ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์อานาโตเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติศาสตร์อานาโตเลียกล่าวถึงดินแดนที่เรียกว่าอานาโตเลียหรือเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ในทางภูมิศาสตร์หมายถึงดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน จากทะเลอีเจียนซึ่งเป็นขอบเขตทางตะวันตกจนถึงภูเขาชายแดนประเทศอาร์มีเนียทางตะวันออก และเทือกเขาทะเลดำทางเหนือจนถึงเทือกเขาเทารัสทางใต้

โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ อานาโตเลียเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นเส้นทางสำหรับการเดินทางไปมาระหว่างยุโรปและเอเชีย ตลอดระยะเวลากว่า 4 ถึง 5,000 ปีที่ผ่านมา มีชนหลายเผ่าพันธุ์เดินทางเข้ามายังอานาโตเลียและได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนบนดินแดนแห่งนี้ อาณาจักรของชนเหล่านี้ได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองและในที่สุดก็ต้องล่มสลายไปตามกาลเวลา ความเก่าแก่และหลากหลายของอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองบนผืนแผ่นดินแห่งนี้เป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ชาวตุรกีมีความภาคภูมิใจเป็นพิเศษสำหรับดินแดนอันเป็นประเทศตนในปัจจุบัน

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ราบสูงอานาโตเลียเคยเป็นที่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน ยุคประวัติศาสตร์ของอานาโตเลียเริ่มต้นขึ้นในยุคโลหะ ประมาณ 3,000 - 1,200 ก่อนคริสตกาล หากมองย้อนหลังไปในยุคดังกล่าวกลับมาจนถึงยุคปัจจุบันจะพบว่าอานาโตเลียมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนดินแดนอื่นใดในโลกคือ เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่และหลากหลายของชนหลายกลุ่มซึ่งได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครองดินแดนแห่งนี้

ฮัตไต (2,500 - 2,000 ปีก่อนคริสตกาล)

[แก้]

อารยธรรมแห่งแรกบนแผ่นดินอานาโตเลียได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการและความเจริญรุ่งเรืองของชาวฮัตไต ชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนที่ราบสูงอานาโตเลีย ชาวฮัตไตได้สถาปนาอาณาจักรของตนขึ้นในราวปี 2500 - 2000 ก่อนคริสตกาล ประมาณปี 2000 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรของชาวฮัตไตเริ่มเสื่อมอำนาจลง เปิดทางให้ชนต่างถิ่นเข้ามาครอบครองดินแดนอันเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวฮัตไต

ฮิตไทต์ (2,000 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล)

[แก้]

ฮิตไทต์เป็นชนเชื้อสายอินโด-ยูโรเปียน สันนิษฐานกันว่าอพยพเข้ามายังอานาโตเลียจากทางยุโรป โดยผ่านทางคอเคซัสหรือบอลข่านในราวปี 2000 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรฮัตไตกำลังเสื่อมอำนาจลง เมื่อได้เข้ามายังอานาโตเลียแล้ว ชาวฮิตไทต์ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวฮัตไตมาใช้ แม้แต่ชื่อของประเทศหรือดินแดนที่ชาวฮิตไทต์อาศัยก็ยังใช้ชื่อดั้งเดิมที่ชาวฮัตไตใช้เรียกชื่อประเทศตน “The land of Hatti” ชาวฮิตไทต์เป็นชนกลุ่มแรกในอานาโตเลียที่สามารถสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเป็นปึกแผ่นในดินแดนแห่งนี้ อาณาจักรฮิตไทต์ได้เจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอานาโตเลีย และยังสามารถขยายดินแดนออกไปได้ไกลถึงเมโสโปเตเมีย การรุกรานของฮิตไทต์ต่ออาณาจักรบาบิโลนในเมโสโปเตเมียได้นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรบาบิโลน ชาวฮิตไทต์ได้รับเอาวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และระบบกฎหมายของบาบิโลนมาใช้

อาณาจักรฮิตไทต์เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในราวปี 1380 - 1346 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยพระเจ้า Suppiluliumas ที่ 1 อาณาจักรฮิตไทต์กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เทียบเคียงได้กับอาณาจักรอียิปต์ การแข่งขันกันในการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรทั้งสองได้นำไปสู่สงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนคาเดช ในปี 1274 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยของพระเจ้า Muwattalis แห่งอาณาจักรฮิตไทต์ และฟาโรห์รามเสสที่ 1 แห่งอาณาจักรอียิปต์ สงครามในครั้งนี้ปรากฏว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด สงครามจึงยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งคาเดช (Treaty of Kadesh) ในปี 1269 ก่อนคริสตกาล

สนธิสัญญาแห่งคาเดช เป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา เนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการสงบศึกและการแลกเปลี่ยนเชลยศึก สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ถูกจารึกในภาษาอัคคาเดียน (Akkadian) ซึ่งเป็นภาษาสากลในยุคนั้น สนธิสัญญาตัวจริงฉบับของฮิตไทต์ เชื่อกันว่า จารึกลงบนแผ่นเงิน ปัจจุบันยังหาไม่พบ แต่ได้มีการค้นพบสำเนาของจริง จารึกลงบนแผ่นดินเหนียว (Cuneiform Tablet) ค้นพบเมื่อปี 1906 ที่เมืองฮัตตูซา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของฮิตไทต์ สนธิสัญญาสันติภาพแห่งคาเดช ฉบับสำเนาของจริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันออก (Museum of Orient Art) ในพระราชวังทอปกาปี นครอิสตันบูล สนธิสัญญาฉบับของอียิปต์ถูกจารึกลงบนผนังวิหารแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ องค์การสหประชาชาติได้จำลองสนธิสัญญาฉบับนี้ประดับไว้ที่ทางเข้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก

ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าว พระเจ้า Hattusilis ที่ 3 ของฮิตไทต์ ได้ส่งพระราชธิดามาอภิเษกสมรสกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ อาณาจักรฮิตไทต์และอียิปต์จึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติเรื่อยมาเกือบ 50 ปี จนถึงในราวปี 1190 ก่อนคริสตกาลอาณาจักร ฮิตไทต์ถูกโจมตีโดย“ชาวทะเล” (Sea Peoples) ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากแถบทะเลอีเจียน เมืองฮัตตูซ่า เมืองหลวงของฮิตไทต์ ถูกทำลายพร้อมกันการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไทต์ เรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเทียบรัศมีกับอียิปต์และบาบิโลนได้ถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งในปี 1906 ได้มีการขุดค้นพบคลังเอกสารของกษัตริย์ฮิตไทต์ ที่เมืองฮัตตูซ่า อดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฮิตไทต์จึงได้ถูกเปิดเผยให้ชาวโลกได้รับทราบ นักโบราณคดีต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงสามารถอ่านจารึกแผ่นดินเหนียวภาษาฮิตไทต์ (Hittite Tablet) ได้สำเร็จ (แต่ไม่ทั้งหมด)

ในปี 1987 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเมืองฮัตตูซาเป็นมรดกโลก เมืองฮัตตูซ่าตั้งอยู่บนยอดเขาที่เต็มไปด้วยโขดหิน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างเมืองของชาวฮิตไทต์ ชาวฮิตไทต์มีความเชื่องในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ เมืองหลวงของฮิตไทต์จึงเต็มไปด้วยวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เทพเจ้าต่างๆ เมืองฮัตตูซ่าล้อมรอบไปด้วยกำแพงยาวถึง 6 กิโลเมตร ในสมัยที่ยังรุ่งเรืองเมืองฮัตตูซ่าคงจะเป็นเมืองที่ใหญ่มากเมืองหนึ่งในสมัยเมือง 3,000 ปีที่แล้วชาวฮิตไทต์คงจะเป็นชนชาติที่เก่งในด้านการสงครามมากกว่าในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม เพราะร่องรอยที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ค่อยจะมีอะไรที่บ่งบอกถึงความวิจิตรงดงามในทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมมากนัก เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับอียิปต์ ซึ่งเคยเป็นคู่อริของฮิตไทต์

ฮิตไทต์ใหม่ ( 1,200 - 800 ปีก่อนคริสตกาล)

[แก้]

ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไทต์ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล อานาโตเลียเข้าสู่ยุคมืดที่ปราศจากศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นระยะเวลานานเกือบ 500 ปี อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างปี 1200-800 ก่อนคริสตกาล ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรฮิตไทต์ใหม่ (Neo-Hittite) ขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอานาโตเลียที่ติดกับซีเรียในปัจจุบัน อาณาจักรแห่งนี้ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ในราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรแห่งนี้ได้ถูกโจมตีและทำลายลงโดยชาวอัสซีเรีย (Assyria)

ยุคหลังฮิตไทต์ (800-550 ปีก่อนคริสตกาล)

[แก้]

ในราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล อานาโตเลียได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งภายใต้อาณาจักรน้อยใหญ่ของชนหลายกลุ่มที่ได้อพยพเข้ามายังอานาโตเลียจากที่ต่างๆ อาณาจักรเหล่านี้ตั้งกระจัดกระจายทั่วไปในอานาโตเลีย อาณาจักรที่สำคัญที่สุดอาณาจักรหนึ่งได้แก่ อาณาจักรฟรีเจีย (Phrygia) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชาวฟรีเจียอพยพมายังอานาโตเลียจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปแถบลุ่มแม่น้ำดานูบในราวปี 1250 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยฮิตไทต์ ภาษาของชาวฟรีเจียคร้ายคลึงกับภาษากรีก ในระยะแรกที่อพยพเข้ามายังอานาโตเลียชาวฟรีเจียยังใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน จนกระทั่งในราวปี 738 ก่อนคริสตกาล ชาวฟรีเจียได้พัฒนาและสถาปนาอาณาจักรของตนเองขึ้น โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองกอร์เดียน (Gordion) ในภาคตะวันตกของอานาโตเลีย

อาณาจักรฟรีเจียครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลางฃองอานาโตเลียซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรฮิตไทต์ในบริเวณเมืองฮัตตูซา เมืองหลวงของฮิตไทต์ก็ปรากฏร่องรอยหลักฐานการก่อสร้างต่อเติมโดยชาวฟรีเจีย เมืองกอร์เดียนอดีตราชธานีของอาณาจักรฮิตไทต์ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเมืองโพลัดลี (Polatli) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอังการาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เมืองกอร์เดียมีขนาดเล็กกว่าเมืองฮัตตูซ่า อดีตราชธานีของฮิตไทต์มาก โบราณสถานสำคัญของเมืองกอร์เดีย คือ เนินฝังศพ (Tumulus) ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปมากกว่า 80 แห่ง ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจว่าเป็นเพียงเนินเขาธรรมดา อาณาจักรฟรีเจียเจริญรุ่งเรืองอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 100 ปีก็ล่มสลาย โดยในราวปี 650 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรฟรีเจียถูกอาณาจักรลีเดีย (Lydia) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะสันตกเฉียงใต้ของอานาโตเลียแถบทะเลอีเจียนโจมตีและทำลาย

อาณาจักรลิเดียมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองซาร์ดิส (Sardis) สันนิษฐานกันว่าชาวลิเดียเป็นลูกผสมระหว่างกรีกและชนพื้นเมืองในอานาโตเลีย อาณาจักรลิเดียเจริญรุ่งเรืองอยู่ในราวศตวรรษที่ 6-7 ก่อนคริสตกาล ในรัชกาลของพระเจ้า Croesus ซึ่งครองราชย์ในระหว่างปี 563-546 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรลิเดียมีความเจริญมั่งคั่งอย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์การค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย ชาวลิเดียเป็นชนชาติแรกที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ ซึ่งทำด้วยโลหะทองและเงินขึ้นใช้เป็นชาติแรกในโลก ความมั่งคั่งของอาณาจักรลิเดียเป็นที่ล่ำลือไปถึงอาณาจักรเปอร์เซีย พระเจ้าไซรัส (Cyrus) มหาราชแห่งเปอร์เซียได้ยกกองทัพเข้ามายังอานาโตเลีย และสามารถตีกรุงซาร์ดิส (Sardis) เมืองหลวงของอาณาจักรลิเดียได้สำเร็จในปี 546 ก่อนคริสตกาล

อานาโตเลียภายใต้การยึดครองของเปอร์เซียและกรีก (546 - 113 ปี ก่อนคริสตกาล)

[แก้]

ภายหลังที่ยึดครองอาณาจักรลิเดียได้สำเร็จในปี 546 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าไซรัสมหาราชได้พยายามที่จะใช้อานาโตเลียเป็นฐานในการโจมตีกรีซแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี เปอร์เซียสามารถขยายอำนาจครอบครองอานาโตเลียไว้ได้เกือบทั้งหมดเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 200 ปี จนกระทั่งถึงปี 330 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาซิโดเนียได้ยกกองทัพเข้ามายังอานาโตเลีย เพือใช้เป็นทางผ่านไปโจมตีเปอร์เซีย เมืองต่างๆ ในอานาโตเลียได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ในปี 334 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงมีชัยชนะเหนืออาณาจักรเปอร์เซีย

อย่างไรก็ดี การครอบครองอานาโตเลียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นในปี 323 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ทรงสิ้นพระชนม์ที่บาบิโลน (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) ระหว่างที่เสด็จกลับจากการทำสงครามในเอเชียใต้ ด้วยพระชนมายุเพียง 33 พรรษา อาราจักรอันกว้างใหญ่ของพระองค์ได้ถูกแบ่งแยกและปกครองโดยเหล่าขุนพลของพระองค์ แม้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในอานาโตเลียจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 10 ปี แต่ก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากมายในอานาโตเลีย ภาษาและวัฒนธรรมของกรีก ได้กลายเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในอานาโตเลียเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีต่อมา นอกจากนี้ อาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยเหล่าขุนพลของพระองค์ก็เป็นเสมือนทายาทของพระองค์ในอานาโตเลีย ยุค “เฮลเลนลิสติก” (Hellenistic) ซึ่งถือว่า เป็นยุคทองของศิลปะและวิทยาการของกรีก ได้เริ่มต้นขึ้นในสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช โดยเริ่มนับตั้งแต่ช่วงที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงมีชัยชนะเหนืออาณาจักรเปอร์เซีย ไปจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าออกุสตุส (Augustus) แห่งอาณาจักรโรมัน

อานาโตเลียภายใต้การปกครองของโรมัน (133 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 395)

[แก้]

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช อาณาจักรของพระองค์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ปกครองโดยขุนพลสำคัญของพระองค์ 4 คน ได้แก่

ในบรรดาขุนพลทั้ง 4 คน ไลซิมาคุสได้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในอานาโตเลียและเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ในส่วนที่ติดกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอีเจียน ซึ่งมีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ อาณาจักรของไลมาซิคุสมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเพอร์กามอน (Pergamon) อาณาจักรเพอร์กามอนของไลมาซิคุสได้รุ่งเรืองสืบมาจนถึงสมัยของพระเจ้าอัตตาลุสที่ 3 (Attalus III) (ครองราชย์ระหว่างปี 138 - 133 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งสิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาท พระเจ้าอัตตาลุส ที่ 3 ได้ทำพินัยกรรมยกอาณาจักรเพอร์กามอนให้แก่อาณาจักรโรมันซึ่งเป็นพันธมิตร พินัยกรรมดังกล่าวได้เปิดทางให้โรมันเข้าครอบครองอาณาจักรแพร์กามอนและอานาโตเลียทั้งหมดในเวลาต่อมา

ภายใต้การปกครองของโรมัน อานาโตเลียเข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองทั้งในด้านเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม ซากเมืองโบราณตามชายฝั่งทะเลอีเจียนและเมดิเตอร์เรเนียนของตุรกี ส่วนใหญ่จะสร้างในยุคโรมัน โดยมากจะมีอายุอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรโรมันเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด อย่างไรก็ดี ในทางการเมือง อานาโตเลียไม่ค่อยจะมีความสำคัญมากนักสำหรับจักรวรรดิโรมันจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 4

จักรวรรดิไบเซนไทน์ (ค.ศ. 395 – 1100)

[แก้]

ปี ค.ศ. 305 ได้เกิดสงครามกลามเมืองระหว่างผู้นำของโรมัน 2 คน คือลีซีนีอุส (Licinius) กับ คอนสแตนติน(Constantin) ผลปรากฏว่าคอนสแตนตินได้รับชัยชนะเหนือลีซีนีอุส ในสมรภูมิใกล้เมืองไบแซนทิอุม (Byzantium) ในปี ค.ศ. 324 และได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิของโรมัน

ในปี ค.ศ. 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ทรงย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันจากกรุงโรม มายังเมืองไบเซนทิอุม ซึ่งตามตำนานเล่าว่า บิซัส (Buzas) แห่งเมการา (Megara) ได้นำชาวกรีกมาสร้างไว้ในราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ภายหลังที่จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ย้ายเมืองหลวงมายังเมืองไบเซนทิอุมแล้ว โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นกรุงโรมใหม่ หรือ โนวา โรม (Nova Rome) อย่างไรก็ดี ภายหลังที่จักรพรรดิคอนสแตนตินสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 337 กรุงโนวา โรม ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น คอนสแตนติโนเปิล เพือเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์

พระนามจักรพรรดิโรมันในยุคที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง

  1. คอนสแตนตินที่ 1 (Constantinus I) ค.ศ. 330 – 337
  2. คอนสแตนตินที่ 2 (Constantinus I) ค.ศ. 337 – 360
  3. จูเลียน (Julian) ค.ศ. 360 – 363
  4. โจเวียน (Jovian) ค.ศ. 363 – 364
  5. วาเลนส์ (Valens) ค.ศ. 364 – 378
  6. เกรเทียน (Gratien) ค.ศ. 378 – 383
  7. เธโอดอซีอุสที่ 1 (Theodosius I) ค.ศ. 383 – 395

ในปี ค.ศ. 395 จักรพรรดิเธโอดอซีอุสที่ 1 (Theodosius I) ได้ทรงแบ่งอาณาจักรโรมันออกเป็น 2 ส่วน เพื่อพระราชทานให้แก่พระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าชายอาร์คาดิอุส (Arcadius) ได้ครองจักรวรรดิโรมันตะวันออก มีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง ในขณะที่อาณาจักรโรมันตะวันตกได้ถูกทำลายและล่มสลายไปในปี ค.ศ. 476 ซึ่งนำไปสู่ยุคมืดในยุโรป อาณาจักรโรมันตะวันออกได้เจริญรุ่งเรืองสืบมากว่า 1,000 ปี ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก นักประวัติศาสตร์ได้เรียกอาณาจักรโรมันตะวันออกว่า อาณาจักรไบเซนไทน์ (Byzantine) ตามชื่อเมืองไบเซนทิอุม (Byzantium) อาณาจักรไบเซนไทน์ได้หันมารับภาษาและวัฒนธรรมของกรีก ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในอานาโตเลียมาตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ามายึดครองอานาโตเลียในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ภาษาละตินของโรมันจึงค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยภาษากรีก และได้กลายเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอาณาจักรไบเซนไทน์ในเวลาต่อมา

อาณาจักรไบเซนไทน์ได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลของจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) (ครองราชย์ระหว่างปี 527 – 565) จักรพรรดิพระองค์นี้เป็นผู้สร้างวิหารเซนต์โซเฟียอันยิ่งใหญ่อลังการ เป็นเพชรเม็ดเอกของสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ ซึ่งยังยืนหยัดท้าทายกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 1,500 ปี สิ้นรัชกาลของจักรพรรดิจัสติเนียน อาณาจักรไบเซนไทน์ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงตามลำดับ ในปี ค.ศ. 1204 กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกโจมตีและยึดครองโดยกองทหารครูเสด (Crusaders) เป็นเวลาถึง 6 ปี ความเสียหายจากการโจมตีและยึดครองในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้อาณาจักรไบเซนไทน์เสื่อมอานาจลงอย่างรวดเร็ว

สงครามครูเสด

[แก้]

สงครามครูเสดมีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากชาติในยุโรปของจักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 แห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ เพื่อร่วมกันต่อต้านการคุกคามของมุสลิมเติร์ก ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนของอาณาจักรไบเซนไทน์ และได้ยึดครองนครเยรูซาเลม ดินแดนอันศักดิ์สิทธิของชาวคริสต์ ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการยอมรับกันเป็นอย่างดีจากพระสันตปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban II) พระองค์ได้ทรงเรียกร้องให้ผู้นำยุโรปในขณะนั้นร่วมมือกันขับไล่มุสลิมเติร์กออกจากนครเยรูซาเลม จักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 หาทราบไม่ว่า การเรียกร้องของพระองค์จะเป็น “การชักศึกเข้าบ้าน” และนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรของพระองค์เองในที่สุด

ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 กาหลิบอูมาร์ (Umar) แห่งอียิปต์ได้ยึดครองนครเยรูซาเล็มจากชาวคริสเตียน ชาวคริสต์ในนครเยรูซาเลมถูกกลั่นแกล้งรังควาน ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1071 เซลจุกเติร์กได้เข้ายึดครองนครเยรูซาเลม และได้เริ่มรุกรานเข้ามายังอานาโตเลีย ดินแดนภายใต้การปกครองของไบเซนไทน์ ณ สมรภูมิเมือง Malazgirt สุลต่าน Alparslan ผู้นำชาวเติร์กเผ่าเซลจุกสามารถเอาชนะกองทัพของจัดรพรรดิโรมันนุสที่ 4 ของไบเซนไทน์ ชัยชนะครั้งนี้ได้เปิดทางให้ชาวเติร์กจากเอเชียกลางหลั่งไหลเข้าสู่อานาโตเลีย การรุกรานของชาวเติร์กทำให้จักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 แห่งอาณาจักรไบเซนไทน์ต้องร้องขอความช่วยเหลือไปยังพระสันตปาปาเออร์บันที่ 2 ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี สงครามครูเสดครั้งที่ 1 จึงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1096 โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อขับไล่เติร์กออกจากนครเยรูซาเลม สงครามครูเสดได้ยืดเยื้อต่อมาอีก 8 ครั้ง ก่อนที่จะยุติลงในปี ค.ศ. 1272

ในระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 4 กองทหารครูเสดแทนที่จะพยายามบุกยึดนครเยรูซาเลมคืนจากมุสลิมเติร์ก กลับบุกเข้าปล้นนครคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1204 และได้แบ่งแยกดินแดนของอาณาจักรไบเซนไทน์ออกเป็นหลายส่วนเพื่อปกครองกันเอง เชื้อพระวงค์ในไบเซนไทน์ซึ่งเสด็จลี้ภัยไปอยู่ที่เมือง Nicaea ทางตะวันตกของอานาโตเลีย ต้องใช้เวลานานเกือบ 60 ปี จึงสามารถยึดนครคอนสแตนติโนเปิลกลับคืนมาได้ แต่อาณาจักรไบเซนไทน์ก็ตกอยู่ในสภาวะที่เสื่อมทรมอย่างหนัก ชนเชื้อสายเติร์กได้เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอานาโตเลีย และสามารถยึดครองนครคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1453

อาณาจักรเซลจุกเติร์ก (ค.ศ. 1077 – 1118)

[แก้]

ความอ่อนแอของอาณาจักรไบเซนไทน์ได้เปิดทางให้พวกเติร์กจากเอเชียกลางเปิดฉากการรุกรานเข้าสู่ดินแดนอานาโตเลียของอาณาจักรไบเซนไทน์มากยิ่งขึ้น ชนเชื้อสายเติร์กซึ่งดั้งเดิมเป็นชนเร่ร่อนแบ่งออกเป็นหลายเผ่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชนเชื้อสายเติร์กอยู่ในเอเชียกลางแถบเทือกเขาอัลไตในประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางธรรมชาติ ทำให้ชาวเติร์กอพยพออกจากเอเชียกลางไปยังดินแดนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ชาวเติร์กเผ่าหนึ่งเรียกว่า “เซลจุก (Seljuk) ” ได้อพยพมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่เขตทะเลสาบแคสเปียน และได้ขยับเข้ามาใกล้อานาโตเลียในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในปี พ.ศ. 2244 (ค.ศ. 1071) สุลต่าน Alparslan ผู้นำชาวเติร์กเผ่าเซลจุกประสบชัยชนะในสงครามเหนือกองทัพของจักรพรรดิโรมานุสที่ 4 แห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ ณ สมรภูมิเมืองมาลัซเกิร์ต (Malazgirt) (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตจังหวัดมุส ในภาคตะวันออกของประเทศตุรกี) ชัยชนะครั้งนี้ได้เปิดทางให้ชนเชื้อสายเติร์กจากเอเชียกลางหลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนอานาโตเลีย

ในตอนแรกเซลจุกเติร์กพยายามที่จะยึดเมืองอิซนิกซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากนครอิสตันบูล มาเป็นเมืองหลวงของตน แต่ถูกไบเซนไทน์และกองทหารครูเสดร่วมกันขับไล่ออกไป จนต้องถอยไปปักหลักในตอนกลางของอานาโตเลีย ในปีค.ศ. 1077 เซลจุกได้สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกของตนขึ้นในดินแดนอานาโตเลีย เรียกชื่อว่า “The Sultanate of Rum” มีราชธานีอยู่ที่เมืองคอนยา ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบอันกว้างใหญ่ในตอนกลางของอานาโตเลีย สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของเมืองคอนยา ซึ่งป็นที่ราบปราศจากต้นไม้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับถิ่นฐานดั้งเดิมของเติร์กในเอเชียกลางมาก

อาณาจักรเซลจุกในอานาโตเลียเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 100 ปี ก็เกิดการรบพุ่งกันเองตามแบบของสังคมแบบชนเผ่า ซึ่งมักจะมีเรื่องรบพุ่งกันเองอยู่เสมอๆ ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสุลต่าน Sanjar ในปี ค.ศ. 1157 อาณาจักรเซลจุกก็ล่มสลายและแตกออกเป็นหลายแว่นแคว้นเรียกว่า Beylic (Emirate)

จักรวรรดิออตโตมัน

[แก้]

ดูหน้าหลักที่ จักรวรรดิออตโตมัน

การสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมัน และการเกิดสาธารณรัฐตุรกี

[แก้]

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุลต่านออตโตมันบางพระองค์ทรงพยายามที่จะปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันให้ทันสมัย ทัดเทียมอารยประเทศในยุโรป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เนื่องจากสงครามได้ปะทุขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนทั่วดินแดนซึ่งเป็นเมืองขึ้นของออตโตมัน จักรวรรดิออตโตมันต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก การปฏิรูปจึงไม่บรรลุผล พระราชอำนาจของสุลต่านได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ ในขณะที่อำนาจของขุนนางภายใต้การนำของอัครมหาเสนาบดีมีมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1876 กลุ่มปัญญาชนซึ่งเรียกตัวเองว่า ยังเติร์ก (Young Turks) ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง และบีบให้สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 (Abdulhamid II) พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก เปลี่ยนแปลงการปกครองของจักรวรรดิมาเป็นระบบรัฐสภาโดยมีสุลต่านเป็นประมุขเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้เพียงปีเดียว ในปี ค.ศ. 1877 สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ได้ทรงยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าว การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันได้ถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1908 กลุ่มยังเติร์กได้ก่อการปฏิวัติบีบบังคับให้สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในปีต่อมาสุลต่านพระองค์นี้ถูกปลดออกจากพระราชอำนาจ สุลต่านเมห์เมตที่ 5 ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อมาไม่มีพระราชอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด ทรงเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

Enver Pasha ผู้นำกลุ่มเติร์กหนุ่มได้รวบอำนาจปกครองประเทศไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และในปี ค.ศ. 1914 ได้นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายเยอรมัน สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงโดยเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จักรวรรดิออตโตมันจึงตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามด้วย ต้องยอมลงนามสนธิสัญญา Sevres ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นผลให้จักรวรรดิออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นที่เหลือในบอลข่านและตะวันออกกลาง และที่เลวร้ายที่สุดคือ อานาโตเลียถิ่นที่อยู่ของชาวเติร์ก และอิสตันบูลได้ถูกกองกำลังของชาติยุโรปที่ชนะสงครามเข้ายึดครอง การยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข และการถูกบีบให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุการณ์อันน่าอัปยศอดสูที่ชาวตุรกียังจดจำได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ตุรกีตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบีบบังคับจากภายนอก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในครั้งนี้เสมอๆ

ชาวเติร์กส่วนใหญ่แม้จะยอมรับการสูญเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่อาจยอมรับความพยายามของชาติตะวันตกที่จะยึดครองอานาโตเลีย ซึ่งชาวเติร์กถือว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเติร์ก รัฐบาลของออตโตมันในขณะนั้นอยู่ในภาวะที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อรองอะไรได้ ชาวเติร์กผู้รักชาติจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยมีมุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) เป็นผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation) จึงอุบัติขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1919 – ค.ศ. 1923

ในช่วงนี้ได้เกิดรัฐบาลขึ้น 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลของสุลต่านออตโตมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่นครอิสตันบูล และรัฐบาลแห่งสมัชชาใหญ่ตุรกี (The Government of the Turkey Grand National Assembly) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงอังการา การต่อสู้ในสงครามเพื่ออิสรภาพสิ้นสุดลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาโลซานน์ (Lausanne) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ซึ่งนำไปสู่การรับรองเขตแดนของประเทศตุรกีในปัจจุบัน และการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งมีกรุงอังการาเป็นเมืองหลวง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1923

ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในปี ค.ศ. 1923 รัฐสภาของรัฐบาลอังการาได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1922 ยกเลิกระบบสุลต่าน ซึ่งยังคงมีอำนาจปกครองเพียงนครอิสตันบูลเท่านั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 อัครมหาเสนาบดีคนสุดท้ายของรัฐบาลออตโตมันได้ยื่นใบลาออก และในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สุลต่านเมห์เมตที่ 6 สุลต่านพระองค์สุดท้ายของออตโตมันได้เสด็จไปลี้ภัยในต่างประเทศ โดยเสด็จออกจากนครอิสตันบูลโดยเรือรบของอังกฤษ เป็นการปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 600 ปี

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

[แก้]
  • Appian. History of Rome: The Syrian Wars.
  • Herodotus. The Works of Herodotus.

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

[แก้]
หนังสือ
[แก้]
  • Bevan, Edwyn Robert (1902). The House of Seleucus. E. Arnold.
  • Botsford, George Willis (1922). Hellenic History. The Macmillan Company.
  • Bury, John Bagnell (1913). A History of Greece to the Death of Alexander the Great. Macmillan.
  • Duncker, Max (1879). The History of Antiquity, Volume III. Richard Bentley & Son.
  • Freeman, Charles (1999). Egypt, Greece and Rome: Civilizations of the Ancient Mediterranean. Oxford University Press. ISBN 0198721943.
  • Gibbon, Edward (1952). The Decline and Fall of the Roman Empire. William Benton.
  • Hawkins, John David (2000). Corpus of Hieroglyphic Luwian Inscriptions. Walter de Gruyter. ISBN 3110148706.
  • Herbermann, Charles George (1913). The Catholic Encyclopedia. Robert Appleton Co.
  • Hornblower, Simon; Antony Spawforth (1996). The Oxford Classical Dictionary. Oxford University Press.
  • Kinross, John (2001). Atatürk: A Biography of Mustafa Kemal, Father of Modern Turkey. Phoenix Press. ISBN 1842125990.
  • Mommsen, Theodor (1906). The History of Rome: The Provinces, from Caesar to Diocletian. Charles Scribner's Sons.
  • Ramsay, W.M. (1904). The Letters to the Seven Churches of Asia. Hodder & Stoughton.
  • Rawlinson, George (1900). Ancient History: From the Earliest Times to the Fall of the Western Empire. The Colonial Press.
  • Saggs, H.W.F. (2000). Babylonians. University of California Press. ISBN 0520202228.
อินเทอร์เน็ต
[แก้]
  • Encyclopædia Britannica Online, The legends and the truth about King Midas.
  • Jona Lendering, Parthia. Retrieved on 2007-10-16.
  • J.D. Hawkins, Evidence from Hittite Records. Retrieved on 2007-10-18.
  • Garance Fiedler, Phrygia. Retrieved on 2007-10-19.
  • Science Daily(June 18, 2007), Ancient Etruscans Were Immigrants From Anatolia, Or What Is Now Turkey. Retrieved on 2007-10-18.