เหรียญศารทูลมาลา
เหรียญศารทูลมาลา (อังกฤษ: The Saratul Mala Medal)[1]: 136 [2]: 170 เป็นเหรียญเงินชนิดเดียว สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ข้าราชการซึ่งเป็นเสือป่า ปัจจุบันพ้นสมัยการพระราชทานแล้ว[3]: 237
เหรียญศารทูลมาลา | |
---|---|
มอบโดย พระมหากษัตริย์สยาม | |
อักษรย่อ | ร.ศ.ท. |
ประเภท | เหรียญราชอิสริยาภรณ์ประเภทบำเหน็จในราชการ |
วันสถาปนา | พ.ศ. 2468 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรสยาม |
ภาษิต | เสียชีพอย่าเสียสัตย์ |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | เสือป่าที่ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นเวลา 15 ปีบริบูรณ์ |
สถานะ | พ้นสมัยพระราชทาน |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ล้มเลิก | พ.ศ. 2468 |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เหรียญจักรมาลา เหรียญจักรพรรดิมาลา |
รองมา |
ประวัติ
แก้เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรรจบครบรอบปีที่ 15 ใน พ.ศ. 2468 ซึ่งกองเสือป่าอาสาสมัครได้ดำเนินตามกระแสพระบรมราโชบายมั่นคงเป็นปึกแผ่น เผยแผ่ไปทั่วพระราชอาณาจักรจนประสบผลแล้วซึ่งความยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะสถาปนาเหรียญศารทูลมาลา สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ปฏิบัติราชการเสือป่าด้วยความอุตสาหะ ที่รับราชการมาครบกำหนด 15 ปีบริบูรณ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญศารทูลมาลา พระพุทธศักราช 2468" ขึ้น ประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2468 โดยให้ใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2468[1]: 136
ปัจจุบันเหรียญศารทูลมาลาเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทานแล้ว
ลักษณะ
แก้ตามความใน พระราชบัญญัติเหรียญศารทูลมาลา พระพุทธศักราช 2468 ระบุไว้ว่า "เป็นเหรียญเงินมีสัณฐานเป็นรูปจักร หมายยศเสือป่า[1]: 136 ด้านหน้าเป็นรูปหน้าเสือทรงมงกุฎอยู่กลางในวงจักร ด้านหลังตรงกลางมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ หมายถึง รามรามาธิบดีที่ ๖[3]: 387 มีอักษรจารึกวงรอบข้างบนว่าบำเหน็จแห่งความยั่งยืน มีจารึกอักษรที่วงรอบข้างล่างว่า ในราชการเสือป่า ๑๕ ปี[1]: 136 ที่ร้อยแพรแถบสีดำเหลืองสลับเป็นลายรุ้งเป็นรูปวชิระสองคมมีเข็มกลัดเงิน เบื้องบนแพรแถบจารึกอักษรว่าเสียชีพอย่าเสียสัตย์ สำหรับติดอกเสื้อด้านซ้าย"[1]: 136 [3]: 237
การพระราชทาน และการเรียกคืน
แก้เหรียญศารทูลมาลาพระราชทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติราชการเสือป่า เป็นนายเสือป่า ทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนตั้งแต่ชั้นนายหมู่ใหญ่ขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือผู้ที่ทรงดำริเห็นควร จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ กำหนดเวลาของผู้ที่จะได้รับพระราชทานหรียญศารทูลมาลานี้ ให้นับตั้งแต่วันประกาศของกองเสือป่าอาสาสมัครให้ผู้นั้นเป็นสมาชิก ผู้ออกจากตำแหน่งประจำการเป็นกองหนุนและกองนอกไม่นับเข้าในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทาน เหรียญศารทูลมาลานี้ เมื่อผู้รับพระราชทานสิ้นชีพล่วงลับไปแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ไว้ เป็นที่ระลึกแก่บุตรหลานสืบต่อไป ไม่ต้องส่งคืน แต่ผู้ที่ได้รับต่อ ๆ กันไป จะใช้ติดเหรียญนี้ประดับกายไม่ได้ เป็นแต่พระราชทานให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญศารทูลมาลานี้มีประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธย ประทับพระราชลัญจกรกำกับเป็นสำคัญ
ถ้าผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญศารทูลมาลานี้ มีความผิดต้องถอดจากยศเสือป่า หรือ ยศ บรรดาศักดิ์เมื่อใด ให้เจ้าพนักงานเรียกเหรียญและประกาศนียบัตรคืน ผู้ใดซึ่งเป็นผู้สมควรจะได้รับพระราชทาน ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว แต่ผู้นั้นประพฤติชั่วอย่างใด ๆ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่ายังไม่ควรจะพระราชทาน ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้งดไว้ยังไม่พระราชทาน หรือถ้าได้รับพระราชทานไปแล้ว ภายหลังปรากฏว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตามที่กล่าวมาแล้ว จะโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเหรียญและประกาศนียบัตรคืนตามพระราชดำริเห็นสมควร
อ้างอิง
แก้เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 คณะกรรมการจัดทำสารานุกรมระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2540). สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมลกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 1: พระราชประวัติ บุคคล และเรื่องที่เนื่องในพระองค์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์. ISBN 974-89557-8-8
- ↑ สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหม. (2549). สดุดีจอมทัพไทย. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดทำเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙. กรุงเทพฯ: สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. 399 หน้า. ISBN 978-9-749-75217-3
- ↑ 3.0 3.1 3.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2546). เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง. 411 หน้า. ISBN 978-9-747-77117-6