จะทิ้งพระ-สทิงพระ ชื่อบ้านนามเมืองภาษาเขมรเมืองใต้
ความหลากหลายทางเชื้อชาติมีปรากฏอยู่ในภูมิภาคของไทย รวมถึงทางภาคใต้ที่ไม่ได้มีแค่เฉพาะชาวไทยพุทธ ชาวมุสลิม ชาวมลายู แต่มีชาวเขมรไปตั้งถิ่นฐาน ดังมีหลักฐานเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่หลงเหลือไว้
ตำนานพระธาตุนครฯ และตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึง พญาศรีธรรมาโศกราช ขี่ช้างหนีไข้ห่าลงมาจากนครอินทปัตบุรี คือเมืองนครธม จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าตำนานนี้น่าจะมีเค้าจริงว่า มีเจ้านายเขมรลี้ภัยทางการเมือง (โรคห่าเป็นเพียงสถานการณ์เปรียบเทียบ) ลงมายังหัวหาดที่นครศรีธรรมราชซึ่งมีร่องรอยหลักฐานจากตำนาน กล่าวถึงเมืองขึ้น 12 เมืองของพญาศรีธรรมาโศกราช เรียกว่าเมือง 12 นักษัตร
ในจำนวนนั้นมีเมืองหนึ่งชื่อ บันทายสมอ มาจากภาษาเขมรว่า บันทายถมอ แปลว่า กำแพงหิน หรือ ป้อมหิน “บันทาย” แปลว่า ป้อม, กำแพง, ค่าย, และ “ถมอ” แปลว่า หิน
รวมทั้งยังชื่อบ้านนามเมืองที่เป็นภาษาเขมรในบริเวณใกล้เคียงนครศรีธรรมราช เช่น ชื่อ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ ใน จ.สงขลา จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าในเอกสารโบราณ เช่น ตำราพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุง พ.ศ. 2242 เรียกว่า “ฉทิงพระ” ชื่อ “จะทิ้งพระ”หรือ “สทิงพระ” ในชื่อตำบลอำเภอดังกล่าว จึงมาจากชื่อ “ฉทิงพระ” หรือ “จทิงพระ” เป็นคำภาษาเขมรโบราณ แปลว่า แม่น้ำพระ หรือ คลองพระ (พระในภาษาเขมร หมายถึง พระพุทธรูป ไม่ใช่พระภิกษุ) คำ “จทิง” หรือ “ฉทิง” เป็นภาษาเขมรโบราณ หมายถึง คลอง หรือแม่น้ำ ปัจจุบันใช้เป็น “สทึง” แต่ชาวบ้านลืมชื่อเดิมเสียแล้ว จึงแต่งนิทานขึ้นมาว่า มีคนจะเอาพระทิ้งที่คลองนั้น เลยเรียกว่าคลองจะทิ้งพระ และตำนานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจะเอาพระธาตุหรือเอาพระมาทิ้งไว้
นอกจากนี้ยังมีชื่อหมู่บ้านตำบล อีกแห่งหนึ่งในแถบนั้นชื่อ "จะทิ้งหม้อ” หรือ “สทิงหม้อ” ใน อ.สิงหนคร ชื่อนี้ในเอกสารเก่าๆ เรียก “จทิงถมอ” ซึ่งเป็นคำภาษาเขมรโบราณอีกเช่นกัน แปลว่า คลองหิน ซึ่งตรงนั้นก็มีชื่อ “คลองสทิงหม้อ” อยู่ด้วย
ภาษาเขมรที่ฝังรากลงในชื่อนามต่างๆ นี้เป็นชื่อที่เกิดจากภาษาปากชาวเขมรที่เข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่เรียกขานกันเองก่อนจะกลืนกลายเป็นภาษาไทยไปในเวลาต่อมา
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"