ข้ามไปเนื้อหา

ปลาเรนโบว์เทราต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Oncorhynchus mykiss)
ปลาเรนโบว์เทราต์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
ชั้นย่อย: Neopterygii
ชั้นฐาน: Teleostei
อันดับ: Salmoniformes
วงศ์: Salmonidae
สกุล: Oncorhynchus
สปีชีส์: O.  mykiss
ชื่อทวินาม
Oncorhynchus mykiss
(Walbaum, 1792)
ชนิดย่อย[1]
ชนิดย่อย
  • O. m. aguabonita (Jordan, 1892)
  • O. m. gairdnerii (Richardson, 1836)
  • O. m. gilberti (Jordan, 1894)
  • O. m. irideus (Gibbons, 1955)
  • O. m. mykiss (Walbaum, 1792)
  • O. m. nelsoni (Evermann, 1908)
  • O. m. stonei (Jordan, 1894)
  • O. m. whitei (Evermann, 1906)
แผนที่แสดงถิ่นกำเนิด
ชื่อพ้อง[1]
ชื่อพ้อง
  • Salmo mykiss Walbaum, 1792
  • Salmo penshinensis Pallas, 1814
  • Onchorynchus mykiss (Walbaum, 1792)

ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (อังกฤษ: rainbow trout, steelhead, trout salmon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oncorhynchus mykiss) เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาแซลมอน (Salmonidae) จัดอยู่ในจำพวกปลาแซลมอน อาศัยอยู่ในสาขาแม่น้ำที่ไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในทะเล ปกติจะว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่หลังจากอาศัยอยู่ในทะเลไปแล้ว 2-3 ปี [2]

ปลาเรนโบว์เทราต์มักถูกนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารและตกเป็นเกมกีฬา ได้ถูกเพาะเลี้ยงและนำเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ที่มิใช่แหล่งกำเนิดดั้งเดิมถึง 87 ประเทศ อาทิ เยอรมนี, ฟินแลนด์, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น ทั้งในประเทศในเขตอบอุ่นและเขตหนาว หรือแม้แต่เขตร้อน เพื่อสนองความต้องการในการบริโภคและตกเป็นเกมกีฬา[3]

ปลาเรนโบว์เทราต์ เป็นปลาที่ดั้งเดิมอาศัยอยู่ในลำธารหรือทะเลสาบที่น้ำมีอุณหภูมิที่เย็น (ไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ขณะที่บางข้อมูลระบุว่าไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) เป็นปลาที่มีสัญชาตญาณนักล่าอยู่ในตัว โดยเป็นปลาที่กินสัตว์น้ำต่าง ๆ ไม่เลือก ทั้งปลาและแมลงน้ำ ด้วยสรีระที่เป็นทรงกระสวย หางมีขนาดใหญ่ช่วยในการว่ายทวนกระแสน้ำได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะไม่มีฟันหรือเขี้ยวขนาดใหญ่ แต่ก็มีจะงอยปากที่เป็นลักษณะตะขอ เมื่อสบกับจะงอยปากบนที่เป็นร่องลึกก็จะประกบกันได้ลงตัวพอดี ทำให้จับเหยื่อได้อย่างมั่นคง มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1.2 เมตร น้ำหนักกว่า 25 กิโลกรัม สีตามลำตัวสวยงาม เนื้อมีรสชาติดี มีก้างน้อย และยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด โอเมกา 3 อยู่ในปริมาณที่มากด้วย[3]

จากรายงานของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ในการจัดอันดับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการรุกรานสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นให้เสียหายอย่างรุนแรง 100 อันดับแรก มีปลาอยู่ 5 ชนิด และหนึ่งในนั้นก็คือ ปลาเรนโบว์เทราต์[3]

ปลาเรนโบว์เทราต์ ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยด้วยการเป็นไข่ปลาจากสหรัฐอเมริกา ที่สถานีเพาะเลี้ยง ในโครงการหลวง ที่ดอยอินทนนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2541 จนประสบความสำเร็จ มีลูกปลาที่รอดจากการฟักถึงร้อยละ 90 สามารถผลิตปลาได้ปริมาณสูงถึง 18-20 ตันต่อปี แต่ก็มีประชากรบางส่วนที่หลุดรอดไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มีรายงานการพบลูกปลาขนาดเล็กมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร หลุดรอดออกมาจากสถานีเพาะเลี้ยง และพบปลาขนาดใหญ่ราว 1 ฟุตอยู่ในลำธารใกล้ ๆ สถานีเพาะเลี้ยง และมีการจับปลาขนาดใหญ่ได้ในช่วงท้ายน้ำของผู้คนพื้นถิ่น จากการให้สัมภาษณ์ของคนพื้นถิ่นพบว่า ตั้งแต่มีปลาเรนโบว์เทราต์เข้ามา ลูกปลาชนิดต่าง ๆ ก็ได้หายไปเป็นจำนวนมาก จึงหวั่นเกรงกันว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov
  2. "Salmon Trout". Lewis and Clark Fort Mandan Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-25. สืบค้นเมื่อ 2010-10-23. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ปลาเทราต์สายรุ้ง การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หน้า 28-32 โดย siamensis.org. สารคดี: ปีที่ 25 ฉบับที่ 289: มีนาคม 2552

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oncorhynchus mykiss ที่วิกิสปีชีส์