ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย
อีวัน อาแลกซันเดอร์ | |
---|---|
ภาพเหมือนของซาร์จากต้นฉบับในยุคกลาง, พระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ | |
ซาร์แห่งบัลแกเรีย | |
ครองราชย์ | 1331 – 17 กุมภาพันธ์ 1371 |
ก่อนหน้า | ซาร์อีวัน สแตฟัน |
ถัดไป | ซาร์อีวัน ชิชมัน ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ |
สวรรคต | 17 กุมภาพันธ์ 1371 |
คู่อภิเษก | ซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย ซารีนาซารา–แตออดอรา |
พระราชบุตร | ดูด้านล้าง |
ราชวงศ์ | สรัตซีมีร์ |
พระราชบิดา | สรัตซีมีร์แห่งเกริน |
พระราชมารดา | เจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา |
ศาสนา | อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ |
ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ (บัลแกเรีย: Иван Александър, ถ่ายตัวอักษรได้ว่า Ivan Aleksandǎr, สะกดอย่างดั้งเดิม: ІѠАНЪ АЛЄѮАНдРЪ)[1] หรือในบางครั้งแผลงเป็นอังกฤษได้ว่า จอห์น อเล็กซานเดอร์[2] เป็นจักรพรรดิ (ซาร์) แห่งจักรวรรดิบัลแกเรียตั้งแต่ ค.ศ. 1331–1371[3] วันเสด็จพระราชสมภพของพระองค์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยทราบเพียงวันสวรรคตซึ่งตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1371 ช่วงระยะเวลาการครองราชสมบัติที่ยาวนานของพระองค์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประวัติศาสตร์บัลแกเรียในยุคกลาง ซึ่งพระองค์ทรงต้องจัดการกับปัญหาภายในและภัยคุกคามจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิเซอร์เบีย ซึ่งเป็นดินแดนเพื่อนบ้านของบัลแกเรีย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ศิลปะและการศาสนาของบัลแกเรียอีกด้วย[4]
อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงไม่สามารถรับมือกับปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากกาฬมรณะ การรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันและการรุกรานบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโดยราชอาณาจักรฮังการี[3] การเผชิญหน้าอย่างไร้ผลกับปัญหาเหล่านี้ พระองค์ได้ทรงแบ่งดินแดนให้พระราชโอรส 2 พระองค์[5][6] ซึ่งนำไปสู่ความอ่อนแอและการแบ่งแยกของจักรวรรดิบัลแกเรีย พร้อมกับการเผชิญหน้ากับขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน[3][6]
ระยะแรกของการครองราชย์
[แก้]ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสรัตซีมีร์ เดสเปิต (Despot) แห่งเกริน ซึ่งมีบรรพบุรษสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อาแซน[7] และเจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา พระขนิษฐาของซาร์มีคาอิล ชิชมันแห่งบัลแกเรีย[8] ดังนั้นซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงมีความสัมพันธ์เป็นพระภาคิไนยขอซาร์มีคาอิล ชิชมันด้วย[4][5] ใน ค.ศ. 1330 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเดสเปิตแห่งเมืองโลเวช ในขณะที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเดสเปิต พระองค์ได้ร่วมรบในยุทธการที่แวลเบิชด์ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเมืองกยูสแตนดิล เพื่อต่อต้านเซอร์เบียใน ค.ศ. 1330 ร่วมกับพระราชบิดาและบาซารับที่ 1 แห่งวอเลเคีย พระสัสสุระของพระองค์ ซึ่งในยุทธการครั้งนี้ฝ่ายเซอร์เบียได้รับชัยชนะ และการพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ของบัลแกเรีย พร้อมกับปัญหาภายในที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการรุกรานของจักรวรรดิไบแซนไทน์จากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างกัน นำไปสู่การก่อการรัฐประหารขับไล่ซาร์อีวัน สแตฟันออกจากเมืองหลวงแวลีโกเตอร์โนโวใน ค.ศ. 1331 และกลุ่มผู้ก่อการได้ทูลเชิญให้อีวัน อาแลกซันเดอร์ขึ้นครองราชบัลลังก์[9]
ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์มีพระราชดำริในการยึดดินแดนที่สูญเสียให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์กลับคืนมาเพื่อสร้างความมั่นคงในตำแหน่งของพระองค์ ดังนั้นใน ค.ศ. 1331 ซาร์อีวันจึงทำการศึกในบริเวณเอดีร์แนและสามารถยึดดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของเธรซกลับคืนมาได้[4][5] ในขณะเดียวกันพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียได้ปลดพระราชบิดาของพระองค์ (พระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 3) ออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบีย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายของบัลแกเรียและเซอร์เบียกลับมาดีขึ้น พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์สัญญาเป็นพันธมิตรต่อกัน โดยกำหนดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียและแอแลนาแห่งบัลแกเรีย ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในวันอีสเตอร์ ของ ค.ศ. 1332[4][5][10]
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันแบลาอูร์ ซึ่งเป็นพระอนุชาของซาร์มีคาอิล ชิชมันได้ก่อการกบฎขึ้นที่วีดีน โดยการก่อกบฎครั้งนี้อาจเป็นไปเพื่อช่วยให้ซาร์อีวัน สแตฟัน พระภาคิไนยของพระองค์กลับสู่ราชบัลลังก์อีกครั้ง การปราบปรามกลุ่มกบฎต้องเลื่อนออกไป เมื่อในช่วงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1332 จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 พาลาโอโลกอสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์รุกรานบัลแกเรีย กองทัพของไบแซนไทน์ได้รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของเธรซ โดยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงรีบนำกองกำลังขนาดเล็กมุ่งลงใต้ไปทันกองทัพของจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 ที่รูซอกัสตรอ[10]
ไม่มีซาร์พระองค์ใดที่จะเหมือนกับซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ในเชิงความสามารถทางการทหาร พระองค์เปรียบเสมือนเป็นอเล็กซานเดอร์มหาราช พระองค์ที่ 2 ในเชิงความเชื่อและความศรัทธา พระองค์เปรียบเสมือนเป็นนักบุญคอนสแตนติน พระองค์ทรงจับศัตรูของพระองค์ไว้ใต้เข่าและได้สร้างสันติภาพที่มั่นคงในจักรวาลนี้ [11]
— บทสรรเสริญอีวัน อาแลกซันเดอร์[12]โดยผู้แต่งนิรนามร่วมสมัย
หลังจากที่พระองค์แสดงทรงแสดงท่าทีลวงว่าจะเจรจา ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์พร้อมด้วยกองกำลังเสริมจากกองทัพม้าของชาวมองโกล ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงโจมตีกองทัพไบแซนไทน์ ส่งผลให้กองกำลังของไบแซนไทน์ที่ถึงแม้ว่าจะมีการจัดกระบวนทัพที่ดีกว่า แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าประสบกับความพ่ายแพ้[5] บรรดาเมืองโดยรอบหลายเมืองได้ยอมแพ้ต่อซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ในขณะที่จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในกำแพงเมืองรูซอกัสตรอ สงครามครั้งนี้จบลงเมื่อทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึก โดยทั้งสองฝ่ายยอมรับสภาวะเดิม (status quo) และเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างกันซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ขอให้มีการหมั้นหมายระหว่างมาเรีย พระธิดาของจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 กับมีคาอิล อาแซน พระโอรสของพระองค์ และนำไปสู่การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ใน ค.ศ. 1339[5][13] เมื่อจบสงครามกับไบแซนไทน์ พระองค์จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการกับแบลาอูร์ และสามารถปราบฐานที่มั่นสุดท้ายของกบฎทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือได้สำเร็จในประมาณ ค.ศ. 1336 หรือ 1337[14]
ใน ค.ศ. 1332 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้สถาปนาพระโอรสองค์โตมีคาอิล อาแซนที่ 4 ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วม (Co–Emperor) และพระองค์ได้ดำเนินแนวทางเช่นนี้ในเวลาต่อมาด้วยการสถาปนาพระโอรสองค์รองอย่างอีวัน สรัตซีมีร์และอีวัน อาแซนที่ 5 ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วมเช่นกันใน ค.ศ. 1337 ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นไปเพื่อรักษาราชบัลลังก์ไว้ในราชตระกูลของพระองค์ นอกจากนี้ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อาจมีความตั้งพระทัยที่จะควบคุมเมืองสำคัญภายในดินแดนผ่านการตั้งตำแหน่งจักรพรรดิร่วม ซึ่งพบว่าอีวัน สรัตซีมีร์ได้รับมอบหมายให้ปกครองวีดีน ในขณะที่อีวัน อาแซนที่ 4 อาจได้รับมอบหมายให้ปกครองแปรสลัฟ อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของธรรมเนียมบัลแกเรียกับไบแซนไทน์ในการแต่งตั้งตำแหน่ง despotēs เนื่องจากตามธรรมเนียมของไบแซนไทน์ พระโอรสองค์รองจะได้รับการแต่งตั้งเป็น despotēs ไม่ว่าจะมีดินแดนภายใต้การปกครองหรือไม่ก็ตาม[15]
ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิไบแซนไทน์
[แก้]ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1340 ความสัมพันธ์กับไบแซนไทน์เลวร้ายลงชั่วคราว เมื่อซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้เรียกร้องให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ส่งตัวเจ้าชายชิชมัน หนึ่งในพระโอรสของซาร์มีคาอิลที่ 3 ชิชมันกลับสู่บัลแกเรีย พร้อมทั้งขู่ประกาศสงครามหากนิ่งเฉย การขู่ใช้กำลังครั้งนี้ของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในครั้งนี้ได้ผลตรงกันข้าม เนื่องจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ทราบเจตนาที่แท้จริงของพระองค์ จึงได้นำกองทัพเรือพันธมิตรชาวตุรกีจากอูมูร์ เบย์ เอมีร์แห่งสเมอร์นา ซึ่งได้ขึ้นฝั่งที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบและปล้นสะดมพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งเข้าโจมตีนครของบัลแกเรียที่อยู่ใกล้เคียง ด้วยการถูกบังคับให้ระงับข้อเรียกร้อง ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์อีกครั้งใน ค.ศ. 1341 โดยอ้างว่าชาวเอเดรียโนเปิลเรียกหาพระองค์[17] อย่างไรก็ตามกองกำลังพันธมิตรของไบแซนไทน์สามารถเอาชนะกองทัพของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในการรบใกล้กับนครเอเดรียโนเปิลได้ถึง 2 ครั้ง[18]
ใน ค.ศ. 1341–1347 จักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องเผชิญกับปัญหาสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน เพื่อแย่งชิงสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองของจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอส ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ระหว่างกลุ่มของผู้สำเร็จราชการภายใต้การนำของแอนนาแห่งซาวอยและกลุ่มของจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่หมายมั่นไว้ ประเทศเพื่อนบ้านของไบแซนไทน์ต่างฉวยโอกาสจากสงครามกลางเมืองครั้งนี้ โดยพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียทรงสนับสนุนจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส ในขณะที่ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงสนับสนุนจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสและคณะผู้สำเร็จราชการ[5] แม้ว่าทั้งสองประเทศจะให้การสนับสนุนขั้วอำนาจที่แตกต่างกันในสงครามกลางเมือง ทั้งสองฝ่ายยังคงสถานะเป็นพันธมิตรต่อกัน ซึ่งใน ค.ศ. 1344 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ดินแดนนครฟิลิปโปโปลิส (ปลอฟดิฟ) รวมไปถึงป้อมปราการสำคัญ 9 แห่งบริเวณเทือกเขารอดอปปีจากการที่พระองค์สนับสนุนกลุ่มของผู้สำเร็จราชการ[3][19] จากการพลิกกลับอย่างสันตินี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในรัชสมัยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์
ความรุ่งเรืองของเซอร์เบียและภัยจากออตโตมัน
[แก้]การเข้าไปมีส่วนร่วมของเซอร์เบียในสงครามกลางเมืองไบแซนไทน์ ส่งผลให้เซอร์เบียได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการได้ดินแดนมาซิโดเนีย พื้นที่เกือบทั้งหมดของแอลเบเนียและตอนเหนือของกรีซ ใน ค.ศ. 1345 พระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียเริ่มเรียกพระองค์เองเป็น "จักรพรรดิของชาวเซิร์บและกรีก" พร้อมทั้งราชาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยได้รับการสวมมงกุฎจากอัครบิดรแห่งเซอร์เบีย ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งใหม่ใน ค.ศ. 1346[5] การกระทำเช่นนี้แม้เป็นการสร้างความไม่ขุ่นเคืองให้กับไบแซนไทน์ แต่พบว่าบัลแกเรียเป็นผู้สนับสนุนการกระทำเช่นนั้น โดยอัครบิดรซีแมออนแห่งบัลแกเรียมีส่วนร่วมในการสถาปนาเขตอัครบิดรแปชี (Serbian Patriarchate of Peć) และร่วมงานบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิของพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4[20]
ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1340 ความสำเร็จระยะแรกของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เริ่มเหลือน้อยเต็มที บัลแกเรียซึ่งเผชิญกับความเสียหายจากกาฬมรณะ ยิ่งอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปล้นสะดมในพื้นที่เธรซช่วง ค.ศ. 1346, 1347, 1349, 1352 และ 1354 โดยกองกำลังพันธมิตรชาวตุรกีของจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส[21] บัลแกเรียพยายามที่จะขับไล่ผู้รุกรานออกไป แต่ประสบกับความล้มเหลว พร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระโอรสพระองค์ที่ 3 อีวัน อาแซนที่ 4 ใน ค.ศ. 1349 และพระโอรสองค์โต มีคาอิล อาแซนที่ 4 ใน ค.ศ. 1355 หรือก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย[22]
สงครามกลางเมืองไบแซนไทน์ได้จบสิ้นลงใน ค.ศ. 1351 และจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอสได้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากออตโตมันต่อดินแดนในคาบสมุทรบอลข่าน ดังนั้นพระองค์จึงหันไปสร้างพันธมิตรกับเซอร์เบียและบัลแกเรีย เพื่อร่วมมือกันต่อต้านกองกำลังชาวตุรกี ในการนี้ไบแซนไทน์ได้ร้องขอเงินจากซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เพื่อนำไปต่อเรือรบ[5][23] อย่างไรก็ตามการสร้างพันธมิตรระหว่างกันดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจในเจตนาของไบแซนไทน์[24] ความพยายามครั้งใหม่ที่จะแสวงหาความร่วมมือระหว่างบัลแกเรียและไบแซนไทน์เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1355 [25]เมื่อจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสทรงบังคับให้จักรพรรดิจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอสสละราชสมบัติ ส่งผลให้จักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุดของจักรวรรดิแต่เพียงผู้เดียว พระองค์ได้สร้างพันธมิตรกับบัลแกเรีย เพื่อให้สัญญาการเป็นพันธมิตรมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการกำหนดให้พระราชโอรสของพระองค์ อันโดรนิคอสที่ 4 พาลาโอโลกอสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแกรัตซา พระธิดาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ [26][3] แต่การสร้างพันธมิตรระหว่างกันในครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญแต่ประการใด[27]
ปัญหาความมั่นคงภายในและความขัดแย้งจากภายนอก
[แก้]ประมาณ ค.ศ. 1349 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงหย่ากับซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคียพระชายาพระองค์แรกด้วยเหตุผลการรักษาความมั่นคงภายใน และอภิเษกสมรสใหม่กับซารีนาซารา–แตออดอรา ซึ่งเคยนับถือศาสนายูดาย และเปลี่ยนมานับถืออีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในภายหลัง[5] การอภิเษกสมรสใหม่ครั้งนี้ ส่งผลให้ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงมีพระราชบุตรเพิ่มขึ้น และได้แต่งตั้งพระราชบุตรเหล่านี้ให้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิร่วม ประกอบด้วย อีวัน ชิชมัน ใน ค.ศ. 1365 และอีวัน อาแซนที่ 5 ใน ค.ศ. 1359 อย่างไรก็ตามพระโอรสที่ประสูติแต่ซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิร่วมในวีดินคือ อีวัน สรัตซีมีร์ เปลี่ยนเป็นผู้ปกครองดินแดนอย่างอิสระใน ค.ศ. 1356[5] ส่วนซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เป็นผู้ควบคุมผู้ปกครองใต้อาณัติที่เข้มแข็ง อย่างวอเลเคียและโดบรูยา ซึ่งผู้ปกครองเหล่านี้ได้พยายามที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยตนเองมากขึ้น[28]
ตั้งแต่ช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นไป บัลแกเรียประสบปัญหากับการขยายอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการีแห่งราชวงศ์กาเปเตียง อองจู ซึ่งได้ควบรวมดินแดนมอลเดเวียไว้ในอำนาจใน ค.ศ. 1352 และสถาปนาพื้นที่แห่งนั้นขึ้นเป็นราชรัฐภายใต้อาณัติของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังนำกองกำลังฮังการีเข้ายึดครองเมืองวีดินใน ค.ศ. 1365[5][23] และจับตัวซาร์อีวัน สรัตซีมีร์และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นเชลย[5][28]
ใน ค.ศ. 1364 บัลแกเรียและไบแซนไทน์เริ่มมีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างกันอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1366 ความขัดแย้งนี้เริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสกำลังเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสพื้นที่ทางภาคตะวันตก แต่บัลแกเรียปฏิเสธไม่ให้ไบแซนไทน์เดินทางผ่านดินแดนของบัลแกเรีย การกระทำเช่นนี้ของบัลแกเรียก่อให้เกิดผลย้อนกลับ เมื่ออมาเดอุสที่ 6 แห่งซาวอยซึ่งเป็นพันธมิตรกับไบแซนไทน์ ได้นำกองกำลังครูเสด ยึดเมืองชายทะเลหลายแห่งของบัลแกเรีย เช่น อันคีอาลอส (ปอมอรีแอ) และเมเซมเบรีย (แนแซเบอร์) เป็นการตอบโต้ รวมไปถึงได้พยายามยึดเมืองวาร์นา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จำยอมต้องเจรจาสันติภาพ[29]
ผลของการตกลงสันติภาพในครั้งนี้ จักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอส ตกลงจ่ายเงินให้บัลแกเรียเป็นจำนวน 180,000 ฟลอริน ในขณะที่เมืองที่กองกำลังครูเสดยึดได้ตกเป็นของไบแซนไทน์[5] ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์นำเงินที่ได้และการยอมตกลงมอบดินแดนบางส่วนให้เพื่อจูงใจให้ผู้ปกครองดินแดนภายใต้อาณัติโดยนิตินัยอย่างดอบรอติดซาแห่งโดบรูยา[30] และวลัดดีสลัฟที่ 1 แห่งวอเลเคีย[31][32] ช่วยเหลือในการช่วงชิงวีดินกลับคืนมาจากฮังการี[33] สงครามครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และใน ค.ศ. 1369 ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ได้กลับมาปกครองวีดินอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งฮังการีจะบังคับให้ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ยอมรับว่าอยู่ภายใต้อำนาจของฮังการีก็ตาม[34]
แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ความสำเร็จนี้ไม่สามารถช่วยให้ดินแดนที่สูญเสียไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้กลับคืนมาได้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อสุลต่านมูรัดที่ 1 แห่งออตโตมันทำสงครามรุกรานพื้นที่บริเวณเธรซใน ค.ศ. 1361 และสามารถยึดอเดรียโนเปิลได้สำเร็จใน ค.ศ. 1369 และสถาปนาเมืองแห่งนี้เป็นเมืองหลวงเพื่อใช้ในการขยายอำนาจต่อไป นอกจากนี้ออตโตมันยังเข้ายึดเมืองฟิลิปโปโปลิสและแบรอแอ (สตาราซากอรา) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของบัลแกเรีย[35] ระหว่างที่เหล่าเจ้าชายในบัลแกเรียและเซอร์เบียในมาซีโดเนียกำลังร่วมมือกันเพื่อต่อต้านออตโตมัน ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เสด็จสวรรคตในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1371[36] พระโอรสของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทั้งสองพระองค์เป็นผู้สืบพระอิสริยยศ ซาร์แห่งบัลแกเรีย โดยอีวัน สรัตซีมีร์ขึ้นครองราชย์ในวีดิน[23] ส่วนอีวัน ชิชมันขึ้นครองราชย์ในเตอร์นอวอ[23] ขณะที่ผู้ปกครองของโดบรูยาและวอเลเคียมีอิสระในการปกครองมากยิ่งขึ้น
วัฒนธรรมและศาสนา
[แก้]ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2 เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมบัลแกเรียครั้งที่ 2[37][38] โดยยุคทองครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของซาร์ซีแมออนที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[39] ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างและซ่อมแซมอารามและโบสถ์หลายแห่ง[3][40] โดยพบภาพเหมือนผู้อุทิศของพระองค์ปรากฏอยู่ในออสชัวรีของอารามบัคกอฟสกีและในโบสถ์หินสกัดแห่งอีวันนอวอ[41] นอกจากนี้เอกสารการบริจาคของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอและหลักฐานอื่นช่วยพิสูจน์ให้ทราบว่ามีศาสนสถานหลายแห่งได้รับการบูรณะหรือสร้างใหม่ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ เช่น มหาวิหารพระมารดาแห่งพระเจ้าเอเลอูซาและโบสถ์เซนต์นิโคลัสที่เมืองแนแซเบอร์[5][41] และอารามแปแชสกี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองแปรนิกเป็นต้น [41][42] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างอารามดรากาเลฟสกีและอารามในเมืองกีลีฟาแรวออีกด้วย[5]
นอกจากการสร้างและบูรณะศาสนสถานหลายแห่งแล้ว ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์มีพระบรมราโชบายในการเสริมสร้างสถานะของคริสตจักรบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ด้วยการไล่ล่าและจับกุมกลุ่มนอกรีตและยิว[43] นอกจากนี้พระองค์ยังจัดการประชุมทางศาสนา ซึ่งมีการตำหนิกลุ่มนิกายนอกรีต เช่น ลัทธิบอกอมิล แอดาไมต์และยูไดห์เซอร์[5][44] เป็นจำนวน 2 ครั้ง ใน ค.ศ. 1350 และ ค.ศ. 1359–1360[45]
ในรัชสมัยของพระองค์ แตออดอซีย์แห่งเตอร์นอวอเป็นผู้แทนชาวบัลแกเรียคนสำคัญในขบวนการฝึกจิตวิญญาณที่เรียกว่าเฮซิแคซึม ซึ่งเป็นวิธีการสวดภาวนารูปแบบหนึ่งที่เน้นการภาวนาในความเงียบสงบและจิตจดจ่ออยู่กับการภาวนา เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมทั่วไปในดินแดนที่นับถืออีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 14[46]
นอกจากกิจกรรมทางด้านศาสนาแล้ว กิจกรรมทางด้านวรรณกรรมก็เฟื่องฟูเช่นกัน โดยพบงานวรรณกรรมสำคัญหลายชิ้นที่เขียนขึ้นในสมัยนี้ เช่น การแปลบันทึกเหตุการณ์ของมานาสสิส (ค.ศ. 1344–1345) เป็นภาษาบัลแกเรีย ปัจจุบันงานแปลชิ้นนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน[5][47] พระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดบริติช[48] หนังสือเพลงสวดสดุดีตอมีชอฟ (ค.ศ. 1360) ปัจจุบันเก็บรักษาที่มอสโคว [5] และหนังสือเพลงสวดสดุดีโซเฟีย (ค.ศ. 1337)[49] เป็นต้น
ด้านกิจกรรมทางการค้า จักรวรรดิบัลแกเรียมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจทางการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่สาธารณรัฐเวนิส สาธารณรัฐเจนัวและสาธารณรัฐรากูซา[50] โดยใน ค.ศ. 1353 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ออกกฎบัตรอนุญาตให้พ่อค้าชาวเวนิสสามารถซื้อหรือขายสินค้าในดินแดนบัลแกเรียได้ หลังจากที่ดอเจอันเดรอา ดานโดโลยืนยันจะเคารพสนธิสัญญาที่ทั้ง 2 ประเทศได้ทำร่วมกันไว้[51]
อีวัน วาซอฟ ซึ่งเป็นกวีและนักประพันธ์ของบัลแกเรียในยุคสมัยใหม่ ได้แรงบันดาลใจจากยุคสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ โดยแต่งนิยายสั้นเรื่อง Ivan–Aleksandǎr[52] และบทนาฏกรรม Kǎm propast (สู่ห้วงลึก) ซึ่งงานทั้งสองชิ้นนี้มีซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เป็นตัวละครหลัก[52]
ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการค้นพบชิ้นส่วนของเสื้อผ้า ซึ่งลงพระนามโดยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และถูกร้อยเข้าด้วยทองคำในสุสานของชนชั้นสูงใกล้กับเมืองพีรอต ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเซอร์เบียในเบลเกรด โดยการค้นพบในครั้งนี้ช่วยยืนยันธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในยุคกลางของผู้ปกครองออร์ทอดอกซ์ที่จะพระราชทานเสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ให้กับบุคคลสำคัญ[53]
ชื่อสถานที่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งตามพระนามของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้แก่ แหลมอีวัน อาแลกซันเดอร์บนเกาะเนลสันในหมู่เกาะเชตแลนด์ใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา[54]
พระราชบุตร
[แก้]ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อภิเษกสมรสครั้งแรกกับซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย พระธิดาของบาซารับที่ 1 แห่งวอเลเคีย มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งรวมถึงซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ ซึ่งเป็นซาร์แห่งบัลแกเรียในวีดินระหว่าง ค.ศ. 1356–1397 เจ้าชายมีคาอิล อาแซนที่ 4 และเจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 4
ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 กับซารีนาซารา–แตออดอรา มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งรวมถึงจักรพรรดินีแกรัตซา ซึ่งอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิอันโดนิคอสที่ 4 พาลาโอโลกอส จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ ซาร์อีวัน ชิชมันซึ่งสืบราชสมบัติในฐานะซาร์แห่งบัลแกเรียในเตอร์นอวอ เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 5 เจ้าหญิงแกรา ตามาราซึ่งครั้งแรกอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเดิสเปิตกอนสตันตินและครั้งที่ 2 กับสุลต่านมูรัดที่ 1[55] แห่งจักรวรรดิออตโตมัน[8] รวมไปถึงพระธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงแดซิสลาวาและเจ้าหญิงวาซีลีซา[8]
สรัตซีมีร์แห่งเกริน | เจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา | ||||||||
1 | 2 | ||||||||
ซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย | ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ (สวรรคต 1371 ครองราชย์ 1331–1371) |
ซารีนาซารา-แตออดอรา | |||||||
1 | 1 | 1 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | |
เจ้าชายมีคาอิล อาแซนที่ 4 | ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ (ประสูติ 1324 สวรรคต 1397, ครองราชย์ 1356–1397) |
จักรพรรดินีแกรัตซา-มารียา (ประสูติ 1348, สิ้นพระชนม์ 1390) |
เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 5 | เจ้าหญิงวาซีลีซา | |||||
เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 4 | เจ้าหญิงแกรา ตามารา | ซาร์อีวัน ชิชมัน (ประสูติ 1350–1351, สวรรคต 1395, ครองราชย์ 1371–1395) |
เจ้าหญิงแดซิสลาวา |
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ พบการสะกดแบบนี้ในกฎบัตรของบัลแกเรียในยุคกลาง Daskalova, Angelina; Marija Rajkova (2005). Gramoti na bǎlgarskite care (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences. pp. 58–59. ISBN 954-322-034-4.
- ↑ For example in "John Alexander (emperor of Bulgaria)". Encyclopædia Britannica Online. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Lalkov, Rulers of Bulgaria, pp. 42–43.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Bǎlgarite i Bǎlgarija, 2.1
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 Delev, Istorija i civilizacija za 11. klas
- ↑ 6.0 6.1 Castellan, Georges (1999). Histoire des Balkans, XIVe–XXe siècle (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Fayard. p. 42. ISBN 2-213-60526-2.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 273.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Bozhilov, Familiyata na Asenevtsi, pp. 192–235.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 273.
- ↑ 10.0 10.1 Fine, Late Medieval Balkans, p. 274.
- ↑ ดั้งเดิมมาจาก Sofia Psalter, folios 311a–312b. Adapted by Canev, Bǎlgarski hroniki, pp. 459–460.
- ↑ บทความดั้งเมฉบับเต็มในภาษาบัลแกเรียกลาง ค้นได้จาก Arhangelskij, A. S. (1897). "Bolgarskij "pěsnivec" 1337 goda. "Pohvala" i otryvok psaltyrnago teksta". Izvestija ORJAS IAN (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
- ↑ Božilov, Familijata na Asenevci, pp. 192–197.
- ↑ Andreev, Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v., pp. 33–41.
- ↑ Andreev, Balgariya prez vtorata chetvart na XIV v., pp. 23–52.
- ↑ Based on Lalkov, Rulers of Bulgaria
- ↑ Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Esenta, 1341 g."
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, pp. 292–293.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 304.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, pp. 309–310.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, pp. 322, 325, 328.
- ↑ Andreev, Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v., pp. 67–75.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 23.3 Bǎlgarite i Bǎlgarija, 2.2
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 325.
- ↑ Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "1355 g."
- ↑ 26.0 26.1 Božilov, Ivan; Vasil Gjuzelev (2006). Istorija na srednovekovna Bǎlgarija VII–XIV vek (tom 1) (ภาษาบัลแกเรีย). Anubis. ISBN 954-426-204-0.
- ↑ Božilov, Familijata na Asenevci, pp. 218–224.
- ↑ 28.0 28.1 Fine, Late Medieval Balkans, p. 366.
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 367.
- ↑ Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Dobrotica (neizv.–okolo 1385)"
- ↑ Koledarov, Petǎr (1989). Političeska geografija na srednovekovnata bǎlgarska dǎržava 2 (1186–1396) (ภาษาบัลแกเรีย). Bulgarian Academy of Sciences. pp. 13–25, 102.
- ↑ Miletič, Ljubomir (1896). "Dako-romǎnite i tjahnata slavjanska pismenost. Novi vlaho-bǎlgarski gramoti ot Brašov". Sbornik Za Narodni Umotvorenija, Nauka I Knižnina (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia. 2 (13): 47. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
- ↑ Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Esenta, 1369 g."
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, pp. 367–368.
- ↑ Tjutjundžiev and Pavlov, Bǎlgarskata dǎržava i osmanskata ekspanzija
- ↑ Fine, Late Medieval Balkans, p. 368.
- ↑ Čavrǎkov, Georgi (1974). "Bǎlgarski manastiri" (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Nauka i izkustvo. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ Kǎnev, Petǎr (2002). "Religion in Bulgaria after 1989". South-East Europe Review (1): 81. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-29. สืบค้นเมื่อ 2020-06-19.
- ↑ "1.2.3 "Zlaten vek" na bǎlgarskata kultura". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.
- ↑ Sinodik na Car Boril, additions from the 13th and 14th century, cited in Canev, Bǎlgarski hroniki, p. 456.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 "Izobraženijata na Ivan Aleksandǎr ot XIV vek" (ภาษาบัลแกเรีย). สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ "Manastiri" (ภาษาบัลแกเรีย). Infotel.bg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 17, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ "The Virtual Jewish History Tour Bulgaria". Jewish Virtual Library. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ Canev, Bǎlgarski hroniki, p. 457.
- ↑ Karamihaleva, Aleksandra. "Bǎlgarskite patriarsi prez Srednovekovieto" (ภาษาบัลแกเรีย). Cǎrkoven vestnik. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-01. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ "Sv. prepodobni Teodosij Tǎrnovski" (ภาษาบัลแกเรีย). Pravoslavieto.com. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ Gjuzelev, Vasil (1963). "Njakoi pametnici na starobǎlgarskata knižnina" (ภาษาบัลแกเรีย). Kosmos. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 24, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ "Gospels of Tsar Ivan Alexander". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-03-25.
- ↑ Miltenova, Anisava (June 2005). "ИЗЛОЖБИ" [Exhibitions]. Informacionen Bjuletin Na BAN (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences (89): 24. ISSN 1312-5311.
- ↑ glaven red.: Evgeni Golovinski (2005). "Ivan Aleksandǎr Asen (?–1371)". Bǎlgarska enciklopedija A–JA – treto osǎvremeneno izdanie (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Trud, Sirma. ISBN 954-528-519-2.
- ↑ Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Venecianska gramota"
- ↑ 52.0 52.1 "Biografični beležki – Ivan Vazov" (ภาษาบัลแกเรีย). Slovoto. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ Beniševa, Daniela (2002-11-18). "Otkrita e unikalna zlatotkana dreha na Car Ivan Aleksandǎr" (ภาษาบัลแกเรีย). Bǎlgarska armija. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-02-03.
- ↑ Composite Gazetteer of Antarctica: Ivan Alexander Point.
- ↑ Sugar, Pete (1983). Southeastern Europe Under Ottoman Rule, 1354–1804. University of Washington Press. p. 16. ISBN 0-295-96033-7.
บรรณานุกรม
[แก้]- Andreev, Jordan; Ivan Lazarov; Plamen Pavlov (1999). Koj koj e v srednovekovna Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย) (2nd ed.). Sofia: Petǎr Beron. ISBN 954-402-047-0.
- Andreev, Jordan (1993). Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v. (ภาษาบัลแกเรีย). Veliko Tǎrnovo: Sv. Kliment Ohridski. OCLC 69163573.
- Angelov, Petǎr (1982) [1978]. Bǎlgaro-srǎbskite otnošenija pri caruvaneto na Ivan Aleksandǎr (1331–1371) i Stefan Dušan (1331–1355) (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Sofia University Press.
- Bakalov, Georgi; Milen Kumanov (2003). Elektronno izdanie – Istorija na Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Trud, Sirma. ISBN 954528613X.
- Božilov, Ivan (1985). Familijata na Asenevci (1186–1460) (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences. OCLC 14378091.
- Canev, Stefan (2006). "11 Kǎm propast. Car Ivan Aleksandǎr, Momčil". Bǎlgarski hroniki (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia, Plovdiv: Trud, Žanet 45. ISBN 954-528-610-5.
- Delev, Petǎr; Valeri Kacunov; Plamen Mitev; Evgenija Kalinova; Iskra Baeva; Bojan Dobrev (2006). "19 Bǎlgarija pri Car Ivan Aleksandǎr". Istorija i civilizacija za 11. klas (ภาษาบัลแกเรีย). Trud, Sirma.
- Fine, Jr., John V.A. (1987). The Late Medieval Balkans. Ann Arbor: University of Michigan Press. ISBN 0-472-08260-4.
- Lalkov, Milčo (1997). "Tsar Ivan Alexander (1331–1371)". Rulers of Bulgaria. Sofia: Kibea. ISBN 954-474-334-0.
- Tjutjundžiev, Ivan; Plamen Pavlov (1992). Bǎlgarskata dǎržava i osmanskata ekspanzija 1369–1422 (ภาษาบัลแกเรีย). Veliko Tǎrnovo. OCLC 29671645.
- "2.1 Sǎzdavane i utvǎrždavane na Vtorata bǎlgarska dǎržava. Vǎzstanovenata dǎržavnost". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.
- "2.2 Balkansko kǎsogledstvo. Opitǎt da se oceljava poedinično". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รายละเอียดผู้ปกครองบัลแกเรีย เก็บถาวร 2015-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาพวาดของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในสมัยศตวรรษที่ 14
ก่อนหน้า | ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ซาร์อีวัน สแตฟันแห่งบัลแกเรีย | ซาร์แห่งบัลแกเรีย (ราชวงศ์สรัตซีมีร์) (ค.ศ. 1331–1371) |
ซาร์อีวัน ชิชมันแห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย |