ยุทธการที่ไอโคเนียม (ค.ศ. 1190)
ยุทธการที่ไอโคเนียม | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามครูเสดครั้งที่ 3 | |||||||
ยุทธการที่ไอโคเนียม โดยวิสลิเซนซัส (ประมาณ ค.ศ. 1890) | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ราชอาณาจักรฮังการี | รัฐสุลต่านรูม | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เฟรเดริกที่ 6 ดยุกแห่งสวาเบีย เลโอโปลด์ที่ 5 ดยุกแห่งออสเตรีย เจ้าชายเกซาแห่งฮังการี | กุฏบ์ อัลดิน | ||||||
กำลัง | |||||||
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์: 15,000[2]-100,000[3] ฮังการี: 2,000[4] | มากกว่าทัพครูเสด[5] | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ไม่ทราบ | มาก |
ยุทธการที่ไอโคเนียม (อังกฤษ: Battle of Iconium) เป็นการสู้รบในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ระหว่างฝ่ายนักรบครูเสด นำโดยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับฝ่ายมุสลิม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1190 ที่เมืองไอโคเนียม (ปัจจุบันคือเมืองคอนยา (Konya) ประเทศตุรกี)
หลังความพ่ายแพ้ที่ฮัททินและเสียเมืองเยรูซาเลม ดินแดนของนักรบครูเสดส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของศอลาฮุดดีน สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 8 ทรงเรียกพลเพื่อทำสงครามครูเสดอีกครั้ง จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงตอบรับทันทีและเดินทัพไปที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1189 กองทัพของพระองค์มีกำลังพล 100,000 นาย และอัศวิน 20,000 นาย[6] (นักประวัติศาสตร์บางท่านมองว่าเป็นการกล่าวเกินจริง และประเมินว่ากองทัพนี้มีกำลังพล 15,000 นาย อัศวิน 3,000 นาย) จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ได้รับกำลังพล 2,000 นายจากเจ้าชายเกซา พระอนุชาของพระเจ้าเบลาที่ 3 แห่งฮังการี (Béla III of Hungary)
เมื่อทัพครูเสดมาถึงอนาโตเลีย สุลต่านแห่งรูมได้ประกาศว่าหากจะเดินทัพผ่านดินแดนนี้และราชอาณาจักรซิลิเชีย จะต้องเสียทองจำนวน 300 ปอนด์ จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ทรงปฏิเสธและตรัสว่า "พวกเราจะไม่ผ่านดินแดนนี้ไปโดยใช้ทอง แต่จะผ่านไปโดยใช้เหล็ก"[7] ทัพเติร์กจึงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรโจมตีทัพครูเสด ทัพครูเสดตอบโต้ด้วยการโจมตีทัพเติร์กทุกทัพที่เจอและได้รับชัยชนะ แม้ว่าเสบียงและขวัญกำลังใจจะลดน้อยลง แต่ทัพครูเสดก็มาถึงเมืองไอโคเนียมในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1190
วันที่ 14 พฤษภาคม ทัพครูเสดได้สู้รบกับทัพหลักของชาวเติร์กและได้รับชัยชนะ กุฏบ์ อัลดิน (Qutb al-Din) ได้จัดทัพเติร์กใหม่และยกมาตีทัพครูเสดในวันที่ 18 พฤษภาคม จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ได้แบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ทัพหนึ่งนำทัพโดยเฟรเดริก ดยุกแห่งสวาเบีย โอรสของพระองค์เพื่อเข้าตีเมือง ส่วนอีกทัพนำโดยพระองค์เองเพื่อรบกับทัพเติร์ก[8] เฟรเดริกสามารถตีเมืองไอโคเนียมได้อย่างง่ายดาย ส่วนทัพของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 สู้รบกับทัพเติร์กอย่างหนัก และได้รับชัยชนะในที่สุด[9]
หลังการสู้รบ ทัพครูเสดหยุดพัก 5 วันก่อนจะเดินทัพต่อ แต่ในวันที่ 10 มิถุนายน จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 เสด็จสวรรคตหลังจมน้ำในแม่น้ำซาเล็ฟ[10] (แม่น้ำโกคซู (Göksu River) ในปัจจุบัน) กองทัพจึงแตก เฟรเดริก พระโอรสพยายามนำพระศพพระบิดาที่ดองไว้ในน้ำส้มสายชูไปฝังที่เมืองเยรูซาเลมแต่ไม่สำเร็จ จึงฝังพระมังสา (เนื้อ) ที่โบสถ์นักบุญเปโตรในเมืองแอนติออก ฝังพระอัฐิ (กระดูก) ที่โบสถ์ในเมืองไทร์และฝังพระหทัย (หัวใจ) ที่เมืองทาร์ซัส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tyerman, p. 426: "The victory at Iconium and the sacking of the Seljuk capital saved the Crusades militarily, in addition to restocking it with food, supplies, and money".
- ↑ Konstam, Historical Atlas of the Crusades, 162
- ↑ J. Phillips, The Fourth Crusade and the Sack of Constantinople, 66
- ↑ A. Konstam, Historical Atlas of The Crusades, 124
- ↑ Tyerman, p. 426: "After desperate fighting involving the Emperor himself, the Turks outside the city were defeated, apparently against numerical odds, leaving Iconium at the mercy of German pillaging and looting".
- ↑ Tyerman p.418
- ↑ Wolff, p. 112
- ↑ Tyerman p.426
- ↑ Wolff p.116: "Even an enfeebled and decimated German army had managed to dispose of [the Seljuks of Iconium] with comparative ease"
- ↑ Frederick I | Holy Roman emperor | Britannica.com[ลิงก์เสีย]