ฟองท้องถิ่น
ฟองท้องถิ่น (อังกฤษ: Local Bubble) คือห้วงอวกาศที่ค่อนข้างโปร่งรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายอยู่ในสสารระหว่างดาว กินเนื้อที่กว้างประมาณ 300 ปีแสง และมีความหนาแน่นของไฮโดรเจนไม่มีสี 0.05 อะตอม/ซม.3 หรือประมาณหนึ่งในสิบของความหนาแน่นของมวลสารระหว่างดาว (0.5 อะตอม/ซม.3) และครึ่งหนึ่งของเมฆระหว่างดาวท้องถิ่น (0.1 อะตอม/ซม.3) ก๊าซกระจายร้อนในฟองท้องถิ่นเปล่งรังสีเอกซ์ออกมา
ในฟองท้องถิ่นนี้เต็มไปด้วยพลาสมาอุณหภูมิสูงซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่หลงเหลืออยู่จากการระเบิดซูเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ล้านถึง 4 ล้านปีมาแล้ว[1] ซึ่งอาจเป็นเจมินจา หรือแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาคนคู่ เป็นพัลซาร์ที่อยู่ 250 พาร์เซ็กจากดวงอาทิตย์ในกลุ่มดาวคนคู่
คำอธิบาย
[แก้]ระบบสุริยะเคลื่อนตัวอยู่ในบริเวณที่เป็นฟองท้องถิ่นมาแล้วประมาณ 5-10 ล้านปี[1] ตำแหน่งปัจจุบันของระบบสุริยะอยู่ในเมฆระหว่างดาวท้องถิ่น ซึ่งเป็นย่านเล็กๆ ในฟองท้องถิ่นที่มีความหนาแน่นมากกว่าส่วนอื่น เมฆระหว่างดาวท้องถิ่นนี้ก่อตัวขึ้นในบริเวณที่ฟองท้องถิ่นกับฟองลูป I บรรจบกัน ก๊าซในเมฆระหว่างดาวท้องถิ่นมีความหนาแน่นประมาณ 0.1 อะตอม/ซม.3
รูปร่างของฟองท้องถิ่นไม่ใช่ทรงกลม แต่ดูเหมือนจะแคบลงในระนาบดาราจักร เป็นทรงค่อนข้างรี หรือรูปไข่ และอาจขยายตัวออกทางด้านบนและด้านล่างของระนาบดาราจักร ทำให้มีรูปร่างคล้ายนาฬิกาทราย มันเข้าชิดกับฟองอื่นๆ ที่มีความหนาแน่นของมวลสารระหว่างดาวน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟองลูป I ซึ่งเกิดขึ้นจากลมดาวฤกษ์และซูเปอร์โนวาในชุมนุมดาวแมงป่อง-คนครึ่งม้า ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 500 ปีแสง ภายในฟองลูป I มีดาวแอนทาเรส (แอลฟาแมงป่อง) นอกจากฟองลูป I แล้วยังมีฟองลูป II และฟองลูป III ที่อยู่ติดกับฟองท้องถิ่นด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Local Chimney and Superbubbles, Solstation.com