จดหมายของนักบุญยูดา
ส่วนหนึ่งของหมวดหมู่ |
หนังสือใน พันธสัญญาใหม่ |
---|
|
จดหมายของนักบุญยูดา[1] (อังกฤษ: Epistle of Jude) เป็นหนังสือเล่มที่ 26 ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดจดหมายทั่วไป อันได้แก่ ยากอบ 1 เปโตร 2 เปโตร 1 ยอห์น 2 ยอห์น 3 ยอห์น และ ยูดา เนื่องจากจดหมายเหล่านี้ถูกส่งถึงคริสตชนทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นคริสตจักรใด
แต่เดิมพระธรรมเล่มนี้เป็นจดหมายส่วนตัว ผู้เขียนระบุชื่อของตนเองชัดเจนตั้งแต่ตอนต้นว่าเป็น ยูดา ทั้งยังบอกด้วยว่าเป็น น้องของ ยากอบ[2] เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายรวมกับหลักฐานอื่น ๆ แล้ว เชื่อได้ว่าผู้เขียนคือยูดาน้องชายของพระเยซู[3] จดหมายถูกส่งถึงผู้รับที่ไม่ได้ระบุชื่อ แต่ถูกเรียกว่า "คนทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงเรียกไว้" ซึ่งน่าจะเป็นคริสเตียนทั่วไปที่กระจัดกระจายอยู่ในจักรโรมัน ช่วงเวลาในการเขียนจดหมายฉบับนี้น่าจะอยู่ในราวปีค.ศ. 65
จากเนื้อหาในจดหมายของยูดากล่าวว่า ในตอนแรกตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องของความรอด แต่ต่อมาเปลี่ยนใจภายหลังเป็นการเขียนถึงเรื่องหลักคำสอนแทน เนื่องจากในช่วงที่ ยูดา กำลังเขียนจดหมายนั้น ได้มีอันตรายกำลังคุกคามคริสตจักรอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องการถูกกดขี่ข่มเหงจากภายนอกของผู้ที่ไม่เชื่อ กลับเป็นเรื่องความเชื่อที่ถูกบิดเบือนไปโดยผู้ที่สอนผิด ยูดา คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเขียนจดหมายเพื่อเตือนสติและให้ระมัดระวังคนเหล่านั้น
หนึ่งในคำสอนผิดที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งอันตรายมากต่อการดำเนินชีวิตของคริสเตียนคือ คำสอนที่ว่า ในเมื่อผู้ที่เชื่อพระเยซูแล้วได้รับความรอด ความผิดบาปทั้งหมดได้รับการอภัยโดยพระกิตติคุณ ดังนั้นผู้ที่เชื่อจึงสามารถทำบาปได้อย่างอิสรเสรี ยูดา ใช้ถ้อยคำอย่างรุนแรงเมื่อกล่าวถึงผู้ที่สอนผิดในลักษณะนี้ว่า "เขาเหล่านั้นเป็นคนอธรรม ที่ถือเอาพระคุณของพระเจ้าของเราเป็นเหตุให้กระทำความชั่วช้าลามก"[4] ในบางตอนของจดหมายเปรียบเทียบคนเหล่านี้กับ "สัตว์เดียรัจฉานที่ไม่มีความคิด"[5]
ในจดหมายขนาดสั้นฉบับนี้ ยูดา มีวัตถุประสงค์ในการเขียนอยู่สองประการ ประการแรกคือ ต้องการตักเตือนให้คริสเตียนยึดมั่นในความเชื่อ อย่าฟังผู้สอนเสียทุกคน แต่ให้เชื่อฟังผู้ที่ไว้วางใจได้ มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เข้ามาล่อลวง ในส่วนนี้ ยูดา ได้อ้างถึงการกระทำในอดีตของผู้ที่ประพฤติผิดบางคน เช่น ชาวเมืองโสโดม เมืองโกโมราห์[6] คาอินและบาลาอัม[7] เป็นต้น
ประการที่สองคือ ต้องการตักเตือนให้ดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างเหมาะสม เช่น "จงสร้างตัวของท่านขึ้นบนหลักคำสอนอันบริสุทธิ์" "จงอธิษฐานในพระวิญญาณบริสุทธิ์"[8] และ "จงรักษาตัวไว้ให้ดำรงในความรักของพระเจ้า"[9] เป็นต้น
โครงร่าง
[แก้]1. คำทักทาย 1 - 2
2. ปกป้องความเชื่อ 3 - 4
3. ตัวอย่างคนชั่วที่ให้ร้ายพระกิตติคุณ 5 - 16
4. คำสั่งสอนในเชิงปฏิบัติ 17 - 25
อ้างอิง
[แก้]- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997