วงศ์แอลลิเกเตอร์
วงศ์แอลลิเกเตอร์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคครีเทเชียส - สมัยโฮโลซีน,[1]83–0Ma | |
---|---|
แอลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Archosauria |
ชั้น: | Sauropsida |
อันดับ: | Crocodilia |
วงศ์: | Alligatoridae Gray, 1844 |
วงศ์ย่อย | |
|
วงศ์แอลลิเกเตอร์ (อังกฤษ: Alligator และ Caiman; ชื่อวิทยาศาสตร์: Alligatoridae) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานในอันดับจระเข้ (Crocodylia) ที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ที่แยกออกจากวงศ์ Crocodylidae หรือวงศ์ของจระเข้ทั่วไป
โดยวงศ์แอลลิเกเตอร์ปรากฏขึ้นมายุคครีเตเชียสเป็นครั้งแรก และไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากเดิมมากนักจนถึงปัจจุบันจนอาจเรียกว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตจำพวกหนึ่งก็ว่าได้
รูปร่างและลักษณะของวงศ์แอลลิเกเตอร์ จะแตกต่างจากจระเข้ในวงศ์ Crocodylidae คือ ปลายปากมีลักษณะคล้ายตัวอักษรยู (U) เมื่อหุบปากแล้วฟันที่ขากรรไกรล่างจะสวมเข้าไปในร่องของขากรรไกรบนจึงมองไม่เห็นฟันของขากรรไกรล่าง ส่วนปลายของขากรรไกรล่างซ้ายและขวาเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่แคบ กระดูกเอนโทพเทอรีกอยด์อยู่ห่างจากแถวของฟันที่กระดูกแมคซิลลาเป็นช่องกว้าง กระดูกพาลาทีนมีก้านกระดูกชิ้นยาวอยู่ทางด้านหน้าและยื่นเลยช่องในเบ้าตา พื้นผิวด้านบนของลิ้นมีสารเคอราติน ไม่มีต่อมขจัดเกลือบนลิ้น
แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย คือ Alligatorinae คือ แอลลิเกเตอร์อเมริกัน (Alligator mississippiensis) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด พบได้ในสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวาง และแอลลิเกเตอร์จีน (A. sinensis) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก พบได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีในภาคตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น และ Caimaninae ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อสามัญว่า "จระเข้เคแมน" ซึ่งพบได้ตั้งแต่อเมริกากลางจนถึงทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะมีขนาดเล็ก
โดยแต่เดิมนั้น แอลลิเกเตอร์มีจำนวนสมาชิกของวงศ์มากกว่านี้ แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันในสองวงศ์ย่อยนี้รวมกันแล้วมีจำนวนเพียง 8 ชนิดเท่านั้น[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Family Alligatoridae (Alligators and Caiman) เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน University of Bristol. Quote:"The Alligatoridae appears in the Upper Cretaceous while the genus Alligator first occurs in the Oligocene."
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 368-369 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0