ธรรมเนียมเตอร์กิก-มองโกล
ธรรมเนียมเตอร์กิก-มองโกล (อังกฤษ: Turco-Mongol tradition; บางครั้งสะกด Turko-Mongol) เป็นการสังเคราะห์ทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในหมู่ชนชั้นปกครองของโกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทาย ภายหลังชนชั้นนำเหล่านี้กลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนเตอร์กิกที่พวกเขาพิชิตและปกครองจนกลายเป็นกลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกล ชนชั้นนำยังค่อย ๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (จากเดิมที่นับถือศาสนาเท็งกรี) และใช้กลุ่มภาษาเตอร์กิก แต่ยังคงรักษาสถาบันการเมืองและกฎหมายแบบมองโกล[1]
กลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกลก่อตั้งรัฐสืบทอดอิสลามหลายแห่งหลังการล่มสลายของรัฐข่านมองโกล เช่น รัฐข่านคาซัคและตาตาร์ที่เกิดขึ้นหลังโกลเดนฮอร์ด (เช่น รัฐข่านไครเมีย รัฐข่านอัสตราฮันและรัฐข่านคาซัน) และจักรวรรดิเตมือร์ที่สืบทอดจักรวรรดิข่านชากาทายในเอเชียกลาง จักรพรรดิบาบูร์ เจ้าชายชาวเตอร์กิก-มองโกลและลืบของเตมือร์ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุล ซึ่งครอบครองเกือบทั่วอนุทวีปอินเดีย[2][3] นอกจากนี้ชาวเตอร์กิกและตาตาร์ยังมีอำนาจการเมืองและทหารนำในอียิปต์สมัยรัฐสุลต่านมัมลูก[4][5][6][7][8][9]
ชนชั้นนำเตอร์กิก-มองโกลกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ธรรมเนียมเตอร์กิก-เปอร์เซีย อันเป็นวัฒนธรรมเด่นในหมู่มุสลิมเอเชียกลางขณะนั้น วัฒนธรรมเตอร์กิก-เปอร์เซียแพร่ไปพร้อมการขยายอำนาจของชาวเตอร์กิก-มองโกลในภูมิภาคใกล้เคียงในศตวรรษต่อมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมเด่นของชนชั้นปกครองในเอเชียใต้ (อนุทวีปอินเดีย) โดยเฉพาะอินเดียเหนือ (จักรวรรดิโมกุล) เอเชียกลาง แอ่งทาริม (ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน) และส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง)[10]
เบื้องหลัง
[แก้]ชาวเตอร์กิกและชาวมองโกลมีการแลกเปลี่ยนทางภาษามาตั้งแต่ก่อนสมัยเจงกิส ข่าน มีการพบหลักฐานการยืมคำจากภาษาเตอร์กิกดั้งเดิมในภาษามองโกลดั้งเดิมอย่างน้อยช่วงสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล กลุ่มภาษาเตอร์กิกและกลุ่มภาษามองโกลมีความคล้ายคลึงในแง่บุรุษสรรพนาม สัทสัมผัส ไวยากรณ์และแบบลักษณ์ (เช่น ความสอดคล้องกลมกลืนของสระเฉพาะสมัย การขาดลิงค์ ภาษารูปคำติดต่ออย่างแพร่หลาย กฎทางสัทสัมผัสและสัทวิทยาที่คล้ายกันมาก)[11]
ในอดีต ความคล้ายคลึงนี้เชื่อว่าเกิดจากความสัมพันธ์ทางเชื้อสายของสองภาษาและนำไปสู่สมมติฐานตระกูลภาษาอัลไต แต่ในปัจจุบัน การขาดหลักฐานด้านความสัมพันธ์ทางเชื้อสายภาษาส่งผลให้เกิดสมมติฐานเขตภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Asian sprachbund) แทน ซึ่งสมมติฐานนี้อธิบายว่าภาษามีความคล้ายคลึงเนื่องจากความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์และการสัมผัสภาษา โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกัน ทั้งนี้ภาษาที่พบทั่วไปในกลุ่มคำศัพท์ของภาษามองโกลที่รับมาจากภาษาอื่นคือภาษาเตอร์กิก[12]
ภาษา
[แก้]หลังการพิชิตของมองโกล ชนชั้นนำของรัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลเริ่มกระบวนการกลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนที่พวกตนปกครอง ประชากรของโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ประกอบด้วยเชื้อสายผสมเติร์ก-มองโกลซึ่งภายหลังเข้ารับศาสนาอิสลาม รวมถึงกลุ่มชนฟินนิก ซามาร์โต-ซิเทีย ชาวสลาฟและกลุ่มชนจากคอเคซัสจำนวนเล็กน้อย (ซึ่งอาจนับถือ/ไม่นับถือศาสนาอิสลาม)[13]
ประชากรโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเติร์กสามารถจำแนกเป็นคิปชาก คูมันส์ บัลการ์วอลกาและฆวอแรซม์ โกลเดนฮอร์ดค่อย ๆ รับเอาวัฒนธรรมเตอร์กิกและสูญเสียอัตลักษณ์แบบมองโกลในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1350 หรือก่อนหน้านั้น หนึ่งในตัวอย่างการกลายเป็นเตอร์กิกคือเปลี่ยนจากภาษามองโกลสมัยกลางมาใช้ภาษาเตอร์กิกคิปชาก แม้จะยังคงใช้ภาษามองโกลในทางกฎหมายก็ตาม[14][15] โกลเดนฮอร์ดใช้กลุ่มภาษาคิปชากต่อไปจนกระทั่งเกรตฮอร์ด หรือรัฐหลงเหลือของโกลเดนฮอร์ดถูกรัฐข่านไครเมียตีแตกในปี ค.ศ. 1502[16][17]
ในจักรวรรดิข่านชากาทาย ภาษาเตอร์กิกที่ชนชั้นปกครองชาวมองโกลรับมาใช้เรียกว่า ภาษาชากาทาย ภาษานี้เป็นภาษาแม่ของราชวงศ์เตมือร์ ราชวงศ์เชื้อสายผสมเตอร์กิก-มองโกลที่เรืองอำนาจในเอเชียกลางหลังจักรวรรดิข่านชากาทายเสื่อมถอย ภาษาชากาทายเป็นภาษาก่อนหน้ากลุ่มภาษาโอคุซ ซึ่งรวมถึงภาษาอุซเบกและภาษาอุยกูร์ปัจจุบัน[18]
ศาสนา
[แก้]ชาวมองโกลส่วนใหญ่ในช่วงการพิชิตของเจงกิส ข่านนับถือศาสนาเท็งกรี ต่อมารัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลอย่างจักรวรรดิข่านอิล โกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาหลักในอิหร่านและเอเชียกลาง
อืซเบ็ก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ดขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1313 และประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ พระองค์สั่งห้ามศาสนาพุทธและลัทธิเชมันในหมู่ชาวมองโกลในรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1315 อืซเบ็กประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนโกลเดนฮอร์ดเป็นอิสลาม สังหารบรรดาเจ้าชายและลามะที่คัดค้านนโยบายทางศาสนา และเป็นพันธมิตรกับพวกมัมลูกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยบะเราะกะฮฺ ทำให้อิสลามภายใต้การปกครองของอืซเบ็กและญานี เบ็กได้รับการยอมรับทั่วไป
มุบาร็อก ชาห์แห่งจักรวรรดิข่านชากาทายเข้ารับศาสนาอิสลาม หลังจากนั้นชนชั้นนำของชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน ต่อมาจักรวรรดิข่านชากาทายล่มสลายและจักรวรรดิเตมือร์ของเตมือร์ขึ้นมามีอำนาจแทน จอห์น โจเซฟ ซอนเดอส์ นักประวัติศาสตร์ชาวบริติชกล่าวว่าเตมือร์เป็น "ผลผลิตของสังคมแบบอิสลามและอิหร่าน" ไม่ใช่ชนร่อนเร่ในทุ่งหญ้าสเตปป์[19] เตมือร์ใช้สัญลักษณ์และภาษาอิสลาม เรียกตนเองว่า "ดาบแห่งอิสลาม" และอุปถัมภ์สถานศึกษาและศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน หลังเอาชนะคณะอัศวินบริบาลในการล้อมสเมอร์นาในปี ค.ศ. 1402 เตมือร์เรียกตนเองว่า ฆาซี หรือนักรบผู้กำชัยเหนือศัตรูของศาสนาอิสลาม[20]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Beatrice Forbes Manz (1989). The Rise and Rule of Tamerlane. Cambridge University Press. pp. 6–9. ISBN 978-0-521-34595-8.
- ↑ "Timur". Encyclopædia Britannica (Online Academic ed.). 2007.
- ↑ Beatrice F. Manz (2000). "Tīmūr Lang". Encyclopaedia of Islam. Vol. 10 (2nd ed.). Brill. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-07. สืบค้นเมื่อ 24 April 2014.
- ↑ "The Cambridge History of Egypt", Volume 1, (1998) P. 250
- ↑ "Mamluk | Islamic dynasty". Encyclopædia Britannica.
- ↑ "Egypt – The Mamluks, 1250–1517". countrystudies.us. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 April 2016. สืบค้นเมื่อ 13 November 2015.
- ↑ Kenneth M. Setton (1969). The Later Crusades, 1189–1311. Wisconsin: Univ of Wisconsin Press. p. 757. ISBN 978-0-299-04844-0.
- ↑ Amalia Levanoni (1995). A Turning Point in Mamluk History: The Third Reign of Al-Nāṣir Muḥammad Ibn Qalāwūn (1310-1341) (ภาษาอังกฤษ). BRILL. p. 17. ISBN 9004101829. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 3 October 2020.
- ↑ Carole Hillenbrand (2007). Turkish Myth and Muslim Symbol: The Battle of Manzikert. Edimburgo: Edinburgh University Press. pp. 164–165. ISBN 9780748625727.
- ↑ Canfield, Robert L. (1991). Turko-Persia in Historical Perspective. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. p. 1 ("Origins"). ISBN 0-521-52291-9.
- ↑ Janhunen, Juha (2013). "Personal pronouns in Core Altaic". ใน Martine Irma Robbeets; Hubert Cuyckens (บ.ก.). Shared Grammaticalization: With Special Focus on the Transeurasian Languages. John Benjamins. p. 221. ISBN 9789027205995. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 29 April 2017.
- ↑ Nakashima, Y. (n.d.). 語彙借用に見るモンゴル語とチュルク語の言語接触: 特にカザフ語及びトゥヴァ語との比較を中心として(Rep.). Retrieved from https://ir.library.osaka-u.ac.jp/repo/ouka/all/51188/gk00068_論文.pdf เก็บถาวร 5 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Halperin, Charles J. (1987). Russia and the Golden Horde: The Mongol Impact on Medieval Russian History. Indiana University Press. p. 111. ISBN 978-0-253-20445-5.
- ↑ Kołodziejczyk (2011), p. 4.
- ↑ Mustafayeva, A.A.; Aubakirova, K.K.. "The language situation and status of the Turkic language in the Egyptian Mamluk state and Golden Horde". Journal of Oriental Studies, [S.l.], v. 97, n. 2, pp. 17–25, June 2021. ISSN 2617-1864. Available at: <https://bulletin-orientalism.kaznu.kz/index.php/1-vostok/article/view/1689>. Date accessed: 01 sep. 2021. doi: https://doi.org/10.26577/JOS.2021.v97.i2.02.
- ↑ Kimberly Kagan (2010). The Imperial Moment. p. 114.
- ↑ Bruce Alan Masters (2010). Encyclopedia of the Ottoman Empire. p. 159.
- ↑ L.A. Grenoble (2006). Language Policy in the Soviet Union. Springer Science & Business Media. pp. 149–. ISBN 978-0-306-48083-6.
- ↑ Saunders, J. J. (2001). The History of the Mongol Conquests. University of Pennsylvania Press. pp. 173–. ISBN 978-0-8122-1766-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 3 October 2020.
- ↑ Marozzi, Justin (2004). Tamerlane: Sword of Islam, conqueror of the world. HarperCollins.[ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]