รายพระนามคู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
- ดูเพิ่ม: รายพระนามพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
- สำหรับคู่อภิเษกสมรสในพระประมุขแห่งสกอตแลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์ ดูที่ รายพระนามคู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์, รายพระนามคู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์อังกฤษ และรายพระนามคู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์
คู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร ไม่ใช่พระสถานะหรือพระอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่หลายพระองค์ทรงมีอิทธิพลอย่างมากต่อพระมหากษัตริย์บางพระองค์ เช่น เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ที่ทรงช่วยเสริมสร้างพระบารมีขององค์พระประมุขด้วย
ตั้งแต่การสถาปนาราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ มีคู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรแล้วทั้งสิ้น 9 พระองค์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรในช่วงปี พ.ศ. 2370 ถึง พ.ศ. 2357 ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงผู้คัดเลือกแห่งฮันโนเฟอร์ (Electress of Hanover) ด้วย เนื่องจากพระราชสวามีดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าผู้คัดเลือกแห่งฮันโนเฟอร์ ส่วนช่วงปี พ.ศ. 2357 ถึง พ.ศ. 2380 สมเด็จพระราชินีดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฮันโนเฟอร์ เนื่องจากพระราชสวามีดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์ฮันโนเฟอร์ การเป็นรัฐร่วมประมุขของราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์กับสหราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2380 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียขึ้นครองราชย์ เนื่องจากกฎสืบราชสันตติวงศ์ที่ราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์บังคับใช้ (กฎหมายแซลิก) มิได้ให้สิทธิ์แก่สตรีเพศขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ (ในสหราชอาณาจักรสตรีเพศจะขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ก็ต่อเมื่อไร้รัชทายาทที่เป็นบุรุษ) ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 ฮันโนเฟอร์ก็ถูกผนวกเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรปรัสเซีย
คู่อภิเษกสมรสที่เป็นสตรีทุกพระองค์มีสิทธิ์ที่จะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินี แต่คู่อภิเษกสมรสที่เป็นบุรุษมีอยู่ 2 พระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2251 ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์พระราชสวามี คือ
- เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย มิได้ดำรงบรรดาศักดิ์ชั้นเพียเรจ (peerage) แต่ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี เป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะในปี พ.ศ. 2400 ทรงดำรงพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในฐานะคู่อภิเษกสมรสที่เป็นบุรุษพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งสหราชอาณาจักร ช่วงต้นมีคำแนะนำว่าในทางปฏิบัติจะทรงดำรงพระอิสริยยศกลายเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ภายหลังถูกรัฐบาลปฏิเสธ
- เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นในชั้นเพียเรจแล้วในฐานะดยุกแห่งเอดินบะระ ในปี พ.ศ. 2490 และได้รับพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2500 ไม่ใช่เจ้าชายพระราชสวามี ทรงเป็นคู่อภิเษกสมรสที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรรวมระยะเวลา 69 ปี
คู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรบางพระองค์มิได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีเนื่องจากสิ้นพระชนม์หรือการหย่าร้างก่อนพระสวามีครองราชย์ การอภิเษกสมรสเป็นโมฆะ หรืออภิเษกสมรสหลังพระสวามีสละราชสมบัติ ตามกรณีดังต่อไปนี้:
- โซฟี โดโรเทอาแห่งเซลเลอ พระชายาในพระเจ้าจอร์จที่ 1 (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นรัชทายาทแห่งรัฐผู้คัดเลือกเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค) อภิเษกสมรสในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2225 ทรงหย่าร้างวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2237 ก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระสวามี สิ้นพระชนม์วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2269
- มาเรีย แอนน์ ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต พระชายาในพระเจ้าจอร์จที่ 4 (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์) อภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2328 และถูกประกาศให้เป็นโมฆะในภายหลัง สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2380
- วอลลิส วอร์ฟีลด์ ซิมป์สัน พระชายาในอดีตสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งวินด์เซอร์) อภิเษกสมรสวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2480 สิ้นพระชนม์วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2529
นอกจากนี้ยังปรากฏกรณีพิเศษ เช่น แคโรไลน์แห่งเบราน์ชไวค์ ที่ทรงแยกประทับจากพระสวามี พระเจ้าจอร์จที่ 4 เนื่องจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ แม้ว่าทรงเป็นคู่อภิเษกสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ทรงไม่มีพระสถานะใด ๆ ในราชสำนัก ทรงถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของพระสวามีและรับการสวมมงกุฎเป็นสมเด็จพระราชินี ทำให้สาธารณชนออกมาประท้วง
ตั้งแต่ พ.ศ. 2250 มีเพียงพระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เท่านั้นที่ครองราชย์โดยปราศจากการอภิเษกสมรส
หากเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาองค์ที่สอง จะได้รับพระอิสริยยศและบรรดาศักดิ์เทียบเท่าสมเด็จพระราชินีโดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะมีการผ่านร่างกฎหมายยับยั้ง อย่างไรก็ตาม มีการประกาศออกมาว่าดัชเชสควรจะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงพระราชชายา แทนที่จะเป็นสมเด็จพระราชินี[1] ต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีแถลงการณ์ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถใจความว่า คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์จะทรงเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี
กระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 เจ้าชายชาลส์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ คามิลลา ทรงขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร
รายพระนาม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Announcement of the marriage of HRH The Prince of Wales and Mrs Camilla Parker Bowles". The Prince of Wales.gov.uk. 10 February 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-27. สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.