ข้ามไปเนื้อหา

วัดป่าโมกวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่าโมกวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป่าโมกวรวิหาร, วัดป่าโมก
ที่ตั้งตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

วัดป่าโมกวรวิหารเป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย เดิมทีเป็นวัดสองวัดที่ตั้งอยู่ติดกัน คือ "วัดชีปะขาว" และ "วัดตลาด" แต่มีเหตุทำให้ต้องรวมเป็นวัดเดียวกันเนื่องจากกระแสน้ำเซาะเข้ามาใกล้พระวิหาร สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำเดิม (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง และนำองค์พระไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาด ห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกันและพระราชทานนามว่า วัดป่าโมก เพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย[1] ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้ เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะ บูชาพระพุทธไสยาสน์องค์นี้[2]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได่แก่ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีรูปทรงหลังคาเป็นฐานวิหารอ่อนโค้งรูปสำเภา หลังคาลด 2 ชั้น ต่อด้วยปีกนกด้านละ 2 แถบ มี 9 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างด้านละ 7 บาน ด้านหน้าเจาะเป็นประตู ทางเข้าประตูเขียนลายรดน้ำลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ก้านแย่งยอด ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระอุโบสถมีขนาด 5 ห้อง หลังคาลดหลั่น 2 ชั้น หน้าพระอุโบสถใต้หน้าบันมีหลังคาคลุมแบบจั่นหับ มีประตูทางเข้า 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 3 บาน เขียนลายรดน้ำ มีใบเสมาเป็นของเก่าในสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นหินชนวนตั้งอยู่บนฐานดอกบัวและฐานสิงห์ วิหารเขียนมีขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ใต้หน้าบันด้านหน้าปิดผนังทึบมีเสาแบนหรือเสาอิง 2 ตัน มีหลังคาคลุมลดลงมารองรับด้วยเสา 4 ต้น สันนิษฐานว่าเดิมเป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าท้ายสระในคราวเสด็จชะลอพระพุทธไสยาสน์ และมณฑป ก่อด้วยอิฐฉาบปูน หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นรอบมณฑป ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยสลักด้วยหิน[3]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดป่าโมกวรวิหาร". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
  2. "วัดป่าโมกวรวิหาร". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.
  3. "วัดป่าโมกวรวิหาร". กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.