ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สโมสรฟุตบอลรีล มาดริด)

สโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด
ฉายาราชันชุดขาว
ก่อตั้ง6 มีนาคม ค.ศ. 1902
(ในชื่อ สโมสรฟุตบอลโซซิเอดัดมาดริด)[1]
สนามสนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว
ความจุ81,044 ที่นั่ง[2]
ประธานโฟลเรนติโน เปเรซ
ผู้จัดการทีมการ์โล อันเชลอตตี
ลีกลาลิกา
2023–24อันดับที่ 1
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด (สเปน: Real Madrid Club de Fútbol) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศสเปน ตั้งอยู่ที่กรุงมาดริด ปัจจุบันเล่นอยู่ในลาลิกา ลีกสูงสุดของฟุตบอลสเปน ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1902 ชื่อ เรอัล เป็นสร้อยคำนำหน้าที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ใน ค.ศ. 1920 ซึ่งมีความหมายว่า "ของกษัตริย์หรือของหลวง" และยังเป็นที่มาของมงกุฏซึ่งปรากฏในตราสัญลักษณ์ของสโมสร มีสนามเหย้าคือสนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว ตั้งอยู่ใจกลางกรุงมาดริดซึ่งถูกใช้งานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 ความจุกว่า 85,000 ที่นั่ง สีประจำสโมสรคือสีขาว และเพลงประจำสโมสรคือ อาลามาดริดอีนาดามัส เรอัลมาดริดเป็นสโมสรที่มีสมาชิก (socios) เป็นเจ้าของ และเป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1902 ซึ่งแตกต่างกับสโมสรส่วนใหญ่ เรอัลมาดริดเป็นหนึ่งในสามสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งลาลิกาซึ่งไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งลีกใน ค.ศ. 1929 ร่วมกับอัตเลติกเดบิลบาโอ และ บาร์เซโลนา

เรอัลมาดริดเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปยุโรป ในการแข่งขันภายในประเทศ เรอัลมาดริดชนะเลิศถ้วยรางวัล 71 รายการ[3] ประกอบด้วยสถิติชนะเลิศลาลิกา 36 สมัย, โกปาเดลเรย์ 20 สมัย, ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 13 สมัย รวมทั้งโกปาเอบาดัวร์เต และโกปาเดลาลิกา ในการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก พวกเขาชนะเลิศการแข่งขัน 34 รายการ ประกอบด้วยสถิติชนะเลิศยูโรเปียนคัพ / ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 15 สมัย, ยูฟ่าคัพ 2 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 6 สมัย (สถิติสูงสุด), อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 3 สมัย (สถิติสูงสุด) และ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 8 สมัย (สถิติสูงสุด)[4] เรอัลมาดริดยังเป็นสโมสรเดียวที่ชนะการแข่งขันยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยติดต่อกัน โดยทำได้ถึงสองครั้งใน ค.ศ. 1956–58 และ ค.ศ. 2016–18 โดยใน ค.ศ. 2017 เรอัลมาดริดเป็นสโมสรแรกที่ป้องกันแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาจากยูโรเปียนคัพ พวกเขายังเป็นสโมสรที่ลงแข่งขันยูโรเปียนคัพ / ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมากที่สุด รวมทั้งครองสถิติชนะมากที่สุด, เสมอมากที่สุด และทำประตูมากที่สุดในรายการนี้ และใน ค.ศ. 2024 สโมสรชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 15 และกลายเป็นสโมสรแรกของโลกที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลครบ 100 ใบ สโมสรมีคู่ปรับคือบาร์เซโลนา และ อัตเลติโกเดมาดริด โดยเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่เรียกว่า เอลกลาซิโก และ เดร์บิมาดริเลญโญ

เรอัลมาดริดเริ่มครองความยิ่งใหญ่ในประเทศได้ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการก่อตั้งลาลิกา และกลายเป็นทีมชั้นนำของวงการฟุตบอลยุโรปในช่วงทศวรรษ 1950 โดยชนะเลิศยูโรเปียนคัพ 5 สมัยติดต่อกัน รวมทั้งชนะเลิศลาลิกา 4 สมัย ต่อมา ในทศวรรษ 1960 สโมสรชนะเลิศลาลิกาได้ถึง 8 ครั้งใน 10 ฤดูกาล ด้วยผู้เล่นชั้นนำ ได้แก่ อัลเฟรโด ดิ เอสเตฟาโน, แฟแร็นตส์ ปุชกาช, ปาโก เฆนโต และ เรมง โกปา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก[5][6] นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 สโมสรมีชื่อเสียงจากนโยบายการซื้อนักฟุตบอลระดับโลกมาร่วมทีมซึ่งเรียกว่ากาลักติโกส อาทิ โรนัลโด, ซีเนดีน ซีดาน, เดวิด เบคแคม และ กาก้า[7] โดยใน ค.ศ. 2009 สโมสรได้เซ็นสัญญากับ คริสเตียโน โรนัลโด ด้วยค่าตัวสถิติโลกในขณะนั้นจำนวน 80 ล้านปอนด์ซึ่งกลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสร[8] ในปัจจุบันภายใต้การบริหารทีมของ โฟลเรนติโน เปเรซ สโมสรใช้ผู้เล่นระดับโลกซึ่งอายุน้อยอย่าง วีนีซียุส ฌูนีโยร์, โรดรีกู, จูด เบลลิงงัม และ กีลียาน อึมบาเป เป็นแกนหลัก[9]

เรอัลมาดริดเป็นหนึ่งในสโมสรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก[10] และมีจำนวนผู้ติดตามทางสื่อสังคมมากที่สุดในโลก[11] รวมทั้งมีมูลค่าทีมสูงที่สุดในโลกจำนวน 6.6 พันล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2024 และยังเป็นสโมสรแรกของโลกที่มีรายรับมากกว่า 1 พันล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)[12] เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติประกาศให้เรอัลมาดริดเป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20[13] รวมทั้งได้รับรางวัลสโมสรยอดเยี่ยมโดยสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ 4 ครั้งใน ค.ศ. 2000, 2002, 2014 และ 2017[14] และใน ค.ศ. 2024 เรอัลมาดริดถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ตามค่าสัมประสิทธิ์สโมสรฟุตบอลยุโรป และเป็นอันดับ 1 จากการจัดอันดับรวมในรอบ 10 ฤดูกาลหลังสุด (ค.ศ. 2013–2023)[15] และยังเป็นอันดับ 1 ตลอดกาลจากการจัดอันดับโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป

ประวัติ

ยุคแรก (ค.ศ. 1897–1945)

ผู้เล่นของสโมสรใน ค.ศ. 1905

ต้นกำเนิดของสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดต้องย้อนกลับไปในช่วงที่กีฬาฟุตบอลได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในกรุงมาดริด โดยนักวิชาการและนักศึกษาของโครงการสถาบันการศึกษาเสรี (Institución Libre de Enseñanza) ซึ่งมีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และออกซ์ฟอร์ดรวมอยู่ด้วย พวกเขารวมตัวกันสร้างสโมสร ฟุตบอลคลับสกาย ขึ้นในปี 1897 โดยเล่นกันประจำในวันอาทิตย์ตอนเช้าที่ย่านมองโกลอา และต่อมาได้มีการแยกตัวออกเป็น 2 สโมสรในปี 1900 ได้แก่ นิว-ฟุตบอลเดมาดริด (New Foot-Ball de Madrid) และ กลุบเอสปัญญอลเดมาดริด (Club Español de Madrid)[16] ในวันที่ 6 มีนาคม 1902 หลังจากที่คณะกรรมการชุดใหม่ (ซึ่งมีฆวน ปาโดรส เป็นประธาน) ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา สโมสรฟุตบอลมาดริดจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ[17] สามปีหลังหลังจากที่ก่อตั้งสโมสรขึ้นได้สามปีใน 1905 สโมสรมาดริดสามารถคว้าแชมป์การแข่งขันได้เป็นครั้งแรกหลังจากเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอไปในการแข่งขันสแปนิชคัพรอบชิงชนะเลิศ

สโมสรกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งราชสหพันธ์ฟุตบอลสเปนในวันที่ 4 มกราคม 1909 เมื่อประธานสโมสร อาดอลโฟ เมเลนเดซ ได้ลงนามข้อตกลงตามรากฐานของสเปนเอฟเอคัพ หลังจากเปลี่ยนสถานที่ฝึกซ้อมอยู่หลายแห่งใน 1912 สโมสรก็ได้เปิดใช้สนามของตนเองเป็นครั้งแรกที่กัมโปเดโอโดเนล (Campo de O'Donnell)[18] และใน ค.ศ. 1920 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น เรอัลมาดริด (Real Madrid) หลังจากที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ได้พระราชทานตำแหน่ง "เรอัล" (ในภาษาสเปนแปลว่าของกษัตริย์หรือของหลวง) ให้กับสโมสร[19]

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน

ในปี 1929 ได้มีการก่อตั้งระบบการแข่งขันระหว่างสโมสรในสเปนขึ้นเป็นครั้งแรก เรอัลมาดริดครองอันดับที่ 1 มาตลอดในช่วงแรกของฤดูกาลจนมาถึงนัดสุดท้ายซึ่งแพ้ให้กับอัตเลติกเดบิลบาโอ ทำได้แค่รองแชมป์โดยบาร์เซโลนาคว้าแชมป์ไป[20] ก่อนที่พวกเขาจะได้แชมป์ลีกครั้งแรกในฤดูกาล 1931–32 และในปีถัดมา พวกเขาก็สามารถป้องกันแชมป์ได้อีกครั้ง ส่งผลให้เรอัลมาดริดเป็นทีมแรกในสเปนที่คว้าแชมป์ติดต่อกันสองสมัย[21]

ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1931 สเปนเปลี่ยนไปใช้การปกครองระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง เมื่อไม่มีกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ เรอัลมาดริดจึงพ้นจากตำแหน่งสโมสรหลวงและเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อสโมสรฟุตบอลมาดริดตามเดิม การแข่งขันฟุตบอลยังคงดำเนินต่อไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในวันที่ 13 มิถุนายน 1943 พวกเขาเอาชนะบาร์เซโลนาไปถึง 11–1 ในรอบรองชนะเลิศ[22] ในการแข่งขันโกปาเดลเฆเนราลิซิโม (โกปาเดลเรย์หรือ "ถ้วยรางวัลของกษัตริย์" ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถ้วยรางวัลของจอมพล" เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลฟรังโก)[23] อย่างไรก็ตาม มีการชี้ให้เห็นว่า ผู้เล่นของบาร์เซโลนาถูกข่มขู่จากตำรวจ[23] และจากผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ "ถูกอ้างว่า ได้บอกกับสโมสรว่า นักฟุตบอลบางคน [ของบาร์เซโลนา] ได้ลงเล่นก็เพราะความใจกว้างของรัฐบาลที่อนุญาตให้พวกเขายังอยู่ในประเทศได้เท่านั้น"[24] และประธานสโมสรบาร์เซโลนา เอนริก ปิญเญย์โร ก็ถูกแฟนบอลมาดริดทำร้ายร่างกายด้วย[25]

ซานเตียโก เบร์นาเบว เยสเต และประสบความสำเร็จในเวทียุโรป (ค.ศ. 1945–78)

อัลเฟรโด ดิ เอสเตฟาโน ตำนานสโมสรผู้พาเรอัลมาดริดชนะเลิศยูโรเปียนคัพ 5 สมัย

ซานเตียโก เบร์นาเบว เยสเต ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรในปี 1945[26] เขาได้ลงทุนสร้างสนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว และสิ่งอำนวยความสะดวกการฝึกอบรมซิวดัดเดปอร์ตีบา (มาดริด) ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากที่สงครามกลางเมืองสเปนได้สงบลงซึ่งเสียหายตั้งแต่ปี 1953 และยังลงทุนซื้อผู้เล่นระดับโลกอย่างอัลเฟรโด ดิ เอสเตฟาโน เข้ามาร่วมทีม[27]

ใน ค.ศ. 1955 กาเบรียล อาโนต์ ผู้สื่อข่าวด้านกีฬา, เบร์นาเบว และ กุสตาฟ แชแบ็ช ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งการแข่งขันยูโรเปียนคัพ ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับทวีปสำหรับแชมป์ลีกทั่วยุโรป ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[28] ภายใต้การบริหารทีมของเบอร์นาเบว เรอัลมาดริดยกระดับทีมขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของวงการฟุตบอลยุโรปอย่างเต็มตัว พวกเขาชนะการแข่งขันยูโรเปียนคัพ 5 สมัยติดต่อกันระหว่าง ค.ศ. 1960–70 รวมถึงการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในความทรงจำของแฟน ๆ ใน ค.ศ. 1960 ซึ่งพวกเขาเอาชนะ ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ท ณ สนามแฮมป์เดนพาร์ก เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ด้วยผลประตู 7–3[29] จากความยิ่งใหญ่ของสโมสรในทศวรรษนี้ ส่งผลให้เรอัลมาดริดได้รับถ้วยรางวัลแบบดั้งเดิมของการแข่งขันไปครอง และยังได้รับสิทธิ์ในการสวมตราเกียรติยศของยูฟ่าซึ่งปรากฏในชุดแข่ง[30] ความยิ่งใหญ่ในรายการยุโรปของเรอัลมาดริดมีจุดเริ่มต้นจากการก้าวขึ้นมาเป็นสโมสรอันดับหนึ่งของสเปนในช่วงเวลานั้น โดยสโมสรสามารถคว้าแชมป์ลีกได้ 12 สมัยจากทั้งหมด 16 สมัยช่วงระหว่าง ค.ศ. 1953–54 ถึง 1968–69 รวมถึงการชนะเลิศห้าสมัยติดต่อกันระหว่าง ค.ศ. 1961–65 และจบด้วยอันดับสองอีกสามครั้งในช่วงเวลานี้

สโมสรคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสมัยที่ 6 ใน ค.ศ. 1966 โดยเอาชนะปาร์ติซาน ด้วยผลประตู 2–1 โดยนัดนี้ถือเป็นการแข่งขันประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกของรายการที่ทั้งสองทีมลงเล่นโดยมีผู้เล่นสัญชาติเดียวกันทั้งทีม ซึ่งเรอัลมาดริดใช้ผู้เล่นสเปน ในขณะที่ปาร์ติซานลงเล่นด้วยผู้เล่นจากยูโกสลวาเวียทั้งหมด ทีมชุดนั้นของเรอัลมาดริดได้รับการตั้งชื่อว่า "Yé-yé" มีที่มาจากการร้องประสานเสียงในเพลง "She Loves You" ของเดอะบีเทิลส์ สโมสรยังได้รองแชมป์ยูโรเปียนคัพอีกสองสมัยใน ค.ศ. 1962 และ 1964[31] ในทศวรรษ 1970 เรอัลมาดริดคว้าแชมป์ลีกเพิ่มได้ 6 สมัย และ สแปนิชคัพอีก 3 สมัย[32] สโมสรได้สิทธิไปเล่นในรายการยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพครั้งแรกในปี 1971 แต่แพ้เชลซี 1–2[33] ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1978 ประธานสโมสร ซานเตียโก เบร์นาเบวได้เสียชีวิตลง ในขณะที่ฟุตบอลโลกกำลังแข่งขันที่ประเทศอาร์เจนตินา ประเทศพันธมิตรของสมาคมฟุตบอล (ฟีฟ่า) กำหนดการไว้ทุกข์สามวันเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในระหว่างการแข่งขัน[34] ในปีถัดมาสโมสรได้จัดการแข่งขัน โทรเฟโอ ซานเตียโก เบร์นาเบว เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านประธานสโมสรจนถึงปัจจุบัน เขาถือเป็นผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสรไปตลอดกาลอย่างแท้จริง โดยตลอดระยะเวลาร่วม 35 ปีที่เบร์นาเบวดำรงตำแหน่งประธานสโมสร เรอัลมาดริดชนะเลิศลีกสูงสุด 16 สมัย, ยูโรเปียนคัพ 6 สมัย, สแปนิชคัพ 6 สมัย, ลาตินคัพ 2 สมัย, โกปาเอบาดัวร์เต 1 สมัย และ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ 1 สมัย

กินตาเดลบุยเตร และแชมป์ยุโรปสมัยที่ 7 (ค.ศ. 1980–2000)

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เรอัลมาดริดไม่สามารถคว้าแชมป์ลาลิกาได้ แต่พวกเขาใช้เวลาไม่กี่ปีในการกลับมาอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของนักเตะยุคใหม่[35] ซึ่งนักข่าวกีฬาชาวสเปนคนหนึ่งที่ชื่อ คูลีโอ เซซาร์ อีเกลเซียส ได้ให้ฉายากับทีมรุ่นนี้ว่า กินตาเดลบุยเตร, ซึ่งได้มาจากชื่อเล่นของหนึ่งในนักเตะของสโมสร, เอมีลีโอ บูตรากูเอโน. และสมาชิกอีกสี่คนที่เหลือได้แก่: มานูเอล ซานชิส, มาร์ติน บัซเกซ, มีเชล และ มีกูเอล พาร์เดซา.[36] ต่อมา สมาชิกในกลุ่มเหลือ 4 คนโดยพาร์เดซาได้ย้ายไปอยู่กับซาราโกซา ในฤดูกาล 1986 แต่ทีมยังมีการลงทุนซื้อผู้เล่นดาวดังมาเพิ่ม อาทิ ฟรานซิสโก บูโย ผู้รักษาประตูชาวสเปน, มีเกล ปอร์ลัน เชนโด แบ็กขวาชาวสเปน และกองหน้าชาวเม็กซิโก อูโก ซานเชซ เรอัลมาดริดจึงเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในสเปนและในยุโรปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ด้วยการคว้าแชมป์ ยูฟ่าคัพ 2 สมัย, สเปนนิชแชมเปียนชิพ 5 สมัย, โกปาเดลเรย์ 1 สมัย และ ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา อีก 3 สมัย[36] ภายหลังฉายา กินตาเดลบุยเตร ได้หายไปจากแฟนบอลเรอัลมาดริด หลังจาก เอมีลีโอ บูตรากูเอโน, มาร์ติน บัซเกซ และ มีเชล ได้ย้ายออกจากสโมสร ในปี 1996 ประธานสโมสรลอเรนโซ ซานซ์ ได้แต่งตั้งให้ฟาบีโอ กาเปลโล อดีตผู้จัดการทีมเอซี มิลาน เข้าเป็นผู้จัดการทีม แม้ว่าเขาดำรงตำแหน่งเพียงแค่หนึ่งฤดูกาล แต่ก็สามารถนำเรอัลมาดริดคว้าแชมป์ลาลิกาได้และได้ซื้อผู้เล่นฝีเท้าดีมากมาย เช่น โรเบร์ตู การ์ลูส, เพรดรัก มีจาโตวิช, ดาวอร์ ซือเกอร์ และ คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ เข้ามาเล่นร่วมกับผู้เล่นเดิมอย่างราอุล กอนซาเลซ, เฟร์นันโด เอียร์โร, อีวาน ซาโมราโน และ เฟร์นันโด เรดอนโด เป็นผลให้พวกเขาสิ้นสุดการรอคอย 32 ปีในการชนะถ้วยูโรเปียนคัพสมัยที่ 7 ในปี 1998 ภายใต้การคุมทีมของยุพพ์ ไฮน์เคส โดยเอาชนะยูเวนตุส 1–0 ในรอบชิงชนะเลิศ[37]

โลสกาลักติโกสยุคแรก (ค.ศ. 2000–2006)

เดวิด เบคแคม และ ซีเนดีน ซีดาน ผู้เล่นคนสำคัญของสโมสรตามนโยบาย กาลักติโกส

หลังคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วยการชนะบาเลนเซีย 3–0 ในปี 2000 สโมสรได้แต่งตั้งประธานคนใหม่คือ โฟลเรนตีโน เปเรซ ในระหว่างหาเสียง เขาสัญญาว่าจะลบหนี้ของสโมสรและสร้างสิ่งทันสมัย​​ให้แก่สโมสร แต่สัญญาที่สำคัญที่ขับเคลื่อนให้เปเรซได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง คือการซื้อนักเตะชื่อดังชาวโปรตุเกสอย่าง ลูอิช ฟีกู ซึ่งเป็นอดีตนักเตะของบาร์เซโลนา คู่ปรับตลอดกาล[38] ในปีนี้ สโมสรได้สร้างค่ายฝึกอบรมใหม่และจัดการสรรหาผู้เล่นชื่อดังที่นักข่าวสเปนเรียกว่า โลสกาลักติโกส เช่น ซีเนดีน ซีดาน, โรนัลโด, เดวิด เบคแคม, ฟาบีโอ กันนาวาโร, ลูอิช ฟีกู, และ โรเบร์ตู การ์ลูส แม้จะถูกวิจารณ์จากสื่อ แต่เปเรซก็ลบคำสบประมาทด้วยการนำสโมสรคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 9 และคว้าแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2002 และยังคว้าแชมป์ลาลิกาในปีต่อมา และยังมีราบรับที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ จากการทำตลาดโดยเน้นไปที่ทวีปเอเชียมากขึ้น[39]

อย่างไรก็ตาม สโมสรต้องเผชิญกับปัญหาภายในมากมาย เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธการต่อสัญญากับบิเซนเต เดล โบสเก หลังเกิดความขัดแย้งกับกัปตันทีมเฟร์นันโด เฮียร์โร ตามมาด้วยการอำลาสโมสรโดยผู้เล่นหลายราย รวมถึงกองกลางคนสำคัญอย่าง โกลด มาเกเลเล ซึ่งต่อต้านสโมสรด้วยการไม่ร่วมการฝึกซ้อม เนื่องจากไม่พอใจที่เขาได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวัง เป็นผลให้เขาย้ายร่วมทีมเชลซีในเวลาต่อมา[40] สโมสรเซ็นสัญญากับการ์ลุช ไกรอช ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ถัดมา ในฤดูกาล 2005–06 สโมสรได้ซื้อผู้เล่นมากมาย เช่น จูลีโอ บาปติสตา, โรบินยู และ เซร์ฆิโอ ราโมส แต่ทีมมีผลงานย่ำแย่รวมถึงการแพ้บาร์เซโลนา 0–3 ที่สนามของตนเองในเดือนพฤษจิกายน ค.ศ. 2005 ส่งผลให้ ฟานเดอร์เริล ลักเซมบูร์กู ผู้จัดการทีมในขณะนั้นถูกปลดในเดือนต่อมา เขาถูกแทนที่โดย ฆวน ราโมส โลเปซ การ์โล ซึ่งมาคุมทีมในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง โดยราโมสนำสโมสรได้รองแชมป์ลาลิกา แต่ตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้อาร์เซนอล และเปเรซได้ประกาศยุติการเป็นประธานสโมสรเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล

ราโมน กัลเดรอน (ค.ศ. 2006–2009)

สโมสรได้แต่งตั้งประธานคนใหม่คือ ราโมน กัลเดรอน และกลับมาคว้าแชมป์ลาลิกาได้ ด้วยฝีมือของ ฟาบีโอ กาเปลโล ที่กลับมาคุมทีมอีกครั้ง โดยทีมขายนักเตะชื่อดังออกไปหลายคนรวมถึง เดวิด เบคแคม, ลูอิช ฟีกู, โรนัลโด และซีเนดีน ซีดาน ที่ประกาศเลิกเล่น แต่ก็ซื้อนักเตะใหม่เข้ามาเสริมทีม เช่น มาร์เซลู วีเอรา, กอนซาโล อิกัวอินและ รืด ฟัน นิสเติลโรย สโมสรคว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 30 ในฤดูกาล 2006–07 ซึ่งเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบ 4 ฤดูกาล โดยการลุ้นแชมป์ต้องลุ้นกันถึงนัดสุดท้ายในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2007 โดยเรอัลมาดริดพบกับเอร์เรเซเด มายอร์กาที่ซานเตียโก เบร์นาเบว ในขณะคู่แข่งลุ้นแชมป์อีกสองทีมอย่างบาร์เซโลนาและเซบิยาแข่งขันกับกิมนาสติก ตาร์ราโกนา และ บิยาร์เรอัลตามลำดับ เรอัลมาดริดตกเป็นฝ่ายตามหลังในครึ่งแรก ในขณะที่บาร์เซโลนานำคู่แข่งถึง 3–0 อย่างไรก็ตาม เรอัลมาดริดสามารถทำ 3 ประตูในครึ่งหลังและชนะไปด้วยผลประตู 3–1 แม้จะพาทีมคว้าแชมป์ แต่กาเปลโลก็ถูกปลด[41]

ต่อมา ในฤดูกาล 2007–08 แบรนด์ ชูสเตอร์ อดีตผู้เล่นชื่อดังในช่วงทศวรรษที่ 1980 ของเรอัลมาดริด และ บาร์เซโลนา เข้ามาคุมทีม โดยทำการซื้อผู้เล่นที่มีประสบการณ์ เช่น เปปี, เวสลีย์ สไนเดอร์ และ อาร์เยิน รอบเบิน แต่ผลงานในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกไม่ประสบความสำเร็จ โดยตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยการแพ้โรม่า แต่ยังคว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 31 ได้ ต่อมา ในฤดูกาล 2008–09 ชูสเตอร์นำทีมคว้าแชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาด้วยการชนะบาเลนเซีย ก่อนจะถูกปลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ฆวนเต ราโมส เข้ามาคุมทีมต่อแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พวกเขาแพ้ลิเวอร์พูลรวมผลประตูสองนัดไปถึง 0–5 และทำได้เพียงจบอันดับ 2 ลาลิกา รวมถึงแพ้บาร์เซโลนาในบ้านตนเองไปถึง 2–6 ทำให้ราโมสถูกปลด

การกลับมาของเปเรซ และกาลักติโกสยุคที่สอง (ค.ศ. 2009–ปัจจุบัน)

คริสเตียโน โรนัลโด ผู้ทำประตูมากที่สุดตลอดกาลของสโมสร ย้ายร่วมทีมด้วยค่าตัว 80 ล้านปอนด์ซึ่งเป็นสถิติโลกใน ค.ศ. 2009

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2009 โฟลเรนตีโน เปเรซ อดีตประธานสโมสรได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง[42][43] เปเรซมีแผนที่จะสร้างทีม กาลักติโกส ขึ้นมาอีกครั้ง โดยคนแรกที่ซื้อมาคือ กาก้า จากเอซี มิลาน ด้วยค่าตัว 65 ล้านยูโร[44] และคริสเตียโน โรนัลโด ปีกชื่อดังจากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัวสถิติโลกในขณะนั้น 80 ล้านยูโร ด้วยจุดประสงค์เพื่อสร้างทีมรวมดาราโลกหรือโลสกาลักติโกสยุคที่สอง และเซ็นสัญญากับมานูเอล เปเลกรินิ ซึ่งพาทีมจบอันดับสองในลาลิกาแม้จะทำไปถึง 96 คะแนน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของสโมสรในขณะนั้น และยังตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยการแพ้ออแล็งปิกลียอแน อาการบาดเจ็บเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ของโรนัลโดทำให้ผลงานของทีมในปีนี้ไม่ประสบความสำเร็จ[45] แม้เขาจะทำไปถึง 33 ประตูในทุกรายการ และเรอัลมาดริดยังทำสถิติยิง 102 ประตูในลาลิกา พวกเขายังทำสถิติเป็นทีมรองแชมป์ที่ทำคะแนนสูงที่สุดในห้าลีกใหญ่ของยุโรป ก่อนที่จะถูกทำลายโดยลิเวอร์พูลในฤดูกาล 2018–19 (97 คะแนน)[46][47]

โชเซ มูรีนโญ (ค.ศ. 2010–2013)

หลังจากสัญญาของเปเยกรีนีได้หมดลง เปเรซเซ็นสัญญากับโชเซ มูรีนโยในฤดูกาล 2010–11[48][49] ซึ่งสร้างทีมขึ้นมาต่อกรกับบาร์เซโลนาได้อย่างสูสีในทุกตำแหน่ง และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดของลาลิกา ก่อนจะพาทีมได้รองแชมป์ลาลิกาแม้จะทำไปถึง 92 คะแนน และยังได้แชมป์โกปาเดลเรย์ ด้วยการเอาชนะบาร์เซโลนา 1–0 ในช่วงต่อเวลา แต่ก็แพ้บาร์เซโลนาในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–3 แต่ยังถือเป็นการเข้ารอบรองชนะเลิศรายการนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2002–03 นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 16 เมษายนถึง 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ทั้งเรอัลมาดริดและบาร์เซโลนายังลงแข่งขันเอลกลาซิโกร่วมกันถึง 4 นัดซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก การแข่งขันนัดแรกเป็นการพบกันในลาลิกา จบลงด้วยผลเสมอ 1–1 (ทำสองทีมได้ประตูจากลูกจุดโทษ), ตามมาด้วยรอบชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ (เรอัลมาดริดชนะ 1–0 ในช่วงต่อเวลา 120 นาที) ปิดท้ายด้วยการพบกันสองนัดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกวันที่ 27 เมษายน (เรอัลมาดริดเปิดบ้านแพ้ 0–2) และ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 (เสมอ 1–1)[50] เรอัลมาดริดยังยิง 102 ประตูในลีกเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยโรนัลโดทำไปถึง 40 ประตูในลาลิกาและคว้ารางวัลรองเท้าทองคำยุโรป

ในฤดูกาล 2011–12 เรอัลมาดริดคว้าแชมป์ลาลิกาได้เป็นสมัยที่ 32 และเป็นทีมแรกของสเปนที่ทำ 100 คะแนน และยังยิงประตูคู่แข่งได้มากถึง 121 ประตู[51] และโรนัลโดกลายเป็นผู้เล่นที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการทำประตูมากกว่า 100 ลูกในประวัติศาสตร์ลีกสเปน โดย0ทำประตู 101 ประตูจากการลงเล่นแค่ 92 นัด แซงสถิติของเฟเรนส์ ปุชคัช อดีตผู้เล่นชาวฮังการีของสโมสรที่ทำ 100 ประตูจากการลงเล่น 105 นัด โรนัลโดยังถือเป็นผู้เล่นคนแรกของสโมสรที่ทำประตูในทุกรายการสูงที่สุดในหนึ่งฤดูกาล (60 ประตู) และยังเป็นผู้เล่นคนแรกที่ยิงประตูคู่แข่งได้ครบทั้ง 19 สโมสรในลาลิกาภายในฤดูกาลเดียว[52][53] พวกเขายังลงแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นฤดูกาลที่ 15 ติดต่อกัน แต่ตกรอบรองชนะเลิศอีกครั้งโดยแพ้จุดโทษไบเอิร์นมิวนิกหลังเสมอกันด้วยผลประตูรวม 3–3 และยังตกรอบก่อนรองชนะเลิศโกปาเดลเรย์ที่พวกเขาเป็นแชมป์เก่า โดยแพ้บาร์เซโลนาด้วยผลประตูรวม 3–4 ต่อมา ในฤดูกาล 2012–13 มูรีนโยมีปัญหากับนักเตะอาวุโสของทีม เช่น อีเกร์ กาซียัส และ เซร์ฆิโอ ราโมส ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลและผู้บริหาร และเมื่อสโมสรไม่ได้แชมป์รายการใด ๆ รวมถึงแพ้อัตเลติโกเดมาดริด 1–2 ในนัดชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ ทำให้มูรีนโยถูกปลด[54] ความสำเร็จในฤดูกาลนี้มีเพียงแชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาจากการชนะบาร์เซโลนา พวกเขาตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นปีที่สามติดต่อกัน ด้วยการแพ้ดอร์ทมุนท์ด้วยผลประตูรวม 3–4 ในฤดูกาลนี้สโมรยังเซ็นสัญญากับลูกา มอดริช มาจากทอตนัมฮอตสเปอร์ด้วยราคา 33 ล้านปอนด์[55]

อันเชลอตตี และลาเดซีมา (ค.ศ. 2013–2015)

เรอัลมาดริดคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพ / ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 10 ใน ค.ศ. 2014

ในฤดูกาล 2013–14 การ์โล อันเชลอตตี เข้ามารับตำแหน่ง และยังมีการลงทุนในตลาดซื้อขายด้วยการเซ็นสัญญากับแกเร็ธ เบล นักเตะระดับโลกชาวเวลส์จากสเปอร์ด้วยค่าตัวสถิติโลก 100 ล้านยูโร รวมทั้งแต่งตั้งซีเนดีน ซีดานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม และในฤดูกาลแรก เรอัลมาดริดจบอันดับสามแม้จะขึ้นเป็นทีมนำอยู่หลายสัปดาห์ และทำประตูในลีกไปถึง 104 ประตู แต่คว้าแชมป์โกปาเดลเรย์ได้โดยชนะบาร์เซโลนา 2–1 ซึ่งเบลทำประตูชัยได้ ในส่วนของการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พวกเขาเข้าชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยเอาชนะแชมป์เก่าอย่างไบเอิร์นมิวนิกในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 5–0[56] และในรอบชิงชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะคู่อริอย่างอัตเลติโกเดมาดริดในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วยผลประตู 4–1 คว้าแชมป์สมัยที่ 10 และถือเป็นแชมป์ครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 2002 และยังทำสถิติเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครบ 10 สมัย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มีชื่อเรียกกันว่า ลาเดซีมา (La Decima) และสามประสานในแนวรุกของทีมอย่างโรนัลโด, เบล และเบนเซมา ยังทำประตูทุกรายการรวมกันถึง 97 ประตู[57]

ในฤดูกาลต่อมา สโมสรเซ็นสัญญากับ เกย์ลอร์ นาบัส, โทนี โครส และ ฮาเมส โรดริเกซ[58] ก่อนจะชนะเซบิยาในยูฟ่าซูเปอร์คัพ แต่ก็ต้องเสียผู้เล่นคนสำคัญโดยปล่อยตัว ชาบี อาลอนโซ ให้แก่ไบเอิร์นมิวนิก รวมถึง อังเฆล ดิ มาริอา ซึ่งย้ายร่วมทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งได้รับการตอบสนองในเชิงลบจากกลุ่มผู้สนับสนุนของสโมสร รวมทั้งผู้เล่นคนสำคัญอย่างโรนัลโดซึ่งกล่าวว่า "หากผมอยู่ในสถานะที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ผมจะทำในสิ่งที่ต่างออกไป (ไม่ขายผู้เล่นทั้งสองราย)" เรอัลมาดริดเริ่มต้นฤดูกาลในลาลิกาด้วยผลงานที่ไม่น่าประทับใจ แต่ก็กลับมาทำผลงานได้ดีโดยชนะติดต่อกัน 22 นัด รวมทั้งชนะบาร์เซโลนา และ ชนะลิเวอร์พูลในรายการยุโรป ทำลายสถิติการชนะติดต่อกันจำนวน 18 นัดของบาร์เซโลนาในฤดูกาล 2005 ซึ่งคุมทีมโดยฟรังก์ ไรการ์ด ต่อมา สโมสรคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก โดยเอาชนะซานโลเรสโซเดอัลมาโกรในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 ก่อนที่พวกเขาจะถูกหยุดสถิติชนะรวดเมื่อแพ้บาเลนเซีย กระนั้น พวกเขายังทำผลงานได้ดีและมีลุ้นแชมป์ลาลิกาและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกถึงช่วงท้าย แต่ก็พลาดแชมป์ทุกรายการที่เหลือ แม้จะทำไปถึง 92 คะแนนในลาลิกา และทำประตูได้ถึง 118 ประตู เป็นรองทีมแชมป์อย่างบาร์เซโลนาเพียงสองคะแนน และตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้ยูเวนตุสด้วยผลประตูรวมสองนัด 2–3 โรนัลโดทำประตูในลาลิกาฤดูกาลนี้จำนวน 48 ประตู และคว้ารางวัลรองเท้าทองคำสมัยที่สี่ และทำประตูรวมทุกรายการไปถึง 61 ประตู อันเชลอตตีถูกปลดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015

ยุคของซีดาน (ค.ศ. 2015–2018)

ซีเนดีน ซีดาน พาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยติดต่อกัน
ผู้เล่นสโมสรชุดที่ชนะเลิศลาลิกาฤดูกาล 2016–17 ถ่ายภาพร่วมกับ คริสตินา ซิฟูเอนเตส ประธานชุมชนแห่งแคว้นมาดริด

ในฤดูกาล 2015–16 ราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามาคุมทีมด้วยสัญญาสามปี แต่ทำผลงานย่ำแย่จนถูกปลด ซีดานซึ่งในขณะนั้นคุมทีมสำรองอยู่เข้ามาคุมทีมแทน[59] และพาทีมคว้ารองแชมป์ลาลิกาด้วยคะแนน 90 คะแนน เป็นรองบาร์เซโลนาเพียงคะแนนเดียว[60] ก่อนที่เรอัลมาดริดจะคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 11 โดยเอาชนะอัตเลติโกเดมาดริดในการดวลจุดโทษหลังจากเสมอกัน 1–1 ความสำเร็จในครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่า "La Undécima"[61]

ต่อมา ในฤดูกาล 2016–17 เรอัลมาดริดเริ่มต้นด้วยการคว้าแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพด้วยการเอาชนะเซบิยา[62] และในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2016 สโมสรทำสถิติชนะติดต่อกันทุกรายการ 35 นัดซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสโมสร[63] ตามด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก โดยเอาชนะคาชิมะ แอนต์เลอส์ ในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตู 4–2[64] และจากผลเสมอกับเซบิยา 3–3 ในนัดที่สองของโกปาเดลเรย์รอบ 16 ทีมสุดท้ายวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2017 ส่งผลให้พวกเขาเข้ารอบต่อไปด้วยผลประตูรวม 6–3 และทำสถิติไม่แพ้ทีมใดรวมทุกรายการติดต่อกัน 40 นัด ทำลายสถิติเดิมของบาร์เซโลนาในฤดูกาลที่แล้ว[65] ก่อนที่สถิติจะสิ้นสุดลงในอีกสามวันถัดมา เมื่อพวกเขาบุกไปแพ้บาร์เซโลนา 1–2 ในลาลิกา[66] และยังตกรอบก่อนรองชนะเลิศโกปาเดลเรย์โดยแพ้เซลตาเดบิโก ด้วยผลประตูรวม 3–4 แต่พวกเขายังรักษาผลงานในลีกได้อย่างยอดเยี่ยม โดยคว้าแชมป์ลาลิกาได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ถือเป็นแชมป์สมัยที่ 33 และเป็นแชมป์สมัยแรกในรอบห้าปี ด้วยคะแนน 93 คะแนน[67] ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2017 เรอัลมาดริดป้องกันแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ และถือเป็นแชมป์สมัยที่ 12 และเป็นแชมป์สมัยที่สามในรอบสี่ฤดูกาลหลังสุด โดยเอาชนะยูเวนตุส 4–1 ทำสถิติเป็นสโมสรแรกที่ป้องกันแชมป์ได้นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาจากยูโรเปียนคัพ และเป็นทีมแรกที่ป้องกันแชมป์ได้นับตั้งแต่เอซีมิลานใน ค.ศ. 1989 และ 1990[68] ความสำเร็จในครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่า "La Duodécima"[69] ฤดูกาล 2016–17 เป็นฤดูกาลที่เรอัลมาดริดประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร โดยคว้าแชมป์ได้ถึง 4 จาก 5 รายการ

เรอัลมาดริดเริ่มต้นฤดูกาล 2017–18 ด้วยการป้องกันแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพ โดยเอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 2–1 คว้าแชมป์สมัยที่ 4 สามวันต่อมา พวกเขาบุกไปเอาชนะบาร์เซโลนา 3–1 ในนัดแรกของซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 2017 และเอาชนะในนัดที่สอง 2–0 รวมผลสองนัด 5–1 คว้าแชมป์รายการที่ 2 ของฤดูกาล[70] ต่อมา ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2017 เรอัลมาดริดเป็นสโมสรแรกที่ป้องกันแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกได้ หลังจากเอาชนะ เกรมิโอ อเลเกรนเซจากบราซิล 1–0[71] ซีดานยังคงพาเรอัลมาดริดเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสามสมัยติดต่อกัน หลังจากเอาชนะลิเวอร์พูลในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 และเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่ไบเอิร์นมิวนิกทำได้ใน ค.ศ. 1976 ในชื่อยูโรเปียนคัพ และเป็นแชมป์สมัยที่ 4 ในรอบ 5 ฤดูกาลหลังสุด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 เพียงห้าวันหลังจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศสิ้นสุดลง ซีดานได้ประกาศอำลาสโมสรอย่างเหนือความคาดหมาย โดยให้เหตุผลว่าสโมสรต้องการการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ ๆ[72] นอกจากนี้ยังมีการประกาศว่า คริสเตียโน โรนัลโด จะอำลาสโมสรเช่นกัน

การอำลาทีมของซีดานและโรนัลโดถือเป็นจุดสิ้นสุดของ โลสกาลักติโกส ในยุคที่สองไปโดยปริยาย โดยทีมชุดนี้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ยุโรป 4 สมัย, แชมป์ลาลิกา 2 สมัย, แชมป์โกปาเดลเรย์ 2 สมัย, แชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 2 สมัย, แชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 3 สมัย และ แชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 3 สมัย ทีมชุดนี้ยังได้รับการยกย่องในฐานะที่หยุดความยิ่งใหญ่ของบาร์เซโลนาลงได้ แม้บาร์เซโลนาจะทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งในประเทศและระดับทวีป[73] และดูเหมือนว่าโชคจะไม่เข้าข้างเรอัลมาดริดเท่าไรนักในการแข่งขันลาลิกาตลอด 9 ฤดูกาลที่ผ่านมา แม้พวกเขาจะทำผลงานยอดเยี่ยม แต่หลายครั้งที่พวกเขาทำได้เพียงการคว้ารองแชมป์ แม้จะทำคะแนนได้ถึง 96 คะแนน, 92 คะแนน (2 ครั้ง) และ 90 คะแนน รวมทั้งการได้อันดับสามด้วยการมี 87 คะแนนซึ่งน้อยกว่าทีมแชมป์เพียงสามคะแนน[74]

โลเปเตกี และ การกลับมาของซีดาน (ค.ศ. 2018–2021)

ยูเลน โลเปเตกี เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีม โดยโลเปเตกีซึ่งรับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติสเปนในขณะนั้นได้ถูกปลดอย่างกระทันหัน เพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เนื่องจากสมาคมฟุตบอลสเปนไม่พอใจที่โลเปเตกีไปเจรจาเพื่อมาคุมทีมเรอัลมาดริดลับหลังโดยไม่แจ้งให้สมาคมทราบ[75] สโมสรมีการซื้อขายผู้เล่นหลายตำแหน่งรวมถึงการขายโรนัลโดให้แก่ยูเวนตุส ด้วยราคา 117 ล้านยูโร ทีมเริ่มต้นฤดูกาล 2018–19 ด้วยการแพ้อัตเลติโกเดมาดริดด้วยผลประตู 2–4 ในช่วงต่อเวลาของยูฟ่าซูเปอร์คัพ และหลังจากความพ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อบาร์เซโลนาด้วยผลประตู 1–5 ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ซึ่งเรอัลมาดริดได้ตกไปอยู่อันดับ 9 โลเปเตกรีได้ถูกปลด[76]

ผู้ฝึกสอนทีมสำรอง ซานตีอาโก โซลารี เข้ามารักษาการแทน โดยในเดือนธันวาคม สโมสรชนะเลิศแชมป์สโมสรโลกสมัยที่ 4 แต่ไปแพ้ อาเอฟเซ อายักซ์ ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก หยุดสถิติผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ 8 ฤดูกาลติดต่อกัน ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 ซีดานกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง สโมสรจบฤดูกาลในลาลิกาด้วยการมีเพียง 68 คะแนน น้อยที่สุดนับตั้งแต่ฤดูกาล 2001–02[77][78][79] ในตลาดซื้อขายนักเตะฤดูกาล 2019–20 ทีมเซ็นสัญญากับนักเตะหลายราย เช่น เอเดน อาซาร์ จากเชลซี รวมถึง ลูกา โยวิช, เอแดร์ มิลิเตา, เฟลอลอง เมนดี, โรดริโก เป็นเงินกว่า 350 ล้านยูโร ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 เรอัลมาดริดชนะอัตเลติโกเดมาดริดในซูเปอร์โคปาเดเอสปาญา คว้าแชมป์สมัยที่ 11 และภายหลังจากการหยุดพักการแข่งขัน 3 เดือนของลาลิกาด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนา เรอัลมาดริดชนะ 10 นัดติดต่อกัน คว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 34 แต่แพ้แมนเชสเตอร์ซิตี ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และตกรอบโกปาเดลเรย์โดยแพ้เรอัลโซซิเอดัด

การกลับมาของอันเชลอตตี (ค.ศ. 2021–ปัจจุบัน)

ผู้เล่นเรอัลมาดริดถ่ายภาพกับสองถ้วยรางวัลใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022

ซีดานได้ลาออกหลังจบฤดูกาล 2020–21 และอันเชลอตตีกลับมาคุมทีมอีกครั้งในฤดูกาล 2021–22[80][81] ซึ่งในฤดูกาลนี้ สโมสรต้องเสียกัปตันทีมคนสำคัญอย่าง เซร์ฆิโอ ราโมส ซึ่งไม่ได้รับการต่อสัญญา และย้ายไปร่วมทีมปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง และในเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 สโมสรคว้าแชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาสมัยที่ 12 หลังจากชนะอัตเลติกเดบิลบาโอในนัดชิงชนะเลิศ 2–0[82] และคว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 35 ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2022 ทั้งที่ยังเหลือการแข่งขันถึง 4 นัด[83] อันเชลอตตียังเป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่ชนะเลิศการแข่งขันลีกสูงสุดในฐานะผู้จัดการทีมครบ 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ได้แก่ ลาลิกา, พรีเมียร์ลีก, ลีกเอิง, เซเรียอา และบุนเดิสลีกา ก่อนจะคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยที่ 14 โดยเอาชนะลิเวอร์พูล 1–0 ณ สนามสตาดเดอฟร็องส์ จากประตูของวีนีซียุส ฌูนีโยร์[84] ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์สโมสรที่ชนะเลิศทั้งลาลิกา และยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาลเดียวกัน อันเชลอตตียังถือเป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่ชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฐานะผู้จัดการทีม 4 สมัย และถือเป็นแชมป์สมัยที่สองของเขากับเรอัลมาดริด[85] การแข่งขันในปีนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการคว้าแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสโมสร เมื่อเส้นทางการแข่งขันของพวกเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเอาชนะเชลซีทีมแชมป์เก่า รวมถึงสองทีมเต็งแชมป์อย่างแมนเชสเตอร์ซิตี และปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ซึ่งพวกเขาต้องตกเป็นรองในนัดที่สองของการแข่งขันทุกรอบ แต่สามารถเอาตัวรอดได้[86]

เรอัลมาดริดคว้าสามถ้วยรางวัลในฤดูกาล 2022–23 ได้แก่ แชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพ โดยเอาชนะไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ท 2–0 ทำสถิติเป็นหนึ่งในสามสโมสรที่คว้าแชมป์รายการนี้สูงสุดที่ห้าสมัย, แชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก โดยเอาชนะสโมสรอัลฮิลาล 5–3 และแชมป์โกปาเดลเรย์ โดยเอาชนะโอซาซูนา 2–1 แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในสองรายการสำคัญ โดยจบอันดับสองในลาลิกาด้วยคะแนนน้อยกว่าบาร์เซโลนาถึงสิบคะแนน และตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้แมนเชสเตอร์ซิตีด้วยผลประตูรวดสองนัด 1–5 และยังแพ้บาร์เซโลนาในซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาด้วยผลประตู 1–3

ฤดูกาล 2023–24 ถือเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา จากการชนะบาร์เซโลนา 4–1 ตามด้วยการคว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 36 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 ด้วยคะแนนสูงถึง 95 คะแนน ถือเป็นคะแนนที่พวกเขาทำได้มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากการทำ 100 คะแนนในฤดูกาล 2011–12 และเป็นแชมป์ลีกสมัยที่สามในรอบห้าปีหลังสุด ในส่วนของการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เรอัลมาดริดเอาชนะแอร์เบ ไลพ์ซิช ในรอบ 16 ทีม ตามด้วยการเอาชนะจุดโทษแชมป์เก่าอย่างแมนเชสเตอร์ซิตีในรอบก่อนรองชนะเลิศ ผ่านเข้าไปพบไบเอิร์นมิวนิก การแข่งขันนัดแรกจบลงด้วยผลเสมอ 2–2 และเรอัลมาดริดกลับไปเอาชนะในบ้าน 2–1 จากประตูของโฆเซลูในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ สโมสรคว้าแชมป์สมัยที่ 15 จากการชนะโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ 2–0 หลังจบฤดูกาล เรอัลมาดริดประกาศว่า กีลียาน อึมบาเป จะย้ายมาจากปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2024 ถือเป็นหนึ่งในการย้ายทีมครั้งใหญ่ และได้รับการจับตามองที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลสมัยใหม่[87] เรอัลมาดริดเริ่มต้นฤดูกาล 2024–25 ด้วยแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพสมัยที่หก โดยเอาชนะอาตาลันตา 2–0 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2024

สนามเหย้า

เรอัลมาดริดลงเล่นในสนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว จากจุดเริ่มต้นใน ค.ศ. 1944[88] สนามแห่งนี้มีชื่อเดิมว่าสนามกีฬาชามาร์ติน (Estadio Chamartín) ก่อนจะเปิดใช้จริงใน ค.ศ. 1947 และมาเปลี่ยนชื่อเป็น ซานเตียโก เบร์นาเบว เยสเต (Santiago Bernabéu Yeste) ใน ค.ศ. 1955 เพื่อยกย่องและให้เกียรติประธานสโมสรในขณะนั้น

แต่เดิมสนามแห่งนี้รับผู้ชมได้เต็มที่รวมทั้งตั๋วยืนถึง 120,000 คน แต่ต่อมายูฟ่าออกกฎไม่ให้มีผู้ยืนเข้าชม จึงมีการปรับเปลี่ยนโดยขยายพื้นที่และติดตั้งที่นั่งเพิ่มเติมอีก 5000 ที่นั่งในปี 2003 ทำให้สนามนี้มีที่นั่งทลดลง ที่นี่เคยเป็นสนามแข่งขันฟุตบอลโลกใน ค.ศ. 1982 มาแล้ว และรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เคยอาศัยที่นี่เป็นสนามแข่งนัดชิงชนะเลิศถึง 4 ครั้ง คือ ในปี 1957 ,1969, 1980 และ 2010 ตามเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสร ความจุปัจจุบันคือ 81,044[89]

บรรยากาศภายในสนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว

ตราสัญลักษณ์และสี

ผู้ผลิตชุดและผู้สนับสนุน

ช่วงเวลา ผู้ผลิตชุด ผู้สนับสนุน
1980–1982 อาดิดาส ไม่มี
1982–1985 ซานุสซี
1985–1989 ฮัมเมล ปาร์มาลัต
1989–1991 เรนีปิกอต
1991–1992 โอไตซา
1992–1994 เทคา
1994–1998 เกลเม
1998–2001 อาดิดาส
2001–2002 Realmadrid.com*
2002–2005 ซีเมนส์โมไบล์
2005–2006 ซีเมนส์
2006–2007 เบนคิว ซีเมนส์
2007–2011 บีวิน
2011–2013
2013–2018 ฟลายเอมิเรตส์

*Realmadrid.com ปรากฏอยู่บนเสื้อเพื่อเป็นการโฆษณาเว็บไซต์ใหม่ของสโมสร

สโมสรคู่แข่ง

เอลกลาซิโก

เอลกลาซิโกในปี 2011

เรอัลมาดริดเป็นอริกับบาร์เซโลนามายาวนาน การพบกันระหว่างทั้งสองทีมมักมีเรื่องของการเมือง ความรุนแรง และการเรียกร้องเสรีภาพ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของชาวกาตาลากับรัฐบาลสเปนมายาวนาน เนื่องจากชาวกาตาลามีความคิดที่จะแยกตัวเป็นอิสระออกจากการปกครองของสเปน การพบกันของทั้งสองทีมเรียกว่าศึก "เอลกลาซิโก" ปมแห่งความขัดแย้งเริ่มต้นตั้งแต่ที่ราชรัฐกาตาลุนญ่า ที่มีบาร์เซโลน่าเป็นเมืองหลวง ถูกแปรสภาพเป็นแคว้นหนึ่งที่ขึ้นตรงกับประเทศสเปน ทำให้เกิดความคิดอยากแบ่งแยกดินแดนตามมา กระทั่งช่วงปี 1899 สโมสรบาร์เซโลน่า ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของชาวกาตาลา[90] ก่อนที่ 3 ปีต่อมา เรอัลมาดริด จะก่อตั้งตามมา เพื่อเป็นตัวแทนของชาวเมืองหลวง ถือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางเชื้อชาติ ผ่านรูปแบบของเกมกีฬา[91]

ต่อมา เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ผู้มีอำนาจอย่าง “นายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก” ได้เชื่อมโยงเรื่องการเมืองกับฟุตบอล และเป็นผู้จุดชนวนให้การเจอกันของทั้งสองทีมทวีความร้อนแรงมากขึ้น[92] เริ่มต้นจากการออกคำสั่งให้บาร์เซโลนาเปลี่ยนชื่อสโมสรจากภาษากาตาลามาเป็นภาษาสเปน ตามด้วยการสังหาร “โจเซป ซุนโยล” ประธานสโมสรบาร์เซโลนา ก่อนใช้อิทธิพลนอกสนามกดดันสมาคมและผู้ตัดสินจนเรอัลมาดริดเอาชนะบาร์เซโลน่าไปถึง 11–1 ในโกปาเดลเรย์ปี 1943 และแทรกแซงการซื้อขาย ปาดหน้าคว้าตัว “อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่” ที่มีข่าวกับบาร์เซโลนาจนก้าวมาเป็นตำนานของเรอัลมาดริด[93][94]

เอลกลาซิโก เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1929 เพียง 2 สัปดาห์ หลังจากลาลิกาก่อตั้งขึ้น เกมในวันนั้น บาร์เซโลนา เปิดสนามเลส คอร์ทส ต้อนรับการมาเยือนของเรอัลมาดริด ซึ่งแฟนบอลเจ้าถิ่นที่เข้ามาเต็มสนามมั่นใจอย่างยิ่งว่าทีมรักของพวกเขาจะคว้าชัยได้ไม่ยาก ทว่ากลับเป็นราชันชุดขาวที่บุกไปชนะ 2–1 หากนับถึงปัจจุบันทั้งสองทีมพบกันมาแล้ว 279 นัด[95] โดยบาร์เซโลนาเอาชนะไปได้ 115 นัด เป็นชัยชนะของเรอัลมาดริด 102 นัด และ เสมอกัน 62 นัด[96] และเอลกลาซิโกยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในการพบกันของสองสโมสรคู่อริที่มีความดุเดือดมากที่สุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์โลกฟุตบอล[97][98][99]

เดร์บิมาดริเลญโญ

เดร์บิมาดริเลญโญปี 2013

เดร์บิมาดริเลญโญ เป็นชื่อเรียกการแข่งขันระหว่างเรอัลมาดริด และ อัตเลติโกเดมาดริด ทั้งสองเป็นอริกันเนื่องจากเป็นสองสโมสรที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงมาดริด ในยุคปัจจุบัน มาดริดดาร์บี้เป็นดาร์บี้แมตช์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในฟุตบอลสเปนรองจากเอลกลาซิโก และถึงแม้ว่าเรอัลมาดริดจะมีฐานแฟนบอลทั่วโลกที่ใหญ่กว่า แต่อัตเลติโกเดมาดริดก็มีฐานแฟนบอลที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากระดับความสำเร็จของพวกเขาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเรอัลมาดริด คือสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยคว้ามาได้ 13 สมัย ในขณะทีอัตเลติโกไม่เคยคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเลย แม้ว่าพวกเขาจะเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศมาแล้ว 3 ครั้ง (แพ้เรอัลมาดริด 2 ครั้ง) แต่พวกเขายังคว้าแชมป์ยูโรปาลีกได้ 3 สมัยตั้งแต่ปี 2010 (เทียบได้กับกับยูฟ่าคัพ 2 สมัยของเรอัลมาดริด) และยูฟ่าซูเปอร์คัพ 3 สมัย (หนึ่งในนั้นคือการชนะเรอัลมาดริด)[100][101]

ก่อนหน้านี้อัตเลติโกเดมาดริดตกยุคใต้ร่มเงาของราชันชุดขาวมาโดยตลอด หลังจากไม่ชนะในเกมดาร์บีนานถึง 14 ปี (1999–2013) หรือนับเป็นจำนวนกว่า 15 นัด กระทั่ง ดีเอโก ซิเมโอเน เข้ามาคุมทีมก็ทำสถิติได้ดีขึ้น พวกเขาชนะ 8 จาก 25 เกมดาร์บีนับจากนั้น โดยเป็นการเสมออีก 10 นัด และแพ้ 7 นัด[102]

การเงินและเจ้าของ

นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารของ โฟลเรนติโน เปเรซ เรอัลมาดริดได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดในแง่ของการตลาด สโมสรได้ยกส่วนหนึ่งของสนามฝึกซ้อมให้กับเมืองมาดริดในปี 2001 และขายส่วนที่เหลือให้กับบริษัทสี่แห่ง ได้แก่ Repsol YPF, Mutua Automovilística de Madrid, Sacyr Vallehermoso และ OHL การขายครั้งนี้ช่วยขจัดหนี้ของสโมสร ปูทางให้สโมสรซื้อนักเตะที่แพงที่สุดในโลก เช่น ซีเนดีน ซีดาน, ลูอิช ฟีกู, โรนัลโด และเดวิด เบคแคม

แม้ว่านโยบายของเปเรซจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางการตลาดที่สูงของสโมสรทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่าสโมสรมุ่งเน้นไปที่ชื่อเสียงด้านการตลาดมากเกินไป ซึ่งสวนทางกับผลงานของทีมในบางฤดูกาล ในเดือนกันยายน 2007 เรอัลมาดริดถือเป็นแบรนด์ฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรปจากการจัดอันดับโดย BBDO และในปี 2008 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสโมสรที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในวงการฟุตบอล โดยมีมูลค่า 951 ล้านยูโร (640 ล้านปอนด์ / 1.285 พันล้านดอลลาร์)[103] เป็นรองเพียงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดซึ่งมีมูลค่า 1.333 พันล้านยูโร (900 ปอนด์) ต่อมา ในปี 2010 เรอัลมาดริด เป็นทีมที่มีรายได้สูงสุดในวงการฟุตบอล

เรอัลมาดริดเป็น 1 ใน 4 สโมสรของฟุตบอลสเปนที่จดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่าแฟนฟุตบอลหรือบุคคลภายนอกที่สนับสนุนด้านการเงินของทีม ทุกคนจะมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทีมร่วมกัน และยังมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งบอร์ดบริหารสโมสร โดยที่ประธานสโมสรจะไม่สามารถนำเงินส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในสโมสรได้[104] และตามกฎของการแข่งขันฟุตบอลสเปนระบุว่า สโมสรจะใช้จ่ายเงินได้เท่าที่หามาได้ในฤดูกาลนั้น ๆ เท่านั้น จะลงทุนซื้อผู้เล่นด้วยงบประมาณที่มากกว่ารายรับมิได้[105] สมาชิกและหุ้นส่วนของสโมสรเรอัลมาดริดมีชื่อเรียกว่า "Socios" โดยใน ค.ศ. 2010 สมาชิก Socios มีจำนวนกว่า 60,000 คนทั่วโลก[106]

ผู้เล่น

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

ณ วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[107]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK เบลเยียม ตีโบ กูร์ตัว
2 DF สเปน ดานิ การ์บาฆัล
3 DF บราซิล แอแดร์ มีลีเตา
4 DF ออสเตรีย เดวิด อาลาบา
5 MF อังกฤษ จูด เบลลิงงัม
6 MF ฝรั่งเศส เอดัวร์โด กามาวีงกา
7 FW บราซิล วีนีซียุส ฌูนีโยร์
8 MF อุรุกวัย เฟเดริโก บัลเบร์เด
9 FW ฝรั่งเศส กีลียาน อึมบาเป
10 MF โครเอเชีย ลูกา มอดริช (กัปตันทีม)
11 FW บราซิล โรดรีกู
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
13 GK ยูเครน อันดรีย์ ลูนิน
14 MF ฝรั่งเศส โอเรเลียง ชัวเมนี
15 MF ตุรกี อาร์ดา กือแลร์
16 FW บราซิล เอ็งดรีกี
17 DF สเปน ลูกัส บัซเกซ
18 DF สเปน เฆซุส บาเยโฆ
19 MF สเปน ดานิ เซบาโยส
20 DF สเปน ฟรัน การ์ซิอา
21 FW สเปน บราฮิม ดิแอซ
22 DF เยอรมนี อันโทนีโอ รือดีเกอร์
23 DF ฝรั่งเศส แฟร์ล็อง แมนดี

บุคลากร

ทีมงานฝ่ายเทคนิคในปัจจุบัน[108]

การ์โล อันเชลอตตี ผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่
ผู้จัดการทีม การ์โล อันเชลอตตี
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ดาวิเด อันเชลอตนี
ผู้ฝึกสอนด้านฟิตเนส อันโตนิโอ พินตัส
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู ลุยซ์ ลอปิซ

ข้อมูลล่าสุด: 1 กันยายน 2021
อ้างอิง: Board of Directors, Organisation

คณะกรรมการและผู้บริหาร

โฟลเรนตีโน เปเรซ ประธานสโมสรคนปัจจุบัน
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่
ประธานสโมสร โฟลเรนตีโน เปเรซ[109]
ประธานกิตติมศักดิ์ อัลเฟรโด ดิ เอสเตฟาโน
รองประธานสโมสรคนที่ 1 เฟร์นันโด เฟร์นานเดซ ตาปีอัส
รองประธานสโมสรคนที่ 2 เปโดร โลเปซ ฆิมิเนซ
เลขานุการคณะกรรมการ เอนรีเก ซานเชซ กอนซาเลซ
อธิบดี โคเซ แอนเจิล ซานเชซ
ผู้อำนวยการสำนักงานของประธานาธิบดี มานูเอล เรดอนโด
ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การสังคม โคเซ ลุยส์ ซานเชซ

เกียรติประวัติ

ระดับ รายการ ชนะเลิศ ฤดูกาล
สเปน

ระดับประเทศ

ลาลิกา[110] 36 1931–32, 1932–33, 1953–54, 1954–55, 1956–57, 1957–58, 1960–61, 1961–62, 1962–63, 1963–64, 1964–65, 1966–67, 1967–68, 1968–69, 1971–72, 1974–75, 1975–76, 1977–78, 1978–79, 1979–80, 1985–86, 1986–87, 1987–88, 1988–89, 1989–90, 1994–95, 1996–97, 2000–01, 2002–03, 2006–07, 2007–08, 2011–12, 2016–17, 2019–20, 2021–22, 2023–24
โกปาเดลเรย์[111] 20 1905, 1906, 1907, 1908, 1917, 1934, 1936, 1946, 1947, 1961–62, 1969–70, 1973–74, 1974–75, 1979–80, 1981–82, 1988–89, 1992–93, 2010–11, 2013–14, 2022–23
ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา[112] 13 1988, 1989*, 1990, 1993, 1997, 2001, 2003, 2008, 2012, 2017, 2019–20, 2021–22, 2023–24
โกปาเอบาดัวร์เต 1 1947
โกปาเดลาลิกา 1 1985
ยุโรป ระดับทวีปยุโรป ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[113] 15 1955–56, 1956–57, 1957–58, 1958–59, 1959–60, 1965–66, 1997–98, 1999–2000, 2001–02, 2013–14, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2021–22, 2023–24
ยูฟ่ายูโรปาลีก[114] 2 1984–85, 1985–86
ยูฟ่าซูเปอร์คัพ[115] 6 2002, 2014, 2016, 2017, 2022, 2024
โลก ระดับโลก อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ[116] 3s 1960, 1998, 2002
ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ[117] 5 2014, 2016, 2017, 2018, 2022
  •   เป็นแชมป์ของรายการดังกล่าวสูงที่สุด

สถิติสำคัญ

ราอูล กอนซาเลซ ผู้ครองสถิติลงเล่นมากที่สุดของสโมสร
  • นักเตะที่ลงสนามมากที่สุด: ราอูล กอนซาเลซ (725 นัด)[118]
  • นักเตะที่ทำประตูมากที่สุด: คริสเตียโน โรนัลโด (450 ประตู)[119]
  • นักเตะที่ทำประตูในลาลิกามากที่สุด: คริสเตียโน โรนัลโด (311 ประตู)[120]
  • นักเตะที่ทำประตูในลาลิกามากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล: คริสเตียโน โรนัลโด (48 ประตู/ 2014–15)[121]
  • นักเตะที่ทำประตูในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมากที่สุด: คริสเตียโน โรนัลโด (129 ประตู)[122]
  • สถิติการซื้อนักเตะแพงที่สุด: เอเดน อาซาร์ (100 ล้านยูโร/ย้ายจากเชลซี ปี 2019)[123], แกเร็ธ เบล (100 ล้านยูโร/ย้ายจากทอตนัมฮอตสเปอร์ ปี 2013)
  • สถิติผู้ชมในสนามมากที่สุด: 83,329 คน (2006)
  • ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: มิเกล มูนอซ (14 ถ้วยรางวัล/ 1959, 1960-74)[124]

ในประเทศไทย

สำหรับชาวไทยที่มีชื่อเสียงที่เป็นผู้สนับสนุนเรอัลมาดริด เช่น ณเดชน์ คูกิมิยะ (นักแสดง), วรินทร ปัญหกาญจน์ (นักแสดง) เป็นต้น เรอัลมาดริดเคยเดินทางมาเตะกับทีมชาติไทย 2 ครั้ง ครั้งแรก ในวันที่ 10 สิงหาคม 2003 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน โดยชนะทีมชาติไทย 2–1[125] และครั้งที่สองวันที่ 25 สิงหาคม 2005 ชนะทีมชาติไทย 3–0[126]

อ้างอิง

  1. "1902-1911". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 2007-09-09.
  2. "Santiago Bernabéu Stadium | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 August 2017.
  3. "Real Madrid - history and facts of the football club". www.footballhistory.org.
  4. "Real Madrid: number of trophies as of April 2021". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  5. "The great European Cup teams: Real Madrid 1955-60 | David Lacey". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2013-05-22.
  6. "Real Madrid 1955-1960". Football's Greatest (ภาษาอังกฤษ).
  7. Rai, Guillermo. "How to manage Los Galacticos. By Vicente del Bosque". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
  8. "Karim Benzema betters Raul record but still 81 behind Cristiano Ronaldo on Real Madrid goal chart | Goal.com". www.goal.com.
  9. "Why Bellingham's Real move makes 'perfect sense'". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-08-01.
  10. Dongfeng Liu, Girish Ramchandani (2012). "The Global Economics of Sport". p. 65. Routledge
  11. "Social media: Real ahead of Barcelona - CIES Football Observatory". football-observatory.com.
  12. News, A. B. C. "Real Madrid first club in world to report €1bn in revenue". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  13. "สโมสรที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20" (PDF). FIFA.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-09-18. Voted exclusively by the readers of the bi-monthly FIFA Magazine on December 2000.
  14. "Former Results" (ภาษาเยอรมัน). 2022-07-18.
  15. UEFA.com. "Ten-year club coefficients | UEFA Coefficients". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  16. Ball, Phil p. 117.
  17. Luís Miguel González. "Pre-history and first official title (1900–1910)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  18. "History — Chapter 1 – From the Estrada Lot to the nice, little O'Donnel pitch". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 11 July 2008.
  19. Luís Miguel González. "Bernabéu's debut to the title of Real (1911–1920)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  20. Luís Miguel González (28 February 2007). "A spectacular leap towards the future (1921–1930)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  21. Luís Miguel González. "The first two-time champion of the League (1931–1940)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 18 July 2008.
  22. "Real Madrid v Barcelona: six of the best 'El Clásicos'". London: The Telegraph. 9 December 2011. สืบค้นเมื่อ 19 December 2011.
  23. 23.0 23.1 Aguilar, Paco (10 December 1998). "Barca - Much more than just a Club". FIFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-29. สืบค้นเมื่อ 19 December 2011.
  24. Ball, Phil (12 December 2003). Morbo: the Story of Spanish Football. WSC Books Ltd. ISBN 978-0-9540134-6-2. สืบค้นเมื่อ 20 December 2011.
  25. Spaaij, Ramn (2006). Understanding football hooliganism: a comparison of six Western European football clubs. Amsterdam: Amsterdam University Press. ISBN 978-90-5629-445-8. สืบค้นเมื่อ 19 December 2011.
  26. Luís Miguel González. "Bernabéu begins his office as President building the new Chamartín Stadium (1941–1950)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  27. Luís Miguel González. "An exceptional decade (1951–1960)". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  28. "uefa.com - Magazine". web.archive.org. 2006-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-20. สืบค้นเมื่อ 2022-08-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  29. "Di Stefano and the five European Cups (1951-1960) | Real Madrid C.F." Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  30. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2007-03-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  31. "The Yeyés and the capture of Di Stéfano (1961-1970) | Real Madrid C.F." Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  32. "Trophy Room". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  33. "European Competitions 1971". RSSS. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  34. "Santiago Bernabéu". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 October 2008.
  35. "The "Quinta del Buitre" era begins". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 11 July 2008.
  36. 36.0 36.1 Luís Miguel González (5 March 2008). "1981–1990 – Five straight League titles and a new record". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  37. "1991–2000 – From Raúl González to the turn of the new millennium". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  38. "Figo's the Real deal". BBC Sport. 24 July 2000. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  39. "2001 – present — Real Madrid surpasses the century mark". Realmadrid.com. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  40. "Chelsea sign Makelele" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2003-09-01. สืบค้นเมื่อ 2024-10-19.
  41. Lowe, Sid (2007-06-18). "Beckham's farewell cut short but he still departs a winner". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-10-19.
  42. "First measures adopted by the Real Madrid Board of Directors". Realmadrid.com. 1 June 2009. สืบค้นเมื่อ 15 August 2011.
  43. "Perez to return as Real president". BBC Sport. 1 June 2009. สืบค้นเมื่อ 3 June 2009.
  44. The Times Madrid Signs Kaká timesonline.co.uk เก็บถาวร 2020-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  45. UEFA.com (2009-10-11). "Ronaldo forced out of Milan meetings | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  46. Bandini, Paolo. "Manchester United, Real Madrid and European Football's Greatest-Ever Runners-Up". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  47. Gouyet, Stefan. "92 Points Not Good Enough for Real Madrid to Win La Liga". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  48. Tynan, Gordon (28 May 2010). "Mourinho to be unveiled at Madrid on Monday after £7m compensation deal". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 31 May 2010.
  49. "Real Madrid unveil José Mourinho as their new coach". BBC Sport. 31 May 2010. สืบค้นเมื่อ 31 May 2010.
  50. "Barcelona 1-1 Real Madrid (3-1)" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-05-03. สืบค้นเมื่อ 2023-12-17.
  51. ลาลิกา ฤดูกาล 2011–12
  52. 21:59 GMT (24 March 2012). "BBC Sport - Cristiano Ronaldo is fastest La Liga player to 100 goals". Bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 19 August 2012.
  53. "Jose Mourinho, Real Madrid earn vindication after La Liga conquest - La Liga News | FOX Sports on MSN". Msn.foxsports.com. 13 May 2012. สืบค้นเมื่อ 19 August 2012.
  54. "Real Madrid confirm Mourinho exit". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-12-17.
  55. Marsden, Samuel. "Real Madrid: Highs and Lows of Their 2012-13 Season". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  56. "Bayern Munich 0-4 Real Madrid (agg 0-5)". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  57. "200 goals by the BBC | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  58. "Real Madrid to unleash new signings Rodriguez and Kroos in Super Cup-Sports News , Firstpost". Firstpost (ภาษาอังกฤษ). 2014-08-12.
  59. ตามคาด! มาดริดปลดราฟา, ตั้งซีดานคุมทัพ
  60. "La Liga (Sky Sports)". SkySports (ภาษาอังกฤษ).
  61. UEFA.com (2016-05-28). "Spot-on Real Madrid defeat Atlético in final again". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  62. UEFA.com (2016-08-09). "Carvajal wonder goal wins Super Cup for Madrid". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  63. "Real Madrid 3-2 Deportivo La Coruna". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  64. "FIFA Club World Cup Japan 2016 - Matches - Real Madrid - FIFA.com". web.archive.org. 2016-12-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-20. สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  65. "Madrid break record at 40 games unbeaten". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-01-12.
  66. "Sevilla just snapped Real Madrid's unbeaten streak one match after they set the record". FOX Sports (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  67. "Malaga 0-2 Real Madrid". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  68. UEFA.com (2017-06-03). "Majestic Real Madrid win Champions League in Cardiff". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  69. Das, Andrew; Smith, Rory (2017-06-03). "How Real Madrid Won Its Second Straight Champions League Title". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  70. Bull, J. J. (2017-08-16). "Real Madrid 2 Barcelona 0 (5-1 on aggregate): Woeful Barca dismissed as Zinedine Zidane's unstoppable side win Super Cup". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  71. "FIFA Club World Cup UAE 2018 - News - Ramos and Real make history in the Emirates". web.archive.org. 2018-12-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-23. สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  72. Pope, Nick (2018-05-31). "Zinedine Zidane Announces His Resignation From Real Madrid". Esquire (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  73. "The 21 greatest teams in football history have been ranked by fans". GiveMeSport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-03-28.
  74. Gouyet, Stefan. "92 Points Not Good Enough for Real Madrid to Win La Liga". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  75. "Julen Lopetegui sacked by Spain as Fernando Hierro takes over". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-06-13.
  76. "Real Madrid sack Julen Lopetegui after humiliation at Barcelona". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-10-29.
  77. "Zinedine Zidane returns to Real Madrid: Why has he come back?". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  78. Macguire, Eoghan. "Zinedine Zidane returns to Real Madrid as coach". CNN.
  79. BrendanPowers9 (2019-05-23). "Real Madrid's 2018 - 2019 Season Overview". Managing Madrid (ภาษาอังกฤษ).
  80. "Carlo Ancelotti returns to Real Madrid as manager after leaving Everton". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-01.
  81. https://www.espn.co.uk/football/real-madrid/story/4399051/carlo-ancelotti-makes-shock-return-to-real-madrid-after-leaving-everton
  82. "Athletic Club 0-2 Real Madrid - Goals and highlights - Supercopa 21/22". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-16.
  83. "Real Madrid clinch 35th La Liga title with four games to spare after victory over Espanyol | Goal.com". www.goal.com.
  84. Allen, William (2022-05-29). "Real Madrid wins the Champions League final against Liverpool: summary, goals, plays..." Diario AS (ภาษาอังกฤษ).
  85. Sportstar, Team. "Carlo Ancelotti becomes first manager to win four Champions League titles". Sportstar (ภาษาอังกฤษ).
  86. "A look back at the road to Paris | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  87. "Real Madrid CF | Web Oficial del Real Madrid CF". Real Madrid CF | Web Oficial del Real Madrid CF (ภาษาสเปน).
  88. "Santiago Bernabéu | Chairman 1943 | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  89. "Estadio Santiago Bernabeu - Real Madrid - Madrid - The Stadium Guide" (ภาษาดัตช์).
  90. "Barça‌ ‌&‌ ‌Madrid,‌ ‌El‌ Clasico ‌|‌ Official‌ ‌FC‌ ‌Barcelona‌ ‌channel". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  91. "[Memologic] "เอล กลาซิโก้" ศึกแห่งศักดิ์ศรี เกมที่พลาดไม่ได้". www.blockdit.com.
  92. "What is El Classico? Definition of El Classico, El Classico Meaning". The Economic Times.
  93. "El Clasico history: Real Madrid vs. Barcelona past scores, results, winners, last meeting and highlights". CBSSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  94. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
  95. "Real Madrid vs Barcelona: Head to Head Record | H2H Results | El Classico History | H2H Stats | Previous Results | La Liga 2021". www.sportco.io.
  96. Roy, Diptanil. "El Clasico Head to Head Record : Real Madrid vs Barcelona H2H results" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  97. "The five reasons why El Clasico is heating up". MARCA in English (ภาษาอังกฤษ). 2019-12-15.
  98. Sport, Standard (2021-04-08). "The history of El Clasico". www.standard.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  99. "NewsNow: El Clasico news | Breaking News & Search 24/7". www.newsnow.co.uk.
  100. McCormack, Kristofer (2019-09-23). "A complete history of the Madrid derby". Managing Madrid (ภาษาอังกฤษ).
  101. "Derbi Madrileño: Atletico Madrid Real Madrid, Madrid Derby". Homefans (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  102. "Real Madrid vs Atletico Madrid: Spain's ferocious capital derby". 90min.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  103. "Real Madrid - Market value analysis". www.transfermarkt.com (ภาษาอังกฤษ).
  104. Andreff, Wladimir; Szymański, Stefan (2006). Handbook on the economics of sport. Edward Elgar Publishing. p. 299
  105. "Doliu la Real Madrid: A murit cel mai vechi suporter". Ziare.com (ภาษาโรมาเนีย).
  106. Peterson, Marc p. 25
  107. "Real Madrid squad". Real Madrid CF. สืบค้นเมื่อ 10 July 2024.
  108. "Official Real Madrid staff in 2021/22". Página web oficial de LaLiga | LaLiga (ภาษาอังกฤษ).
  109. "Florentino Pérez | Chairman actual | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  110. "How the 34th LaLiga title was celebrated | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  111. "This is how the 19th Copa del Rey was won | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  112. "One year since winning the 11th Spanish Super Cup | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  113. "Kings of Europe, the history of Real Madrid's 13 European Cups | Special | Real Madrid". www.realmadrid.com.
  114. "Honours: the football team's triumphs and trophies | Real Madrid C.F." Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  115. UEFA.com. "og-title-scup-team". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  116. "The eleventh anniversary Real Madrid's third Intercontinental Cup | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  117. "The seventh Club World Cup | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  118. 杜娟. "Leaked audio shows Real Madrid president insulting club legends". www.chinadaily.com.cn.
  119. "Cristiano Ronaldo, 450 goals for Real Madrid | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  120. "Ronaldo bags another record". www.theportugalnews.com (ภาษาอังกฤษ).
  121. "Cristiano Ronaldos 48 goals in the 2014/15 La Liga season | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  122. UEFA.com (2021-09-01). "What UEFA records does Cristiano Ronaldo hold?". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  123. "Eden Hazard transfer: Belgian star completes €100m move to Real Madrid | Goal.com". www.goal.com.
  124. "Miguel Muñoz | Real Madrid CF". Real Madrid C.F. - Web Oficial (ภาษาอังกฤษ).
  125. "Thaifootball.Com (Friendly Matches)". www.thaifootball.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
  126. "Thaifootball.Com (Friendly Matches)". www.thaifootball.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.

แหล่งข้อมูลอื่น