ปลาช่อนทะเล
ปลาช่อนทะเล | |
---|---|
ปลาวัยใหญ่ | |
ลูกปลาวัยอ่อน | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
อันดับย่อย: | Percoidei |
วงศ์ใหญ่: | Percoidea |
วงศ์: | Rachycentridae |
สกุล: | Rachycentron Kaup, 1826 |
สปีชีส์: | R. canadum |
ชื่อทวินาม | |
Rachycentron canadum (Linnaeus, 1766) |
ปลาช่อนทะเล (อังกฤษ: Cobia, Black kingfish, Black salmon, Ling, Lemon fish, Crabeater, Aruan tasek) เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rachycentron canadum อยู่ในวงศ์ Rachycentridae อันดับปลากะพง (Perciformes) จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้และสกุลนี้[1]
มีความยาวได้เต็มที่ถึง 2 เมตร มีน้ำหนักได้ถึง 68 กิโลกรัม ลำตัวมีรูปร่างยาวและกว้างในช่วงตอนกลางและแคบลงในตอนปลายหาง ส่วนหัวแบน ตามีขนาดเล็ก ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย มีฟันแบบเล็กละเอียดและเรียวขึ้นบนอยู่บนขากรรไกร, ลิ้น และเพดานปาก ลำตัวเรียบ มีเกล็ดเล็กละเอียด มีสีน้ำตาลเข้มแล้วจางเป็นสีขาวบริเวณ ส่วนท้อง ด้านข้างลำตัวมีแถบสีน้ำตาลเข้มเป็นแนวยาว 2 แถบ ซึ่งจะเห็นแถบได้ชัดในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ ครีบหลังอันแรกเป็นหนามแหลมสั้น เรียงแยกกันเป็นอิสระ 6-9 อัน ซึ่งทำให้จัดอยู่ในวงศ์ต่างหาก
ในวัยเจริญพันธุ์มีหางแบบเว้าลึก หรือแบบเสี้ยวพระจันทร์ ส่วนของครีบมีสีน้ำตาลเข้ม เป็นปลาที่ไม่มีถุงลมมีลักษณะคล้ายปลาเหาฉลาม (Echeneidae) แต่ไม่มีแผ่นเกาะด้านหลัง มีลำตัวที่แข็งแรง และมีส่วนหางที่พัฒนาดีกว่า โดยส่วนหางพัฒนาจากกลมมนเป็นเว้าลึกในตัวเต็มวัย ในปลาช่วงวัยรุ่นมีแถบสีขาวและดำชัดเจน เป็นมีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ ชอบอยู่เดี่ยว ๆ ยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์จะมารวมกันตามแนวหิน ซากปรักหักพัง ท่าเรือ แนวก่อสร้าง บางครั้งยังอพยพไปปากแม่น้ำและป่าชายเลนเพื่อหาสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ กินเป็นอาหาร
วางไข่บริเวณผิวน้ำ โดยเป็นไข่ลอยขนาดเล็ก 0.12 มิลลิเมตร ล่องลอยเป็นอิสระตามกระแสน้ำจนกว่าจะฟักเป็นตัว ลูกปลาวัยอ่อนมีสภาพเหมือนแพลงก์ตอน ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกจะยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องรอจนกว่าตาและปากได้พัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้น ในตัวผู้จะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ 2 ปี ส่วนในตัวเมียจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ 3 ปี มีอายุขัยประมาณ 15 ปี หรือมากกว่านั้น การผสมพันธุ์วางไข่จะรวมกลุ่มบริเวณชายฝั่ง ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
พบกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก
เป็นปลาที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา และเป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมบริโภคกันด้วยมีเนื้อรสชาติอร่อย สามารถปรุงได้ทั้งสดและแปรรูปเป็นปลาแห้ง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นปลาที่ทางการโดย กรมประมงสนับสนุนให้ชาวประมงเลี้ยงกันในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในต่างประเทศมีการเพาะเลี้ยงกันมาอย่างยาวนานแล้ว[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ "การเลี้ยงปลาช่อนทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-14. สืบค้นเมื่อ 2011-10-04.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รูปและข้อมูลจาก Fishbase.org
- [https://web.archive.org/web/20111007070804/http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000126418 เก็บถาวร 2011-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน การรวมฝูงของปลาช่อนทะเล/วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์]