กบฏเดือนกรกฎาคม
กบฏเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สมัยระหว่างสงคราม | |||||||
รถตำรวจที่จัตุรัสบัลเฮาส์ปัลทซ์ใกล้ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ถ่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ชุทซ์ชตัฟเฟิล (เอ็สเอ็ส)
พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมออสเตรีย |
สนับสนุนโดย: ราชอาณาจักรอิตาลี | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ฟรีโดลิน กลัส อ็อทโท เว็ชเทอร์ อันโทน รินเทเลิน |
เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส † วิลเฮ็ล์ม มิคลัส ควร์ท ชุชนิค แอ็นสท์ รือดีเกอร์ ชตาเริมแบร์ค เอมีล ไฟ | ||||||
กำลัง | |||||||
เอ็สเอ็ส 154 นาย (ในเวียนนา) หลักพันคน (ที่อื่น) | กองกำลังทั้งหมดจากกองทัพสหพันธรัฐ ตำรวจ ตำรวจภูธร และกองกำลังกึ่งทหารไฮม์แวร์ | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิต 98[1]–140 คน[2] ถูกประหารชีวิต 13 คน[2] ถูกจับกุม 4,000 คน[2] | เสียชีวิต 101[1]–104 คน[2] | ||||||
พลเรือนเสียชีวิต 11[1]–13 คน[2] |
กบฏเดือนกรกฎาคม เป็นการรัฐประหารล้มเหลวที่ดำเนินโดยพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมออสเตรียเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 แม้ในช่วงแรกพรรคนาซีออสเตรียจะสามารถยึดทำเนียบรัฐบาลและสังหารนายกรัฐมนตรีเอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภายนอก ทำให้นาซีจำต้องยอมแพ้ การกบฏเริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศในวันต่อมา แต่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถปราบปรามได้อย่างรวดเร็ว จากผลลัพธ์ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ นำไปสู่ความอ่อนแอลงอย่างมากของขบวนการชาติสังคมนิยมในออสเตรีย
แผนการแรกในการต่อต้านด็อลฟูสเกิดขึ้นในต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1933 ด้วยเหตุที่นายกรัฐมนตรีออสเตรียส่ังระงับพรรคนาซี แต่แผนการก็ไม่บรรลุผล[3] ขบวนการชาติสังคมนิยมออสเตรียถูกกดขี่ด้วยความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ขาดการสนับสนุนในการเข้าถึงอำนาจ ภายในขบวนการเกิดความแตกแยก และยังได้รับแรงกดดันจากกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกร้องให้เข้าร่วมการต่อต้านด็อลฟูส ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้เอง จึงนำไปสู่ความพยายามรัฐประหารเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934[4] ตามแผนการแล้ว การกบฏในครั้งนี้จะต้องเกิดจราจลครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เนื่องจากนาซีออสเตรียได้รับการสนับสนุนจากทหารที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลด็อลฟูส พร้อมทั้งยังได้ร้องขอการแทรกแซงจากทางเยอรมนีด้วย แต่ด้วยการวางแผนอย่างไร้ประสิทธิภาพ ในไม่ช้านักชาติสังคมนิยมหนึ่งร้อยห้าสิบสี่คนต้องโดดเดี่ยวภายในกรุงเวียนนา[5]
ในวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้คิดการกบฏใช้โอกาสจากการเปลี่ยนเวรยามของทำเนียบนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่ตัวอาคารในเวลา 12 นาฬิกา 53 นาที[6] ด็อลฟูสถูกยิงสองนัดขณะกำลังหลบหนีออกจากอาคาร[7] และถึงแก่อสัญกรรมในอีกสองชั่วโมงต่อมาจากภาวะสูญเสียเลือด[8] ในเวลาเดียวกัน กลุ่มกบฏเข้ายึดทำเนียบนายกรัฐมนตรีและสถานีวิทยุกระจายเสียง[9] ซึ่งตามแผนการนั้น กลุ่มกบฏจะประกาศถึงการลาออกของด็อลฟูสและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ที่นำโดยอันโทน รินเทเลิน[9] เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการจราจลทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนรัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด[10] ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีหน้าที่จับกุมตัวประธานาธิบดีวิลเฮ็ล์ม มิคลัส ได้ล่าถอยและล้มเหลวในปฏิบัติการนี้[11]
เหล่าผู้นำรัฐบาลและผู้บัญชาการทหารเข้าเจรจากันที่กระทรวงกลาโหม[12][13] มิคลัสที่ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธข้อตกลงกับพวกกบฏ จึงแต่งตั้งควร์ท ชุชนิค เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และออกคำสั่งให้เขาปราบปรามรัฐประหารอย่างเต็มกำลัง[14] ท้ายที่สุดแล้ว ในเวลา 17 นาฬิกา 30 นาที ชุชนิคยื่นคำขาดต่อกลุ่มกบฏให้ส่งคืนทำเนียบนายกรัฐมนตรีภายในสิบห้านาที[15] ถึงแม้ในความเป็นจริงนั้น การเจรจาระหว่างกลุ่มกบฏกับรัฐบาลจะกินเวลาไปถึงสองชั่วโมงก็ตาม[15] กองกำลังฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดคืนทำเนียบได้อย่างสงบในเวลาประมาณสองทุ่ม[16]
เอกอัครราชทูตเยอรมันยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 ซึ่งฮิตเลอร์สั่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมของเยอรมนีในปฏิบัติการทุกกรณี[17] ถึงอย่างนั้น รัฐบาลเยอรมันก็ประสบปัญหาที่ตามมาแม้จะปฏิเสธการมีส่วนร่วมไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะการแพร่กระจายของการกบฏโดยกลุ่มผู้สนับสนุนตามต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลออสเตรียไม่สามารถจัดการจราจลได้อย่างสมบูรณ์จนถึงวันที่ 28[18] ในวันที่ 26 ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน เป็นเอกอัครราชทูตประจำเวียนนาคนใหม่[18] โดยหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการผนวกประเทศโดยไม่หันไปใช้ความรุนแรงอีก[19] ช่วงบ่ายของวันที่ 25 ดูเชมุสโสลินี ซึ่งมีกำหนดการเยี่ยมเยือนด็อลฟูสในอีกสองสามวันหลังจากนั้น เมื่อได้รับการยืนยันถึงเหตุการณ์กบฏที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของออสเตรีย เขาจึงสั่งให้กองทัพอิตาลีรุกกำลังไปยังชายแดนออสเตรีย-อิตาลีโดยทันที[20] ภายหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวนี้ ออสเตรียยังคงรักษาเอกราชของประเทศได้เป็นเวลาอีกสี่ปี ก่อนที่จะถูกผนวกรวมกับเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1938[21]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Bauer 2003, p. 325.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Bauer 2003, p. 326.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 233.
- ↑ Pauley 1981, p. 127-128.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 232.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 253.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 255.
- ↑ Gedye 1939, p. 121.
- ↑ 9.0 9.1 Brook-Shepherd 1961, p. 261.
- ↑ Pauley 1981, p. 131.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 240.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 262.
- ↑ Gehl 1963, p. 98.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 263.
- ↑ 15.0 15.1 Brook-Shepherd 1961, p. 272.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 275.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 279.
- ↑ 18.0 18.1 Brook-Shepherd 1961, p. 281.
- ↑ Pauley 1981, p. 135.
- ↑ Brook-Shepherd 1961, p. 282.
- ↑ Pauley 1981, p. 136.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bauer, Kurt (2003). Elementar-Ereignis. Die österreichischen Nationalsozialisten und der Juliputsch 1934 (ภาษาเยอรมัน). Czernin Verlag. ISBN 3-7076-0164-1.
- Brook-Shepherd, Gordon (1961). Dollfuss (ภาษาอังกฤษ). Macmillan. p. 295. OCLC 1690703.
- Gedye, G. E. R. (1939). Betrayal in Central Europe (ภาษาอังกฤษ). Harper & Bros. p. 499. OCLC 1101763.
- Gehl, Jurgen (1963). Austria, Germany, and the Anschluss, 1931-1938 (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press.
- Gulick, Charles Adams (1948). Austria from Habsburg to Hitler, volume 2 (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. p. 1906. OCLC 312557122.
- Pauley, Bruce F. (1981). Hitler and the Forgotten Nazis: A History of Austrian National Socialism (ภาษาอังกฤษ). University of North Carolina Press. p. 292. ISBN 9780807814567.