ข้ามไปเนื้อหา

ดีร์ก เบาตส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดีร์ก เบาตส์

ดีร์ก เบาตส์ (ดัตช์: Dirk Bouts; ราว ค.ศ. 1410/ค.ศ. 1420 - ค.ศ. 1475) เป็นจิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาคนสำคัญของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกของประเทศเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมันและการเขียนบานพับภาพ

จากหนังสือ Het Schilderboeck (ค.ศ. 1604) โดยกาเริล ฟัน มันเดอร์ (Karel van Mander) เบาตส์เกิดที่เมืองฮาร์เลมและทำงานส่วนใหญ่ที่เมืองเลอเฟิน มันเดอร์เขียนชีวประวัติของจิตรกรสองคน "ดีร์กแห่งฮาร์เลม" และ "ดีร์กแห่งเลอเฟิน" ซึ่งเป็นคนคนเดียวกัน ชีวิตเบื้องต้นไม่มีหลักฐานเท่าใดนัก แต่ดีร์ก เบาตส์ได้รับอิทธิพลจากยัน ฟัน ไอก์ และโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ดีร์กศึกษาด้วย หลักฐานครั้งแรกเกี่ยวกับดีร์กพบครั้งแรกที่เลอเฟินเมื่อปี ค.ศ. 1457 และบ่งว่าดีร์กทำงานที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1475

ดีร์ก เบาตส์เป็นจิตรกรคนแรกทางตอนเหนือของยุโรปที่ใช้จุดลับตาจุดเดียวเช่นในงานเขียน "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" งานของดีร์กจะลักษณะแข็งแต่เต็มไปด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ และการวางองค์ประกอบที่ดีและมีสีสันสวยงาม

งานเขียน (ก่อน ค.ศ. 1464)

[แก้]

งานเขียนชิ้นแรก ๆ ของดีร์ก เบาตส์ ก็ได้แก่งาน "บานพับภาพพระบุตร" (Infancy Triptych) ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1445 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ปราโดที่มาดริด ประเทศสเปน, งานฉากแท่นบูชา "ชะลอร่างจากกางเขน" ที่กรานาดาก็เขียนในระยะเวลาเดียวกันราวระหว่างปี ค.ศ. 1450 ถึงปี ค.ศ. 1460 และงานฉากแท่นบูชาที่ถูกแบ่งเป็นชิ้น ๆ ที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติที่บรัสเซลส์[1] เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พิพิธภัณฑ์เจ. พอล เกตตี ที่ลอสแอนเจลิส[2], พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ลอนดอน[3], พิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอนที่แพซาดีนา[4] และที่เป็นของเจ้าของส่วนบุคคลซึ่งเป็นงานที่มีขนาดเดียวกับ "Altarpiece of the Holy Sacrament" อาจเป็นงานจากยุคนี้ ส่วนภาพ "ปีเอตา"[5] อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส

งานที่มีหลักฐาน : "ฉากแท่นบูชาศีลศักดิ์สิทธิ์" (ค.ศ. 1464-1468) และ "ความยุติธรรม" (ค.ศ. 1470-1475)

[แก้]
"พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" ค.ศ. 1464-1467

"พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" เป็นแผงกลางของ "ฉากแท่นบูชาศีลศักดิ์สิทธิ์" ในโบสถ์นักบุญปีเตอร์ที่เลอเฟิน ที่จ้างโดยสมาคมภราดรภาพแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเลอเฟินในปี ค.ศ. 1464 เส้นเชิงตั้งฉาก (orthogonal line) ทุกเส้นในห้องกลางมุ่งไปสู่จุดอันตรธานจุดเดียวที่เตาผิงเหนือพระเศียรของพระเยซู แต่ห้องเล็กด้านข้างมีจุดอันตรธานต่างหาก และทั้งห้องเล็กและจุดอันตรธานของห้องหลักตรงกับเส้นขอบฟ้าของภูมิทัศน์ที่มองเห็นจากหน้าต่าง ภาพ "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" เป็นงานชิ้นที่สองที่ลงวันที่ (หลังจากภาพ "พระแม่มารีและพระบุตรบนบัลลังก์กับนักบุญเจอโรมและนักบุญฟรานซิส" โดยเปตรึส คริสตึส ที่แฟรงก์เฟิร์ต ใน ค.ศ. 1457) ที่แสดงความเข้าใจในการเขียนภาพที่ใช้ทัศนมิติของอิตาลี

นอกจากนั้นนักวิชาการยังตั้งข้อสังเกตว่างาน "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" เป็นงานจิตรกรรมแผงของตระกูลการเขียนแบบเฟลมิช ที่เขียนหัวเรื่องพระกระยาหารมื้อสุดท้าย แต่แผงกลางของเบาตส์มิได้เน้นเหตุการณ์ตามคำบรรยายในคัมภีร์ไบเบิลแต่แสดงภาพพระเยซูในบทของนักบวชผู้ทำพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ในพิธีมิสซา ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายอื่น ๆ ที่เขียนกันมาที่มักจะเน้นความทรยศของนักบุญจูดาส์ หรือการที่พระเยซูปลอบนักบุญจอห์น นอกจากนั้นเบาตส์ก็ยังเพิ่มความซับซ้อนในภาพโดยเพิ่มผู้รับใช้อีกสี่คน (สองคนที่โผล่หน้าต่างอีกสองคนยืนอยู่ในห้อง) ทั้งหมดแต่งตัวแบบเฟลมิช ที่เคยกล่าวกันว่าเป็นภาพเหมือนของเบาตส์เองและลูกชายสองคน แต่อันที่จริงแล้วผู้รับใช้ทั้งสี่น่าจะเป็นสมาชิกของสมาคมภราดรภาพผู้จ้างให้เบาตส์วาดภาพมากกว่า

นอกไปจากแผงกลาง "ฉากแท่นบูชาศีลศักดิ์สิทธิ์" แล้วฉากแท่นบูชาเดิมก็ยังมีแผงข้างประกบอีกข้างละสองแผง แต่เพราะแผงอื่นเป็นของพิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลินและมิวนิกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฉะนั้นการพยายามสร้างบานพับภาพทั้งแผงตามแบบฉบับเดิมจึงเป็นการยากที่จะทำได้ ในปัจจุบันเชื่อกันว่าแผงที่มีภาพเอบราฮัมและเมลคิเซดิก (Melchizedek) อยู่เหนือภาพการฉลองปัสกา (Passover Feast) ทางด้านซ้าย และแผงการเตรียมอาหารอยู่เหนืออีไลจาห์และเทวดาทางปีกขวา แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

หลังจากที่ได้รับตำแหน่งจิตรกรประจำเมืองเลอเฟินในปี ค.ศ. 1468 แล้ว เบาตส์ก็ได้รับงานเขียนภาพอีกสองภาพจากสำนักงานเทศบาลเมือง ชิ้นแรกเป็นการเขียนภาพ "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" ระหว่างปี ค.ศ. 1468-1470 ซึ่งมีเพียงแผงปีสองแผงที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน "ถนนสู่สวรรค์" และ "Fall of the Damned" ในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ที่เมืองลีล (Lille) ในประเทศฝรั่งเศส และอีกชิ้นหนึ่ง "ภาพครึ่งตัวของพระเยซู เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" จากแผงกลางที่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงสต็อกโฮล์ม หลังจากนั้นเบาตส์ก็เขียนงานชิ้นใหญ่สำหรับงานเขียนจิตรกรรมแผง "ความยุติธรรม" (Justice Panels) [6][7] ระหว่างปี ค.ศ. 1470-1475 ซึ่งเป็นงานที่เขียนจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1475 เบาตส์เขียนแผงหนึ่งเสร็จและเริ่มเขียนแผงที่สอง ทั้งสองแผงเป็นภาพชีวิตของจักรพรรดิออทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชีวิตอยู่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันทั้งสองแผงตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่บรัสเซลส์ แต่อีกสองแผงที่ตั้งใจจะเขียนเขียนไม่เสร็จ

จิตรกรรมศาสนาและภาพเหมือน

[แก้]
"พระแม่มารีและพระบุตร" ค.ศ. 1460-1465

งานหลายชิ้นของเบาตส์เป็นงานจิตรกรรมแผงชิ้นเล็กที่มักจะเป็นภาพพระแม่มารีและพระบุตร เช่นภาพ "พระแม่มารีและพระบุตรเดวิส"[8] ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก ที่การวางองค์ประกอบทำตามสูตรของภาพไอคอนของน็อทร์-ดาม-เด-กราส (Notre-Dame-des-Grâces) ที่ตั้งอยู่ที่มหาวิหารก็องแบรในประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1454 และ "พระแม่มารีและพระบุตรซอลติง"[9] ที่หอศิลป์แห่งชาติ ลอนดอน ที่ถือกันว่าเป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดในบรรดางานวาดพระแม่มารีที่เบาตส์เขียน

ในการเขียนภาพเหมือน เบาตส์ขยายลักษณะการเขียนจากวิธีการเขียนภาพเหมือนที่ก่อตั้งโดยโรเบิร์ต กัมปิน, ยัน ฟัน ไอก์, โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน และเปตรึส คริสตึส ภาพ "ภาพเหมือนชาย"[10] ที่เขียนในปี ค.ศ. 1462 ที่หอศิลป์แห่งชาติ ลอนดอน เป็นภาพแรกที่ผู้เป็นแบบแสดงหน้าสามในสี่และฉากหลังที่เป็นทิวทัศน์ที่มองเห็นจากหน้าต่าง งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าจะเป็นงานของเบาตส์คือ "ภาพเหมือนชาย" ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน ซึ่งใบหน้าคล้ายกับตัวแบบบางคนในจิตรกรรมแผง "ความยุติธรรม" ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1470-1475 ภาพเหมือนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเบาตส์ก็เช่นงานที่หอศิลป์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และที่แอนต์เวิร์ป แต่ก็ยังเป็นงานที่ยังเป็นปัญหาในการสันนิษฐาน

งานเขียนที่เป็นปัญหาที่มิวนิก

[แก้]

งานสองชิ้นของเบาตส์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเก่าในมิวนิกยังสร้างความกังขาให้กับนักประวัติศาสตร์ งานชิ้นแรกจากสองชิ้นที่ว่านี้คือบานพับภาพ "ไข่มุกแห่งบราแบนต์"[11] ที่นักเขียนหลายคนพยายามแยกออกจากงานเขียนที่แท้จริงของเบาตส์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1902 แต่จากการค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้ไม่สนับสนุนข้อเสนอนี้ อีกชิ้นหนึ่งเป็นแผงคู่ภาพทุกขกิริยาของพระเยซูที่ประกอบด้วย "การทรยศต่อพระเยซู" และ "พระเยซูคืนชีพ" ซึ่งเดิมเชื่อกันเป็นเวลานานว่าเป็นงานสมัยแรกของเบาตส์ แต่จากการตรวจสอบวงแหวนของไม้ก็พบว่างานชิ้นนี้สร้างขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1475 ใกล้ ๆ กับเวลาที่เบาตส์เสียชีวิต แต่งานเขียน "Master of the Munich Betrayal" ของโชเนอในปี ค.ศ. 1938 ตั้งข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่า

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ดีร์ก เบาตส์

ระเบียงภาพ

[แก้]