ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
การเมือง |
---|
สถานีย่อยการเมือง |
ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (อังกฤษ: History of political thought) เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ ซึ่งอธิบายถึงลำดับเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตามระเบียบวิธีของความคิดทางการเมืองของมนุษย์ การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองถือเป็นจุดตัดของสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น สาขาวิชากฎหมาย ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์[1]
ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองแบบตะวันตกจำนวนมาก มีรากฐานมาจากองค์ความรู้ของนักปรัชญาในสมัยกรีซโบราณ (โดยเฉพาะแนวคิด ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ และ ปรัชญากรีกโบราณ) ตัวอย่างเช่น โสกราตีส เพลโต และ อาริสโตเติล ที่ต่างก็ได้รับการยกย่องว่ามีคุณูปการสำคัญต่อสาขาวิชาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง[2][3][4][5]
หากเปรียบเทียบกันแล้ว ประวัติศาสตร์ความคิด และ วัฒนธรรมทางการเมือง ที่ไม่ใช่แบบตะวันตกมักจะไม่ค่อยถูกนำเสนอในผลงานวิจัยทางวิชาการเสียสักเท่าไหร่[6] ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองที่ไม่ใช่แบบตะวันตกแต่มีความโดดเด่น ก็เช่น อารยธรรมจีนโบราณ (โดยเฉพาะปรัชญาจีนยุคแรก)[7] และใน อารยธรรมอินเดียโบราณ (อย่างคัมภีร์อรรถศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของพระคัมภีร์ในยุคแรก ๆ อธิบายถึงโครงสร้างทางการเมืองและหลักการปกครอง)[8] สำนักความคิดทางการเมืองที่มิใช่แบบตะวันตกที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่ง คือ ปรัชญาการเมืองอิสลาม[9] ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 7 หลังจากที่มีการแพร่กระจายของศาสนาอิสลาม
การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับวารสารทางวิชาการร่วมสมัย[10] และได้รับการต่อยอดจากโครงการของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกเป็นจำนวนมาก[11][12]
กำเนิดของสาขาวิชาการเมือง
[แก้]จารีตในการศึกษาการเมืองด้วยการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่โบราณ หรือการศึกษาการเมืองผ่านประวัติศาสตร์นั้นเกิดมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ อาทิ งานเขียนเรื่อง "เรียบเรียงเรื่องราว" (The Histories) ของเฮโรโดตุส "ประวัติศาสตร์สงครามแห่งคาบสมุทธเพลอพอนเนซุส" (History of the Peloponnesian War) ของธูซิดิเดส (Thucydides) การบันทึกเรื่องราวของโซกครตีสในรูปแบบบทสนทนาของเพลโต การศึกษาการเมืองด้วยการศึกษาปรัชญาร่วมกับประวัติศาสตร์เป็นจารีตในทางการศึกษาการเมืองของโลกตะวันตก แต่เมื่อการศึกษาการเมืองเริ่มเข้าสู่ยุคของความเป็นวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มมีการแยกสาขาวิชาเป็นวิชาปรัชญาการเมือง และวิชาประวัติศาสตร์การเมือง[13]
ในส่วนของวิชาปรัชญาการเมืองนั้น ได้มีนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งนำเอาวิธีวิทยาประวัติศาสตร์เข้ามาศึกษาในวิชาปรัชญาการเมือง นักรัฐศาสตร์เหล่านี้จะไม่นิยามตัวเองว่านักรัฐศาสตร์ แต่จะนิยามตนเองว่านักปรัชญาการเมือง หรือไม่ก็นักประวัติศาสตร์ทางความคิด จึงได้มีการเรียกการศึกษาปรัชญาการเมืองด้วยระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์ว่า "ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง" ซึ่งสตีฟ แทนซีย์ (Stephen D. Tansey) อธิบายไว้ในหนังสือหนังสือความเข้าใจมโนทัศน์ "การเมือง" เบื้องต้น (Politics: The Basic) ว่า ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองจะเป็นการศึกษาพัฒนาการของความคิดทางการเมืองของนักปรัชญา นักคิด คนต่างๆในแต่ละยุคสมัยโดยคำนึงถึงบริบททางกาลเทศะว่ามีผลต่อทฤษฎี หรือหลักปรัชญาของนักปรัชญา นักคิด คนนั้นๆอย่างไรบ้าง รวมถึงได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากใคร อะไร อย่างไร ในขณะที่การศึกษาปรัชญาการเมืองจะเป็นการศึกษางานเขียนของนักปรัชญา นักคิดคนต่างๆอย่างลุ่มลึกโดยไม่คำนึงถึงบริบททางกาลเทศะ ที่สำคัญคือการศึกษาปรัชญาการเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้สร้าง ทฤษฎีการเมือง[14] การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอิทธิพลจากงานเขียนของอีริค โวเกอลิน (Eric Vogelin) เควนติน สกินเนอร์ (Quentin Skinner) และจอห์น ดันน์ (John Dunn)[15]
กล่าวอย่างกระชับก็คือวิชาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองเป็นการศึกษาความคิดทางการเมืองเพื่อศึกษาพัฒนาการของความคิดในทางการเมืองที่เปลี่ยนแปรไปตามแต่กาลเทศะนั่นเอง
กำเนิดความคิดทางการเมือง
[แก้]มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างมีความคิด รู้จักการเปลี่ยนแปลงปรับสภาพต่างตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่โดยรอบเพื่อให้การดำรงชีวิตของตนเองอยู่อย่างมีความสุขและสะดวกสบาย[16] จุดเริ่มต้นของทฤษฎี หลักปรัชญา แนวคิด และหลักการต่างๆในการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมายนั้น มาจากการตั้งคำถามของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติว่า “ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร?” จากคำถามปลายเปิดเช่นนี้ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่าโดยแท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์นั้น มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเองหรือมีธรรมชาติในการอยู่รอดแบบร่วมมือกันเป็นหมู่คณะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่แท้จริง มนุษย์ต้องการสิ่งเหล่านี้จริงหรือไม่ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์คืออะไร
มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความคิดของตนเองและมีคำถามมากมายในความคิดเหล่านั้น นักปรัชญาจึงไม่ได้ต้องการความหมายของสิ่งเหล่านั้นที่กล่าวมาข้างต้น แต่พวกเขาต้องการเข้าใจแนวคิดรวบยอด(Concept)ที่สามารถทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติของตนเอง ธรรมชาติเหล่านั้นของมนุษย์มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างและสามารถนำไปใช้ในด้านใดได้อีกบ้าง เป็นผลให้มีการศึกษาและเป็นเกิดเป็นความคิดทางการเมืองขึ้นมา [17]
ยุคสมัยของความคิดทางการเมือง
[แก้]ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองนั้นแบ่งออกได้เป็นยุคต่างๆดังนี้[18]
- สมัยโบราณ(Antiquity) เป็นยุคสมัยที่เริ่มนับตั้งแต่ยุคกรีกและโรมัน เป็นยุคเริ่มแรกของการเกิดประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆหลายด้านรวมถึงความคิดทางการเมืองด้วยเช่นกัน ยุคสมัยนี้นับตั้งแต่เริ่มแรกของประวัติศาสตร์กรีกโรมันจนกระทั่งราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 6 (ประมาณคริสต์ศักราช 500)
- สมัยกลาง (Middle Ages หรือ Medieval) ยุคสมัยนี้เริ่มต้นช่วงราวๆปี คริศต์ศักราช 500 - 1500
- สมัยใหม่ (Modern Ages and Contemporary) ยุคสมัยนี้เริ่มต้นช่วงราวๆปีคริสต์ศักราช 1500 มาจนถึงปัจจุบัน
สมัยโบราณ (Antiquity)
[แก้]ความคิดในนิยายปรัมปรา หากจะกล่าวถึงกรีกโบราณสิ่งแรกที่ต้องคิดถึงคือนิยายกรีก หลักทางความคิดหรือประวัติศาสตร์ทางด้านความคิดของชาวกรีกโรมันก็ได้รับอิทธิพลมาจากนิยายกรีกเช่นกัน ชาวกรีกมีความคิดที่จะอธิบายโลกด้วยเหตุผล จนชาวโลกเชื่อว่าชนชาติผู้ให้กำเนิดและเป็นต้นกำเนิดของหลักปรัชญาความคิดต่างเกิดขึ้นที่นี่ ก่อนอื่นควรเข้าใจว่าหลักความคิดเกี่ยวกับโลกเป็นวัฒนธรรมของชาวกรีกโบราณที่มีอยู่แล้วเปรียบคล้ายกับเหมือนวัฒนธรรมไทย เป็นความเชื่อที่สืบทอด ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบของนิยายปรัมปรา ความเชื่อเรื่องเทวดา เทวทูต เทพเจ้า ฯลฯ ทางด้านความคิดนั้นชาวกรีกโบราณก็รู้จักสิ่งเหล่านี้ผ่านนิยาย เรื่องเล่าปรัมปราจากบรรพบุรุษ [19]
ความคิดทางปรัชญาในระยะก่อตัว ราว 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช สังคมของชาวกรีกเริ่มมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จากสังคมที่มีการพึ่งตนเองในการหากินหาใช้ เริ่มมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ไปจนถึงการค้าขายและเจริญถึงขั้นการส่งออกนำเข้ากับเมืองอื่นๆอย่างกว้างขวาง เมื่อสภาพสังคมความเป็นอยู่ดีมีความมั่งคั่งและสมบุรณ์ขึ้น ชาวกรีกจึงได้มีเวลาในการคิดถึงเรื่องต่างๆ สภาพแวดล้อมเหมาะสมและเอื้ออำนวยแก่การเรียนรู้ มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นจึงเกิดการก่อตัวของวิชาปรัชญา นักคิดกรีกช่วงแรกๆหาเหตุผลอธิบายเกี่ยวกับต้นเหตุของสิ่งต่างๆและต้นกำเนิดของโลก นักคิดชาวกรีกพยายามเสาะหาหลักการที่มีเหตุผลอย่างเป็นสากล พวกเขาเริ่มสละความคิดดั้งเดิมในความเชื่อและเข้าใจด้วยจินตภาพในรูปแบบของนิทานปรัมปรา และเปลี่ยนมาคิดแบบใช้ความคิดสติปัญญาอย่างมีเหตุผล [20]
ปรัชญายุคประวัติศาสตร์โบราณ ชนเผ่าเร่ร่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่เดิมยังไม่มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางธรรมชาติวิทยา คนในยุคนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยความหวาดกลัว หวาดระแวง และต้องการเข้าใจถึงความเป็นไปตามตามธรรมชาติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ และธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งก็คือการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับชีวิตของคนยุคสมัยก่อนเป็นอย่างมาก คนเหล่านั้นจึงตีความและเลือกเชื่อในทำนองนับถือสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยส่วนมากจะนับถือศาสนาธรรมชาติ บรรพบุรุษ วิญญาณนิยม โชคชะตานิยม คติเทพเจ้านิยม เป็นต้น โซโรแอสเตอร์ หนึ่งในนักบวชแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ได้พยายามเปลี่ยนแปลงศาสนาที่นับถือหลายเทพเจ้าให้มานับถือเพทเจ้าเพียงองค์เดียว คาดว่าศาสนาของโซโรแอสเตอร์มีอิทธิพลต่อการพัฒนาศาสนายูดาห์และคริสต์ศาสนาในยุคสมัยต่อมา ศาสนาพราหม์เกิดขึ้นช่วงที่มีการแบ่งชั้นวรรณะในลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นศาสนาฮินดู และราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชก็ได้กำเนิดศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแบบปรัชญาที่มองในเรื่องความเสมอภาคและหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยตนเอง [21]
ปรัชญายุคอินเดียโบราณ แนวคิดสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 1,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราชคือการแบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 ชั้นวรรณะ ซึ่งกล่าวว่าแต่ละชั้นวรรณะมีกำเนิดมาจากอวัยวะของพระเจ้าที่ต่างกัน การแบ่งวรรณะเช่นนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ แนวความคิดนี้ได้อธิบายไว้ว่า สังคมของมนุษย์ย่อมมีกิจสำคัญ 3 ประการเพื่อรักษาสังคมเอาไว้คือ
1.ศาสนาและกฎระเบียบในสังคม ทั้งการให้ความรู้ ให้คำปรึกษาวรรณะกษัตริย์ คานอำนาจให้กษัตริย์อยู่ในธรรม วรรณะพราหมณ์เป็นผู้ดูแลหน้าที่นี้
2.การปกป้องสังคมและรัฐ การดูแลป้องกันความวุ่นวาย การปกครองให้เป็นหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นวรรณะนักรบ
3.ผลิตผลเพื่อนการอยู่การกิน การจับจ่ายใช้สอย หรือผู้ทำงานด้านกสิกรรม การค้า หรือการผลิตต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของวรรณะแพศย์
และสุดท้าย แรงงานที่ต้องคอบสนับสนุนเพื่อนให้ทั้ง 3 วรรณะข้างตนทำงานได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ทำหน้าที่ใช้แรงงานหรือด้านกรรมกรนั้นคือวรรณะศูทร คัมภีร์อรรถศาสตร์ คัมภีร์ที่เป็นเสมือนคู่มือนักปกครองในยุคสมัยของอินเดียโบราณ เข้าใจว่าถูกเรียบเรียงโดย เกาติลยะ หรือผู้ที่สามารถยันกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชย์ที่พยายามขยายอำนาจมาสู่อินเดียเอาไว้ได้ คัมภีร์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสนับสนุนคุณสมบัติของศาสนาพราหมณ์ 3 ประการคือ อำนาจ ธรรมมะ และกามะ ในยุคสมัยอินเดียโบราณจะให้ความสำคัญกับวรรณะพราหมณ์มากกว่าวรรณะกษัตริย์ แต่อรรถศาสตร์จะยึดการให้ความสำคัญกับประมุขของรัฐมากกว่าวรรณะพราหมณ์ แต่ก็ยังคงยอมรับว่าวรรณะพราหมณ์มีชนชั้นสูงกว่า โดยหน้าที่ของวรรณะพราหมณ์นั้นจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องศาสนาและพิธีกรรมมากกว่าการมีบทบาททางราชการของรัฐ [22]
พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ จากแคว้นแห่งหนึ่งในชมพูทวีปผู้ค้นพบ(ตรัสรู้)และเผยแพร่ศาสนาพุทธที่เจริญรุ่งเรืองในอินเดียในยุคต่อมาระยะหนึ่ง โดยแก่นสำคัญของปรัชญาชาวพุทธคือการมองชีวิตและสรรพสิ่งในโลกว่าไม่เที่ยงแท้ มีความทุกข์ ไม่ใช่ของตนและมีแต่จะเสื่อมสลายไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นทุกสิ่งย่อมมีสาเหตุ เน้นความเป็นเหตุเป็นผล ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนอย่าพึงเชื่ออะไรโดยง่าย ศาสนาพุทธเน้นเดินทางสายกลางและการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายอีกทั้งเน้นในเรื่องของหนทางแห่งการดับทุกข์โดยเห็นว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีหลักคิดสำคัญคือ อริยสัจ 4 ในทางปรัชญาตวามคิดทางสังคมของศาสนาพุทธ มีความคิดในการยอมรับความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคกันของมนุษย์ มีความตรงกันข้ามกับระบบวรรณะของฮินดู โดยมีความคิดที่ว่ามนุษย์จะปฏิบัติอะไรจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองไม่ได้ขึนอยู่กับชาติกำเนิด ศาสนาพุทธไม่เน้นถึงรูปแบบการปกครองแต่จะกล่าวถึงธรรมในการปกครองมากกว่า [23])
ปรัชญากรีกโบราณ ปรัชญากรีกโบราณถือเป็นปรัชญาการเมืองเริ่มแรกที่มีการถกเถียงกัน เกิดขึ้นจากชาวกรีกโบราณในยุคสมัยกว่า 2,000 ปี ชนเผ่านักรบที่ปกครองโดยขุนพลและให้ค่านิยมสูงในเรื่องของความเป็นสหาย ชนเผ่าเหล่านี้รวมตัวกันเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นมีจุดมุ่งหมายในการปกป้องและป้องกันตนเอง เกิดการสร้างนครรัฐ เช่น เอเธนส์และสปาร์ต้า โดยเอเธนส์ถือเป็นต้นกำเนิดของนักคิดซึ่งชอบตั้งคำถามและโต้แย้งกันเพื่อนสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า philosophy หรือความรักในความรู้ เขาเหล่านั้นไม่ยอมรับในคำอธิบายเรื่องศาสนาหรือประเพณีที่มีมายาวนานอย่างง่ายๆ แต่จะพยายามในการหาคำตอบโดยการตั้งคำถามกับสังคมว่า ศีลธรรม และการเมืองคืออะไร ทาสเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางความคิด นักปรัชญากรีกในยุคสมัยนั้นมองว่าการเกิดมาเป็นทาสเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีนักปรัชญากรีกคนใดสนใจในการถกเถียงว่าทาสเป็นเรื่องที่ชอบธรรมหรือไม่[24] [25]
สมัยกลาง (Middle Ages หรือ Medieval)
[แก้]ความคิดและความเชื่อ/อิทธิพลทางความคิด ของศาสนาคริสต์ความคิดของศาสนาคริสต์มีจุดกำเนิดมาจากความคิดทางศาสนายูดาย(Judaism)เป็นศาสนาประจำชนเผ่าของชาวยิว พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างและปกครองโลก ทรงเลือกชาวยิวเป็นคู่พันธสัญญาด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าทรงโปรดชนเผ่าของพวกเขา และได้รับมอบพระบัญญัติ10ประการ โดยพวกเขามีหน้าทีปฏิบัติตามและรักษาไว้ พระเจ้าได้ให้คำมั่นสัญญาว่าหากพวกเขาปฎิบัติตามบทบัญญัติอันเป็นกฎหมายที่ทรงมอบให้ไว้ได้ พระเจ้าจะทรงปกป้องคุ้มครองชนชาวยิวที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐาน ความเชื่อของชาวคริสเตียนประการสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือเมื่อพระเจ้าสร้างโลกแล้วก็ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วย ซึ่งมนุษย์คู่แรกคือ อดัมกับอีวา อยู่ในสวนอีเดน ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทรงความดี บริสุทธิ์ สิ่งที่พระองค์สร้างจึ้งต้องเป็นเช่นนั้นขัดต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ทำไมโลกมนุษย์จึงมีแต่ความชั่วและบาป ซึ่งปัญหานี้เป็นทั้งในเรื่องของทางปรัชญาและศาสนา ศาสนาคริสต์เชื่อว่าการที่มนุษย์ชั่วนั้นเพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้า หรือคือบรรพบุรุษของมนุษย์ (อดัมและอีวา) ละเมิดคำสั่งของพระเจ้าที่ไม่ให้กินแอปเปิ้ลในสวนอีเดน พระเจ้าจึงได้อัปเปหิทั้งสองมาเป็นปุถุชนผู้มีบาปดั้งเดิม และเมื่อมีลูกหลานก็จึงได้รับบาปของทั้งสองมาด้วย มนุษย์จึงเป็นคนบาปตั้งแต่นั้นมาทัศนะของชาวคริสต์ต่อกฎหมายมีความเชื่อว่าบัญญัติ 10 ประการตกทอดมาตั้งแต่สมัยโมเสส และเชื่อว่าวันหนึ่งโลกจะถึงกาลอวสานพระเจ้าจะต้องลงมาพิพากษา ทำให้การสอนต่อชาวคริสต์เน้นในเรื่องของการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง พวกเขาเชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์นั้นเกิดมาได้ครั้งเดียวไม่สามารถเกิดมาเป็นได้อีกครั้งเหมือนกับความเชื่อของทางโลกตะวันออก[26]
ยุคกลางช่วงแรกนับเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจเหนือกษัตริย์ต่าง ๆ ทั่วยุโรปโดยเรียกกันว่า Holy roman empire หรืออาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มีจุดเริ่มต้นจากการแบ่งอาณาจักรโรมันเป็น 2 ส่วน ชนเผ่าเยอรมันนิกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตของอาณาจักรโรมันได้อย่างเสรี จักรพรรดิโรมันตะวันตกคนสุดท้ายถูกโค่น ชนเผ่าเยอรมันเข้ามายึดครองรวมทั้งพยายามสืบสานวัฒนธรรมของดรมันและศาสนาคริสต์ พระเจ้าชาร์เลอมาญได้สร้างอาณาจักรเยอรมันนิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและได้รับมงกุฎจากพระสันตะปาปาให้เป็นจักรพรรดิ
ยุคกลางช่วงปลายมีการฟื้นฟูการเรียนรู้จากยุคมืด(Dark Ages)ในช่วงปลายศตวรรษที่ 11 รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้และการค้นพบเกี่ยวกับยุคโบราณกันใหม่ ซึ่งเมื่อเริ่มในศตวรรษที่ 12 ได้มีการกลับไปศึกษาปรัชญาของ อริสโตเติล แต่ความรู้ในสมัยนั้นยังมีปัญหาขัดแย้งกับความเชื่อของคริสต์ศาสนาในยุคนั้น ทำให้ศาสนจักรเกิดการป้องกันตนเองมากขึ้นและนักปรัชญาหันเหความสนใจในการไปหาความรู้ทางโลกมายิ่งขึ้น [27] [28]
สมัยใหม่ (Modern Ages and Contemporary)
[แก้]ยุคสว่างทางภูมิปัญญา ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ยุคสมัยกลางเริ่มหดตัวถอยหลังและค่อยๆหายไปจากประวัติศาสตร์ และเริ่มเปลี่ยนโลกเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา การฟื้นฟูเริ่มต้นที่ประเทศอิตาลี่เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมันล่มสลายในช่วงศตวรรษที่ 6 มีการเกิดชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่งทำให้ประชาชนจำนวนมากมีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาว่างในการทำกิจกรรมรื่นเริงและมีคุณค่าทางศิลปวิทยาการ กลุ่มปัญญาชนหันมาสนใจในการศึกษาวรรณคดี ภาษา ศิลปและวัฒนธรรมของคนในสมัยกรีกและโรมัน การตื่นตัวในการศึกษาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดใหม่ๆนานัปการ ในช่วงศตวรรษที่ 17 เกิดเป็นยุคสว่างทางปัญญา มีการเจริญก้าวหน้าและเติบโตขึ้นทางวิชาการ แนวคิดสำคัญในยุคสมัยนี้คือความเชื่อต่อสิทธิอำนาจแบบประเพณีนิยมในเรื่องการเมืองและศาสนาเสื่อมถอยลง ความเชื่อและการเคารพซึ่งเหตุและผลเป็นหลักในการบ่งบอกถึงคุณสมบัติของมนุษย์ งานเขียนที่สะท้อนความคิดยุคนี้คืองานเขียนของ วอลแต์ ในฝรั่งเศสและ คานท์ ในเยอรมนี ยุคสมัยนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดแบบเสรีนิยม สากลนิยมโดยแยกโลกของฆราวาสออกจากศาสนาและการต่อต้านสิทธิอำนาจเด็ดขาด(Anti-Authoritarian) จะเห็นได้จากงานของ คานท์ เพน และรุสโซ [29] [30]
การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ รัฐสมัยใหม่มีความเป็นมาจาการที่รัฐฆราวาส เริ่มมีบทบาทและอำนาจเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับศาสนจักร กษัตริย์ที่เข้มแข็งและมีประเทศอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบตั้งตนเป็นใหญ่ ข้อเท็จจริงของการมีอำนาจที่เกิดขึ้นเช่นนี้สะท้อนแนวความคิดว่า อาณาจักรไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อาณัติของศาสนจักรหรืออยู่ใต้อำนาจทางโลกอื่นอีกต่อไป อาณาจักรมีสถานะใหม่เป็นรัฐ(State) มีคุณค่าในตัวเองไม่ขึ้นต่อผู้ใด นักคิดพยายามยกย่องอำนาจส่วนกลางของรัฐให้เป็นอำนาจในการปกป้องประเทศชาติ [31]
นักปรัชญาความคิดทางการเมืองในยุคสมัยต่างๆ
[แก้]- สมัยโบราณ(Antiquity)
โสกราตีส (Socrates 469-399 B.C.)
พลาโต/เพลโต (Plato 429-348 B.C.)
อริสโตเติล (Aristotle 384-322 B.C.)
ซิเซโร (Cicero 106-43 B.C)
ออกัสติน (Augustine 354-430)
- สมัยกลาง (Middle Ages หรือ Mediaeval)
โทมัส อไควนัส (Thomas Aquinas 1226-1274)
- สมัยใหม่ (Modern Ages and Contemporary)
ฮูโก โกรเชียส (Hugo Grotius 1583-1645)
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes 1588-1679)
ซามูเอล ปูเฟนดอร์ฟ (Samuel Pufendorf 1632-1694)
จอห์น ล็อค (John Locke 1632-1704)
มองเตสกิเออร์ (Montesquieu 1689-1755)
คริสเตียน โทมาซิอุส(Christian Thomasius 1655-1728)
ฌอง ชัค รุสโซ (Jean jacques Rousseau 1712-1778)
อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant 1724-1804)
อาดัม สมิธ (Adam Smith 1723-1790)
โทมัส โรเบิร์ต มัลธัส (Thomas Robert Malthus 1766-1834)
ดูเพิ่ม
[แก้]- ทฤษฎีการเมือง
- เทวสิทธิราชย์
- ปรัชญาการเมือง
- ประวัติศาสตร์
- ประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐกิจ
- ประวัติศาสตร์ทางความคิด
- ประวัติศาสตร์รัฐศาสตร์
- ประวัติศาสตร์สตรีนิยม
- รัฐศาสตร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Schröder, Peter; และคณะ (2012). "Forum: History of Political Thought". German History. 30 (1): 75–99. doi:10.1093/gerhis/ghr126.
- ↑ Sabine, George H.; Thorson, T. L. (1937). A History of Political Theory (3rd ed.). Thomson Learning. ISBN 9780039102838.
- ↑ Klosko, George (2011). Klosko, George (บ.ก.). The Oxford Handbook of the History of Political Philosophy (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. doi:10.1093/oxfordhb/9780199238804.003.0051.
- ↑ McClelland, J. S. (1996). A History of Western Political Thought. Routledge. ISBN 0203980743.
- ↑ Shefali, Jha (2018). Western Political Thought: From The Ancient Greeks to Modern Times (2nd ed.). Pearson Education. ISBN 978-93-528-6934-3.
- ↑ Whatmore, Richard (2021). The History of Political Thought: A Very Short Introduction. Oxford University Press. ISBN 9780192595355.
- ↑ Dunstan, Helen (2004). "Premodern Chinese Political Thought". ใน Gaus, Gerald F. (บ.ก.). Handbook of Political Theory. Sage Publications. pp. 320–337. ISBN 0761967877.
- ↑ Kulke, Hermann (1986). A History of India. Routledge. ISBN 0203751698.
- ↑ Bowering, Gerhard; และคณะ, บ.ก. (2013). "Introduction". The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought. Princeton University Press. ISBN 9780691134840.
- ↑ "History of Political Thought on JSTOR". www.jstor.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-29.
- ↑ "History of Political Thought Project" (ภาษาอังกฤษ). Princeton University. สืบค้นเมื่อ 2022-09-29.
- ↑ "MA in the History of Political Thought and Intellectual History" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). Queen Mary University of London. สืบค้นเมื่อ 2022-09-29.
- ↑ พิสิษฐิกุล แก้วงาม. เอกสารประกอบการบรรยายวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ (มธ 120) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
- ↑ Stephen D. Tansey. Politics : the basic. (3rd Edition). London : Routledge, 2004, pp.10-11.
- ↑ พิสิษฐิกุล แก้วงาม. เอกสารประกอบการบรรยายวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ (มธ 120) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
- ↑ สุขุม นวลสกุล,และ โกศล โรจนพันธุ์.Political Theories I.มหาวิทยาลัยรามคำแหง(พิมพ์ครั้งที่11).2548.หน้า1
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า22,23
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.หน้า86
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.หน้า89
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.หน้า94,95
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า42,43
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า44-47
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า47-49
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า55,56
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.บทที่4
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.หน้า141-144
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า65,66
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.บทที่5
- ↑ วิทยากร เชียงกูล,ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.สำนักพิมพ์สายธาร(พิมพ์ครั้งที่4).2553.หน้า85
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.หน้า163
- ↑ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญา.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่10).2552.บทที่6
อ่านเพิ่ม
[แก้]- คอลลินส์, เจคอบ. จุดเปลี่ยนทางมานุษยวิทยา: ความคิดทางการเมืองของฝรั่งเศสหลังปี ค.ศ. 1968 (สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, 2020) บทวิจารณ์หนังสือออนไลน์
- เฟียลา, แอนดรูว์, บ.ก. คู่มือบลูมส์บิวรีว่าด้วยปรัชญาการเมือง (2015)
- คลอสโก, จอร์จ, บ.ก. คู่มืออ็อกซ์ฟอร์ดว่าด้วยประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมือง (2012)
- กอรับ-การ์ปอวิช, ดับบลิว. จูเลียน. ในประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมือง: นักคิดทางการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ทิวซิดิดีสจนถึงล็อก (เราท์เลดจ์, 2015)
- มาแทรเวอร์ส, เดเร็ค, โจนาธาน ไพค์, และ ไนเกิล วอร์บูตัน, บ.ก. การอ่านปรัชญาการเมือง: ตั้งแต่มาเกียเวลลีจนถึงมิลล์ (2000) บทความโดยผู้เชี่ยวชาญ
- ไรอัน, อลัน. ว่าด้วยการเมือง ประวัติศาสตร์บทใหม่ของปรัชญาการเมือง (เล่มที่ 2, 2012), หน้าที่ 1152, เฮโรโดทัสจนถึงปัจจุบัน
- สกินเนอร์, เควนติน. รากฐานของความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ (เล่มที่ 2, 1978)
- สเตราส์, ลีโอ, และ โจเซฟ คร็อปซีย์, บ.ก. ประวัติปรัชญาการเมือง (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก, 2012 พิมพ์ซ้ำ)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง โปสเตอร์พร้อมภาพรวมภาพ