ข้ามไปเนื้อหา

ตระกูลโอสถานุเคราะห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอสถานุเคราะห์
ตระกูลบรรพบุรุษแซ่ลิ้ม
ประเทศประเทศไทย
ถิ่นพำนักปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
ถิ่นกำเนิดประเทศจีน
ต้นตระกูลแป๊ะ แซ่ลิ้ม
ทรัพย์สินโอสถสภา
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ตระกูลโอสถานุเคราะห์ เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทโอสถสภา จากการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับประเทศไทย ติดอยู่ใน 10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023 ที่อันดับ 10 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.70 หมื่นล้านบาท[1]

ประวัติ

[แก้]

ต้นตระกูล

[แก้]

ต้นตระกูลคือ นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม เป็นชาวจีนที่มาตั้งรกรากในประเทศไทย เริ่มแรกทำงานรับจ้าง แต่งงานกับหญิงสาวชาวไทยที่ชื่อ แหวน จน พ.ศ. 2434 นายแป๊ะได้เช่าตึกแถว 1 คูหา ย่านสำเพ็ง เปิดเป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด อย่าง เครื่องถ้วย นาฬิกา ร่ม ฯลฯ และตั้งชื่อร้านว่า เต๊กเฮงหยู จนเมื่อห้างบี.กริมม์ แอนด์ โก นำยาชื่อ "ปัถวีพิการ" ซึ่งมีสรรพคุณแก้เมื่อย แก้แพ้ มาฝากขายที่ร้านเต๊กเฮงหยู แป๊ะจึงมองเห็นโอกาสค้าขายของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยได้นำสูตรยาโบราณของบรรพบุรุษติดตัวมาด้วย ทำยาตราการค้าของตัวเองชื่อ ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน[2]

กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยานี้ก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง และเป็นยาที่ใช้รักษาเสือป่าในยุคนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเข็มเสือป่าแก่แป๊ะและแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเป็นมหาดเล็ก จากนั้นเมื่อพระองค์พระราชทานนามสกุลใหม่ให้แป๊ะว่า "โอสถานุเคราะห์" แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2461

รุ่นที่ 2

[แก้]

สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ (ลูกคนที่สาม ลูกชายคนที่สอง) รับหน้าที่สานต่อกิจการด้วยวัย 17 ปี จากนั้นก็เน้นไปที่ธุรกิจยา แทนการขายสินค้าเบ็ดเตล็ด พ.ศ. 2475 สวัสดิ์เปลี่ยนชื่อกิจการเป็น โอสถสถาน เต๊กเฮงหยู ก่อนเป็น โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ใน พ.ศ. 2492 กระทั่ง พ.ศ. 2538 ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น "โอสถสภา" ซึ่งเป็นชื่อในปัจจุบัน[3]

รุ่นที่ 3

[แก้]

สวัสดิ์มีบุตร 4 คน ได้แก่ สุวิทย์ สุรัตน์ สุรินทร์ และเสรี โดยสุวิทย์ และสุรัตน์ มีการสลับกันเป็นผู้นำองค์กร แต่บทบาทเด่นจะตกที่สุรัตน์ค่อนข้างมาก สุรัตน์ยัง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นสุรัตน์และภรรยาชื่อ ปองทิพย์ ได้ช่วยกันก่อตั้งวิทยาลัยไทยเทคนิคขึ้นมาใน พ.ศ. 2505 ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สุรัตน์เป็นผู้นำเครื่องดื่มชูกำลังมาบุกเบิกตลาดในไทยเป็นรายแรกนำสินค้ามาผลิตในไทยภายใต้แบรนด์ "ลิโพวิตัน-ดี"

รุ่นที่ 4

[แก้]

รุ่นที่ 4 เพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นบุตรของสุรัตน์และปองทิพย์ เป็นนักร้อง นักดนตรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)[4] เพชรได้นำโอสถสภาแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5] เพชรมีน้องชายชื่อ รัตน์ ได้เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัวต่อ ผลงานของรัตน์เช่น ทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม-150 ปรับแบรนด์อุทัยทิพย์มาเป็นยูทิป เป็นต้น[6] จากข้อมูล พ.ศ. 2566 นิติ โอสถานุเคราะห์ (บุตรของสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์) เป็นผู้ถือหุ้นโอสถสภามากที่สุด หลังจากเพชร โอสถานุเคราะห์ ขายหุ้นให้

รุ่นที่ 5

[แก้]

นาฑี โอสถานุเคราะห์ เป็นบุตรของรัตน์ นอกจากเป็นกรรมการของโอสถสภา ยังเป็นมือกีตาร์วงเก็ตสึโนวา นาฑีสมมรสกับอิงฟ้า ดำรงชัยธรรม จึงมีศักดิ์เป็นเขยของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566". ฟอบส์ประเทศไทย.
  2. สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์. "แป๊ะ แซ่ลิ้ม กำเนิด "ยากฤษณากลั่น" รักษาเสือป่า จน ร.6 พระราชทานนามสกุล "โอสถานุเคราะห์"". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "แป๊ะ แซ่ลิ้ม ยารักษาเสือป่าในรัชกาลที่ 6 สู่ "โอสถสภา" อาณาจักรหมื่นล้าน". เดอะพีเพิล.
  4. "เพชร โอสถานุเคราะห์ ทายาทโอสถสภา นักธุรกิจชื่อดังผู้สร้างตำนานระดับแสนล้าน". สนุก.คอม.
  5. "ตระกูลโอสถานุเคราะห์". ฟอบส์.
  6. สาวิตรี รินวงษ์. "คัมภีร์เคลื่อนโอสถสภาองค์กรร้อยปี "เพชร โอสถานุเคราะห์"". กรุงเทพธุรกิจ.
  7. "OSP หุ้นใหญ่สายเอ็นฯ.!". ข่าวหุ้น.