายอากาศของโรงละคร และบ้างว่าผุดขึ้นจากใต้เวที ตอนแรกคาดว่าหน่วยความมั่นคงได้ปั๊มหมอกยาที่ทำให้หมดสติ ภายหลังคาดว่าเป็นเฟนตานิลที่ถูกทำให้เป็นอาวุธ เข้าไปในโรงละครผ่านระบบปรับอากาศ การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในโรงละคร ตัวประกัน อันนา อันเดรียโนวา นักข่าวสำนักมอสคอฟสกายา ปราฟดา เรียกสตูดิโอวิทยุ เอคโคออฟมอสโก และกล่าวออกอากาศในการสัมภาษณ์สดว่า กองกำลังรัฐบาลเริ่มต้นปฏิบัติการโดยปั๊มแก๊สเข้าไปในโรงละคร
พวกเชเชน ซึ่งมีบางคนสวมหน้ากากกันแก๊ส ตอบสนองโดยยิงสุ่มไปยังตำแหน่งของทางการรัสเซียข้างนอก หลังผ่านไปสามสิบนาที เมื่อแก๊สเริ่มออกฤทธิ์ การโจมตีอาคารก็เริ่มต้นขึ้น กองกำลังผสมเข้าผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งหลังคา ห้องใต้ดิน และท้ายที่สุด ประตูหน้า[19]
เมื่อการยิงกันเริ่มต้นขึ้น ผู้ก่อการร้ายบอกให้ตัวประกันเอนไปข้างหลังในเก้าอี้โรงละครแล้วป้องกันศีรษะของตนเองหลังที่นั่ง[19] ตัวประกันรายงานว่าบางคนในหมู่ผู้ชมหลับไป และมือปืนบางคนหยิบหน้ากากกันแก๊สขึ้นมาสวม ขณะที่ผู้ก่อการร้ายและตัวประกันเริ่มหมดสติไป ผู้ก่อการร้ายหญิงหลายคนได้โผไปยังระเบียง แต่หมดสติก่อนจะไปถึงบันได ภายหลังพวกเขาถูกพบเป็นศพถูกยิง แม้แต่สเปซนาซกลุ่มอัลฟา ที่เป็นผู้โจมตีเองก็พ่ายให้กับแก๊สนั้น[19] และรองนายกเทศมนตรีกรุงมอสโกต้องได้รับการรักษาจากการได้รับพิษแก๊ส[23]
หลังการยิงปะทะกันประปรายนานเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หน่วยรบพิเศษรัสเซียระเบิดประตูหน้าห้องโถงใหญ่และกรูเข้าไปในโรงละคร ในการยิงปะทะกันอย่างดุเดือด ทหารรัฐบาลได้ยิงกองโจรนั้น ทั้งที่ยังมีสติอยู่และที่ได้รับแก๊สนั้น[19][24]
ตามข้อมูลของรัฐบาลรัสเซีย การต่อสู้ระหว่างทหารและนักสู้เชเชนที่ยังมีสติอยู่ดำเนินไปในบางส่วนของอาคารอีกสามสิบนาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ตอนแรกมีรายงานว่า มีผู้ก่อการร้ายถูกจับเป็นได้สามคน และสองคนสามารถหลบหนีไปได้ ภายหลัง รัฐบาลอ้างว่าผู้จับตัวประกันถูกสังหารทั้งหมดระหว่างการโจมตี
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Modest Silin, Hostage, Nord-Ost siege, 2002 เก็บถาวร 2008-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Russia Today, 27 October 2007
- ↑ Gas "killed Moscow hostages", ibid.
- ↑ "Moscow court begins siege claims", BBC News, 24 December 2002
- ↑ "Moscow siege gas 'not illegal'". BBC News. 29 October 2002.
- ↑ "Mystery of Russian gas deepens"
- ↑ 6.0 6.1 Chechens Seize Moscow Theater, Taking as Many as 600 Hostages, The New York Times, 24 October 2002
- ↑ A Foreigner's Nightmare in Dubrovka เก็บถาวร 2007-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Moscow Times, 22 October 2007
- ↑ The October 2002 Moscow Hostage-Taking Incident (Part 1) by John B. Dunlop, Radio Free Europe Reports, 18 December 2003.
- ↑ Slaughter in Beslan เก็บถาวร 2011-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Hudson Institute, 23 November 2004
- ↑ Норд-Ост: 5 лет, Echo of Moscow, 21 October 2007 (รัสเซีย)
- ↑ Moscow siege leaves dark memories, BBC News, 16 December 2002
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Terrorists seize Moscow theatre, BBC News, 23 October 2002
- ↑ 13.0 13.1 Non-stop nightmare for Moscow hostages, BBC News, 25 October 2002
- ↑ Chechen gunmen storm Moscow theatre, The Guardian, 24 October 2002
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 Seven hostages freed in Moscow siege, BBC News, 25 October 2002
- ↑ Two hostages flee Moscow theatre, BBC News, 24 October 2002
- ↑ Yavlinsky Describes His Role In Crisis เก็บถาวร 2008-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Moscow Times, 4 November 2002
- ↑ Children freed from Moscow siege, BBC News, 25 October 2002
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 How special forces ended siege, BBC News, 29 October 2002
- ↑ Pictures of the Week เก็บถาวร 2002-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TIME, 31 October 2002)
- ↑ HOSTAGE DRAMA IN MOSCOW: THE SCENE; The Survivors Dribble Out, All With a Story to Tell, The New York Times, October 28, 2002
- ↑ What was the gas?, BBC News, 28 October 2002
- ↑ Putin vows to crush terrorists, BBC News, 28 October 2002.
- ↑ Troops bring freedom and death to theater of blood, The Guardian, 27 October 2002
อ้างอิง
[แก้]- The 2002 Dubrovka and 2004 Beslan Hostage Crises: A Critique of Russian Counter-Terrorism by John B. Dunlop (ISBN 3-89821-608-X)
55°43′33″N 37°40′24″E / 55.72583°N 37.67333°E{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้