สันติ ลุนเผ่
สันติ ลุนเผ่ | |
---|---|
สันติ ลุนเผ่ | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | ไพศาล ลุนเผ่ |
เกิด | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2479[1] จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
อาชีพ | นักร้อง, นักดนตรี |
ผลงานเด่น | นักร้องเทเนอร์ |
ศิลปินแห่งชาติ | สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล - ขับร้อง) พ.ศ. 2558 |
เรือตรี สันติ ลุนเผ่ (เกิด 22 มิถุนายน พ.ศ. 2479) นามเดิม ไพศาล ลุนเผ่ เป็นนักร้องชายชาวไทย มีชื่อเสียงในฐานะเป็นนักร้องประจำคณะดุริยางค์แห่งกองทัพไทย และมีน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในผลงานด้านเพลงปลุกใจ, เพลงคลาสสิก และเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะ เพลง "หนักแผ่นดิน", "ความฝันอันสูงสุด", "ทหารพระนเรศวร", "ดุจบิดามารดร", "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย", "แด่ทหารหาญในสมรภูมิ" และ "มาร์ชทหารไทย" สันติได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกโดยวงดนตรีวายุบุตรคือเพลง "คมแสนคม" ผลงานของ เชาว์ แคล่วคล่อง เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเรื่อง "คมแสนคม" ในปี พ.ศ. 2507
สันติ ลุนเผ่ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2558
ประวัติ
[แก้]เรือตรี สันติ ลุนเผ่ เกิดที่บ้านในย่านวัดราชบพิธ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของหม่องลุนเผ่ ซึ่งเป็นนักร้องละครชาวพม่า ที่อพยพมาอยู่ ณ จังหวัดลำปาง แล้วนำชื่อ ลุนเผ่ มาใช้เป็นชื่อสกุล ก่อนย้ายรกรากมายังกรุงเทพมหานคร และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 15713) จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2496[2][3] และศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรือตรี สันติ ชื่นชอบดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่วัยเยาว์บิดาซึ่งชอบฟังคารูโซเป็นผู้สอนร้องเพลงให้ นอกจากนี้ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นลูกศิษย์ของครู สังข์ อสัตถวาสี ครูดนตรีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมวงดนตรีวายุบุตร ของ เชาว์ แคล่วคล่อง และสอบชิงทุนยูธ ลีดเดอร์ชิป (Youth Leadership) ไปศึกษาด้านการเรียบเรียงเสียงประสานที่ประเทศอิสราเอลเป็นผลสำเร็จ จากนั้นจึงกลับมาร่วมวงดนตรีวายุบุตรในตำแหน่งนักกีตาร์ โดยเล่นประจำที่โรงแรมเอราวัณ
วงการเพลง
[แก้]เรือตรี สันติ ได้รับการฝึกฝนดนตรีคลาสสิกจากการร้องเพลงในโบสถ์คริสต์ ฝึกสอนโดยแมรี คลิฟฟอร์ด เจฟฟรีย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน จากการฝากฝังโดยหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา และได้ร่วมเป็นนักร้องเสียงเทเนอร์ในวงดนตรี The Bangkok Combined Choir (BBC) เป็นคนไทยเพียงคนเดียวในวง
ช่วงสงครามเวียดนาม เรือตรี สันติ ได้สอบหลักสูตร ทรีนิตี้ คอรัส ออฟ ลอนดอน ซึ่งเปิดสอบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเกรด 8 เทียบเท่าอนุปริญญา ต่อมาได้ร่วมวงดนตรีโดมิงโกกับนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ ตระเวนเล่นดนตรีตามค่ายทหารอเมริกัน ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีร่วมกับพันจ่าเอกธวัช ไพโรจน์ ประจำที่ภัตตาคารสวนกุหลาบ ซอยอารีย์สัมพันธ์[4]
ในปี พ.ศ. 2518 เรือตรี สันติ มีโอกาสได้ขับร้องเพลงคารูโซถวายต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานเลี้ยงพระราชทานพระกะยาหารเหล่ากาชาดนานาชาติ ร่วมกับวงดุริยางค์กองทัพเรือ โปรดเกล้าฯ ให้นายไพศาลเข้าเฝ้า และรับสั่งให้ร่วมขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงรักชาติ[5] (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้เรียกเพลงปลุกใจ ว่า "เพลงรักชาติ" เนื่องจากคำว่า "เพลงปลุกใจ" สื่อความหมายไปในด้านความรุนแรง)[ต้องการอ้างอิง] ในครั้งนั้นพระพันปีหลวงทรงรับสั่งเรียกชื่อ "สันติ ลุนเผ่" ชื่อ "สันติ" เป็นชื่อในการร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง เขาจึงใช้ชื่อ "สันติ ลุนเผ่" เป็นชื่อจริงมาตั้งแต่นั้นเพื่อความเป็นศิริมงคล
เรือตรี สันติ มีชื่อเสียงจากการขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงรักชาติ เป็นจำนวนมากเช่น ความฝันอันสูงสุด ทหารพระนเรศวร ดุจบิดามารดร เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย แด่ทหารหาญในสมรภูมิ มาร์ชทหารไทย หนักแผ่นดิน ถามคนไทย ได้เข้ารับราชการทหารเรือ ประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ มีหน้าที่สอนขับร้อง และเรียบเรียงเสียงประสาน จนกระทั่งนาวาเอกสำเร็จ นิยมเดช อดีตผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ[6] เสียชีวิต จึงลาออกจากราชการ
ปัจจุบันเรือตรี สันติ ประกอบอาชีพร้องเพลง สอนขับร้องดนตรีคลาสสิก และเป็นที่ปรึกษาคณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล[1]
ผลงาน
[แก้]ละครโทรทัศน์
[แก้]ปี พ.ศ. | เรื่อง | ออกอากาศ | รับบทเป็น | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
2560 | เงาอาถรรพ์ | ช่อง 8 | on Air รับเชิญ |
ภาพยนตร์
[แก้]ภาพยนตร์ | |||
---|---|---|---|
พ.ศ. | เรื่อง | รับบทเป็น | หมายเหตุ |
พ.ศ. 2559 | ขุนพันธ์ | หลวงอดุลย์ (อดุลย์ อดุลเดชจรัส) | รับเชิญ |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2560 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[7]
- พ.ศ. 2506 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- พ.ศ. 2549 – เหรียญกาชาดสรรเสริญ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ต้นฉบับเพลงรักชาติ 'สันติ ลุนเผ่' เก็บถาวร 2008-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 2550 และบทความบางข้อเขียนเกี่ยวกับ "สันติ ลุนเผ่" ในเพลงประกอบภาพยนตร์ โดย เมืองไทย ภัทรถาวงศ์
- ↑ จัดเลี้ยงสังสรรค์ 'อัสสัมชัญรวมรุ่นสมานมิตร 2558' ย้อนวันวาน..., แนวหน้า .วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558
- ↑ งานเลี้ยงอัสสัมชัญรวมรุ่นประสานมิตร เก็บถาวร 2021-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สมาคมอัสสัมชัญ .วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
- ↑ ห้องอาหารสวนกุหลาบ
- ↑ "เพลงปลุกใจของสมเด็จพระเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-18. สืบค้นเมื่อ 2008-09-08.
- ↑ ผู้บังคับบัญชา กองดุริยางค์ทหารเรือ กองทัพเรือกรุงเทพ
- ↑ "ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 48 ข วันที่ 28 กันยายน 2560 หน้า 148" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-11-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2479
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง
- นักร้องจากจังหวัดลำปาง
- นักร้องจากกรุงเทพมหานคร
- ชาวไทยเชื้อสายพม่า
- บุคคลจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
- นักร้องชายชาวไทย
- นักแสดงชายชาวไทย
- ทหารเรือชาวไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์
- บุคคลจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์