ช็อกโกแลตสวิส
ช็อกโกแลตในเมืองเนอชาแตล | |
แหล่งกำเนิด | สวิตเซอร์แลนด์ |
---|---|
ส่วนผสมหลัก | ช็อกโกแลต |
ช็อกโกแลตสวิส (อังกฤษ: Swiss chocolate) เป็นช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงแม้เมล็ดโกโก้และส่วนประกอบอื่น ๆ จะมีแหล่งกำเนิดภายนอกสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถือกันว่า ช็อกโกแลตสวิสต้องผลิตในสวิตเซอร์แลนด์จริง ๆ ช็อกโกแลตประเภทนี้ได้ชื่อเสียงระดับสากลว่ามีคุณภาพสูง และมีตราสินค้าชื่อดังระดับโลกหลายตรา
ช็อกโกแลตสวิสซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นพิเศษ คือ ช็อกโกแลตนม โดยใน ค.ศ. 1875 แดเนียล พีเทอร์ (Daniel Peter) นักทำขนมชาวสวิส พัฒนาช็อกโกแลตนมแบบแท่งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้นมข้นที่อ็องรี แน็สเล (Henri Nestlé) เพื่อนบ้านของเขาเองในเมืองเวอแว (Vevey) คิดค้นขึ้น[1][2]
ตลาด
[แก้]ในช่วงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง อุตสาหกรรมช็อกโกแลตสวิสนั้นเน้นการส่งออกอย่างมาก เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว สวิตเซอร์แลนด์จึงเริ่มจัดหาการผลิตจากภายนอกประเทศเพราะข้อจำกัดทางการค้าหลายประการ ปัจจุบัน ช็อกโกแลตสวิสส่วนใหญ่มีผู้บริโภคเป็นชาวสวิสเอง (ร้อยละ 54% ใน ค.ศ. 2000) และสวิตเซอร์แลนด์มีอัตราการบริโภคช็อกโกแลตต่อหัวสูงที่สุดในโลก (หนึ่งคนบริโภค 11.6 กิโลกรัมต่อปี)
ใน ค.ศ. 2004 ช็อกโกแลตที่ผลิตในสวิสเซอร์แลนด์มีจำนวน 148,270 ตัน และร้อยละ 53 ของช็อกโกแลตเหล่านี้ส่งออกนอกประเทศ (ร้อยละ 20 ไปเยอรมนี ร้อยละ 11 ไปฝรั่งเศสและบริเตนใหญ่ และร้อยละ 13 ไปอเมริกาเหนือ) อนึ่ง รายได้มวลรวมของอุตสาหกรรมช็อกโกแลตสวิสใน ค.ศ. 2004 อยู่ที่ 1.37 พันล้านฟรังก์สวิส (814 ล้านมาจากตลาดท้องถิ่น และ 551 ล้านมาจากการส่งออก)[3]
โครงสร้างอุตสาหกรรม
[แก้]ใน ค.ศ. 1901 บรรดาผู้ผลิตช็อกโกแลตสวิสก่อตั้ง "สหภาพเสรีของผู้ผลิตช็อกโกแลตสวิส" (Union libre des fabricants suisses de chocolat) ต่อมาใน ค.ศ. 1916 สหภาพนี้แยกตัวออกเป็น "สภารวมผู้ผลิตช็อกโกแลตสวิส" (Chambre syndicale des fabricants suisses de chocolat) และ "ที่ประชุมช็อกโกแลตสวิส" (Convention chocolatière suisse) ปัจจุบัน สภารวมดังกล่าวมีชื่อว่า "โชโกซุยส์" (Chocosuisse) ทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ผลิตช็อกโกแลตสวิส ส่วนที่ประชุมดังกล่าว ก่อนจะยุบไปใน ค.ศ. 1994 นั้น มุ่งเน้นควบคุมคุณภาพของช็อกโกแลตและแสวงหายุทธศาสตร์ด้านราคาที่สอดคล้องต้องกัน[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Mintz, Sidney (17 April 2018). "The Oxford Companion to Sugar and Sweets". Oxford University Press. p. 524 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Moskin, Julia (13 กุมภาพันธ์ 2008). "Dark may be king, but milk chocolate makes a move". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2016.
- ↑ "Swiss Chocolate Fights Imports". Chocolate Trading Company. สืบค้นเมื่อ 13 June 2021.
- ↑ "Chocology" (PDF). Chocosuisse. สืบค้นเมื่อ 13 June 2021.