เบร็กซิท : รัฐบาลคาดอังกฤษอาจเผชิญอาหารแพง ยาหายาก หากออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง
คนอังกฤษอาจต้องเผชิญปัญหาราคาอาหารแพงขึ้น ยารักษาโรคนำเข้าไม่ทันท่วงที และอาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในหลายพื้นที่ของประเทศหาก ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง หรือ "โนดีลเบร็กซิท"
ด้านนักวิเคราะห์ไทยเตือนภาคส่งออก-ท่องเที่ยวไทยเตรียมรับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงเข้าใกล้เส้นตายเบร็กซิท 31 ต.ค. นี้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 ก.ย.) รัฐบาลอังกฤษเผยแพร่เอกสารคาดการณ์ผลที่อาจจะเกิดขึ้นหากสหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียูแบบไร้ข้อตกลง
เอกสารดังกล่าวมีชื่อว่า Yellowhammer คาดการณ์ผลกระทบในระดับต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วนของประเทศ โดยแบ่งเป็นระดับสถานการณ์จากกระทบไม่มาก สู่ร้ายแรงที่สุด
ในการคาดการณ์สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบที่เลวร้าย รายงานนี่คาดว่าการขนส่งสินค้าผ่านฝรั่งเศสเข้ามายังสหราชอาณาจักรจะเกิดความชะงักงันที่ด่านศุลกากร การนำเข้าอาหารและเครื่องปรุงประกอบอาหารหลักบางชนิดจะหายาดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเกิดภาวะขาดแคลน แต่การนำเข้ายารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีอายุการใช้และไม่สามารถเก็บไว้ในสต็อกเป็นเวลานานได้
ในส่วนของการค้ากับไอร์แลนด์เหนือ (ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร)และสาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้น รายงานคาดว่า จะชะงักงันอย่างหนัก ถึงขั้นที่บางธุรกิจจะต้องยุติการทำการค้า บางธุรกิจต้องย้ายออก ต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านศุลกากรที่สูงขึ้น แต่ที่จะกระทบหนักที่สุดคือภาคการเกษตรอันจะนำไปสู่การว่างงาน ประท้วงและปิดถนน ปัญหาการค้าขายอย่างผิดกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จะขยายตัว
เอกสาร Yellowhammer ยังชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประท้วงของผู้มีความเห็นต่างทั่วสหราชอาณาจักร เกิดความตึงเครียดและความไม่สงบเรียบร้อย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม อังค์ถัด (The United Nations Conference on Trade and Development UNCTAD) หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ออกมาเตือนว่า โนดีล-เบร็กซิท จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหราชอาณาจักรที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า นอกจากนี้การส่งออกของประเทศสมาชิกอียูเองจะระส่ำหนักจากการต้องสูญเสียมูลค่าส่งออกที่เคยส่งไปยังสหราชอาณาจักรมากถึง 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายที่จะได้ประโยชน์คือจีนที่จะส่งสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น
อังค์ถัดแนะให้บรรดาประเทศคู่ค้าของสหราชอาณาจักรเร่งเจรจาการค้าทวิภาคีเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และชี้ด้วยว่าไทย แอฟริกา อินเดีย บราซิล เวียดนาม รัสเซียและนิวซีแลนด์อยู่ในหมู่ประเทศที่สหราชอาณาจักรจะนำเข้าสินค้ามากขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นว่าในทางตรง ภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนไทยอาจได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักรในกรณีโนดีล เพราะสหราชอาณาจักรไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมต่อตลาดการเงินโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้น จะทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและท่องเที่ยวไทยในระยะเวลาข้างหน้ามีความเสี่ยงอยู่มาก
"แม้ว่าสัดส่วนการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ไทยมีกับ UK ในปัจจุบันยังไม่สูงมาก แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ยิ่งมากขึ้นเมื่อยิ่งเข้าใกล้เส้นตาย Brexit ในวันที่ 31 ตุลาคม" รายงานระบุ
รายงานยังให้ข้อมูลในด้านการท่องเที่ยวด้วยว่า หากค่าเงินปอนด์อ่อนลงเหมือนช่วงหลังการลงประชามติในปี 2016 ที่อ่อนลงถึง 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อและอาจเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรมาไทยลดลงได้ อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนเพียง 2.1% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ภาคการท่องเที่ยวไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด