คณะเนตรนารีเพชราวุธ
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ตราประจำคณะเนตรนารีไทย | |
คําขวัญ | เสียชีพอย่าเสียสัตย์ |
---|---|
ก่อตั้ง | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 |
พระประมุข | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
องค์อุปถัมภิกา | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี |
คณะเนตรนารีไทย ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยมีพระราชคำนึงว่า สตรี และเด็กหญิง ก็อาจเป็นกำลังของชาติได้ จึงได้ทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นเรียกว่า "สมาชิกแม่เสือ" และได้รับการฟื้นฟูจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดาพระองค์เดียว และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชคำนึงว่า สตรี และเด็กหญิง ก็อาจเป็นกำลังของชาติได้ จึงได้ทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นเรียกว่า "สมาชิกแม่เสือ" โดยรับสมัครสตรีที่ส่วนมากเป็นภรรยาและบุตรของเสือป่า สมาชิกแม่เสือมีหน้าที่จัดหาเสบียง และเวชภัณฑ์ส่งให้กองเสือป่าและต้องช่วยชำระค่าบำรุงสโมสรด้วย ผู้ใหญ่เสียค่าบำรุงปีละ 2 บาท เด็กเสียปีละ 50 สตางค์ สมาชิกแม่เสือมีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายเป็นรูปหน้าเสือทำด้วยเงินเชิญพระปรมาภิไธย ย่อว่า ว.ป.ร. ทองอุณาโลมมีโบว์ดำเป็นรูปดอกจันทร์สอดใต้เข็มเครื่องหมาย ติดไว้ที่อกเสื้อ ในขณะนั้นสมาชิกแม่เสือไม่มีเครื่องแบบและไม่มีระเบียบข้อบังคับ ต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะตั้งขึ้นเป็นกองลูกเสือหญิง และได้ทรงคิดนามพระราชทานไว้ว่า เนตรนารี ด้วยทรงเห็นว่าเด็กผู้หญิงย่อยมมีความสำคัญแก่ครอบครัว ถ้าได้รับการฝึกอบรมตามวิธีการของลูกเสือก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก จึงทรงร่างข้อบังคับลักษณะปกครองคณะเนตรนารีมากล่าวไว้ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปรารถนาว่า ได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเพื่อบำรุงเด็กชายให้ได้รับการฝึกฝนในทางที่จะเป็นผู้มีลักษณะสมกับที่เป็นพลเมืองอันพึงปรารถนา มีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเด็กหญิงด้วย เพราะเด็กหญิงเป็นผู้มีความเป็นเป็นอยู่ของชาติ ต้องอาศัยนับจำเดิมแต่ปฐมวัยมา คือ เด็กหญิงเป็นผู้ที่นำทางพี่น้อง แม้ที่สุดบางทีก็ถึงนำทางบิดา มารดา ด้วยเมื่อเติบโตเป็นพลเมืองในสมัยข้างหน้าไปตามที่ได้รับ การอบรมได้จึงมีพระราชดำริว่า ถึงเวลาที่ควรจะฝึกหัดให้หญิงเป็นผู้นำทางไปที่ชอบ คือ ฝึกฝนให้เด็กหญิงเหมาะที่จะเป็นพลเมืองดีในภายหน้าด้วยการอบรมนิสัยฝึกหัดให้รู้จักสังเกต รู้จักอยู่ในถ้อยคำของผู้ใหญ่ ตลอดจนอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมาย มีความจงรักภักดีต่อผู้ใหญ่ของตน ตลอดจน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ทำประโยชน์แก่มหาชนและในกิจการที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนที่ฝึกหัดร่างกายให้เจริญเต็มที่ จึงทรงตราพระราชบัญญัติเนตรนารีขึ้น
ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรบเนตรนารีในสมัยนั้น ไว้ว่า
“ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ หองนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ
1. วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม
2. วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผลและเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้
3. วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆเราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ (คำที่ใช้เป็นเสียงร้องเรียก แทนการใช้สัญญาณนกหวีด) หลายๆครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที”
ภายหลังเปลี่ยนการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กิจการลูกเสือทรุดโทรมลง กิจการเนตรนารีซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกันก็พลอยทรุดโทรมลงไปด้วย มีการตั้งหน่วยยุวชนและยุวนารีขึ้นแทน ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรืองอำนาจ การลูกเสือก็ยิ่งซบเซามากขึ้น ใน พ.ศ. 2496 เมื่อกิจการลูกเสือได้ฟื้นฟูขึ้นแล้ว เรือเอกหลวงชัชวาล ชลธีหัวหน้ากองลูกเสือ จึงได้นำร่างข้อบังคับลักษณะ ปกครองคณะเนตรนารีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาขอให้ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาวัฒนาธรรมแห่งชาติและอุปนายกสโมสรวัฒนธรรมหญิง เมื่อ พ.ศ. 2497 รื้อฟื้นกิจการเนตรนารีขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2499 ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล จึงได้นำเยาวชน สมาชิกของสโมสรวัฒนธรรมหญิง จำนวน 32 คน ไปฝึกการอยู่ค่ายพักแรมที่ ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี โดยต่อมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้พระราชทานกำเนิดกองเนตรนารี และทรงรับกิจการเนตรนารีนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยพระราชทานเงินสนับสนุนกิจการและทรงเสด็จร่วมงานของคณะเนตรนารี ต่อมาพระราชทานนามคณะเตรนารีว่าคณะเนตรนารีเพชราวุธ โดยเกิดจากการสนธิระหว่างคำ 2 คำ จากพระปรมาภิไธยของพระราชชนกและของพระองค์
ระเบียบของเนตรนารี
[แก้]มี 4 ประเภท คือ
- เนตรนารีสำรอง ป.1-ป.4
- เนตรนารีสามัญ ป.5 - ป 6
- เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ม.1- ม 3
- เนตรนารีวิสามัญ ม.ปลาย อาชีวะศึกษา
ตั้งแต่เนตรนารีสามัญขึ้นไป แบ่งเป็น 3 เหล่า
- เหล่าเสนา
- เหล่าสมุทรเสนา
- เหล่าเสนาอากาศ
ธงประจำกองเนตรนารี
[แก้]
- ธงประจำกองเนตรนารีสำรอง ทำด้วยผ้าสีเหลืองขนาด 90x60 ซม. มีครุยสีเขียวยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราเนตรนารีสีเขียว ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองเนตรนารี ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน
- ธงประจำกองเนตรนารีสามัญ ทำด้วยผ้าสีเขียว ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราเนตรนารีสีเหลือง ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองเนตรนารี ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน
- ธงประจำกองเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ทำด้วยผ้าสีเลือดหมู ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราเนตรนารีสีเหลืองขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองเนตรนารี ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน
- ธงประจำกองเนตรนารีวิสามัญ ทำด้วยผ้าสีขาบ ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราเนตรนารีสีเหลือง ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองเนตรนารี ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะสีเงิน