วังบารอก (ตีมีชออารา)
วังบารอก | |
---|---|
Palatul Baroc | |
ด้านหน้าของวังบารอก หันหน้าออกสู่ปียัตซาอูนีรีย์ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถาปัตยกรรม | บารอก |
ที่ตั้ง | ปียัตซาอูนีรีย์ ตีมีชออารา ประเทศโรมาเนีย |
พิกัด | 45°45′26″N 21°13′45″E / 45.75722°N 21.22917°E |
เริ่มสร้าง | 1752 |
แล้วเสร็จ | 1754 |
ปรับปรุง | 2006 |
เจ้าของ | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะ ตีมีชออารา |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | ฟรันทซ์ อันโทน ฮิลเลอบรันท์ |
วังบารอก (โรมาเนีย: Palatul Baroc) เป็นวังขนาดใหญ่ในย่านเชตาเตของนครตีมีชออารา ประเทศโรมาเนีย เป็นหนึ่งในอาคารตัวอย่างชิ้นสำคัญของตีมีชออาราในศตวรรษที่ 18 ในปัจจุบันอาคารเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะ ตีมีชออารา (Muzeul Național de Artă Timișoara) อาคารนี้ประกอบด้วยสองชั้นและหลังคาแบบม็องซาร์ ประตูทางเข้าสองประตูซึ่งออกแบบตามสถาปัตยกรรมบารอกแบบเวียนนา โถงบารอกบนชั้นหนึ่งของอาคารเป็นสถานที่ใช้จัดเทศกาลและการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามโอกาสการเดินทางเยือนของจักรพรรดิและกษัตริย์มากมาย เช่น จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย, พระเจ้าเฟร์ดีนันด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย เป็นต้น รวมถึงยังเป็นสถานที่ที่ศิลปินและนักดนตรีเลื่องชื่อมากมายเคยมาแสดง เช่น ฟรันทซ์ ลิสท์, โยฮันเนิส บรามส์, ปาโบล ซาราซาเต, จอร์เจ เอเนสกู เป็นต้น[1]
เดิมทีพิพิธภัณฑ์ศิลปะนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบานัต กระทั่งปี 2006 ได้แยกออกมาเป็นหน่วยงานเอกเทศ ของสะสมส่วนสำคัญของหอศิลป์ตีมีชออารานี้เป็นภาพเขียนของอิตาลี เฟลมิช เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี และโรมาเนียที่ฌิกโมนด์ โอร์โมช ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้มีบทบาทสำคัญในแวดวงศิลปะของตีมีชออารา บริจาคมาในช่วงปี 1888–1895 ต่อมา ยออากิม มีลอยา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บานัตระหว่างปี 1928–1940 ได้มีบทบาทในการรวบรวมของสะสมที่เป็นงานศิลปะโรมาเนียและศิลปะบานัตเก่าแก่ ต่อมาศิลปินอาวูเรล ชูเป ผู้อำนวยการคนต่อมาจนถึงปี 1948 ได้สานต่อการรวบรวมงานศิลปะของบานัตและโรมาเนียโดยเฉพาะจากยุคร่วมสมัยและสมัยใหม่[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Palatul Baroc". Timisoara-Info.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-27. สืบค้นเมื่อ 2023-10-31.
- ↑ "Muzeul Național de Artă Timișoara". Ghidul Muzeelor și Colecțiilor din România. Institutul Național al Patrimoniului.