ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ตั้งจังหวัดบึงกาฬ
พ.ศ. ๒๕๕๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรตั้งจังหวัดบึงกาฬ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ๒๕๕๔"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้แยกอําเภอบึงกาฬ อําเภอเซกา อําเภอโซ่พิสัย อําเภอบุ่งคล้า อําเภอบึงโขงหลง อําเภอปากคาด อําเภอพรเจริญ และอําเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ และมีเขตท้องที่ตามที่อําเภอดังกล่าวมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตราให้เปลี่ยนชื่อ อําเภอบึงกาฬ เป็น อําเภอเมืองบึงกาฬ

มาตราให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และงบประมาณของจังหวัดหนองคายในส่วนที่เกี่ยวกับอําเภอตามมาตรา ๓ ไปเป็นของจังหวัดบึงกาฬ

มาตราให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬขึ้น โดยให้มีเขตตามเขตจังหวัดบึงกาฬ

มาตราให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณรายจ่ายประจําปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ในส่วนที่เกี่ยวกับอําเภอตามมาตรา ๓ ไปเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ

มาตราให้บรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคําสั่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคําสั่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

มาตราการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการภาษีอากร การทะเบียน และการอื่น ๆ ซึ่งปฏิบัติอยู่ในอําเภอตามมาตรา ๓ ให้ดําเนินการเช่นเดิมไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง ส่วนรายได้ที่เก็บได้จากอําเภอตามมาตรา ๓ ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้จัดส่งทางจังหวัดบึงกาฬ

มาตรา๑๐เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๙ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ถือว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดหนองคาย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดบึงกาฬ และให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดหนองคาย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดหนองคาย

มาตรา๑๑ให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายในเขตเลือกตั้งของอําเภอตามมาตรา ๓ ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และให้วาระการดํารงตําแหน่งสิ้นสุดลงตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย

ในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ จนครบจํานวนตามวรรคสาม ให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ตามวรรคหนึ่ง และให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย หรือสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ที่ยังไม่มีประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นทําหน้าที่ชั่วคราวไปพลางก่อน

ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ให้ครบตามจํานวนที่พึงมีตามกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่อายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้วาระการดํารงตําแหน่งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งสองแห่งที่ได้รับเลือกตั้งดังกล่าว สิ้นสุดลงตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬตามวรรคสามให้ถือเขตอําเภอ เป็นเขตเลือกตั้งไปจนกว่าวาระการดํารงตําแหน่งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิ้นสุดลงตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย หรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครได้เท่าจํานวนที่ยังขาดอยู่ในเขตอําเภอนั้น ทั้งนี้ การดําเนิน การเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนด

มาตรา๑๒ให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬตามกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬตามวรรคหนึ่ง ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ทําหน้าที่ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เพื่อดําเนินการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬให้ครบถ้วน และปฏิบัติการอื่นใดเท่าที่จําเป็นไปพลางก่อน จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬตามวรรคหนึ่ง

มาตรา๑๓ในระหว่างที่จังหวัดบึงกาฬยังไม่มีคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล ให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล ของจังหวัดหนองคาย ทำหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล ของจังหวัดบึงกาฬ ไปพลางก่อน

ให้ถือว่า บรรดาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบ และมติ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลของจังหวัดหนองคาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบ และมติที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นของคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล ของจังหวัดบึงกาฬ จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

มาตรา๑๔ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่มีท้องที่ติดชายแดน และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว ทําให้การติดต่อระหว่างอําเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลําบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคง และการอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ สมควรแยกอําเภอบึงกาฬ อําเภอเซกา อําเภอโซ่พิสัย อําเภอบุ่งคล้า อําเภอบึงโขงหลง อําเภอปากคาด อําเภอพรเจริญ และอําเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"