ข้ามไปเนื้อหา

การทำเหมืองเหล็กสวีเดนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แร่เหล็กสวีเดน ถือได้ว่าเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตสงครามยุโรปของสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและนาซีเยอรมนีต่างต้องการควบคุมย่านอุตสาหรรมเหมืองแร่ทางเหนือสุดของสวีเดน ล้อมรอบเมืองทำเหมืองเยลิวาระและคิรูนา ความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นหลังจากแหล่งแร่เหล็กอื่น ๆ ของเยอรมนีถูกขัดขวางโดยการปิดล้อมทางทะเลของสหราชอาณาจักรระหว่างยุทธนาวีแอตแลนติก ทั้งแผนการที่จะให้ความช่วยเหลือฟินแลนด์ระหว่างสงครามฤดูหนาวของอังกฤษและฝรั่งเศส และการยึดครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ (ปฏิบัติการแวเซรือบุง) ล้วนตั้งอยู่บนเจตนาที่จะกีดกันมิให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้าถึงการผลิตเหล็กกล้าอันสำคัญยิ่งระหว่างสงคราม

เบื้องหลัง

[แก้]
แร่เหล็กที่สกัดใน Kiruna และ Malmberget

ความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมนี (AGNA) ค.ศ. 1935 ซึ่งเป็นการจัดทำข้อตกลงระหว่างอังกฤษและเยอรมนี ได้ท้าทายเอกราชของสวีเดนและนโยบายที่ต้องการคงความเป็นกลางอย่าวเหนียวแน่น แม้ว่าจะขัดต่อสนธิสัญญาแวร์ซาย ความตกลงนาวิกระหว่างทั้งสองประเทศได้เปิดโอกาสให้เยอรมนีเพิ่มขนาดของกองทัพเรือจนมีขนาดเป็นหนึ่งในสามของขนาดของราชนาวีอังกฤษ ขณะเดียวกัน อังกฤษยังได้ตกลงที่จะถอนกองทัพเรือออกจากทะเลบอลติกอย่างสมบูรณ์ ทำให้เยอรมนีมีอำนาจครอบงำในพื้นที่ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสวีเดนและประเทศบอลติกอื่น ๆ

ความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมนียังได้เป็นผลให้กองทัพเรือเยอรมันสามารถควบคุมการสัญจรทางทะเลส่วนใหญ่ทั้งในและนอกทะเลบอลติกได้ รวมไปถึงการสัญจรทางทะเลผ่านอ่าวบอทเนีย การนำเข้าแร่เหล็กของเยอรมนีส่วนมากมาจากอ่าวบอทเนียและเมืองท่าลูเลียของสวีเดน อย่างไรก็ตาม ลูเลียเป็นน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น เมืองท่านาร์วิกของนอร์เวย์จึงกลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญสำหรับการขนส่งแร่เหล็กในช่วงฤดูหนาว ส่วนเมืองท่าที่ไม่เป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวอีกแห่งหนึ่ง คือ โอเซโลซันด์ ทางตอนใต้ของสต็อกโฮล์ม สำหรับแร่เหล็กจากเหมืองแร่ในเบิร์กสลาเกน เนื่องจากแร่เหล็กมีความสำคัญต่อความพยายามเสริมสร้างกองทัพของเยอรมนี และเนื่องจาก 50% จากการนำเข้าแร่เหล็กของเยอรมนีมาจากสวีเดน ความปลอดภัยของเส้นทางการค้าในทะเลบอลติกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเยอรมนี

ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีสามารถผลิตแร่เหล็กได้เพียงหนึ่งในสี่ของปริมาณการบริโภคแร่เหล็กทั้งปี โดยส่วนที่เหลือจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1940 การนำเข้าแร่เหล็กจากสวีเดน เช่นเดียวกันนอร์เวย์ คิดเป็นน้ำหนักกว่า 11,550,000 ตัน จากปริมาณแร่เหล็กที่เยอรมนีใช้ไปทั้งหมด 15,000,000 ตันในปีนั้น

ความพยายามขัดขวางเส้นทางการค้าเยอรมนี-สวีเดนของอังกฤษ

[แก้]

การห้ามการค้าแร่เหล็กระหว่างเยอรมนีและสวีเดนเป็นภารกิจทางทหารหลักของอังกฤษในช่วงเดือนแรก ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง วินสตัน เชอร์ชิลล์ ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ได้อุทิศความพยายามอย่างมากให้กับภารกิจดังกล่าว เขาได้ผลักดันการริเริ่มสองประการ

อย่างแรก คือ การส่งกองเรืออังกฤษเข้าไปยังทะเลบอลติกเพื่อหยุดการขนส่งแร่เหล็กจากเมืองท่าทั้งสองของสวีเดน (ลูเลียและโอเซโลซันด์) มิให้ไปถึงเยอรมนี โครงการดังกล่าวถูกเรียกว่า โครงการแคเธอรีน และได้รับการวางแผนโดยจอมพลเรือ วิลเลียม บอยล์ เอิร์ลแห่งคอร์กที่ 12 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันได้ทำให้โครงการดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด

โครงการที่สอง ปฏิบัติการวิลเฟรด เป็นการวางทุ่นระเบิดใกล้กับนอร์วีเจียนลีดส์ ทางน้ำภายในประเทศตามชายฝั่งนอร์เวย์ ซึ่งเรือขนส่งแร่เหล็กจาสวีเดนใช้เดินทางไปยังเยอรมนีในช่วงฤดูหนาว โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในเวลาเดียวกับที่เยอรมนีรุกรานนอร์เวย์และส่งผลให้โครงการดังกล่าวถูกยกเลิกอย่างรวดเร็ว