ข้ามไปเนื้อหา

สารพฤกษเคมี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Phytochemical)

สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (อังกฤษ: Phytochemicals หรือ Phytonutrients) หมายถึง สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืช สารกลุ่มนี้อาจเป็นสารที่ทำให้พืชผักชนิดนั้น ๆ มีสี กลิ่นหรือรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว สารพฤกษเคมีเหล่านี้หลายชนิดมีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิดและโรคสำคัญที่มักจะกล่าวกันว่าสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันได้คือโรคมะเร็ง กลไกการทำงานของสารพฤกษเคมีเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจช่วยให้เอนไซม์บางกลุ่มทำงานได้ดีขึ้น เอนไซม์บางชนิดทำหน้าที่ทำให้สารก่อมะเร็งหมดฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันพบสารพฤกษเคมีแล้วระหว่าง 50,000[1] ถึง 130,000 ชนิด[2]

ผักและผลไม้เป็นแหล่งที่ดีสำหรับสารต้านอนุมูลอิสระ คนส่วนมากรับประทานผักและผลไม้ได้ไม่เพียงพอในแต่ละวัน จึงอาจจะมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับต่ำ การบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน จะช่วยให้ประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้

นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารพฤกษเคมีสร้างประโยชน์ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ คือ ต้านออกซิเดชัน ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ลดการเกิดโรคมะเร็งได้ เพิ่มภูมิต้านทานโรค และควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน

การผสมผสานของสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ หลากชนิดจะให้คุณภาพการต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากแหล่งอาหารเพียงแหล่งเดียว

ประเภทของสารพฤกษเคมี

[แก้]

สารพฤกษเคมีที่อยู่ภายใต้การวิจัยสามารถจำแนกได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ เช่น

เควอซิทิน (Quercetin)

[แก้]

เควอซิทินกับบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ เควอซิทินเป็นสารพฤกษเคมีที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่ให้ฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชันสูงที่สุด มีมากในหัวหอม หอมแดง และพืชตระกูลถั่ว ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัส ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดออกซิเดชันในหลอดเลือด และป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน การรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยเควอซิทินในปริมาณสูงมีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจที่ดี จากการศึกษาจำนวนมากพบว่า เควอซิทินถือว่าเป็นไฟโตนิวเทรียนท์ที่ปกป้องหลอดเลือด (vasoprotective) และช่วยในการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนและการทำงานหัวใจดีขึ้น

การได้รับฟลาโวนอลและฟลาโวนในระดับที่สูง ( มากกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน ) จะช่วยลดความเสี่ยงของ การเกิดโรคลมชักในระยะแรกในผู้ป่วยสูงอายุได้สองในสามส่วน เควอซิทิน คือ ฟลาโวนอยด์ที่สำคัญในอาหารที่ทำการศึกษา

เควอซิทินมีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดและปกป้องหลอดเลือด และลดการเป็นพิษต่อเซลล์ไขมันแอลดีแอล (LDL) จากการทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยในการทำงานของหลอดเลือด หัวใจและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เควอซิทินกับบทบาทสำคัญในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง

เควอซิทินทำให้เกิดการยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์ หยุดการขยายตัวของเซลล์ และรวมถึงการทำให้เกิดอะพ็อพโทซิส (apoptosis) หรือการตายของเซลล์ในการเจริญเติบโตของเซลล์เต้านมที่ผิดปกติได้

เควอซิทินได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นตัวนำการตายของเซลล์ในเซลล์เนื้องอกลำไส้ รวมทั้งยังช่วยยับยั้งฟอสโฟริเลชัน (phosphorylation) ของกลุ่มเซลล์ที่ได้รับสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก และลดทางการเจริญเติบโตในเซลล์เนื้องอกชนิดนี้

กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid)

[แก้]

กรดเอลลาจิกอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกทำลายดีเอ็นเอของเซลล์บางชนิด กรดเอลลาจิกช่วยลดการทำลายดีเอ็นเอที่จะทำให้ เกิดโรคเรื้อรังทำให้เกิดภาวะการเปลี่ยนตามวัย (Ageing) และโรคมะเร็ง

กรดเอลลาจิกจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิด เช่น เอ็น-อะซิติลทรานเฟอเรส ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยน แปลงโครงสร้างดีเอ็นเอในเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะของมนุษย์ กรดเอลลาจิกในปริมาณที่มากขึ้นจะยับยั้ง การทำงานของเอนไซม์ในขอบเขตที่มากขึ้นได้

เมื่อเซลล์กลายเป็นมะเร็ง กรดเอลลาจิกอาจจะสามารถหยุดการขยายตัวของเซลล์ กรดเอลลาจิกช่วยยับยั้งการแบ่งเซลล์ในเซลล์มะเร็งปากมดลูก และยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

เฮสเพอริดิน (Hesperidin)

[แก้]

เฮสเพอริดินช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจและเส้นเลือดดำ

เฮสเพอริดินมีส่วนสำคัญในการลดการซึมผ่านและความอ่อนแอของเส้นเลือดดำ โดยเฉพาะโรคที่สัมพันธ์กับการเพิ่มการซึมผ่านเส้นเลือด เช่น ริดสีดวงทวาร ลักปิดลักเปิด แผลเน่าเปื่อยพุพอง แผลถลอก

การขาดเฮสเพอริดินจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ เส้นเลือดฝอย ความอ่อนเพลีย และตะคริวที่ขาในเวลากลางคืน การเสริมเฮสเพอริดินจะช่วยลดอาการบวมน้ำ หรือการบวมเนื่องจากการสะสมของของเหลว โดยสารเฮสเพอริดินจะทำงานดีที่สุดเมื่อมีวิตามินซีร่วมด้วย

เฮสเพอริดินที่รวมกับฟลาโวนอยด์จากผลไม้จำพวกส้ม เช่น ไดออสมิน (Diosmin) มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของเส้นเลือดดำขอด ริดสีดวงทวาร ได้โดยการช่วยลดความตึงและความยืดหยุ่นของเส้นเลือดดำ และช่วยลดการซึมผ่านของเส้นเลือดจึงสามารถลดอาการบวมน้ำได้

เฮสเพอริดินอาจจะลดระดับพลาสมาคอเลสเตอรอล บุคคลที่ดื่มน้ำส้มถึง 3 แก้วต่อวัน จะเพิ่มระดับไขมัน ชนิดดี (HDL) ได้ถึง 21% และลดระดับคอเลสเตอ-รอลและไตรกลีเซอไรด์

ลูทีน (Lutein)

[แก้]

ลูทีนเป็นแคโรทีนอยด์สีเหลืองซึ่งมีส่วนอย่างมากในการต่อต้านสารต้านอนุมูลอิสระ ลูทีนพบได้ทั่วไปในผักใบเขียวและมีส่วนสำคัญในการบำรุงสายตา โมเลกุลของลูทีนพบในปริมาณสูงในจุดของดวงตา โดยเฉพาะพื้นที่ของเรตินาที่เกี่ยวกับการรับภาพ ซึ่งจะช่วยในการดูดซับแสงสีน้ำเงินในแถบสีการมองเห็นและช่วยปกป้องการทำลายของคลื่นสั้นที่มีต่อเยื่อบุผิวเรตินาจากการศึกษา พบว่า ระดับลูทีน 2.0 – 6.9 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดด่างในดวงตาได้

สารลูทีนจะช่วยสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในการป้องกันเยื่อแก้วตา (retina)

การรับประทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณที่สูงที่สุดจะมี อัตราเสี่ยงต่ำกว่า 43% สำหรับภาวะการเสื่อมของจอประสาทตาตามอายุอย่างเฉียบพลันของจอประสาทตา เมื่อเปรียบเทียบการรับประทานในปริมาณที่ต่ำที่สุด จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 876 คนซึ่งมีอายุ ระหว่าง 55 – 80 ปี การได้รับลูทีนและซีซานทีน ในอัตราสูงจะช่วยลดความเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อมอย่างเฉียบพลันตามอายุได้

จากการศึกษาคนไข้จำนวน 421 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับลูทีนและซีซานทีนในระดับสูงที่สุดจะมีส่วนสำคัญต่อการลดระดับอัตราเสี่ยงของความเสื่อมของตาตามอายุได้

จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หญิงและชายที่ได้รับ ลูทีนในระดับสูงที่สุดจะเป็นต้อกระจกในอัตราที่ต่ำกว่า ผู้ที่ไม่รับประทานลูทีนจากผักและผลไม้เละสารลูทีนอาจช่วยป้องกันมะเร็งปอด มะเร็งสำไส้ และมะเร็งเต้านม พบว่าการรับประทานสารลูทีน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ในทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และการลดอัตราเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการตรวจพบการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะเริ่มแรก การรับประทานผักที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ ซึ่งประกอบด้วยลูทีนในปริมาณสูงจะมีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ลดลง โดยเฉพาะสำหรับสตรีที่มีประวัติว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม

ไลโคปีน (Lycopene)

[แก้]

ไลโคปีนช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้เข้ารับการทดสอบที่รับประทานมะเขือเทศในปริมาณสูงที่สุด 10 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รับประทานน้อยกว่า 1.5 ครั้งต่อสัปดาห์

การรับประทานมะเขือเทศในอัตราสูงจะช่วยลดอัตราการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกประเภท ได้ถึง 35% และลดความรุนแรงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 53%

สารสกัดจากมะเขือเทศที่ประกอบด้วยไลโคปีน 30 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดการเจริญเติบโตของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในคนไข้ภายหลังจากการรักษา โรคมาแล้ว 3 สัปดาห์

ไลโคปีนอาจจะมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยจะลดการเกิดเนื้องอกและยับยั้งการพัฒนาวงจรชีวิตของเซลล์ในช่วงต้นของการเกิดเซลล์มะเร็ง (ระยะ G1) ไลโคปีนอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

บุคคลที่มีสารสกัดพลาสมาไลโคปีนที่สูงที่สุดจะมีอัตราของการเกิดการหนาตัวของหลอดเลือด IMT (intima-mediated thickness) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดระยะเริ่มต้นถึง 90% ต่ำที่สุด ดังนั้นการได้รับไลโคปีนในปริมาณที่สูงอาจช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

การรับประทานไลโคปีนสามารถลดอัตราเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจลงต่ำกว่า 60% สำหรับบุคคลที่มีสารสกัดไลโคปีนสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีสารสกัดไลโคปีนต่ำสุด

ไลโคปีนอาจจะลดความรุนแรงของการเผาไหม้ของผิวหนังจากแสงอาทิตย์ บุคคลที่รับประทานมะเขือเทศบด 40 กรัมต่อวัน ได้รับสารไลโคปีน 16 กรัมต่อวัน จะมีอัตราของอาการเผาไหม้ของผิวหนังจากแสงอาทิตย์ลดลง 40% หลังจากรับประทานมะเขือเทศติดต่อกันนาน 10 สัปดาห์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Afendi, Farit Mochamad; Okada, Taketo; Yamazaki, Mami; และคณะ (กุมภาพันธ์ 2012). "KNApSAcK Family Databases: Integrated Metabolite–Plant Species Databases for Multifaceted Plant Research". Plant and Cell Physiology. 53 (2): e1. doi:10.1093/pcp/pcr165. PMID 22123792.
  2. Rutz, Adriano; Sorokina, Maria; Galgonek, Jakub; และคณะ (26 พฤษภาคม 2022). "The LOTUS initiative for open knowledge management in natural products research". eLife. 11: e70780. doi:10.7554/eLife.70780. PMC 9135406. PMID 35616633.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • วินัย ดะห์ลัน, ร.ศ. (2007). เอกสารประกอบการบรรยาย "โภชนาการพื้นฐานเพื่อการมีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]