ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาแอราเมอิกของชาวยิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภาษาอราเมอิกของชาวยิว)

ภาษาแอราเมอิกของชาวยิว (Judæo-Aramaic) เป็นคำที่ใช้อธิบายภาษาแอราเมอิกและภาษาแอราเมอิกใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาฮีบรู

ประวัติ

[แก้]

การใช้ในยุคแรก

[แก้]

ภาษาแอราเมอิกเป็นภาษากลุ่มเซมิติกตะวันตกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับภาษาฮีบรูและมีลักษณะร่วมกันมาตั้งแต่ 157 ปีก่อนพุทธศักราช ภาษาแอราเมอิกเป็นภาษากลางในตะวันออกกลางและเป็นภาษาทางการค้าแต่ไม่มีการใช้ในหมู่ชาวยิวยุคแรกๆ

การปรับตัว

[แก้]

ในช่วง 57 ปีก่อนพุทธศักราช อิทธิพลของบาบิโลเนียทำให้ชาวยิวรับภาษาจากเมโสโปเตเมียไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ราว พ.ศ. 43 กษัตริยย์ดาริอุสมหาราชที่ 1 แห่งเปอร์เซียประกาศให้ภาษาแอราเมอิกเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิฝั่งตะวันตกของพระองค์ ทำให้ชาวยิวเปลี่ยนจากการใช้ภาษาฮีบรูมาใช้ภาษาแอราเมอิกมากขึ้น โดยใช้ภาษาฮีบรูเป็นภาษาแม่และภาษาในสังคม ใช้ภาษาแอราเมอิกทางการค้าและการติดต่อกับนานาชาติ ต่อมามีการใช้ภาษาแอราเมอิกในชีวิตมากขึ้นเช่นในตลาด ในที่สุดภาษาแอราเมอิกได้เข้ามาแทนที่ภาษาฮีบรูในชีวิตประจำวัน ภาษาฮีบรูจึงใช้ในทางศาสนาเท่านั้น

ยุคของกรีกและการนำไปสู่การแพร่กระจาย

[แก้]

การรุกรานตะวันออกกลางของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเมื่อ พ.ศ. 212 ทำให้การใช้ภาษากรีกแพร่กระจายไปในตะวันออกกลาง แต่ความสำคัญของภาษาแอราเมอิกยังคงอยู่ ยูเดียเป็นบริเวณหนึ่งที่ภาษาแอราเมอิกยังมีความสำคัญและยังใช้ในหมู่ชาวยิวบาบิโลเนีย การล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซียและแทนที่ด้วยอิทธิพลกรีกทำให้การใช้ภาษาฮีบรูลดจำนวนลง การเขียนในยุคเซเลยูซิดและฮัสโมเนียนแสดงให้เห็นว่าภาษาแอราเมอิกได้เข้ามาเป็นภาษาของชาวยิวแล้ว โดยภาษาฮีบรูกลายเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เป็นพยานในยุคนี้คือความเปลี่ยนแปลงของไบเบิลภาษาแอราเมอิกในหนังสือของดาเนียลและเอซรา ภาษานี้แสดงลักษณะของภาษาฮีบรูที่เข้ามาสู่ภาษาแอราเมอิกของชาวยิว มีการใช้อักษร He แทนที่ Aleph เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคำที่ลงท้ายด้วยเสียงอา และเป็นอุปสรรคของระบบกริยาที่แสดงกรรม และนามลงท้ายด้วยพหูพจน์เพศชาย –īm แทนที่ –īn

การแบ่งแยกระหว่างสำเนียงตะวันตกและตะวันออกของภาษาแอราเมอิกในหมู่ชาวยิวมีความชัดเจน การแปลตาร์คุมของชาวยิวไปเป็นภาษาแอราเมอิกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนที่ไม่เข้าใจภาษาต้นฉบับ ในหมู่นักศาสนา ยังคงเข้าใจภาษาฮีบรูแต่ใช้ภาษาแอราเมอิกในการเขียนมากขึ้น ภาษาแอราเมอิกยังใช้ในการเขียนม้วนหนังสือแห่งทะเลสาบเดดซี มิซนะห์ และโตเซฟาควบคู่ไปกับภาษาฮีบรู

ในการแพร่กระจายของชาวยิว

[แก้]

การปฏิวัติของชาวยิวครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 473 และการปฏิวัติของบาร์ โกขบาใน พ.ศ. 678 ทำให้ชาวโรมันเข้ามาทำลายสังคมและศาสนาของชาวยิว แต่ก็ยังมีโรงเรียนของชาวยิวในบาบิโลนและแรบไบในกาลิลีที่ยังจัดการศึกษาต่อไป ภาษาแอราเมอิกของชาวยิวได้ต่างจากภาษาแอราเมอิกมาตรฐานของจักรวรรดิเปอร์เซียในยุคนี้ ภาษาแอราเมอิกบาบิโลเนียยุคกลางเป็นสำเนียงเด่น และเป็นพื้นฐานของทัลมุดในบาบิโลเนีย ภาษาแอราเมอิกกาลิลียุคกลางมีอิทธิพลต่อการเขียนในด้านตะวันตก สำเนียงนี้เป็นภาษาแม่ของมาโซเรเตสซึ่งสร้างเครื่องหมายช่วยในการออกเสียงของภาษาฮีบรูและภาษาแอราเมอิก เครื่องหมายสระมาตรฐานที่เป็นแบบจุดของตานัขจึงน่าจะแสดงการออกเสียงของภาษาแอราเมอิกกาลิลียุคกลางมากกว่าของภาษาฮีบรูรุ่นแรก

ในช่วงที่มีการแพร่กระจายของชาวยิว ภาษาแอราเมอิกเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งของชุมชนชาวยิวที่แพร่กระจายไป และกลายเป็นภาษาของนักวิชาการศาสนาเหมือนเช่นที่ภาษาฮีบรูเคยเป็นมาก่อน โซฮาร์ที่เผยแพร่ในสเปนเป็นพยานถึงความสำคัญของภาษานี้

ในพุทธศตวรรษที่ 25

[แก้]

ภาษาแอราเมอิกยังคงเป็นภาษาแรกของชุมชนที่ยังอยู่ในบริเวณที่ใช้ภาษาแอราเมอิกตลอดเมโสโปเตเมีย ในราว พ.ศ. 2443 มีชุมชนชาวยิวอยู่ในบริเวณกว้างของทะเลสาบอูร์เมียและที่ราบโมซูลและไปไกลทางตะวันออกจนถึงซานันดาซ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีชุมชนของชาวคริสต์ที่พูดภาษาแอราเมอิกอยู่ด้วยแต่มักไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

เมื่อมีการก่อตั้งรัฐอิสราเอล ทำให้ชาวยิวอพยพกลับไปสู่ตะวันออกกลางและทำให้ชุมชนผู้พูดภาษาแอราเมอิกมาแต่โบราณลดจำนวนลง ปัจจุบันผู้พูดภาษาแอราเมอิกของชาวยิวเป็นภาษาแม่อยู่ในอิสราเอลและหันไปใช้ภาษาฮีบรูสมัยใหม่ ผู้พูดคนสุดท้ายของสำเนียงบิยิลีจากเคอร์ดิสถานของอิรักตายเมื่อ พ.ศ. 2541 สำเนียงบาร์ซานีไม่มีผู้พูดเป็นภาษาแรกและมีผู้ใช้เป็นภาษาที่สองเพียง 20 คน และใกล้จะเป็นภาษาตาย คาดว่าน่าจะมีผู้พูดภาษาแอราเมอิกของชาวยิวทุกสำเนียงเพียง 26,000 คน

สำเนียงสมัยใหม่

[แก้]

ภาษาแอราเมอิกของชาวยิวสมัยใหม่ยังเป็นที่รู้จักตามแหล่งที่อยู่เดิมก่อนการอพยพไปสู่อิสราเอล ส่วนใหญ่ชื่อเหล่านี้แปลว่าภาษาของเราหรือภาษายิว ได้แก่

  • บาร์ซานี เดิมเคยใช้พูดในบิบิล และบาร์ซานในเคอร์ดิสถานของอิรัก
  • ฮูลัวลา เคยใช้พูดในเคอร์ดิสถานของอิหร่าน
  • ลิซานา เดนี เคยใช้พูดในซาโคในเคอร์ดิสถานของอิรัก
  • ลิซาน ดีดัน เคยใช้พูดในอาเซอร์ไบจานของอิหร่าน
  • ลิซานิด โนซาน เคยใช้พูดในอาร์บิล ในเคอร์ดิสถานของอิรัก

อ้างอิง

[แก้]
  • Sokoloff, Michael, A Dictionary of Jewish Babylonian Aramaic: Bar Ilan and Johns Hopkins 2002
  • Sokoloff, Michael, A Dictionary of Judean Aramaic: Bar Ilan 2003
  • Sokoloff, Michael, A Dictionary of Jewish Palestinian Aramaic of the Byzantine Period: Johns Hopkins 2002/3