เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส
เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส | |
---|---|
เกิด | 20 สิงหาคม ค.ศ. 1779 แวเวอร์ซุนดา เอิสแตร์เยิตลันด์ สวีเดน |
เสียชีวิต | 7 สิงหาคม ค.ศ. 1848 สต็อกโฮล์ม สวีเดน | (68 ปี)
สัญชาติ | สวีเดน |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยอุปซอลา |
มีชื่อเสียงจาก |
|
รางวัล | เหรียญโคพลีย์ (ค.ศ. 1836) |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
สถาบันที่ทำงาน | สถาบันแคโรลินสกา |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | โยฮัน แอฟเซเลียส |
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก |
บารอน เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส (สวีเดน: Jöns Jacob Berzelius; 20 สิงหาคม ค.ศ. 1779 – 7 สิงหาคม ค.ศ. 1848) เป็นนักเคมีชาวสวีเดน เกิดที่จังหวัดเอิสแตร์เยิตลันด์ บิดามารดาของแบร์ซีเลียสเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก เขาจึงอยู่ในความดูแลของญาติในเมืองลินเชอปิง แบร์ซีเลียสเรียนหนังสือในเมืองนั้นก่อนจะเรียนต่อวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยอุปซอลา เขาเรียนเคมีกับอันเดอร์ส กุสตาฟ เอเกแบร์ก ผู้ค้นพบธาตุแทนทาลัม แบร์ซีเลียสเป็นผู้ช่วยเภสัชกรและแพทย์ก่อนจะเรียนจบในปี ค.ศ. 1802 หลังจากนั้นเขาทำงานเป็นแพทย์ใกล้กรุงสต็อกโฮล์ม ระหว่างปี ค.ศ. 1808–1836 แบร์ซีเลียสร่วมงานกับนักเคมี อันนา ซุนด์สเตริม
ในปี ค.ศ. 1807 แบร์ซีเลียสดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเคมีและเภสัชศาสตร์ที่สถาบันแคโรลินสกา ปีต่อมาแบร์ซีเลียสได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกของราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ในปี ค.ศ. 1818 เขาดำรงตำแหน่งเลขานุการของราชสมาคม แบร์ซีเลียสเป็นภาคีสมาชิกของสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา[1], ราชสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์[2] และสถาบันแห่งสวีเดน ในปี ค.ศ. 1836 ราชสมาคมแห่งลอนดอนมอบเหรียญโคพลีย์ให้แก่แบร์ซีเลียส[3]
แบร์ซีเลียสได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน "บิดาแห่งวิชาเคมียุคใหม่" ร่วมกับโรเบิร์ต บอยล์, จอห์น ดาลตันและอ็องตวน ลาวัวซีเย[4] เขามีผลงานหลายอย่าง เช่น พัฒนาระบบสูตรเคมี (แต่แบร์ซีเลียสใช้ตัวยก (H2O) แทนตัวห้อย (H2O) แบบในปัจจุบัน)[5], ค้นพบธาตุซิลิคอน, ซีลีเนียม, ทอเรียม, ซีเรียม, คิดค้นคำว่า "catalysis", "polymer", "isomer" และ "allotrope" เป็นต้น
ด้านชีวิตส่วนตัว แบร์ซีเลียสได้รับการแต่งตั้งเป็นบารอนโดยพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 1818 ต่อมาในปี ค.ศ. 1835 เขาแต่งงานกับเอลิซาเบธ ปอปเปียส แบร์ซีเลียสเสียชีวิตที่บ้านในกรุงสต็อกโฮล์มในปี ค.ศ. 1848[6] ต่อมาแบร์ซีเลียสได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งวิชาเคมีของสวีเดน" และวันเกิดของเขาได้รับการเฉลิมฉลอง[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Book of Members, 1780–2010: Chapter B" (PDF). American Academy of Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 24 June 2011.
- ↑ "Jöns Jacob Berzelius (1779 - 1848)". Royal Netherlands Academy of Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
- ↑ "Jöns Jacob Berzelius Facts - Biography". YourDictionary. สืบค้นเมื่อ 15 December 2016.
- ↑ "Jöns Jacob Berzelius". Encyclopædia Britannica Online. สืบค้นเมื่อ 3 August 2008.
- ↑ Berzelius 1813, Vol III, pp 51 – 52.
- ↑ "Jöns Jacob Berzelius - Biography". NNDB. สืบค้นเมื่อ 15 December 2016.
- ↑ Berzelius Day honoured on YouTube
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส (สารานุกรมบริตานิกา)
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ เยินส์ ยาคอบ แบร์ซีเลียส (สารานุกรมอเมริกัน)
- "Jons Jakob Berzelius - Biography". Encyclopedia.com.