พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)
อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ มีนามเดิมว่า ทอง จันทรางศุ (29 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474)[1] เป็นขุนนางชาวไทย เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้นตระกูลจันทรางศุ[2] เขาเป็นปู่ของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
ประวัติ
[แก้]พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 เป็นบุตรของนายเหม จันทรางศุ บรรพชาที่วัดเทพศิรินทราวาส จบการศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็ก
อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ถึงแก่กรรมเนื่องจากอัมพาตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ขณะอายุเพียง 51 ปี โดยในหนังสือ เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ซึ่งมีความสนิทสนมกับพระยาสุนทรเทพระบุว่าการเป็นอัมพาตของพระยาสุนทรเทพเป็นผลมาจากการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง[3]
รับราชการ
[แก้]นายทองถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเมื่อปี 2444 จากนั้นเมื่อสอบไล่ได้จึงเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปเพื่อฝึกหัดราชการที่อำเภอในมณฑลกรุงเก่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2445 พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ นายแม้น กับ นายขวัญ[4] ต่อมาเมื่อฝึกหัดราชการจนสำเร็จแล้วจึงได้กลับมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศกเดียวกัน[5]
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2445 นายทองได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็น ผู้ตรวจการมณฑลกรุงเก่า มีลำดับยศชั้นที่ 3 โท พร้อมกับนายแม้น และนายขวัญ ที่เป็นผู้ตรวจการมณฑลชุมพร และผู้ตรวจการมณฑลนครสวรรค์ โดยได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในวันรุ่งขึ้น[6] ต่อมาได้เป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลกรุงเก่าและได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอนุรักษ์ภูเบศร์ ถือศักดินา 400 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2446[7]
ปีถัดมาคือปี 2447 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในนามเดิมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน[8] ก่อนที่วันที่ 10 มิถุนายน จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลนครศรีธรรมราชที่ว่างอยู่[9] ในวันที่ 2 มกราคม 2449 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลภูเก็ตแทน พระภิรมย์ราชา ที่ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลพิษณุโลก[10]
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2451 หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์แทนพระนครภักดีศรีนครานุรักษ์ที่ไปดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร[11] ก่อนจะกลับมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม[12] และกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์เมื่อวันที่ 7 กันยายน[13]
จากนั้นในปี 2454 ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท[14] ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2454 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภิรมย์บุรีรัฐ ผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ถือศักดินา 3000[15] ต่อมาได้ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2455[16] จากนั้นจึงได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานีแทน พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2457[17]
ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2458 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี คงถือศักดินา 3000[18] ในวันที่ 10 ธันวาคม 2460 ได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรีแทน พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่[19] จากนั้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทรฦาชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี คงถือศักดินา 3000 ที่พระนครคีรี หรือเขาวัง พร้อมกับรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 และเหรียญราชรุจิทอง[20]
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2461 ได้กลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ในตำแหน่งเจ้ากรมปกครองแทน พระยาราชสาส์นโสภณ ที่ออกไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลกรุงเก่า[21] ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2462 ได้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ คงถือศักดินา 3000[22] จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2463 ได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์เอก[23] ในปี 2466 ได้เป็นรองอธิบดีกรมพลำภัง
ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2469 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด[24] กระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2471 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมปกครองแทน อำมาตย์เอก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่ไปรับตำแหน่งเจ้ากรมทะเบียน[25] นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ
ยศ
[แก้]ยศเสือป่า
[แก้]- 24 พฤศจิกายน 2456 – นายหมู่ตรี[26]
- – นายหมวดตรี
- 10 กันยายน 2458 – โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรยศเสือป่าไปพระราชทาน[27]
- 9 กันยายน 2459 – นายหมวดโท[28]
- 15 ธันวาคม 2460 – นายหมวดเอก[29]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2472 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[30]
- พ.ศ. 2467 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[31]
- พ.ศ. 2466 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[32]
- พ.ศ. 2471 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[33]
- พ.ศ. 2461 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[34]
- พ.ศ. 2461 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[35]
- พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ข่าวตาย
- ↑ ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 15 (หน้า 68 ลำดับที่ 1217)
- ↑ “ทำกันอย่างบ้าๆ!” เปิดบันทึกเรื่องเล่า “เจ้าเมือง” ปะทะ “เจ้านาย” ก่อนเปลี่ยนผ่าน 2475
- ↑ นักเรียนหลวงกราบถวายบังคมลา
- ↑ นักเรียนฝึกหัดราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
- ↑ ข้าราชการกราบถวายบังคมลา
- ↑ ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย (หน้า 978)
- ↑ ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์ (หน้า 1958)
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เลื่อนและย้ายตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- ↑ พระราชทานตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย (หน้า 3951)
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- ↑ ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
- ↑ ส่งสัญญาบัตรยศเสือป่าไปพระราชทาน
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๓, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๘, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๔๕, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๐๐๗, ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๒, ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๓, ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๑