คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Thammasat School of Engineering | |
สถาปนา | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532 |
---|---|
คณบดี | รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล[1] |
ที่อยู่ | ศูนย์รังสิต เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 ศูนย์พัทยา เลขที่ 39/4 หมู่ 5 ถนนชลบุรี–ระยอง ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150 |
สี | สีเลือดหมู |
มาสคอต | เกียร์ |
เว็บไซต์ | www.engr.tu.ac.th |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Thammasat School of Engineering (TSE)เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นคณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับ 10 ของมหาวิทยาลัย และเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับ 9 ในมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่แรกของประเทศไทยที่มีการเริ่มใช้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติที่สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด/หลักสูตร Double Degree/หลักสูตรตรีควบโท ในประเทศไทย มีชื่อเสียงในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ)มีความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป และผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่องด้านไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องกล โยธา เคมี อุตสาหการ
โดยในปี 2024 ได้รับการจัดอันดับจาก EduRank ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงด้านการจัดอันดับ ประเมินมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยประเมินจากผลงานวิชาการวิจัย การตีพิมพ์บทความระดับนานาชาติ ในด้านวิศวกรรมอุตสาหการ Industrial Engineering อยู่ในลำดับที่ 2 ของประเทศไทย(อันดับ 1 คือ Asian Institute of Technology) อันดับ 114 ของเอเชียและ อันดับ 442ของโลก [2]
โดยคณาจารย์ผู้สอนล้วนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ประวัติการศึกษา วิจัยจากมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของโลกรวมถึง ระบบVisiting Professor อาจารย์พิเศษรับเชิญที่มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์จริงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวหน้าในสาขานั้นๆ ทำให้คณะได้รับความนิยมอย่างสูงจากการจัดอันดับในการประสงค์เข้าศึกษาต่อของนักเรียนมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์ ในกลุ่ม The Most Popular University in Thailand[3]
โดยปรัชญาด้านเสรีภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้นักศึกษาที่นี่ มีอิสระด้านความคิด และ มีปรัชญาด้านการรับใช้สังคม และ เพื่อนมนุษย์โดยโครงงานวิศวกรรมของที่นี่ จะโดดเด่นด้านการนำความรู้ด้านวิศวกรรมประยุกต์เพื่อออกแบบ สร้างหุ่นยนต์ อุปกรณ์เครื่องกล การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านไมโครเวฟสร้างพลังงาน ยานพาหนะเพื่อคนพิการ วัสดุชนิดใหม่ทางเคมี วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน การสร้างโมเดลระบบปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่บูรณาการด้าน วิทยาศาสตร์เข้ากับ ศิลปศาสตร์ อย่างสมบูรณ์เนื่องด้วยพื้นฐานมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่น ด้านการเมือง การปกครอง นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี รัฐศาสตร์
ทำเลที่ตั้งนับว่าเป็นจุดที่โดดเด่น และเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในอาณาบริเวณ แคมปัสขนาดใหญ่ที่รายล้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ระดับชาติ ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยวัสดุ และโลหะแห่งชาติ MTEC ศูนย์วิจัยอิเลคทรอนิคส์นิคส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ BIOTEC และ ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและแบตเตอรี่ PTEC ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยี NanoTec ซึ่งล้วนเป็นศูนย์รวมงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่มี นักวิจัยระดับชั้นนำมีความเชี่ยวชาญ ด้านโลหะ วัสดุ โพลิเมอร์ ไฟฟ้า พลังงาน แบตเตอรี่ อิเลคทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี รวมถึง ด้านซิงโครตรอน และ โฟโตนิคส์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ ArtificialIntelligence จึงเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาที่นี่ สามารถร่วมทำวิจัย ฝึกงาน ดูงาน และมีโอกาสใช้งานเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในระดับนานาชาติ อาทิ SuperComputer ระบบเลเซอร์ และพลาสมา เครื่องเร่งอนุภาค เครื่องมือทดสอบระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและหน่วยกักเก็บพลังงาน อีกทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังมีความร่วมมือ กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย AIT ที่อยู่ในวิทยาเขตเดียวกัน ซึ่งที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติ ปริญญาโท เอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์
ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตศูนย์รังสิต ทำเลที่ตั้งยังใกล้กับ เขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ต่าง อาทิ นวนคร โรจนะ ไฮเทค รวมถึง ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตศูนย์พัทยา ที่ล้อมรอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้าน ภาคตะวันออก อาทิ นิคมอีสเทอร์นซีบอร์ด นิคมอมตะซิตี้ นิคมมาบตาพุดทำให้สะดวกต่อการฝึกงาน และการรวมถึงแลกเปลี่ยนดูงาน การทำความร่วมมือต่างๆ
ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้นำภาคการเมือง ผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองแนวใหม่ นักวิชาการ สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชื่อดัง ทั้งในและ ต่างประเทศ
ประวัติคณะ
[แก้]มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีดำริที่จะจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ดังมีหลักฐานปรากฏในข้อเสนอแผนดำเนินการโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนาคม พ.ศ. 2521 ความว่า "25 ธันวาคม พ.ศ. 2511 สภาการศึกษามีหนังสือ ที่ สร.0411 (1) แจ้งว่าได้ส่งเรื่องไปยังมูลนิธิฟอร์ดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอความช่วยเหลือในการจัดสอนทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปริญญาตรี และช่วยในการวางแผนก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่รังสิตและวังหน้า" หลังจากปี พ.ศ. 2511 ก็ได้มีการพัฒนาที่ดินมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รังสิตมาโดยลำดับ และได้มีการจัดส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยประสบภาวะวิกฤตการณ์ทางด้านการเมือง จึงทำให้โครงการต่าง ๆ ต้องชงักงันไป
ในปี พ.ศ. 2531 สมัยศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 โดยผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 และจัดส่งให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2531 ขณะเดียวกันได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 พิจารณาเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ยกฐานะวิทยาลัยในหลายจังหวัดขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยและได้มีมติ "ให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับไปพิจารณาเสนอจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน"
เมื่อข้อเสนอโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 ของทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2531 และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2532 แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปยังสำนักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยต้องให้สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2532 และได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะฯ ให้สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จากนั้นสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีได้ส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการเพื่อโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถือว่าวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เป็นวันจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2533–2534 (2 ปีสุดท้ายของแผน) เพื่อให้มีส่วนในการผลิตวิศวกรสาขาต่าง ๆ ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเป็น คณะที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งที่ 9 ในมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา
ปีการศึกษา | การดำเนินงาน |
---|---|
2533 | เปิดรับนักศึกษา 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ |
2534 | เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา |
2536 | เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี |
2538 | เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล |
2539 | เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งน็อตติ้งแฮมประเทศอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล |
2540 | เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา |
2545 | เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาเคมี เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และเปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ |
2549 | เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล |
2551 | เปิดหลักสูตรปริญญาตรี–โท วิศวกรรมศาสตร์และการจัดการเชิงธุรกิจ (Engineering and Business Management) และหลักสูตรปริญญาโท–เอก วิศวกรรมทางการแพทย์ (Medical Engineering) |
2554 | เปิดหลักสูตรควบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตและวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหการ (Integrated Program of Bachelor and Master of Engineering in Industrial Electrical Engineering) |
2556 | เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) (Automotive Engineering Program) |
2557 | เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Bachelor of Engineering Program in Software Engineering) |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ขยายการเรียนการสอน และให้บริการศูนย์ฝึกอบรม สัมมนาในภูมิภาค มีนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์การศึกษาภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และนำความเป็นเลิศทางวิชาการ วิธีคิดและวิถีของความเป็นธรรมศาสตร์ไปสู่ชุมชนภาคภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2557 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท สยามกลการ จำกัด ในการสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ เป็นจำนวนเงิน 68 ล้านบาท และอาคารสนับสนุนการเรียนการสอน (หอพัก) เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทสยามกลการยังได้บริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ที่มีผลการเรียนดี
หน่วยงานและหลักสูตร
[แก้]ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรทั้งภาคปกติ และโครงการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[4]
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |||
---|---|---|---|
หน่วยงาน | ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
บัณฑิตศึกษา | หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
| |
โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน และโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตภาคภาษาอังกฤษ (TEP–TEPE) | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
||
โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (TU–PINE) | หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
รายนามคณบดี
[แก้]
ลำดับที่ 1 ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย
ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 15 มกราคม พ.ศ. 2533 – 14 มกราคม พ.ศ. 2536
รักษาการในตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 15 มกราคม พ.ศ. 2536 – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
รองศาสตราจารย์ สถาพร เกตกินทะ
รักษาการในตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537
ลำดับที่ 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมนึก ประภารธนาธร
รักษาราชการในตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2537 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2537
ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2537 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2540
ลำดับที่ 3 รองศาสตราจารย์ ดร.จิรศิริพงศ์ เจริญภัณฑารักษ์
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2540 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2543
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 2 ตั้งแต่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2545
รักษาการในตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2545 – 2 กันยายน พ.ศ. 2545
ลำดับที่ 4 รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ
ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2545 – 2 กันยายน พ.ศ. 2548
ลำดับที่ 5 รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548 – 2 กันยายน พ.ศ. 2551
รักษาการในตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 – 29 กันยายน พ.ศ. 2551
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 2 ตั้งแต่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 – 29 กันยายน พ.ศ. 2554
ลำดับที่ 6 รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554 – 29 กันยายน พ.ศ. 2557
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 2 ตั้งแต่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 – 29 กันยายน พ.ศ. 2560
ลำดับที่ 7 รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล
รักษาการแทนตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดำรงตำแหน่งคณบดี สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รายนามผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-18.
- ↑ "Thailand's best Industrial Engineering universities [Rankings]". EduRank.org - Discover university rankings by location (ภาษาอังกฤษ). 2021-08-11.
- ↑ TAEMPHIMAI, AMONWIWAT (2024-06-24). "10 อันดับ "คณะวิศวะ" ยอดนิยม ที่ นักเรียน อยากสอบเข้าเรียนต่อมากที่สุด". www.komchadluek.net.
- ↑ "หลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-13. สืบค้นเมื่อ 2013-10-18.