ข้ามไปเนื้อหา

ชต็อลเลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชต็อลเลิน
ชต็อลเลินสำหรับวันคริสต์มาส
ประเภทขนมอบ
แหล่งกำเนิดเยอรมนี
ภูมิภาครัฐซัคเซิน
ส่วนผสมหลักผลไม้เชื่อมหรือตากแห้ง ถั่ว เครื่องเทศ (กระวานและอบเชย) และน้ำตาล

ชต็อลเลิน (เยอรมัน: Stollen, ออกเสียง: [ˈʃtɔlən] ( ฟังเสียง) หรือ [ʃtɔln] ( ฟังเสียง)) เป็นขนมปังหวานที่ผสมถั่ว เครื่องเทศ และผลไม้แห้งหรือเชื่อม เคลือบด้วยน้ำตาล เป็นขนมปังที่ชาวเยอรมันนิยมรับประทานในช่วงคริสต์มาส ชต็อลเลินมีชื่อเรียกอีกสองชื่อได้แก่ ไวนัคทซ์ชต็อลเลิน (Weihnachtsstollen ตามคำว่า Weihnachten ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อเทศกาลคริสต์มาสในภาษาเยอรมัน) และ คริสท์ชต็อลเลิน (Christstollen)

ส่วนผสม

[แก้]

ชต็อลเลินเป็นขนมปังที่มีลักษณะคล้ายเค้กซึ่งทำจากแป้ง น้ำ และยีสต์ และมักจะผสมผิวส้มลงไปในแป้งด้วย นอกจากนี้ยังผสมเปลือกส้มเชื่อม ลูกเกด และอัลมอนด์ และเครื่องเทศได้แก่กระวานและอบเชย ส่วนผสมอื่น ๆ ซึ่งเติมเพิ่มตามความชอบได้แก่นม น้ำตาล เนย เกลือ เหล้ารัม ไข่[1] วานิลลา[2] ผลไม้แห้ง ถั่ว และมาร์ซิพัน (ถั่วอัลมอนด์บดผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง) ชต็อลเลินขนาดมาตรฐานจะมีน้ำหนักประมาณ 2.0 kg (4.4 lb) แต่ชต็อลเลินที่ขนาดเล็กกว่านั้นก็พบได้ทั่วไปเช่นกัน หลังจากนำออกจากเตาอบจะนำไปเคลือบด้วยเนยจืดและคลุกน้ำตาลทันที ซึ่งจะทำให้ขนมปังมีความชื้นและเก็บได้นาน[3]

ชต็อลเลินแบบเดรสเดิน ซึ่งเป็นขนมปังเนื้อแน่นและมีไส้ผลไม้และแต่เดิมเรียกว่า อัลเลอร์ไฮลิเกินชตรีทเซิล (Allerheiligenstriezel) หรือ ชตรีทเซิล (Striezel) นั้นมีหลักฐานอ้างอิงที่เก่าแก่ที่สุดคือเอกสารราชการใน ค.ศ. 1474[4] และยังคงมีชื่อเสียง[5] ชต็อลเลินแบบเดรสเดินนี้จะผลิตโดยร้านขนมปัง 150 แห่งในเดรสเดินเท่านั้น โดยมีตราประทับพิเศษซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ผู้แข็งแกร่ง

ประวัติ

[แก้]
ชต็อลเลิน

ชต็อลเลินในยุคแรกนั้นจะมีส่วนผสมเพียงสามชนิดได้แก่แป้ง ข้าวโอ๊ต และน้ำ[6] ชต็อลเลินเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาสครั้งแรกในการประชุมสังคายนาแห่งเทรนต์ใน ค.ศ. 1545[7] และมีส่วนผสมเพียงสี่อย่างได้แก่แป้ง ยีสต์ น้ำมัน และน้ำ

ในช่วงยุคกลาง ผู้คนจะถือศีลอดในช่วงเวลาเทศกาลเตรียมการรับเสด็จ (Advent) ก่อนวันคริสต์มาสและคนทำขนมปังจะไม่สามารถใช้เนยได้ ใช้ได้แต่เพียงน้ำมันเท่านั้น ทำให้ขนมปังที่ได้แข็งและไม่อร่อย[4] ในศตวรรษที่ 15 เจ้าชายแอนสท์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกประจำนครรัฐซัคเซินและพระอนุชา ดยุกอัลเบร็ชท์แห่งซัคเซินได้มีพระราชสาส์นไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาในกรุงโรม เนื่องจากน้ำมันในซัคเซินมีราคาแพงและหายาก สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ไม่ทรงยินยอม ห้าสมณกาลต่อมา ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 8[7] พระองค์ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปยังเจ้านครรัฐว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เนยแทนได้ แต่จำกัดเพียงเจ้านครรัฐและครอบครัวเท่านั้น ในขณะที่สามัญชนทั่วไปที่จะใช้เนยต้องจ่ายภาษีรายปีในอัตราเทียบเท่ากับทองคำ 1/20 กุลเดินเพื่อสมทบทุนสร้างอาสนวิหารไฟรแบร์ค ก่อนที่ภาษีรายปีดังกล่าวจะยกเลิกเมื่อรัฐซัคเซินเปลี่ยนมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์

สูตรการทำชต็อลเลินเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษหลังจากนั้น โดยมีการผสมส่วนผสมที่ให้ความหวานชุ่มเช่นมาร์ซิแพน เป็นต้น ในสหราชอาณาจักร ชต็อลเลินเริ่มได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยความนิยมชต็อลเลินในสหราชอาณาจักรนั้นเทียบเท่ากับมินซ์พายหรือคริสต์มาสพุดดิงซึ่งเป็นอาหารตามธรรมเนียมดั้งเดิม ชต็อลเลินสามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ในครัวเรือนก็นิยมทำรับประทานเอง[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Recipe for Dresdner Weihnachtsstollen Mimi Sheraton, The German Cookbook, from Random House
  2. "Learning and Teaching German".
  3. Felicity Cloake (15 December 2016). "How to bake the perfect stollen". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 May 2017.
  4. 4.0 4.1 "City of Dresden - Tourism - The original Dresden Stollen". 22 January 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-22.
  5. Meyers Lexikon เก็บถาวร 2009-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: "Besonders bekannt ist der Dresdner Stollen" ("the Dresden Stollen is especially well-known")
  6. Von Gänsen, Karpfen, Lebkuchen und Stollen เก็บถาวร 2007-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Dtsch Med. Wochenschrift 2003;128: 2691–2694 (p. 4)
  7. 7.0 7.1 (haftungsbeschränkt), Bäckerei & Konditorei Gnauck UG. "The History of the Christ Stollen from Dresden - Bäckerei & Konditorei Gnauck". Bäckerei & Konditorei Gnauck.
  8. Jay Rayner: Christmas taste test: stollen